“ปู่โสมเฝ้าทรัพย์” ของแท้: พบหลักฐานการฝังร่างมนุษย์เพื่อรักษาปราสาทในเกาหลี

ภาพถ่ายไม่ระบุวันที่ เผยแพร่เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2017 โดย Gyeongju National Research Institute of Cultural Heritage แสดงให้เห็นโครงกระดูกมนุษย์สองร่างที่ถูกฝั่งไว้ใต้ Wolseong หรือปราสาทแห่งดวงจันทร์ ในเมือง Gyeongju เมืองชายฝั่งตะวันออกเฉียงใต้ของเกาหลีใต้

เรื่อง ปู่โสมเฝ้าทรัพย์ การหาผีไว้คอยเฝ้าระวังทรัพย์สมบัติดูจะเป็นความเชื่อที่แพร่หลายไปทั่ว ชาวเกาหลีโบราณก็มีตำนานความเชื่อในทำนองนี้เช่นกัน แต่ไม่มีหลักฐานแน่ชัด จนเมื่อไม่นานมานี้ นักโบราณคดีได้พบหลักฐานที่ช่วยยืนยันได้ว่า มีการบูชายัญมนุษย์เพื่อไว้ปกปักรักษาทรัพย์สมบัติหรือบ้านเมืองมีอยู่จริง

หลักฐานที่ถูกพบก็คือโครงกระดูกสองร่างของมนุษย์ที่มีชีวิตในช่วงราวศตวรรษที่ 5 ซึ่งถูกฝังอยู่ใต้กำแพงปราสาทแห่งดวงจันทร์ (Wolseong – Moon Castle) ในเมือง Gyeongju ของเกาหลีใต้ ซึ่งเคยเป็นเมืองหลวงของอาณาจักรชิลลา

“นี่เป็นหลักฐานทางโบราณคดีที่ช่วยยืนยันได้ว่าตำนานพื้นบ้านที่เล่ากันว่ามีการสังเวยชีวิตมนุษย์เพื่อเป็นรากฐานของสิ่งก่อสร้างต่างๆ ทั้งเขื่อนกั้นน้ำ และกำแพงเป็นเรื่องจริง” ชอย มุน-จุง (Choi Moon-Jung) จากสถาบันวิจัยแห่งชาติด้านมรดกทางวัฒนธรรมของเกาหลีกล่าวถึงการค้นพบครั้งนี้กับเอเอฟพี

ภาพถ่ายไม่ระบุวันที่ เผยแพร่เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2017 โดย Gyeongju National Research Institute of Cultural Heritage แสดงให้เห็นโครงกระดูกมนุษย์สองร่างที่ถูกฝั่งไว้ใต้ Wolseong หรือปราสาทแห่งดวงจันทร์ ในเมือง Gyeongju เมืองชายฝั่งตะวันออกเฉียงใต้ของเกาหลีใต้

การฝังร่างคนทั้งเป็นพร้อมกับกษัตริย์เพื่อเป็นผู้รับใช้ในโลกหลังความตาย เป็นความเชื่อที่รู้จักกันดีในวัฒนธรรมเกาหลีโบราณ แต่เหยื่อที่ปราสาทแห่งดวงจันทร์นี้จะถูกฝังในลักษณะใดยังไม่เป็นที่แน่ชัด

“หากดูจากข้อเท็จจริงซึ่งไม่พบลักษณะที่จะบอกได้ว่ามีการต่อต้านขัดขืนขณะถูกฝัง พวกเขาจึงน่าจะถูกฝังเมื่อตอนที่หมดสติหรือไม่ก็เสียชีวิตไปแล้ว” ปาร์ก ยุน-จุง (Park Yoon-Jung) นักวิจัยอาวุโสกล่าว

“ตำนานพื้นบ้านชี้ว่า การสังเวยชีวิตมนุษย์ก็เพื่อทำให้เทพยดาฟ้าดินพอใจ และเพื่อวิงวอนให้สิ่งก่อสร้างที่พวกเขาสร้างขึ้นมีความคงทนยั่งยืน” ผู้เชี่ยวชาญชาวเกาหลีกล่าวเสริม

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 18 พฤษภาคม 2560