ที่มา | ศิลปวัฒนธรรม ฉบับพฤศจิกายน 2550 |
---|---|
ผู้เขียน | ปวัตร์ นวะมะรัตน |
เผยแพร่ |
วัดท่าทราย ตั้งอยู่ริมคลองประตูข้าวเปลือกฝั่งตะวันออก ด้านทิศเหนือของเกาะเมืองศรีอยุธยา ตรงข้ามกับวัดราชประดิษฐาน ไม่พบประวัติว่าสร้างขึ้นแต่เมื่อใด แต่สันนิษฐานว่า น่าจะเป็นวัดเดียวกับที่ปรากฏชื่ออยู่ในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา เมื่อครั้งสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง (พ.ศ. 2172-99) โปรดให้สมเด็จพระอาทิตยวงศ์ (พระราชโอรสของสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม) ซึ่งถูกถอดออกจากราชสมบัติ ไปปลูกเรือนอยู่ริมวัดท่าทราย กับคนรับใช้ 2 คน เนื่องจากมีพฤติกรรมกระด้างกระเดื่อง และเป็นภัยต่อ ราชสมบัติ
แต่มาในปี พ.ศ. 2180 พระอาทิตยวงศ์ก็คบคิดกับขุนนางที่ยังจงรักภักดี พร้อมไพร่พลอีกประมาณ 200 คน ก่อการกบฏบุกเข้าไปถึงเขตพระราชฐานชั้นใน สมเด็จพระเจ้าปราสาททองไม่ทันรู้พระองค์ ก็เสด็จหนีไปตั้งหลัก ลอยเรือพระที่นั่งอยู่บริเวณฉนวนน้ำประจำท่า ฟากแม่น้ำลพบุรี แล้วตรัสสั่งให้บรรดาขุนนางเร่งปราบปรามกบฏในครั้งนี้จนแตกพ่ายไป พระอาทิตยวงศ์และผู้ก่อการถูกจับได้ จึงโปรดให้นำไป ประหารชีวิตพร้อมกันที่ตะแลงแกง
วัดท่าทรายปัจจุบัน ถูกยุบรวมไว้กับวัดราชประดิษฐาน โดยใช้คลองประตูข้าวเปลือกเป็นแนวแบ่งเขต บริเวณที่เป็นวัดท่าทรายจะอยู่ทางฝั่งตะวันออกของคลอง วัดนี้มีท่าน้ำที่สำคัญ ปรากฏชื่อในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา เรียกว่า ท่าทราย
เมื่อครั้งสงครามเสียกรุงครั้งที่ 2 พ.ศ. 2310 พระราชพงศาวดารบันทึกไว้ว่า ข้างในกรุงให้ลากปืนปราบหงสา ออกไปตั้งที่ท่าทราย ยิงค่ายพม่าที่วัดศรีโพธิ์ และเมื่อจวนเจียนจะเสียกรุง ก็เกิดเพลิงไหม้พระนคร ตั้งแต่ท่าทราย ลามไปถึงสะพานช้างคลองประตูข้าวเปลือก ข้ามไปติดป่ามะพร้าว ป่าโทน ป่าทอง วัดราชบูรณะ วัดมหาธาตุ จนไปสงบที่บริเวณวัดฉัททันต์
ภายในบริเวณที่เคยเป็นวัดท่าทราย ปัจจุบันประกอบด้วย พระอุโบสถแบบมหาอุด พระประธานหันพระพักตร์ไปทางทิศตะวันออก ทำให้สันนิษฐานได้ว่า วัดนี้น่าจะสร้างขึ้นในสมัยอยุธยาก่อนรัชกาลสมเด็จพระเจ้าปราสาททองขึ้นไป ตรงด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือของพระอุโบสถ มีปรางค์องค์ใหญ่สภาพยังสมบูรณ์ รายล้อมด้วยเจดีย์ย่อมุมแบบอยุธยา
ปัจจุบันแม้ว่าวัดท่าทรายจะถูกยุบรวมไปอยู่กับวัดราชประดิษฐานแล้ว แต่ชาวบ้านก็ยังเรียกวัดท่าทรายอยู่เช่นเดิม
หมายเหตุ : คัดเนื้อหาส่วนหนึ่งจากบทความ “วัดท่าทราย” เขียนโดย ปวัตร์ นวะมะรัตน ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับพฤศจิกายน 2550
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 15 ตุลาคม 2564