ที่มา | ศิลปวัฒนธรรม ฉบับสิงหาคม 2550 |
---|---|
ผู้เขียน | ปวัตร์ นวะมะรัตน |
เผยแพร่ |
สำรวจชะตากรรมป้อมโบราณที่เคยใช้ยิงกบฏอย่าง ป้อมมหาไชย และป้อมที่เคยใช้ต้านทานพม่าบุก คราวเสียกรุงครั้งที่ 2 อย่าง ป้อมท้ายกบ ก่อนถูกรื้อ นำอิฐมาสร้างกรุงเทพฯ
ป้อมมหาไชย เป็นป้อมมุมพระนครด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือของเกาะเมืองศรีอยุธยา ซึ่งเป็นบริเวณที่แม่น้ำป่าสักไหลมาบรรจบกับแม่น้ำลพบุรี ส่วนป้อมท้ายกบ หรือป้อมสัตกบ หรือซัดกบ เป็นป้อมใหญ่ ตั้งอยู่มุมกำแพงเมืองด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ตรงบริเวณหัวแหลมจุดที่แม่น้ำลพบุรีกับแม่น้ำเจ้าพระยามาบรรจบกัน ป้อมทั้งสองนี้มีไว้เพื่อป้องกันข้าศึกตรงทางร่วมของแม่น้ำดังกล่าว
พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยากล่าวถึงเหตุการณ์เมื่อคราวปราบปรามกบฏธรรมเถียรในรัชกาลสมเด็จพระเพทราชา (พ.ศ. 2231-46) ว่า กรมพระราชวังบวรฯ (สมเด็จพระเจ้าเสือ) ทรงบัญชาการยิงปืนใหญ่ที่ป้อมมหาไชย ถูกกองทัพของธรรมเถียรที่ยืนช้างอยู่บริเวณวัดมณฑป ฝั่งตรงข้ามกับพระราชวังจันทร์เกษมจนแตกพ่ายไป ธรรมเถียรถูกกระสุนปืนใหญ่ตายในที่รบ ส่วนพวกที่คบคิดเข้ากับกบฏก็ถูกจับประหารชีวิตจนหมด
ต่อมาเมื่อคราวสงครามเสียกรุงครั้งที่ 2 (พ.ศ. 2310) พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยากล่าวว่า สมเด็จพระเจ้าอุทุมพร (พ.ศ. 2301) ทรงลาผนวชออกมาบัญชาการศึกป้องกันพระนครด้วยพระองค์เอง โดยโปรดฯให้ทหารระดมยิงปืนใหญ่จากป้อมมหาไชย และป้อมท้ายกบ ตอบโต้กองทัพพม่าที่ตั้งกำลังรายล้อมพระนครอยู่
ปัจจุบัน ป้อมมหาไชยคือบริเวณที่เป็นตลาดหัวรอ ส่วนตัวป้อมถูกรื้อเอาอิฐไปสร้างกรุงเทพฯ เมื่อ 200 กว่าปีก่อนจนไม่ปรากฏร่องรอยให้เห็นอีกแล้ว นอกเสียจากจะนั่งเรือผ่านตลาดหัวรอ พอถึงบริเวณทางร่วมของแม่น้ำป่าสักกับแม่น้ำลพบุรีหรือคลองเมือง ลองสังเกตดูอาจยังพอเห็นซากเศษอิฐ ซึ่งเป็นส่วนของฐานป้อม กระจัดกระจายอยู่ตรงริมตลิ่งฝั่งตลาดหัวรอ
ส่วนป้อมท้ายกบก็หมดสภาพความเป็นป้อมไปแล้วเพราะถูกรื้อเอาอิฐลงไปสร้างกรุงเทพฯ เช่นเดียวกับป้อมมหาไชยและป้อมอื่นๆ แต่พอมีจุดสังเกตตรงหัวแหลมที่แม่น้ำลพบุรีหรือคลองเมืองมาบรรจบกับแม่น้ำเจ้าพระยาทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของเกาะเมือง สันนิษฐานว่าตรงบริเวณที่เป็นศาลเจ้าในปัจจุบันน่าจะเป็นจุดที่ตั้งของป้อม ซึ่งอยู่ตรงทางร่วมของแม่น้ำทั้งสองพอดี
ป้อมนี้ในคำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรมยังได้กล่าวไว้ว่า มีประตูช่องกุดและมีประตูใหญ่ เป็นประตูออกไปตลาดค้าปลาสดนอกป้อมซึ่งอยู่ริมแม่น้ำ
อ่านเพิ่มเติม :
- ตามรอย “คำให้การ” ชาวกรุงเก่า-ขุนหลวงหาวัด ได้มาอย่างไร หลักฐานใดน่าเชื่อถือกว่า?
- ตามรอย ‘พระเจ้าอุทุมพร’ และเชลยกรุงศรีฯ ถูกกวาดต้อนไปกรุงรัตนปุระอังวะ-อมรปุระ
- “กบฏธรรมเถียร” กบฏไพร่ครั้งแรกในสมัยพระเพทราชา
หมายเหตุ : คัดเนื้อหาจากบทความ “ป้อมมหาไชยและป้อมท้ายกบ” เขียนโดย ปวัตร์ นวะมะรัตน ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับสิงหาคม 2550
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 9 พฤศจิกายน 2564