ท้าวทรงกันดาล (ทองมอญ) แม่วังยุคธนบุรี ศูนย์กลางอำนาจของฝ่ายในสมัยพระเจ้าตาก

พระราชวังเดิม หรือพระราชวังกรุงธนบุรี (ภาพจาก ศิลปวัฒนธรรม ฉบับมษายน 2551)

ชาวมอญเป็นกลุ่มคนที่มีบทบาทสำคัญบนหน้าประวัติศาสตร์ไทยมาตลอดหลายยุคหลายสมัย ไม่ว่าบุรุษหรือสตรี โดยในช่วงยุคปลายกรุงศรีอยุธยา ก็ปรากฏชื่อของสตรีชนชั้นสูงในราชสำนักแห่งราชวงศ์บ้านพลูหลวง นามว่า เม้ยทอง หรือทองมอญ

นางเม้ยทองและบุตรหลานรอดชีวิตจากการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 มาได้ จนถึงสมัยกรุงธนบุรี สตรีนางนี้ได้รับความไว้วางใจจากพระเจ้าตาก ให้ดำรงตำแหน่งท้าวทรงกันดาล เป็น “แม่วัง” มีอำนาจสิทธิขาดดูแลกิจการของฝ่ายใน

Advertisement

ท้าวทรงกันดาล (ทองมอญ) เป็นใคร มีเส้นทางชีวิตอย่างไร? ปเรตร์ อรรถวิภัชน์ อธิบายไว้ในบทความ “บทบาทของชนชาติมอญ ต่อประวัติศาสตร์และสังคมไทย” ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับมษายน 2551 ดังนี้


 

ท้าวทรงกันดาล (ทองมอญ) แม่วังในรัชสมัยกรุงธนบุรี

ไม่เพียงแต่บุรุษชาวมอญเท่านั้นที่มีบทบาทและชื่อเสียงในประวัติศาสตร์ของไทย สตรีก็มีส่วนสำคัญเช่นกัน ท้าวทรงกันดาล (ทองมอญ) เป็นผู้หนึ่งที่มีบทบาทสำคัญในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของประวัติศาสตร์ไทยและมีความเกี่ยวพันโดยตรงกับราชสำนักทั้งในสมัยกรุงศรีอยุธยา และกรุงธนบุรี โดยเฉพาะเมื่อได้รับความไว้วางใจให้เป็น “แม่วัง” ดูแลรับผิดชอบข้าราชการฝ่ายในทั้งหมดในพระราชวังกรุงธนบุรี ของสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ

หม่อมทิม ซึ่งเป็นบุตรสาวคนหนึ่งของท้าวทรงกันดาล ยังได้เป็นเจ้าจอมในสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ ทำให้ท้าวทรงกันดาลมีส่วนสำคัญที่ทำให้เชื้อสายของทั้ง 3 ราชวงศ์ กล่าวคือราชวงศ์กรุงเก่า ราชวงศ์กรุงธนบุรี และราชวงศ์จักรี เชื่อมต่อเข้าด้วยกัน เนื่องจากต่อมาลูกหลานของท่านได้สมรสกับเจ้านายหลายพระองค์และหลายท่านได้เป็นบรรพชนฝ่ายหญิงของหลาย ๆ ราชสกุล เช่น กุญชรฯ, สุทัศน์ฯ, ชุมสายฯ, อรุณวงศ์ฯ, ศิริวงศ์ฯ และภาณุพันธุ์ฯ

นอกจากนี้ยังมีสกุลขุนนางอีกหลายสกุลที่สืบเชื้อสายหรือเป็นญาติสนิทของท้าวทรงกันดาล อาทิ ไชยนันทน์, ศรีเพ็ญ และ ณ พัทลุง เป็นต้น

เอกสารที่มีการกล่าวถึงท้าวทรงกันกาลนั้น บางแหล่ง เช่น ประวัติศาสตร์ ตระกูลสุลต่านสุลัยมาน (บุตรของดะโต๊ะโมกอล) ก็ว่าท่านได้สืบสกุลมาจากพระยาเกียรติและพระยาราม หัวหน้าจางวางอาสาชาวรามัญซึ่งได้แปรพักตร์จากฝ่ายพม่า มาสวามิภักดิ์ต่อสมเด็จพระนเรศวรฯ เนื่องจากทั้ง 3 ท่านเคยเป็นศิษย์ของท่านมหาเถรคันฉ่อง มาด้วยกันในวัยเยาว์

ส่วนบางแหล่งก็ว่าท้าวทรงกันดาลเป็นสตรีเชื้อสายมอญซึ่งได้เดินทางเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารของกษัตริย์สยามในสมัยของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ในช่วงอยุธยาตอนปลาย

แต่แหล่งที่น่าเชื่อถือได้มากที่สุดเกี่ยวกับท้าวทรงกันดาลคงจะหนีไม่พ้นบันทึกต้นตระกูลและวงศ์ญาติของพระยาไชยนันทน์พิพัทธพงศ์ (เชย ไชยนันทน์) ซึ่งท่านผู้นี้เป็นผู้สืบสกุลโดยตรงของพระยารัตนจักร (หงส์ทอง) และท่านยังมีศักดิ์เป็นหลานย่าของท้าวทรงกันดาลอีกด้วย

บันทึกดังกล่าวถูกเขียนขึ้นในปี พ.ศ. 2456 โดยพระยาไชยนันทน์พิพัทธพงศ์ (เชย ไชยนันทน์) ในขณะที่ยังมีบรรดาศักดิ์เป็นพระยาบริหารราชมานพ โดยเขียนจากคำบอกเล่าของญาติผู้ใหญ่และจากความทรงจำของตัวท่านเองว่า ตาและยายของท้าวทรงกันดาลนั้นเป็นสามีภรรยาชาวรามัญซึ่งตั้งภูมิลำเนาอยู่ที่เมืองโคราช มีบุตรี 3 คน บุตรีคนที่ 1 ชื่อ “สายบัว” ได้เป็นภรรยาปลัดขวาเมืองโคราช และมีบุตรชื่อแจ่มแจ้ง

ส่วนบุตรคนที่ 2 และสามีไม่ปรากฏนาม แต่มีบุตรชื่อบุญช่วยได้เป็นเจ้าพระยาศรีธรรมาธิราชในสมัยกรุงธนบุรีและมีบุตรชื่อพระยารัตนจักร (หงส์ทอง) ดำรงตำแหน่งเจ้ากรมอาษาธมาต์ ในรัชกาลที่ 1 ซึ่งน่าจะหมายถึง “อาทมาต” ซึ่งเป็นหน่วยข่าวกรองของสยาม และนิยมที่จะใช้ชาวมอญเพราะสามารถพูดภาษาพม่าได้

บุตรีคนที่ 3 และสามีไม่ปรากฏนาม มีบุตรธิดา ดังต่อไปนี้

1. เป็นชายชื่อมะซอน ต่อมาได้เป็นเจ้าพระยารามจัตุรงค์ หรือจักรีมอญ (บรรพบุรุษของสกุลศรีเพ็ญ) หนึ่งในทหารคู่พระทัยที่ถูกประหารชีวิตพร้อมกับสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ

2. เป็นหญิงชื่อเม้ยทอง หรือทองมอญ (ท้าวทรงกันดาล)

3. เป็นงูตัวหนึ่ง!

4. เป็นหญิงชื่อแป้น ต่อมาได้เป็นคุณหญิงของพระยาพัทลุง หรือขุนคางเหล็ก (บรรพบุรุษของสกุล สุคนธาภิรมย์ ณ พัทลุง)

เรื่องเล่าที่ว่าท้าวทรงกันดาลมีน้องเป็นงู นี้เป็นเรื่องที่ทราบกันดีในสกุลไชยนันทน์ เพราะเป็นเรื่องที่เล่าสืบทอดกันมาตั้งแต่สมัยปู่ ย่า ตา ทวด และยังได้มีการพิมพ์เรื่องดังกล่าวแจกในอนุสรณ์พิธีพระราชทานเพลิงศพของ ฯพณฯ เทียม ไชยนันทน์ เมื่อปี พ.ศ. 2540 อีกด้วย แต่ผู้เขียนจะไม่ขอนำเสนอรายละเอียดในที่นี้ เพราะเกรงว่าจะเป็นการออกนอกเรื่องมากเกินไป

ที่ผ่าน ๆ มาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับผู้ที่เป็นสามีของท้าวทรงกันดาลนั้นก็มีความสับสนอยู่พอสมควรเช่นกัน เนื่องจากในหนังสือ “ต้นตระกูลไทย” เล่าว่า ท้าวทรงกันดาลเป็นสนมในกรมพระราชวังบวรสถานมงคล ซึ่งผู้ที่เคยดำรงตำแหน่งดังกล่าวมี 2 พระองค์ องค์แรก ได้แก่ สมเด็จเจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์ (เจ้าฟ้ากุ้ง) แต่ต่อมา พระองค์ได้ถูกกล่าวหาว่าลักลอบเป็นชู้กับเจ้าฟ้าสังวาลย์ พระมเหสีของพระราชบิดา (พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ) จึงถูกราชทัณฑ์ด้วยการโบยและเอาไฟนาบ จนสิ้นพระชนม์ระหว่างถูกลงโทษ และต่อมาพระอนุชาเจ้าฟ้าอุทุมพร กรมขุนพรพินิจ (ขุนหลวงหาวัด) จึงได้ดำรงตำแหน่งวังหน้าแทน

ส่วนอีกทางหนึ่ง ในหนังสือประวัติศาสตร์ ตระกูลสุลต่านสุลัยมาน กล่าวว่า สมเด็จเจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช (ผู้ทรงเชื้อสายท้าวทรงกันดาล ทางสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชชนนี พระชนนีของพระองค์) ได้ทรงเล่าถึงบรรพชนว่าสามีของท้าวทรงกันดาลเป็นหม่อมเจ้า โอรสของพระองค์เจ้าในราชตระกูลกรุงเก่า

ส่วนในบันทึกของพระยาไชยนันทน์ฯ เองนั้น ก็เขียนปะปนกัน บางตอนก็ว่า ท้าวทรงกันดาลเป็นหม่อมห้ามของหม่อมเจ้าในเจ้าฟ้าจีด (ในบันทึกฯ สะกดว่า “จิตต์”) แต่ในบางตอนก็เขียนว่า นางเป็นหม่อมห้ามของเจ้าฟ้าจีดเสียเอง

เจ้าฟ้าจีดเป็นพระโอรสของพระองค์เจ้าแก้ว จึงหมายความว่าท่านเป็นพระเจ้าหลานเธอของสมเด็จพระเพทราชา ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์พลูหลวง โดยพระองค์ประสูติจากเจ้าฟ้าเทพ ราชธิดาของพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ จึงทำให้พระองค์ท่านมีฐานันดรเป็นเจ้าฟ้า โดยนับทางฝ่ายพระชนนี

ทางฝ่ายเจ้าฟ้าจีดเองนั้นถึงจะเป็นเจ้านายสูงศักดิ์แต่ก็ต้องประสบเคราะห์กรรมมาไม่น้อย เพราะทรงต้องโทษถูกกักขังอยู่ในบริเวณพระราชวัง เนื่องจากพระองค์เจ้าแก้วพระบิดาของพระองค์เป็นฝ่ายของเจ้าฟ้าปรเมศร์ ซึ่งพ่ายแพ้ในศึกช่วงชิงราชบัลลังก์กับพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ จึงต้องตกอยู่ในสถานะกบฏ เมื่อพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศได้รับชัยชนะและได้เสด็จขึ้นครองราชสมบัติ

ในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย ช่วงนั้นบ้านเมืองอยู่ในภาวะระส่ำระสายจากการรุกรานของพม่า และในช่วงที่ใกล้จะเสียกรุงอยู่นั้น เจ้าฟ้าจีดและครอบครัวได้รับการช่วยเหลือจากหลวงโกษา ซึ่งเป็นผู้คุมทัพจากเมืองพิษณุโลกมาช่วยรบกับพม่าทางด้านทิศเหนือของกรุงศรีอยุธยาได้กระทำการช่วยเหลือเจ้าฟ้าจีดให้หนีจากการคุมขังและได้เสด็จลี้ภัยไปยังเมืองพิษณุโลก

กลอุบายของกองทัพเมืองพิษณุโลกในการช่วยเหลือเจ้าฟ้าจีดนั้น น่าจะเป็นแผนของเจ้าพระยาพิษณุโลก (เรือง) ที่จะเชิดเจ้าฟ้าจีดขึ้นเป็นกษัตริย์หลังจากกรุงแตก เช่นเดียวกับที่เจ้าเมืองพิมายตั้งใจจะยกกรมหมื่นเทพพิพิธ เนื่องจากทั้ง 2 พระองค์ต่างก็เป็นพระบรมวงศ์ชั้นสูงของกรุงศรีอยุธยา จึงอาจจูงใจให้ผู้คนเชื่อถือเลื่อมใสได้ง่ายกว่าสามัญชนทั่วไป

แต่ในช่วงที่เจ้าฟ้าจีดเสด็จไปถึงเมืองพิษณุโลกนั้นมีแต่คุณหญิงภริยาของเจ้าพระยาพิษณุโลก และข้าราชการเพียงบางส่วนหลงเหลืออยู่ เพราะเจ้าพระยาพิษณุโลก (เรือง) ได้ยกทัพขึ้นไปรบกับพม่าที่สุโขทัยและสวรรคโลก ในเวลานั้นเจ้าฟ้าจีดจึงได้ฉวยโอกาสยึดทรัพย์สมบัติของเจ้าพระยาพิษณุโลก และสถาปนาพระองค์เองขึ้นเป็นเจ้าครองเมือง

แต่ทางฝ่ายของเจ้าฟ้าจีด สามารถยึดตำแหน่งดังกล่าวอยู่ได้ไม่นาน เจ้าพระยาพิษณุโลก (เรือง) ทราบเรื่องจึงรีบเดินทางกลับมา และบุกยึดเมืองคืนได้สำเร็จ และจับเจ้าฟ้าจีดขังกรงถ่วงน้ำจนสิ้นพระชนม์ ส่วนหม่อมทองมอญและลูก ๆ ต้องตกค้างอยู่ที่เมืองพิษณุโลก อยู่ในความปกครองของเจ้าพระยาพิษณุโลก (เรือง)

หลังจากเสียกรุงศรีอยุธยาเมื่อปี พ.ศ. 2310 ก็เกิดการรบพุ่งกันระหว่างก๊กต่าง ๆ ที่ตั้งตัวเป็นอิสระ สมเด็จพระเจ้าตากสินฯ ซึ่งก็ถือเป็นหัวหน้าก๊ก ๆ หนึ่งเช่นกัน ได้ทรงกอบกู้เอกราชและหลังจากนั้นได้ยกทัพไปปราบก๊กอื่น ๆ ซึ่งรวมถึงศึกพระเจ้าฝางและเมืองพิษณุโลกเพื่อรวบรวมอาณาจักรให้เป็นปึกแผ่นดังเดิม

คงเพราะหม่อมทองมอญ ท่านเคยเป็นหม่อมห้ามของเจ้านายในราชวงศ์พลูหลวงและมีความคุ้นเคยกับขนบธรรมเนียมประเพณีในราชสำนักมาก่อน นางและลูก ๆ จึงได้เดินทางจากเมืองพิษณุโลกมาอยู่ที่กรุงธนบุรี และได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็น “เจ้าคุณใหญ่ท้าวทรงกันดาล”

ในรัชสมัยกรุงธนบุรี ตำแหน่งท้าวทรงกันดาลเป็นตำแหน่งสูงสุดในหมู่ข้าราชบริพารฝ่ายในของสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ ทำหน้าที่คล้ายกับเป็น “แม่วัง” ซึ่งในปัจจุบันคงพอเทียบได้กับ “เลขาธิการพระราชวัง” ดังนั้นจึงน่าจะกล่าวได้ว่า ท้าวทรงกันดาลเป็นจุดศูนย์กลางของอำนาจการบริหารฝ่ายใน

เมื่อใกล้ชิดกับราชสำนัก พวกมอญกลุ่มของเจ้าพระยารามจัตุรงค์ และท้าวทรงกันดาล จึงได้เข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่ริมคลองฝั่งธนบุรีใกล้กับพระราชวังเดิม บริเวณแถวนั้นจึงเรียกว่า “คลองมอญ” นับตั้งแต่บัดนั้นมา

เคหสถานของเครือญาติท้าวทรงกันดาล ตั้งอยู่ระหว่างเขตบางกอกน้อยและเขตบางกอกใหญ่ใกล้กับวัดชิโนรสในปัจจุบันซึ่งเป็นบริเวณคูเมืองเดิมของกรุงธนบุรี ห่างจากพระราชวังเดิมของสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ ไปเพียงประมาณ 1 กิโลเมตร

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 11 กรกฎาคม 2565