เจาะเพลงชาติกัมพูชา ความแตกต่างทางการเมือง ในจุดร่วมแห่งอดีตที่รุ่งเรืองของ “พระนคร”

สมเด็จพระนโรดมสีหนุ หน้าปราสาทนครวัด เมื่อวันที่ 14 เมษายน 1973 (พ.ศ. 2516) (AFP PHOTO / XINHUA / STR)

ผู้เขียนได้เคยนำเสนอที่มาที่ไปเกี่ยวกับเพลงชาติกัมพูชาที่ใช้ในปัจจุบันมาครั้งหนึ่งแล้ว แต่เพลงที่นำเสนอมีเพียงเพลง “นครราช (นโกร์เรียช)” เพียงเพลงเดียวเท่านั้น เพราะต้องการอภิปรายในแง่มุมที่ว่าเนื้อความที่ปรากฏในเพลง “นครราช” นำเสนอถึงความสำคัญของ “ปราสาทนครวัด” เท่านั้น หรือมีนัยหมายถึงเมืองพระนครอันรุ่งเรืองในอดีตทั้งเมือง

สำหรับเพลงชาติของประเทศกัมพูชาที่เคยใช้กันนั้นมีทั้งสิ้น 4 เพลง คือเพลง “นครราช” (สมัยสังคมราษฎร์นิยม) เพลงชาติสมัยสาธารณรัฐ เพลง “17 เมษา มหาโชคชัย” เป็นเพลงชาติสมัยรัฐบาลเขมรแดง และเพลงชาติสมัยการปกครองของเวียดนาม จนถึงเมื่อภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปที่จัดขึ้นโดยองค์การสหประชา ชาติ ประเทศกัมพูชาได้กลับมาใช้ชื่อว่า “พระราชอาณาจักรกัมพูชา” จึงเปลี่ยนกลับมาใช้เพลง “นครราช” เป็นเพลงชาติอีกครั้งหนึ่ง

ดังนั้นบทความนี้จะเป็นการนำเสนอประเด็นที่ว่าในความแตกต่างของลัทธิทางการเมืองแล้ว เนื้อหาของ “เพลงชาติกัมพูชา” มีความแตกต่างในด้านการรับรู้ถึงอดีตที่ยิ่งใหญ่แห่ง “พระนคร” เพื่อสอดรับกับแนวคิดทางการเมืองของกัมพูชาในยุคสมัยนั้นๆ หรือไม่อย่างไร

1. “นครราช” เพลงชาติเพลงแรก

เมื่อประเทศกัมพูชาได้รับเอกราชจากประเทศฝรั่งเศสในปี พ.ศ. 2496 เป็นต้นมา ประเทศกัมพูชาได้ใช้เพลง “นครราช” เป็นเพลงชาติจนถึงปี พ.ศ. 2513

ทำนองเพลง “นครราช” เป็นพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระนโรดมสุรามฤต ทรงพระราชนิพนธ์ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระสีสุวัตถิ์มุนีวงศ์ (พระเจ้ามณีวงศ์) เมื่อปี พ.ศ. 2481 ในขณะที่ยังทรงรับราชการในพระบรมราชวัง แต่ในเวลานั้นยังไม่สามารถหาบทร้อยกรองที่จะนำมาเป็นเนื้อร้องเพลงนี้ได้ (จาบ พิน, 2502 : 1)

สมเด็จพระมหาสุเมธาธิบดี (ชวน-ณาต) พระสังฆราชมหานิกาย ผู้ประพันธ์เนื้อเพลง “นครราช” เพลงชาติกัมพูชา โดยปรับปรุงมาจากบทเพลงโบราณของกัมพูชา

ต่อมาเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2484 พระบาทสมเด็จพระนโรดมสีหนุและพระบาทสมเด็จพระนโรดมสุรามฤตจึง (ในเวลานั้นยังมิได้ทรงขึ้นครองราชย์แต่ทรงดำรงฐานะเป็นพระบวรราชบิดาในสมเด็จพระนโรดมสีหนุ) ทรงนิมนต์สมเด็จพระมหาสุเมธาธิบดี พระสังฆนายก พระนามเดิม “ชวน-ณาต” ในเวลาที่มีสมณศักดิ์เป็นพระพุทธโฆษาจารย์ ให้นิพนธ์บทเพลงชาตินี้ขึ้นเป็นบทร้อยกรองสำหรับใช้ในการแสดงความเคารพเป็นทางการเรียกว่า “บทนครราช” เพราะดัดแปลงมาจากบทเพลง “นครราช” เขมรซึ่งมีมาตั้งแต่สมัยโบราณ มีเนื้อเพลง 3 ท่อน ดังนี้

บทที่ 1 สรรเสริญพระบารมีพระมหากษัตริย์เขมร

คำแปล

สูมพวกเทพฺตา   ขอพวกเทพดา

รกฺสามหากฺสตฺรเยีง   รักษามหากษัตริย์เรา

โอยบานรุงเรือง   ให้ได้รุ่งเรือง

โฎยชัยมงฺคลสฺรีสัวสฺฎี   โดยชัยมงคลศรีสวัสดี

เยีงขฺญุมฺพฺระองฺค   เราข้าพระองค์

สูมชฺรกโกฺรมมฺลบ่พฺระบารมี   ขอพึ่งใต้ร่มพระบารมี

ไนพฺระนรบดี   แห่งพระนรบดี

วงฺสกฺสตฺราแฎลสางปฺราสาทถฺม   วงศ์กษัตราซึ่งสร้างปราสาทหิน

คฺรบ่คฺรงแฎนแขฺมร   ครอบครองแดนเขมร

บุราณเถฺกีงถฺกาน   บุราณเถกิงถกาน ฯ

สมเด็จพระนโรดมสีหนุ พระองค์ทรงอาราธนาให้สมเด็จพระมหาสุเมธาธิบดี (ชวน-ณาต) ประพันธ์เนื้อร้องบทเพลง “นครราช” เพื่อใช้เป็นเพลงชาติกัมพูชา

บทที่ 2 สรรเสริญการสร้างปราสาทโบราณ

คำแปล

ปฺราสาทสิลา   ปราสาทศิลา

กํบำงกณฺฎาลไพฺร   กำบังอยู่ท่ามกลางไพร

ควรโอยสฺรมัย   ควรให้แว่วเสียง

นึกฎล่ยสสกฺฎิ์มหานคร   นึกถึงยศศักดิ์มหานคร

ชาติแขฺมรฎูจถฺมคง่วงฺ   ชาติเขมรดุจหินคงวงศ์

สเนาลฺอรึงบึงชํหร   อยู่ดีแน่นอนยืนยง

เยีงสงฺฆึมพร   เราหวังพร

ภัพฺพเพฺรงสํณางรบส่กมฺพุชา   บุญเพรงวาสนาของกัมพูชา

มหารฎฺฐเกีตมาน   มหารัฐเกิดมี

ยูรองฺแวงเหีย   ยาวนานล่วงมาแล้ว ฯ

 

บทที่ 3 สรรเสริญคุณค่าเขมรนับถือพระพุทธศาสนา

คำแปล

คฺรบ่วตฺตอาราม   ครบทุกวัดอาราม

ฦๅแตสูรสพฺทธรฺม   ยินแต่เสียงศัพท์ธรรม

สูตฺรโฎยอํณร   สวดด้วยความยินดี

รํลึกคุณพุทฺธะสาสฺนา   รำลึกคุณพุทธศาสนา

จูรเยีงชาอฺนกเชือชาก่   เราจงเป็นผู้เชื่อชัด

เสฺมาะสฺมัคฺร   เสมอสมัคร

ตามแบบฎูนตา   ตามแบบยายตา

คง่แตเทพฺตา   คงแต่เทพดา

นึงชวยโชฺรมแชฺรง   จะช่วยค้ำชู

ผฺคต่ผฺคง่   ประคับประคอง

ปฺรโยชน์โอย   ประโยชน์ให้

ฎล่ปฺรเทสแขฺมร   แด่ประเทศเขมร

ชามหานคร   เป็นมหานคร ฯ

สมเด็จพระนโรดมสุรามฤต พระราชบิดาสมเด็จพระนโรดมสีหนุ ผู้ทรงพระราชนิพนธ์ทำนองเพลง “นครราช” เพลงชาติกัมพูชา

2. เพลงชาติกัมพูชา สมัยสาธารณรัฐ

ต่อมาในปี พ.ศ. 2513 เมื่อกลุ่มของลอนนอลซึ่งได้รับการหนุนหลังจากรัฐบาลของสหรัฐอเมริกาได้รับชัยชนะในการปฏิวัติรัฐประหารยึดอำนาจการปกครองจากรัฐบาลของสมเด็จพระนโรดมสีหนุ และเปลี่ยนแปลง การปกครองมาเป็นแบบสาธารณรัฐ แล้วเปลี่ยนชื่อประเทศกัมพูชามาเป็น “สาธารณรัฐเขมร”

ในยุคนี้ได้เปลี่ยนเพลงชาติมาเป็นเพลงใหม่ที่มีเนื้อหาในทำนองเดียวกับประเทศสังคมนิยม เพลงชาติใหม่ของเขมรในยุคนี้แต่งโดยกลุ่มมหาวิทยาลัยวิจิตรศิลปะ (เทียบได้กับมหาวิทยาลัยศิลปากรของกัมพูชา) ที่มีท่าน หงส์ ธุนหัก (หงฺส-ธุนหาก่) เป็นอธิการบดี เพลงชาติกัมพูชายุคที่ 2 มีเนื้อเพลงดังนี้

คำแปล

ชนชาติแขฺมร   ชนชาติเขมร

ลฺบีพูแกมวยกฺนุงโลก   ลือชื่อเก่งที่หนึ่งในโลก

มานชัยโชค   มีชัยโชค

กสางปฺราสาทสิลา   ก่อสร้างปราสาทศิลา

อารฺยธรฺมขฺพส่   อารยธรรมสูง

บวรชาติสาสนา   บวรชาติศาสนา

เกรฺติ์ฎูนตา   มรดกยายตา

ทุกเลีกภพแผนฎี   ไว้ยกภพแผ่นดิน

แขฺมรโกฺรกเฬีง   เขมรลุกขึ้น

แขฺมรโกฺรกเฬีง   เขมรลุกขึ้น

แขฺมรโกฺรกเฬีง   เขมรลุกขึ้น

ตสูฎมฺเลีงสาธารณรฎฺฐ   ต่อสู้เถลิงสาธารณรัฐ

ขฺมำงลุกจูลแขฺมร   ศัตรูบุกรุกเข้าเขมร

ปฺรยุทฺธมินตก่สฺลุต   ประยุทธ์ไม่ตกใจ

ยกชัยบํผุต   เอาชัยที่สุด

ชูนชาติเขมรา   มอบชาติเขมรา

เอกราชฺยภฺลืถฺลา   เอกราชสว่างใส

ชามหาปฺรเทสตเทา ฯ   เป็นมหาประเทศต่อไป

พระนคร” เป็น “สัญลักษณ์” ทางการเมืองอีกครั้งหนึ่งในเพลงชาติยุคนี้ที่สืบทอดความคิดมาจากเพลง “นครราช” แต่ข้อความที่กล่าวถึง “พระราชา” หายไปเนื่องจากเวลานั้นประเทศกัมพูชาเปลี่ยนการปกครองเป็นระบอบ “สาธารณรัฐ” ซึ่งไม่มีที่ว่างสำหรับ “กษัตริย์” อีกต่อไปแม้แต่ในเพลงชาติ

แม้กระนั้น “พระนคร” ยังคงถูกนำมาอ้างอิงเพื่อบอกว่า “ชนชาติเขมรลือชื่อเก่งที่หนึ่งในโลก มีชัยโชคก่อสร้างปราสาทศิลา อารยธรรมสูงบวรชาติศาสนา มรดกยายตาไว้ยกภพแผ่นดิน

เพลงชาติกัมพูชาเพลงนี้ใช้ต่อมาถึงปี พ.ศ. 2518 เขมรแดงสามารถยึดกรุงพนมเปญได้สำเร็จ จึงมีการเปลี่ยนเพลงชาติกัมพูชาอีกครั้งหนึ่ง

3. “16 เมษา มหาโชคชัย” : เพลงชาติกัมพูชาสมัยเขมรแดง

ในสมัยเขมรแดง (กัมพูชาประชาธิปไตย) เพลงชาติได้เปลี่ยนไปอีกครั้ง เพลงชาติกัมพูชาสมัยเขมรแดงนี้เนื้อหาสนับสนุนการปลดปล่อยและเน้นถึงการสละเลือดเนื้อเพื่อมาตุภูมิ เพลงชาติกัมพูชาสมัยนี้มีชื่อเพลงว่า “17 เมษา มหาโชคชัย” ดังเนื้อเพลงที่ปรากฏในรัฐธรรมนูญสมัยนั้นว่า

คำแปล

ฌามกฺรหมจฺราล   เลือดแดงฉาน

โสฺรจสฺรพกฺนุงวาล   โสรจสรรพในทุ่งนา

กมฺพุชามาตุภูมิ   กัมพูชามาตุภูมิ

ฌามกมฺมกร   เลือดกรรมกร

กสิกรฎ็อุตฺตม   กสิกรซึ่งอุดม

ฌามยุทฺธชน   เลือดยุทธชน

ยุทฺธนารีปฏิวตฺต   ยุทธนารีปฏิวัติ

ฌามแปฺรกฺลายชา   เลือดแปรกลายเป็น

กํหึงขฺลำงกฺลา   แข็งขลังกล้า

ตสูเมาะมุต   ต่อสู้เด็ดเดี่ยว

ฎบ่ปฺรำพีรเมสา   สิบเจ็ดเมษา

โกฺรมทง่ปฏิวตฺต   ใต้ธงปฏิวัติ

ภาพรํเฎาะ   ภาวะปลดปล่อย

อํพีภาพขฺญุมฺเค   จากภาวะข้าทาสเขา

ชโย! ชโย!   ชโย! ชโย!

ฎบ่ปฺรำพีรเมสา   สิบเจ็ดเมษา

โชคชัยมหาอสฺจารฺย   โชคชัยมหาอัศจรรย์

มานนัยธํเธง   มีความหมายยิ่งใหญ่

เลีสสมัยองฺคร   ยิ่งกว่าสมัยพระนคร

เยีงรวบรวมคฺนา   เรารวบรวมกัน

กสางกมฺพุชา   ก่อสร้างกัมพูชา

นึงสงฺคมถฺมี   และสังคมใหม่

บวรปฺรชาธิปไตยฺย   บวรประชาธิปไตย

สมภาพนึงยุตฺติธรฺม   เสมอภาพและยุติธรรม

ตามมารฺคามฺจาส่การ   ตามมรรคาเจ้าการ

เอกราชรึงมำ   เอกราชแข็งมั่น

เปฺตชฺญาฎาจ่ขาต   ปฏิญาณเด็ดขาด

การพารมาตุภูมิ   การปกป้องมาตุภูมิ

ทึกฎีอุตฺตมปฏิวตฺต   แผ่นดินอุดมปฏิวัติ

ฎ็รุงเรืองชโย!   อันรุ่งเรือง ชโย!

ชโย! ชโย!   ชโย! ชโย!

กมฺพุชาถฺมี   กัมพูชาใหม่

ปฺรชาธิปเตยฺย   ประชาธิปไตย

สํบูรถฺกุมฺเถฺกีง   สมบูรณ์รุ่งเรือง

เปฺตชฺญาโชฺรงคฺรวี   ปฏิญาณชูคระวี

ทง่ปฏิวตฺต   ธงปฏิวัติ

กฺรหมขฺพส่เฬีง   แดงสูงขึ้น

สางมาตุภูมิเยีง   สร้างมาตุภูมิเรา

โอฺยจํเรีนโลตเผฺลาะ   ให้เจริญโลดเหาะ

มหารุงเรือง   มหารุ่งเรือง

มหาอสฺจารฺย ฯ   มหาอัศจรรย์ ฯ

จะเห็นได้ว่าแม้จะเป็นเพลงชาติในสมัยกัมพูชาประชาธิปไตย (เขมรแดง) ที่มีความขัดแย้งกับสภาวะของ “จักรวรรดินิยม” อย่างรุนแรงสุดขั้ว แต่ความเปรียบข้อหนึ่งที่น่าสนใจ นั่นคือการเปรียบที่ว่า “สิบเจ็ดเมษา โชคชัยมหาอัศจรรย์ มีความหมายยิ่งใหญ่ ยิ่งกว่าสมัยพระนคร เรารวบรวมกัน ก่อสร้างกัมพูชา และสังคมใหม่

ข้อความนี้ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าแม้กัมพูชาจะมีการเปลี่ยนแปลงมาเป็นระบอบ “คอมมิวนิสต์” แต่ “สมัยพระนคร” ก็ยังถูกนำมาใช้เป็น “ความเปรียบ” ที่มีนัยทางการเมือง แต่ต่างไปจากยุคก่อนๆ ที่อ้างถึง “พระนคร” ตรงที่สมัยนี้อ้างว่าจะต้องสร้างสังคมใหม่ของกัมพูชาให้ “ยิ่งกว่าสมัยพระนคร

อาจกล่าวได้ว่านี่คือ “ความสุดโต่งของอุดมคติ” ในการสร้างรัฐชาติของ “กัมพูชาประชาธิปไตย (เขมร แดง)” ที่ปรากฏอยู่ในเพลง “17 เมษา มหาโชคชัย” อันนำไปสู่ความหายนะในที่สุด

4. เพลงชาติกัมพูชา สมัยสาธารณรัฐประชาชนกัมพูชา

สมัยสาธารณรัฐประชาชนกัมพูชา (The People”s Republic of Kambuchea) เริ่มต้นพร้อมกับกองทัพของเวียดนามเข้าขับไล่กองทัพเขมรแดงออกจากกัมพูชา ทิ้งโศกนาฏกรรมฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ไว้เบื้องหลัง ในปี พ.ศ.2522 รัฐบาลของกัมพูชาในยุคนั้นได้รับการสนับสนุนจากประเทศเวียดนามและสถานการณ์ภายในประเทศกัมพูชาแตกแยกเป็นหลายฝ่าย บางครั้งเป็น 3 ฝ่าย บางครั้งเป็น 4 ฝ่าย สืบเนื่องมาจนถึง พ.ศ. 2529

เพลงชาติกัมพูชาในยุคนี้ได้เปลี่ยนแปลงอีกครั้งหนึ่งตามที่ปรากฏในรัฐธรรมนูญของรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนกัมพูชา เพลงชาตินี้ใช้ในระหว่างปี พ.ศ. 2522-2528 เนื้อเพลงสมัยนี้มี 3 ท่อน ดังนี้

คำแปล

1. พลรฏฺฐกมฺพุชา   พลรัฐกัมพูชา

ชากํลำงบฺฎูรผฺฎาจ่   เป็นกำลังแลกเผด็จ

สจฺจากํเทจอส่   สัจจาทำให้ป่นสิ้น

พวกปจฺจามิตฺต   พวกปัจจามิตร

ตำงจิตฺตสามคฺคี   ตั้งใจสามัคคี

เทีบมานมหิทฺธิฤทฺธิ   จึงมีมหิทธิฤทธิ์

สูบฎูรชีวิต   สู้แลกชีวิต

บงฺหูรฌามบฺฎูรยกชัย ฯ   หลั่งเลือดแลกเอาชัย ฯ

2. กงทัพกมฺพุชา   กองทัพกัมพูชา

พุะโพรกฺลาหานสํรุก   เดือดล้นกล้าหาญบุกตะลุย

อุปสคฺครำงมุข   อุปสรรคขวางหน้า

ฉฺลงกาต่สํเรจบาน   ข้ามตัดสำเร็จได้

กํเทจขฺมำงจงฺไร   ทำให้ป่นศัตรูจัญไร

พูชสามานฺย  พวกสามานย์

นำเสรีเถฺกีงถฺกาน   นำเสรีเถกิงถกาน

ชูนปฺรชาชน   มอบแด่ประชาชน

3. วีรกมฺพุชาบุตร   วีรกัมพูชาบุตร

เมาะมุตกฺนุงสงฺคฺราม   มุ่งมั่นในสงคราม

เปฺฏชฺญาสงฌามนึงขฺมำงสตฺรู   ปฏิญาณตอบแทนกับศัตรู

ทง่ชัยปฺราสาทพรฺณฌาม   ธงชัยปราสาทสีเลือด

ขฺพส่สนฺเธา   สูงสว่างโพลง

นำชาติฌานเทา   นำชาติก้าวไป

สางสุขเกฺสมกฺสานฺต ฯ   สร้างสุขเกษมสานต์ ฯ

เพลงชาติกัมพูชาในยุคนี้ไม่ได้กล่าวถึง “พระนคร” แต่อย่างใด แม้กระนั้นในเพลงชาติท่อนที่ 3 ก็ยังมีกล่าวถึง “ปราสาท” ที่ปรากฏอยู่บนธงชาติ ซึ่งอาจหมายถึง “ปราสาทนครวัด” หรือตัวแทนของ “เมืองพระนคร” อันรุ่งเรืองอยู่นั่นเอง

เพลงชาติกัมพูชาทั้ง 4 เพลงต่างแสดงถึงอุดมการณ์ทางการเมืองที่แตกต่างกัน แต่ท้ายที่สุดปัจจุบันกัมพูชาก็กลับมาใช้เพลงชาติที่เรียกว่า “นครราช (นโกร์เรียช)” ที่มีความหมายถึง “นครแห่งพระราชา

แน่นอนว่า “พระราชา” ในเพลงชาติเพลงนี้แสดงถึงการย้อนกลับไปหวนรำลึกอดีตที่ยิ่งใหญ่และยาวนานของ “พระราชา” แห่ง “ราชอาณาจักรเขมรโบราณ” ที่มีเมืองหลวงตั้งอยู่ที่เมือง “พระนครศรียโศธรปุระ” หรือที่ไทยเรียกในเอกสารโบราณว่า “เมืองพระนครหลวง” และตรงกับที่เขมรปัจจุบันเรียกว่า “นครธม

การรำลึกถึงอดีตที่รุ่งเรืองของเมืองพระนครส่งผลอย่างยิ่งต่อความรู้สึก “ภาคภูมิ” ในความยิ่งใหญ่ของอาณาจักรเขมรโบราณ และก่อให้เกิดความรู้สึก “น้อยเนื้อต่ำใจ” ในชะตากรรมของชาวเขมรในปัจจุบัน

ธงชาติ “กัมพูชา” พื้นสีแดงคือชาติ สีน้ำเงินคือพระมหากษัตริย์ และ “นครวัด” สัญลักษณ์ความรุ่งเรืองในอดีตของเมืองพระนคร ซึ่งเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวกัมพูชา สอดคล้องกับเนื้อเพลง “นครราช”

บทสรุป

จากเนื้อหาในเพลงชาติกัมพูชายุคต่างๆ ที่นำเสนอมา จะเห็นได้ว่าเนื้อหาส่วนใหญ่เป็นการย้อนกลับไปสู่ความรุ่งเรืองในอดีตของกัมพูชาที่เป็น “มหานคร” หรือ “เมืองพระนคร” ทั้งเมือง หาใช่ให้ความสำคัญเพียงแค่ “นครวัด” อย่างเดียวไม่

แม้กระนั้น “นครวัด” ก็ถือเป็น “สัญลักษณ์” ศักดิ์สิทธิ์ของ “เมืองพระนคร” ที่รุ่งเรืองของเขมรโบราณซึ่งตามความรู้สึกของชาวกัมพูชาถือว่านั่นคือ “มรดก” ของบรรพชนที่สร้างไว้ให้

จะเห็นได้ว่าการนำเสนอ “พระนคร” ในเพลงชาติกัมพูชาที่แตกต่างกันไปตามระบอบการปกครองของประเทศนั้น แม้จะมีการเปลี่ยนแปลง “อุดมคติ” ของรัฐ แต่ยังคงอ้างอิงกับการโหยหาอดีตของเมือง “พระนคร” อยู่เสมอ

ในยุคแรกเพลงชาติ “นครราช” นำเสนอความสำคัญของระบบ “กษัตริย์โบราณ” ไปพร้อมๆ กับการกล่าวถึง “มหานคร” หรือ “พระนคร” ในฐานะพระผู้สร้างความยิ่งใหญ่ของเมืองพระนคร เราจะเห็นได้ว่าเนื้อเพลงทั้งสองท่อนแรกนำเสนอไปในทิศทางนี้ การถวิลหาอดีตที่ยิ่งใหญ่ถูกนำมาเป็นอุดมคติในการสร้างรัฐให้ยิ่งใหญ่เช่นเดียวกับสมัย “พระนคร

เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงมาเป็น “สาธารณรัฐ” ในเวลาต่อมา เนื้อหาเกี่ยวกับเมืองพระนครยังคงถูกนำมาใช้เช่นเดิมต่างไปจากเพลง “นครราช” ก็เพียงตัดบทบาทของ “กษัตริย์” ออกไป โดยให้ความสำคัญแก่ “ชนชาติเขมร” ว่าเป็นผู้สร้างสรรค์เมืองโบราณแห่งนี้

อุดมคติของกัมพูชาประชาธิปไตยภายใต้การปกครองของเขมรแดง “พระนคร” ถูกนำมาเป็นประเด็นเช่นเดียวกัน หากแต่คราวนี้ผู้นำเขมรแดงต้องการสร้าง “สังคมกัมพูชาใหม่” ให้ยิ่งใหญ่กว่าสมัย “พระนคร” ที่ตามธรรมดาถือเป็น “รัฐอุดมคติ” ของกัมพูชา

แต่พอถึงรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนกัมพูชา การให้ความสำคัญกับ “พระนคร” ดูเหมือนจะลดลงไปบ้าง เพราะไม่ได้มีการกล่าวอ้างในฐานะ “รัฐอุดมคติ” (เช่นเดียวกับที่เราถือว่า “สุโขทัย” เป็นรัฐอุดมคติของไทย) อีกต่อไป หากแต่กล่าวถึงในฐานะ “ศูนย์รวมใจ” ที่อยู่บน “ธงชาติ” (ปราสาทสีเลือด) แทนที่จะเสนอในลักษณะเดิม

อย่างไรก็ดีเมื่อมีการเลือกตั้งโดยสหประชาชาติแล้ว เพลงชาติกัมพูชาก็ได้เปลี่ยนกลับมาใช้เพลงแรก “นครราช” มีบทบาทสำคัญอีกครั้งต่อสังคมกัมพูชา เช่นเดียวกับความรู้สึกหวงแหน “เมืองพระนคร” มากขึ้น เช่นเดียวกับความหวงแหน “ปราสาทนครวัด

ดังนั้นขอความกรุณาเถิดครับ หากใครได้ไปเที่ยว “นครวัด” และ “เมืองพระนคร (หรือนครธม)” ราชธานีของเขมรโบราณ กรุณาอย่าอ้างสิทธิ์หรือพูดว่านั่นนี่เคยเป็นของเรา อย่าคิดว่าชาวกัมพูชาที่นั่นฟังภาษาไทยไม่ออก

โปรดถือว่า “เมืองพระนคร” เป็นมรดกของภูมิภาคอุษาคเนย์ที่ “อาณาจักรเขมรโบราณ” ได้สร้างไว้ เพื่อให้เราท่านได้มีโอกาสเข้าไปเที่ยวชม 1 ใน 7 สิ่งมหัศจรรย์ของโลกในรอบ 1,000 ปีได้นานๆ เช่นเดียวกับ “ปราสาทเขาพระวิหาร” ซึ่งปัจจุบันกำลังอยู่ในระหว่างการขึ้นทะเบียนเป็น “มรดกโลก

จะได้ไม่เกิดกรณีป้ายประกาศที่ว่า “คนทั้งโลกรู้ว่านครวัดเป็นของเขมร มีแต่คนไทยเท่านั้นที่ไม่รู้” ให้ขุ่นข้องหมองใจกันอีก

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 10 พฤษภาคม 2560