เผยแพร่ |
---|
ในรัชกาลสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ (พ.ศ. 1991-2031) พื้นที่ของพระราชวังหลวงยังไม่ได้เชื่อมต่อเป็นผืนเดียวกันกับวัดพระศรีสรรเพชญ์ แนวกำแพงพระราชวังด้านตะวันออกจะอยู่บริเวณกึ่งกลางท้องสนามหน้าจักรวรรดิ ซึ่งบริเวณนี้ได้ขุดพบฐานรากของกำแพงและประตู 2 ประตู หนึ่งในประตูนั้นเป็นประตูตรงเข้าสู่พระที่นั่งวิหารสมเด็จ ชื่อ ประตูมงคลสุนทร
ประตูมงคลสุนทรเกี่ยวข้องกับการทำรัฐประหาร 2 ครั้ง
ครั้งแรก เมื่อพระพิมลธรรมอนันตปรีชาหรือพระศรีศิลป์ (นักประวัติศาสตร์หลายท่านตีความว่าน่าจะเป็นพระราชโอรสพระองค์หนึ่งของสมเด็จพระเอกาทศรถ) ซึ่งบวชอยู่วัดระฆัง (วัดวรโพธิ์) ได้ซ่องสุมผู้คนก่อการยึดอำนาจจากสมเด็จพระศรีเสาวภาคย์ (พ.ศ. 2153-2154) พระราชโอรสอีกพระองค์หนึ่งของสมเด็จพระเอกาทศรถ โดยยกกำลังเข้ามาพังประตูมงคลสุนทร เมื่อเข้าพระราชวังหลวงได้ก็จับพระเจ้าแผ่นดินไปสำเร็จโทษ แล้วปราบดาภิเษกขึ้นเป็นสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม (พ.ศ. 2154-2171)
ครั้งที่ 2 ในรัชกาลสมเด็จพระเชษฐาธิราช (พ.ศ. 2171-2172) พระราชโอรสของสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม ก็ถูกเจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์ (ต่อมาคือสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง) ก่อรัฐประหาร ยกกำลังจากวัดกุฎิริมแม่น้ำเจ้าพระยา (ใกล้กับวัดไชยวัฒนาราม) ล่องมาขึ้นบกที่ประตูชัยทางด้านทิศใต้ของเกาะเมืองศรีอยุธยา แล้วมาซุ่มพลอยู่ที่ศาลพระกาฬย่านตะแลงแกงอยู่จน 8 ทุ่ม ได้เวลาจึงยกเข้าฟันประตูมงคลสุนทรในพระราชวังหลวง จับพระเจ้าแผ่นดินไปสำเร็จโทษ แล้วก็ยกสมเด็จพระอาทิตยวงศ์ พระราชโอรสอีกพระองค์หนึ่งของสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมขึ้นครองราชย์
พระยาโบราณราชานินทร์เคยสำรวจพบส่วนยอดของประตูนี้ ลักษณะเป็นทรงปรางค์มีพรหมพักตร์ ทำให้ทราบว่าประตูมงคลสุนทร เป็นประตูทรงปราสาท ปัจจุบันส่วนยอดของประตูดังกล่าวจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา
จากวัดธรรมิกราช สามารถเดินออกทางประตูหลังวิหารวัดธรรมิกราชตรงเข้าสู่เขตพระราชวังหลวง ผ่านท้องสนามหน้าจักรวรรดิ ก่อนจะถึงพระที่นั่งวิหารสมเด็จจะสังเกตเห็นแนวฐานกำแพงและซากประตู
พอให้จินตนาการรำลึกได้ว่าครั้งหนึ่งประตูนี้เคยเป็นจุดเปลี่ยนของประวัติศาสตร์อยุธยาที่ทำให้เกิดการผลัดแผ่นดินถึง 2 ครั้ง
หมายเหตุ : คัดเนื้อหาบางส่วนจากหนังสือ อยุธยาที่ไม่คุ้นเคย เขียนโดย ปวัตร์ นวะมะรัตน (สำนักพิมพ์มติชน, 2557)
เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 10 สิงหาคม 2564