ตามรอย “สะพานช้าง-คลองประตูข้าวเปลือก” ฉากหลังครั้งสงครามกลางเมืองอยุธยา

คลองประตูข้าวเปลือก ด้านหลังเป็นป้อมประตูข้าวเปลือก (ภาพจาก ศิลปวัฒนธรรม ฉบับกันยายน 2550)

คลองประตูข้าวเปลือก หรือคลองประตูจีน เป็นคลองในเกาะเมืองศรีอยุธยา วางตัวในแนวเหนือ-ใต้ โดยทางทิศเหนือเชื่อมต่อกับแม่น้ำลพบุรี เรียกคลองประตูข้าวเปลือก ทางทิศใต้เชื่อมต่อกับแม่น้ำเจ้าพระยา เรียกคลองประตูจีน ตลอดทั้งคลองมี 4 สะพาน

ในคำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม ว่าด้วยกรุงศรีอยุธยา ระบุว่าสะพานช้างเป็นสะพานก่อด้วยศิลาแลง อยู่ตอนข้ามคลองประตูข้าวเปลือกด้านทิศเหนือของเกาะเมือง บริเวณด้านตะวันตกเชิงสะพาน มีตลาดขายของสดเช้าเย็น ซึ่งพระยาโบราณราชธานินทร์ได้ศึกษาและสำรวจไว้พบว่า สะพานนี้ตั้งอยู่บริเวณหน้าวัดพลับพลาไชย และถนนป่ามะพร้าว มักใช้เป็นเส้นทางสัญจรจากพระราชวังหลวงไปวังหน้า

เมื่อใกล้จะสิ้นรัชกาลสมเด็จพระเจ้าท้ายสระ (พ.ศ. 2251-75) แห่งราชวงศ์บ้านพลูหลวง กรมพระราชวังบวรฯ (สมเด็จพระเจ้าบรมโกศ) ไม่พอพระทัยที่สมเด็จพระเจ้าท้ายสระ ตรัสมอบราชสมบัติให้เจ้าฟ้าอภัย พระราชโอรส ทั้ง ๆ ที่พระองค์มีสิทธิอันชอบธรรม ในฐานะวังหน้า จึงเป็นเหตุแห่งที่มาของสงครามกลางเมือง ระหว่างวังหลวงกับวังหน้า โดยมีคลองประตูข้าวเปลือกเป็นแนวรบ

ฝ่ายเจ้าฟ้าอภัยกะเกณฑ์กำลังจากวังหลวงยกไปตั้งมั่นอยู่ฝั่งตะวันตกของคลอง ลงไปจนถึงประตูจีน โดยให้ขุนศรีคงยศยกไปตั้งค่ายอยู่เชิงสะพานช้าง ส่วนฝ่ายกรมพระราชวังบวรฯ ก็ยกกำลังจากวังหน้าไปตั้งค่ายคุมเชิงอยู่ฟากตะวันออกของคลอง

พอสมเด็จพระเจ้าท้ายสระเสด็จสวรรคต ทั้งสองฝ่ายก็เปิดฉากทำสงครามกลางเมืองกันในทันที การรบดำเนินไปเป็นเวลาหลายวัน ต่างบาดเจ็บล้มตายด้วยกันทั้งสองฝ่าย สุดท้ายวังหลวงเป็นฝ่ายปราชัย เจ้าฟ้าอภัยเสด็จหนีไปกับเจ้าฟ้าปรเมศร์พระอนุชา และมหาดเล็ก แต่ก็ถูกทหารของฝ่ายวังหน้าตามจับมาได้ กรมพระราชวังบวรฯ จึงโปรดให้นำทั้งสองพระองค์ไปสำเร็จโทษ ตามราชประเพณี แล้วปราบดาภิเษกขึ้นเป็นสมเด็จพระเจ้าบรมโกศ (พ.ศ. 2275-2301)

สภาพคลองประตูข้าวเปลือก ที่หลงเหลืออยู่ในวัดราชประดิษฐาน (ภาพจาก ศิลปวัฒนธรรม ฉบับกันยายน 2550)

การเดินทาง ถ้าใช้เส้นถนนอู่ทอง จากพระราชวังจันทร์เกษม ผ่านตลาดหัวรอ วัดขุนแสน ก่อนถึงสี่แยกที่จะเลี้ยวขวาไปเพนียดคล้องช้าง สังเกตซ้ายมือ จะเห็นป้อมปราการตั้งขนาบกันอยู่หน้าวัดราชประดิษฐาน เรียกว่าป้อมประตูข้าวเปลือก ตรงกลางระหว่างป้อมทั้งสองก็คือต้นคลองประตูข้าวเปลือก ซึ่งปัจจุบัน มีสภาพเป็นเพียงสระน้ำอยู่ด้านหลังป้อม ภายในวัดราชประดิษฐาน ส่วนแนวคลองที่เหลือ ได้ถูกถมทับจับจองเป็นที่ส่วนบุคคลจนหมดสภาพคลองไปนานแล้ว

อย่างไรก็ตาม จุดสังเกตของคลองสายนี้ อาจพอประมาณได้จากแนวของถนนชีกุน ซึ่งเป็นถนนที่ตัดคู่ขนานไปกับแนวคลองทางฝั่งตะวันตก จนจรดกับถนนอู่ทองทางด้านทิศใต้ของเกาะเมือง

ดังนั้น ถ้าเอาแนวคลองประตูข้าวเปลือกที่เหลืออยู่ตรงบริเวณป้อมเป็นหลัก (ซึ่งน่าจะเป็นแนวเส้นตรง) สะพานช้างก็น่าจะอยู่ตรงบริเวณประตูทางเข้าวัดราชประดิษฐานทางด้านทิศใต้ บนถนนป่ามะพร้าว ใกล้ ๆ กับสี่แยกที่จะเลี้ยวซ้ายไปวัดราชบูรณะและวัดมหาธาตุ นั่นเอง

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาส่วนหนึ่งจากบทความ “สะพานช้าง คลองประตูข้าวเปลือก” เขียนโดย ปวัตร์ นวะมะรัตน ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับกันยายน 2550


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 14 มิถุนายน 2565