อำนาจทุนพลิกลิ้นเปลี่ยนรสทำให้คน “ติดหวาน”  

เกษตรกรกำลังลำเลียงอ้อย (ภาพจากห้องสมุดภาพมติชน)

เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2565 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เห็นชอบขยายเวลาปรับขึ้นอัตราภาษีความหวานตามปริมาณน้ำตาลระยะที่ 3 ออกไปอีกเป็นเวลา 6 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 ถึง 31 มีนาคม 2566 เพื่อช่วยบรรเทาภาระค่าครองชีพของประชาชนในปัจจุบัน ช่วยให้อุตสาหกรรมเครื่องดื่มมีเวลาในการปรับตัว เพื่อรองรับการปรับขึ้นอัตราภาษีความหวานตามปริมาณน้ำตาลระยะที่ 3 ต่อไป (ข้อมูลจาก “สรรพสามิตขยายเวลาปรับขึ้นภาษีความหวานออกไปอีก 6 เดือน” ประชาชาชาติธุรกิจ, ออนไลน์)

สาเหตุการเก็บ “ภาษีความหวาน” เพื่อช่วยแก้ปัญหาการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรังอันเกิดจากพฤติกรรม (เช่น โรคความดันโลหิตสูง, เบาหวาน, หัวใจ ฯลฯ) ซึ่งสาเหตุหนึ่งคือ น้ำตาล หรือการบริโภคอาหารหวานจัด

ซึ่งนอกจากน้ำตาลที่ปริมาณโดยตรง ยังมี “การบริโภคน้ำตาลทางอ้อม” อันเป็นผลมาจากระบบทุนนิยม และอุตสาหกรรมน้ำตาล ที่ อาสา คำภา อธิบายไว้ในหนังสือ“รสไทย (ไม่) แท้” (สนพ.มติชน, พิมพ์ครั้งแรก, ตุลาคม 2565) ดังนี้ (จัดย่อหน้าใหม่และสั่งเน้นคำโดยผู้เขียน)


 

พลังของ “ทุน” ภายใต้ระบบทุนนิยมและการผลิตอุตสาหกรรม นับเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่มีอิทธิพลต่อการกำหนดนิยามอาหารและวัฒนธรรมการกินอยู่ของประชาชนคนตัวเล็กตัวน้อย ทั้งนี้ อาจตั้งข้อสังเกตได้ว่า พลังของทุนมักเป็นพันธมิตรกับอำนาจการเมืองหรืออำนาจรัฐจนกลายเป็นโครงสร้างที่สามารถเข้ามาครอบงำบงการชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนในสังคมได้อย่างแนบเนียน

ตัวอย่างคลาสสิกว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างพลังทุน-อุตสาหกรรม กับผลกระทบต่อวัฒนธรรมการบริโภคและสุขภาวะของประชาชนที่มักถูกหยิบยกเป็นกรณีศึกษาก็เช่น เรื่องอุตสาหกรรมน้ำตาลกับผู้คนในจาไมกา ประเทศเล็กๆ ในหมู่เกาะแคริเบียนที่เคยเป็นอาณานิคมอังกฤษ

จาไมกา มีจุดกำเนิดจากการเป็นแหล่งปลูกอ้อยเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมน้ำตาล เพื่อส่งไปขายยังยุโรปในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 18-19 บรรพบุรุษของชาวจาไมกาล้วนเป็นทาสแอฟริกันที่คนขาวนำเข้ามาเป็นแรงงานในไร่อ้อย [1] ด้วยข้อจำกัดของพื้นที่เกาะอุตสาหกรรมน้ำตาลทำให้ดินแดนเล็กๆ นี้แทบไม่เหลือพื้นที่เพาะปลูกใดๆ ด้วยเหตุนี้น้ำตาลจึงกลายเป็นวัตถุดิบหลักในวัตนธรรมการบริโภคของชาวจาไมกาไปโดยปริยาย

วัฒนธรรมการบริโภคน้ำตาลในปริมาณที่สูงมากของพวกเขาเป็นสิ่งที่ได้รับการถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่นเป็นระยะเวลานับร้อยๆ ปี สิ่งนี้เองคือคำอธิบายว่าเหตุใดชาวจาไมกา จึงมีรูปร่างใหญ่กว่าที่อื่นๆ [2] กระทั่งคนไทยก็รู้จักประเทศจาไมกาด้วยภาพจำแรกๆ จากโฆษณาฟิล์มสีฟูจิ (ที่มีธงไชย แมคอินไตย์ เป็นพรีเซ็นเตอร์ เมื่อปี พ.ศ. 2533) กับสโลแกนว่า (คนจาไมกา) ตัวเล็ก…กว่าภูเขานิดนึง”

จากประเด็น “น้ำตาล” ในบริบทประวัติศาสตร์สากล สิ่งที่น่าสนใจในความคล้ายคลึงเมื่อมองย้อนกลับมาที่สังคมไทยผ่านงานศึกษาด้านประวัติศาสตร์อาหารของชาติชาย มุกสง (2558) คือการชี้ให้เห็นว่า “รัฐ” และ “ทุน” คือตัวแปรสำคัญที่ทำให้การบริโภคน้ำตาลของคนไทยอยู่ในปริมาณมากกว่าที่ควรจะเป็น

สืบเนื่องจากแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2504-2508) ที่สนับสนุนให้มีการปลูกอ้อยซึ่งเป็นพืชเงินสด (cash crop) ที่ให้ผลผลิตเร็วและมีราคาสูงในตลาดโลกเมื่อผ่านกระบวนการผลิตเป็นน้ำตาลทราย

ทว่าในระยะเวลาอันสั้น ผลผลิตอ้อยในตลาดโลกกลับมีมากเกินไป อุตสาหกรรมน้ำตาลประสบภาวะขาดทุน เป็นเหตุให้กลุ่มนักธุรกิจไร่อ้อยที่เข้าถึงอำนาจทางการเมืองพยายามกดดันให้รัฐแก้ปัญหาด้วยการส่งเสริมการบริโภคน้ำตาลภายในประเทศ รัฐบาลจึงตอบสนองด้วยการลดภาษีการผลิตน้ำตาลทราย

ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมอาหารไทยก็ปรับตัว โดยนำน้ำตาลทรายซึ่งราคาถูกกว่าที่ใดๆ ในโลก เข้าไปร่วมในกระบวนการปรุงแต่งอาหารสำเร็จรูป อาทิ น้ำอัดลม เครื่องดื่มชูกำลัง กาแฟสำเร็จรูป ไอศกรีม อาหารฟาสต์ฟูด ฯลฯ สาเหตุนี้เองที่ทำให้คนไทยเปลี่ยนรูปแบบการบริโภคน้ำตาลในทางตรง (เช่น การปรุงอาหาร ทำขนม ชงกาแฟ) มาเป็นการบริโภคทางอ้อมมากขึ้น [3]

ความเจริญรุ่งเรืองของอุตสาหกรรมเครื่องดื่มชูกำลังซึ่งเติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดดในช่วงทศวรรษ 2500-2510 กระทั่งเจ้าของกิจการสามารถขึ้นชั้นอันดับเศรษฐีเบอร์ต้นๆ ของไทยดูจะเป็นเครื่องบ่งชี้ง่ายๆ ที่สะท้อนภาวะการบริโภคน้ำตาลของคนไทยที่สูงขึ้นอย่างมากตลอดช่วงระยะเวลาหลายทศวรรษที่ผ่านมา

ทั้งนี้ สถิติจากการสำรวจภาวะอาหารและโภชนาการของคนไทย พบว่าปริมาณการบริโภคน้ำตาลเฉลี่ยต่อคนต่อปีของคนไทยเพิ่มสูงขึ้นจาก 4.3 กิโลกรัม ในปี พ.ศ. 2501 เพิ่มเป็น 11 กิโลกรัม ในปี พ.ศ. 2518 ก่อนจะเพิ่มขึ้นเป็น 28.5 กิโลกรัม ในปี พ.ศ. 2540 และเพิ่มมากขึ้นไปอีกที่ 39 กิโลกรัม ในปี พ.ศ. 2548

สภาวการณ์นี้สอดคล้องกับการเพิ่มขึ้นของผู้ป่วยโรคหัวใจที่มีอัตราเพิ่มขึ้นจาก 56.5 คน ต่อประชากร 1 แสนคน ในปี พ.ศ. 2528 เป็น 109.4 คน ต่อประชากร 1 แสนคน ในปี พ.ศ. 2537 และ 285.4 คน ต่อประชากร 1 แสนคน ในปี พ.ศ. 2543 เช่นเดียวกัน โรคเบาหวานที่มีอัตราเพิ่มขึ้นจาก 33.3 คน ต่อประชากร 1 แสนคน ในปี พ.ศ. 2528 เพิ่มเป็น 91 คน ต่อประชากร 1 แสนคน ในปี พ.ศ. 2537 และ 250.3 คน ต่อประชากร 1 แสนคน ในปี พ.ศ. 2543 [4]

อาจกล่าวได้ว่าสถานการณ์นี้คือสิ่งที่เกิดขึ้นก่อนคนไทยจะเริ่มตระหนักและหันมาปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินที่ “ลดหวาน” ตลอดจนแอนตี้ “วัฒนธรรมแดกด่วน” และหันมาใส่ใจกับสุขภาพมากขึ้นเมื่อช่วงราวทศวรรษ 2540 นี้เอง [5]

แม้การบริโภคน้ำตาลของคนไทยในปริมาณมาก จะเกิดขึ้นจากวิถีการบริโภค “ทางอ้อม” ดังที่กล่าวมา ทว่าสิ่งนี้เองก็ทำให้ร่างกายคุ้นชินและโหยหาน้ำตาลในปริมาณมากกว่าปกติ รสลิ้นของคนไทยร่วมสมัยจึงค่อนไปทาง “ติดหวาน” ส่งผลสืบเนื่องมาถึงการบริโภคน้ำตาล “ทางตรง” ด้วย

ในที่สุด นี่จึงเป็นคำอธิบายว่าเหตุใด “กับข้าวนอกบ้าน” จึงมีรสชาติ “หวานนำ”

ในทางเศรษฐศาสตร์ “กับข้าวติดหวาน” จึงเป็นอุปทานที่ตอบสนองอุปสงค์ตามกลไกตลาด และบนตรรกะนี้ เมื่อผู้คนเปลี่ยนวิถีชีวิตการบริโภค มาเน้นกินข้าวนอกบ้านหรือพึ่งพากับข้าวนอกบ้านมากขึ้น โอกาสที่จะรับน้ำตาลจึงมากขึ้นตามไปด้วย

นอกจากนี้ ยังมีการตั้งข้อสังเกตว่า เหตุที่อาหารไทยรสชาติ “หวานขึ้นเรื่อยๆ” ยังเป็นเพราะความถดถอยของคุณภาพวัตถุดิบที่ลดลง ไปจนถึงการเพาะปลูกที่เร่งปุ๋ยเร่งยาจนหารสชาติผักไม่เจอ วิธีแก้ปัญหาที่ง่ายที่สุดจึงได้แก่การใช้รสจัดและหวานนำเพื่อกลบความด้อยของวัตถุดิบ ผักสดไม่มีความหวานก็เติมน้ำตาล น้ำซุปกระดูกไม่หวานเพราะกระดูกไม่สดก็เติมน้ำตาล [6]

ดังที่กล่าวมา จะเห็นได้ว่าพลังของอำนาจ “ทุน” มีอิทธิพลไม่น้อยต่อการเปลี่ยนแปลง “รสชาติ” อาหารและ “รสลิ้น” คนไทยอย่างซับซ้อน

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เชิงอรรถ :

[1] ชัยจักร ทวยุทธนนท์, “น้ำตาล ความหวานจากหยาดเหงื่อทาส,” Gypzy World (ออนไลน์) เข้าถึงhttps://www.gybzyWorld.com/article/view/899.

[2] ชาติชาย มุกสง, “101 Minutes at Starbucks ครั้งที่ 6 | อาหาร-กาล-กิน,” YouTube (ออนไลน์) เข้าถึงจาก https://www.youtube.com/watch?v=yPZAI7ahats (5 มกราคม 2561).

[3] ชาติชาย มุกสง, “น้ำตาลกับวัฒนธรรมการบริโภครสหวานในสังคมไทย พ.ศ. 2504-2539,” (วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2548).

[4] “เผยทุนนิยมทำคนไทยเสียนิสัย, ชอบกินฟาสต์ฟูด-น้ำอัดลม,” MGR Online (ออนไลน์) เข้าถึงจาก https://mgronline.com/gol/detail/9490000153981.

[5] ดูกระแสงานเขียนและความรู้ทางวิชาการที่บ่งชี้ถึงกระแสการหันมาใส่ใจสุขภาพมากขึ้น เช่น โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์, ปรากฏการณ์ชีวจิตบอกอะไรแก่สังคมไทย (กรุงเทพฯ: มูลนิธิโกมลคีมทอง, 2542); หรือข้อเขียนประเภทบทความ เช่น บูรณ์, “ปฏิวัติวัฒนธรรม แดกด่วน อาหารเป็นยาตำรับไทย,” ศิลปวัฒนธรรม 19, 10 สิงหาคม 2541) เป็นต้น

[6] คำ ผกา, “หรือความจนคือต้นเหตุของความหวาน? และอีกหลายเหตุผลที่ทําไมอาหารไทยต้องหวานแสบไส้,” The Momentum (ออนไลน์) เข้าถึงจาก https://themomen tum.co/momentum-opinion-history-of-sugar-thai-ep2/.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 22 กันยายน 2565