อดีตของอีสาน ยุคก่อนประวัติศาสตร์ แห้งแล้ง รกร้าง หรือชุมชนหนาแน่น ?

ปรางกู่แก้ว ศาสนสถาน ต.บ้านดอนช้าง อ.เมือง จ.ขอนแก่น (ภาพประกอบจาก https://culturalenvi.onep.go.th/)

ดินแดนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรือ “ภาคอีสาน” ของประเทศไทยเป็นบริเวณที่มีชุมชนโบราณกระจายอยู่เป็นจำนวนมาก ทั้งในสมัยก่อนประวัติศาสตร์และสมัยประวัติศาสตร์

จากลักษณะภูทิศาสตร์ของภูมิภาค ซึ่งแบ่งได้เป็นสองเขตใหญ่ๆ คือ แอ่งสกลนคร กับแอ่งโคราช ทั้งสองเขตนี้มีเทือกเขาภูพานเป็นแนวกั้นกลาง

บริเวณแอ่งสกลนคร ปรากฎชุมชนโบราณกระจายอยู่ตามแม่น้ำสงครามและลำห้วยสาขา โดยแม่น้ำสงครามจะไหลลงสู่แม่น้ำโขงทางตอนเหนือ

ส่วนแอ่งโคราช มีชุมชนโบราณกระจายอยู่ตามลำน้ำชีและสาขา กับชุมชนโบราณที่รวมตัวกันอยู่หนาแน่นตามลำน้ำมูล ซึ่งไหลลงสู่แม่น้ำโขงทางตะวันออกของภูมิภาค

บทความนี้จะกล่าวถึงพัฒนาการและการตั้งถิ่นฐานของชุมชนก่อนประวัติศาสตร์ในภูมิภาคอีสานจากหลักฐานทางโบราณคดี

แต่เดิมการแบ่งยุคสมัยและพัฒนาการสังคมสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และประเทศไทยจะลำดับยุคสมัยตามระบบการศึกษาของยุโรป กล่าวคือแบ่งยุคสมัยเป็นยุคหินเก่า ยุคหินกลาง ยุคหินใหม่ ยุคโลหะ ซึ่งก็แบ่งย่อยออกเป็นยุคสำริดกับยุคเหล็ก โดยใช้เทคโนโลยีของเครื่องมือเครื่องใช้เป็นหลักในการลำดับแบ่งยุคแต่ละช่วงออกจากกัน

หลังจากการเข้ามาศึกษาทางโบราณคดี ในประเทศไทย โซลไฮม์ (SOLHEIM 1970 : 153-154) เสนอว่า ลำดับสมัยทางวัฒนธรรมในภูมิภาคนี้ ควรแบ่งเป็น

ยุค LITHIC ช่วงแรกที่คนเข้ามาตั้งถิ่นฐานในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และใช้เครื่องมือหิน

ยุค LIGNIC คนเริ่มพัฒนาขึ้นมาใช้ไม้ไผ่แทนที่จะใช้เฉพาะเครื่องมือหิน

ยุค CRYSTALLITIC เริ่มรู้จักการเพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์

ยุค EXTENSIONISTIC เป็นช่วงที่มีการขยายชุมชนและการตั้งถิ่นฐานอย่างกว้างขวางในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รู้จักการใช้ทองแดงและหล่อโลหะสำริด

ยุค CONFLICTING EMPIRE ยุคแห่งความขัดแย้ง ซึ่งเป็นการเริ่มต้นเข้าสู่สังคมเมือง

เชสเตอร์ กอร์แมน (GORMAN 1971:315) พิจารณาการดำรงชีพจากหลักฐานทางโบราณคดีในประเทศไทย จากการขุดค้นที่ถ้ำผีแมน แม่ฮ่องสอน การศึกษาที่บ้านเก่า กาญจนบุรี และโนนนกทา ขอนแก่น จึงได้เสนอว่า การตั้งถิ่นฐานของหมู่บ้านเกษตรกรรมในพื้นที่ราบสมัยก่อนประวัติศาสตร์นั้นเริ่มขึ้นอย่างกว้างขวางภายหลังจากที่มีการเพาะปลูกข้าวและประชากรจะเคลื่อนย้ายจากถิ่นที่อยู่เดิม คือบนที่สูง (UPLAND) ลงสู่พื้นราบด้วยเหตุผลของพัฒนาการในการเพาะปลูกข้าว

หลังจากนั้นพื้นที่สูงจึงถูกทิ้งร้างไป เช่นเดียวกับ DONN BAYARD (1970:109-143) ได้สำรวจขุดค้นที่โนนนกทา อำเภอภูเวียง ขอนแก่น ซึ่งพบการตั้งถิ่นฐานในระยะแรกตั้งแต่ประมาณ 3,500-2,500 ปีก่อนคริสต์ศักราชเป็นชุมชนที่มีการเพาะปลูกข้าว การทำโลหะสำริดในบริเวณที่ราบเชิงเขา BAYARD (1984:163-164) จึงแบ่งช่วงพัฒนาการก่อนประวัติศาสตร์ในภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือออกเป็น 4 ช่วงสมัย คือ

ช่วงระยะแรก เป็นระยะพัฒนาการของชุมชนที่มีการตั้งถิ่นฐานเพาะปลูกข้าว และเลี้ยงสัตว์แบบกึ่งถาวร ในระหว่าง 3,500-2,500 ปีก่อนคริสต์ศักราช ความเหลื่อมล้ำในทางสังคมไม่ชัดเจน

ช่วงระยะที่สอง เป็นสมัยที่มีเทคโนโลยีการทำโลหะสำริดขึ้น มีการแลกเปลี่ยนสินค้าระหว่าง 2,500-1,800 ปีก่อนคริสต์ศักราช เริ่มมีความเหลื่อมล้ำในทางสังคม

ช่วงระยะที่สาม ระยะนี้มีการนำเทคโนโลยีเกี่ยวกับการทำเหล็กขึ้นมาใช้ มีการเพาะปลูกข้าวแบบ เวทไรซ์ (WET RICE) ในระหว่าง 500 ปีก่อนคริสต์ศักราช ความเหลื่อมล้ำในทางสังคมชัดเจนมากขึ้น

ช่วงระยะที่สี่ เป็นช่วงที่เริ่มต้นเกิดสังคมรัฐ หลังจากที่มีความซับซ้อนในทางสังคมมากขึ้น มีระบบผู้นำในรูปแบบหัวหน้าปกครอง (CHIEFDOMS) โดยเริ่มตั้งแต่คริสต์ศักราชที่ 1 สมัยนี้เป็นช่วงที่ได้รับอิทธิพลของอารยธรรมอินเดียทางด้านการเมือง สังคม และศาสนา

หากพิจารณาถึงแนวความคิดในการวิวัฒนาการทางวัฒนธรรมดังกล่าว ก็ยังไม่มีหลักฐานชัดเจนที่เป็นข้อสนับสนุนขบวนการพัฒนาการว่ามีขั้นตอนเช่นเดียวกันหมดทุกชุมชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลักฐานทางโบราณคดีที่พบในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย การมองพัฒนาการชุมชนตามแนววิวัฒนาการ (EVOLUTION) สังคมตามทฤษฎีของตะวันตกไม่สามารถจะนำมาใช้กับชุมชนในภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้ทั้งหมด ที่ผ่านมาเป็นเพียงการเปรียบเทียบระหว่างชุมชนหนึ่งกับอีกชุมชนหนึ่ง แล้วสร้างตัวแบบ (MODEL) ในเชิงวิวัฒนาการ

ซึ่งจากแนวความคิดของ BAYARD พอจะสามารถเข้าใจลักษณะการพัฒนาการของสังคมในภูมิภาคนี้ได้โดยกว้าง แต่ก็ไม่ใช่ทุกสังคมจะมีพัฒนาการตามขบวนการดังกล่าวหรือตามขั้นตอนดังกล่าวทั้งหมด ทั้งนี้การพัฒนาการการเปลี่ยนแปลงของแต่ละชุมชนจะช้าหรือเร็วนั้นขึ้นอยู่กับความแตกต่างกันในการปรับตัวกับสภาพแวดล้อม การพัฒนาการภายในของแต่ละสังคม ตลอดจนการติดต่อแลกเปลี่ยน การถ่ายทอดอิทธิพลให้แก่กันในแต่ละเขตวัฒนธรรม

ข้าพเจ้าเห็นด้วยกับการพิจารณาแบ่งยุคก่อนประวัติศาสตร์ตามข้อเสนอที่ว่า (ปฐมฤกษ์ เกตุทัต 2528 : 6) การทำความเข้าใจต่อสภาพการแบ่งยุคนั้นจะต้องมีพื้นฐานสำคัญสองประการคือ หลักการพื้นฐานในการแบ่งยุคหนึ่งออกจากยุคหนึ่ง กับการพิจารณาความเป็นมา และพัฒนาการของการแบ่งยุคสมัย แล้วจึงพิจารณาความเหมาะสมในการใช้

ดังนั้น การพิจารณาศึกษาชุมชนก่อนประวัติศาสตร์ในภูมิภาคอีสาน จึงควรจะศึกษาในกลุ่มทางวัฒนธรรมในแต่ละเขตวัฒนธรรม ซึ่งมีพัฒนาการและลักษณะทางวัฒนธรรมทั้งที่คล้ายคลึงและแตกต่างกัน ทั้งนี้ย่อมขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อม การตั้งถิ่นฐานของชุมชน ตลอดจนการปรับตัวกับสภาพแวดล้อม การใช้ทรัพยากร และการพัฒนาการทางเทคโนโลยีของแต่ละแห่ง รวมไปจนถึงการติดต่อแลกเปลี่ยนกับชุมชนอื่น ซึ่งทั้งหมดจะมีผลทำให้พัฒนาการทางสังคมและวัฒนธรรมในแต่ละท้องถิ่นมีลักษณะแตกต่างกัน

ผู้คนกลุ่มแรกในภาคอีสาน

หลักฐานของกลุ่มสังคมล่าสัตว์และเก็บเกี่ยวพืชผล (HUNTING AND GATHERING SOCIETY) ก่อนประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะผู้คนซึ่งใช้หินกรวด หินกะเทาะ ที่แสดงถึงผู้คนรุ่นแรกในประเทศไทยนั้นมีหลักฐานปรากฏในหลายภูมิภาคทั้งทางภาคเหนือ ภาคตะวันตก และภาคใต้ของประเทศ เครื่องมือเครื่องใช้ของผู้คนเหล่านี้ ในบางส่วนนักโบราณคดีเรียกลักษณะของเครื่องมือหินกะเทาะตามรูปแบบที่พบครั้งแรกในเวียดนาม ว่าเป็น วัฒนธรรมโฮบินเนียน (HOABINHIAN CULTURE OR HOABINHIAN TECHNOCOMPLEX)

อย่างไรก็ตาม ในภาคอีสานยังไม่พบหลักฐานที่อยู่อาศัยของกลุ่มสังคมล่าสัตว์รุ่นแรกๆ ที่พบก็มีเฉพาะเครื่องมือหินเช่นที่พบบริเวณริมแม่น้ำโขง ในเขตอำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย (BAYARD 1980:99-123) พบเครื่องมือหินกะเทาะหน้าเดียว (UNIFACIAL CORE TOOLS) และเครื่องมือสะเก็ดหิน (FLAKES TOOLS) ที่ทำจากหินกรวดแม่น้ำ กับอีกแห่งหนึ่งคือที่แหล่งนายกองศูน อำเภอดอนตาล จังหวัดมุกดาหาร จากบริเวณทั้งสองแห่งน่าจะเป็นที่ผลิตเครื่องมือหินมากกว่าพื้นที่อยู่อาศัย

สภาพสังคม และที่อยู่อาศัยของผู้คนกลุ่มนี้นั้นยังไม่ปรากฏหลักฐานที่ชัดเจน เพียงแต่อาจสันนิษฐานได้ว่า มีกลุ่มชนล่าสัตว์ที่ทำเครื่องมือหินอาศัยอยู่ตามเทือกเขา เพิงผา ซึ่งอยู่ใกล้กับริมฝั่งแม่น้ำ แต่ในปัจจุบันเรายังไม่พบหลักฐานที่อยู่อาศัยของผู้คนดังกล่าว จึงไม่สามารถสรุปลักษณะการตั้งถิ่นฐานและลักษณะทางวัฒนธรรมของผู้คนดังกล่าวได้

ชุมชนหมู่บ้านเกษตรกรรม

ชุมชนหมู่บ้านเกษตรกรรมสมัยก่อนประวัติศาสตร์พบกระจายอยู่เป็นจำนวนมากในภูมิภาค ลักษณะของชุมชนเป็นชุมชนที่มีการตั้งถิ่นฐานถาวร (SEDENTARY SETTLEMENT) ในระดับหมู่บ้านซึ่งตั้งถิ่นฐานการกระจายอยู่ทั้งบริเวณแอ่งสกลนคร และแอ่งโคราช

การกระจายตัวของชุมชนดังกล่าวจะอยู่ทั้งในบริเวณที่ลุ่มต่ำน้ำท่วมถึง (FLOOD PLAIN) และบริเวณที่ราบลุ่มที่มีลำน้ำไหลผ่าน (LOW TERRACE) ของทั้งสองแอ่ง (ศรีศักร วัลลิโภดม 2525 : 132-133)

ทั้งนี้การตั้งถิ่นฐานจะอยู่ใกล้กับแหล่งน้ำเนื่องจากต้องใช้น้ำในการอุปโภค บริโภค และบริเวณที่ราบลุ่ม ซึ่งเหมาะสมแก่การทำการเพาะปลูกอันเป็นอาชีพหลัก ชุมชนเหล่านี้ก็จะมีการพัฒนาการทางสังคมและวัฒนธรรมที่แตกต่างกันทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสถานที่ ช่วงระยะเวลา และปัจจัยด้านอื่นๆ

หมู่บ้านเกษตรกรรมที่กระจายอยู่ทั้งบริเวณแอ่งสกลนครและแอ่งโคราชนั้นจะมีรูปแบบทางวัฒนธรรมเป็นของตนเอง ทั้งที่มีลักษณะคล้ายคลึงกันกับลักษณะเฉพาะของแต่ละกลุ่ม เช่น รูปแบบของภาชนะดินเผา ประเพณีการฝังศพ การทำเครื่องมือเครื่องใช้เครื่องประดับต่างๆ ด้วยเหตุนี้จึงแบ่งกลุ่มทางวัฒนธรรมของชุมชนเกษตรกรรมก่อนประวัติศาสตร์ในภูมิภาคอีสานออกเป็น 4 กลุ่ม โดยพิจารณาจากสภาพที่ตั้งถิ่นฐาน ความแตกต่างของลักษณะภาชนะดินเผา ตลอดจนประเพณีการฝังศพ

1. กลุ่มชุมชนลุ่มแม่น้ำสงคราม หรือกลุ่มวัฒนธรรมบ้านเชียง

ชุมชนกลุ่มวัฒนธรรมบ้านเชียงจะกระจายตัวอยู่ตามเขตลุ่มแม่น้ำสงครามตอนบน และลำห้วยสาขาในเขตอำเภอหนองหาน อำเภอบ้านดุง อุดรธานี อำเภอสว่างแดนดิน อำเภอวานรนิวาส อำเภอพรรณานิคม อำเภอพังโคน สกลนคร ซึ่งชุมชนจะอยู่ตามที่ราบลุ่มลำน้ำไหลผ่าน คือลำน้ำตอนต้นซึ่งเป็นสาขาของแม่น้ำสงคราม ลำน้ำห้วยหลวง ห้วยน้ำยาม ห้วยหางปลา และห้วยน้ำอูน ซึ่งกลุ่มวัฒนธรรมบ้านเชียงจะกระจายอยู่ตามลำน้ำ และห้วยดังกล่าว (ศรีศักร วัลลิโภดม 2526 : 20-33)

ชุมชนบริเวณแอ่งสกลนคร จะมีลักษณะการตั้งถิ่นฐานและรูปแบบทางวัฒนธรรมในช่วงแรกอยู่สองกลุ่ม

กลุ่มแรก เป็นชุมชนในเขตห้วยหลวงลงมาจนถึงเขตอำเภอหนองหาน อุดรธานี ลงมาทางตอนใต้จนกระทั่งถึงเขตหนองหาน กุมภวาปี ซึ่งมีชุมชนก่อนประวัติศาสตร์อยู่ปลายสุดของแอ่งนี้ แหล่งโบราณคดีที่ได้รับการขุดค้น เช่น บ้านนาดี อำเภอหนองหาน พบว่ามีการตั้งถิ่นฐานมาตั้งแต่ช่วง 1,700 ปี ก่อนคริสต์ศักราชจนกระทั่งถึงสมัยประวัติศาสตร์ ลักษณะภาชนะดินเผาที่อยู่ชั้นดินตอนล่างสุด ซึ่งพบกับการฝังศพเป็นภาชนะลายเชือกทาบ ซึ่งมีการแต่งลายขดที่ไหล่ภาชนะ และพบลายเขียนสีอยู่น้อยมาก ที่บ้านเมืองพรึก กุมภวาปี ชั้นดินล่างสุดพบภาชนะดินเผาเคลือบน้ำโคลนสีแดง

อีกกลุ่มหนึ่ง เป็นกลุ่มวัฒนธรรมบ้านเชียงอยู่ทางตะวันออกของแอ่งสกลนคร จากเขตบ้านเชียงไปจนกระทั่งถึงเขตอำเภอพรรณานิคม สว่างแดนดิน สกลนคร ชุมชนเหล่านี้จะกระจายอยู่ตามลำน้ำสงคราม และสาขาโดยเฉพาะอย่างยิ่งลักษณะของการฝังศพที่มีภาชนะดินเผาลายเขียนสี

แหล่งโบราณคดีในบริเวณแอ่งสกลนครที่ได้รับการขุดค้นอีกหลายแห่ง เช่น บ้านเชียง บ้านแวง บ้านอ้อมแก้ว และบ้านหนองสระปลา ฯลฯ ได้ทำให้ความเข้าใจในพัฒนาการของสังคมในบริเวณนี้ชัดเจนมากขึ้น โดยเฉพาะการขุดค้นที่บ้านเชียง ไวท์ (WHITE 1982.23-28) แบ่งช่วงพัฒนาการของชุมชนบ้านเชียง จากลักษณะของการฝังศพ และภาชนะดินเผาออกเป็น 3 สมัยคือ

สมัยแรก ประมาณ 3,600-1,000 ปีก่อนคริสต์ศักราช ลักษณะของภาชนะดินเผาเป็นสีดำมีลายขูดขีดและลายเชือกทาบ มีการฝังศพเป็นสมัยแรก

สมัยกลาง ประมาณ 1,000-300 ปีก่อนคริสต์ศักราช ช่วงนี้มีการทำภาชนะดินเผาลายขูดขีดและเขียนสี

สมัยปลาย ประมาณ 300 ปีก่อนคริสต์ศักราช ถึงคริสต์ศักราช 200 ระยะนี้มีการทำภาชนะดินเผาลายเขียนสีแดงบนพื้นผิวสีนวล

ความสำคัญของระบบเศรษฐกิจชุมชนในบริเวณนี้ คือการเพาะปลูกข้าว การทำเครื่องปั้นดินเผา การทอผ้าซึ่งเป็นรูปแบบเศรษฐกิจของชุมชนที่ตั้งถิ่นฐานถาวร โดยเฉพาะคงมีการจัดแบ่งแรงงานในการผลิต เช่น โลหะสำริด การทำเครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆ จากหลักฐานการทำโลหะสำริดและเพาะปลูกข้าว ได้เป็นข้อคัดค้านสมมุติฐานเดิมที่ว่าอารยธรรมอินเดียเท่านั้นที่มีผลทำให้เกิดการพัฒนาการทางสังคมในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

การตั้งถิ่นฐานในบริเวณแอ่งสกลนคร นอกจากหลักฐานของพัฒนาการชุมชนตั้งแต่การเพาะปลูก การทำเครื่องปั้นดินเผา การหล่อโลหะสำริด จนกระทั่งถึงการใช้เครื่องมือเหล็ก ในระยะหลังยังปรากฏร่องรอยชุมชนที่มีการผลิตเกลือเช่นในเขตบ้านค้อน้อย ซึ่งอยู่ปลายเขตทางตอนใต้เนื่องจากมีเศษภาชนะดินเผาขนาดหนาและมีร่องรอยถูกเผาไฟ

อย่างไรก็ตาม บริเวณที่มีการผลิตเกลือในสมัยโบราณก็ยังไม่มีข้อสรุปชัดเจน ว่าอยู่ในช่วงสมัยใด เนื่องจากภาชนะดินเผาที่ใช้ทำเกลือ กับภาชนะดินเผาที่ใช้ในประเพณีการฝังศพ และชีวิตประจำวันแตกต่างกัน ซึ่งก็ควรจะได้รับการศึกษาในโอกาสต่อไป

พัฒนาการของการตั้งชุมชนในบริเวณแอ่งสกลนครมีอย่างต่อเนื่องจนกระทั่งถึงสมัยหลัง เนื่องจากพบหลักฐานทั้งวัฒนธรรมทวารวดี โดยเฉพาะใบเสมา และลพบุรีในเขตนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งชุมชนในสมัยหลังจะอยู่หนาแน่นตามบริเวณหนองหาน สกลนคร

2. กลุ่มชุมชนลุ่มแม่น้ำชีตอนบน

กลุ่มนี้กระจายอยู่ตามที่ราบลุ่มบันไดขั้นต่ำทางตอนบนของลำน้ำชีโดยเฉพาะลำน้ำเชิญ ลำน้ำพรม ลำน้ำพอง ซึ่งเป็นสาขาจากบริเวณปลายเทือกเขาภูพาน ตั้งแต่เขตอำเภอชุมแพ จังหวัดขอนแก่น จนกระทั่งถึงเขตเชียงยืน จังหวัดมหาสารคาม ลักษณะเฉพาะทางวัฒนธรรมของบริเวณนี้ คือ การทำภาชนะดินเผา ทั้งลายเขียนสี ลายเชือกทาบ และเคลือบน้ำ โคลนสีแดง อยู่ในช่วงระยะเดียวกันโดยเฉพาะภาชนะดินเผาเคลือบน้ำโคลนสีแดง ซึ่งพบอยู่กับการฝังศพ

การขุดค้นที่โนนนกทา อำเภอภูเวียง จังหวัดขอนแก่น พบว่า (BAYARD 1984:163-164) มีการตั้งถิ่นฐานชุมชนตั้งแต่เมื่อประมาณ 3,500 ปีก่อนคริสต์ศักราช พร้อมกับการเพาะปลูก การทำเครื่องปั้นดินเผา และการหล่อโลหะสำริด โดยเครื่องปั้นดินเผานั้นมีทั้งลายเชือกทาบ ลายเขียนสี และเคลือบน้ำโคลนสีแดง พัฒนาการของชุมชนแบ่งออกเป็น 3 ระยะ

ระยะต้น ประมาณ 3,500-2,500 ปีก่อนคริสต์ศักราช มีการใช้เครื่องมือหินขนาดเล็ก ภาชนะดินเผาลายเชือกทาบ เครื่องมือสำริด

ระยะกลาง 2,500 ปีก่อนคริสต์ศักราช ถึงคริสต์ศักราช 200 มีการทำภาชนะดินเผาเคลือบน้ำโคลนสีแดง ลายเขียนสี การทำโลหะสำริด

ระยะปลาย หลังคริสต์ศักราช 200 มีการใช้เครื่องมือเหล็ก

แหล่งขุดค้นโนนชัย อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น ซึ่งมีการตั้งเป็นฐานในระยะ 500 ปีก่อนคริสต์ศักราช (CHAROENWONGSA AND BAYARD 1983:521-523) มีการทำภาชนะดินเผาทั้งหลายเชือกทาบผิวเรียบ ลายเขียนสี โดยเฉพาะภาชนะเคลือบน้ำโคลนสีแดง ซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมาก (BAYARD, CHAROENWONGSA AND RUTNIN 1987:13-60) รวมทั้งที่พบอยู่กับการฝังศพในชั้นดินล่างสุด

การตั้งถิ่นฐานที่โนนชัยเป็นชุมชนหมู่บ้านที่มีการหล่อโลหะสำริด การใช้เหล็กพร้อมกับการเพาะปลูกข้าว นอกจากที่โนนชัยแล้ว ยังมีเนินดินที่เป็นร่องรอยชุมชนที่อยู่ใกล้กันหลายแห่ง และมีบริเวณที่ทำเกลือโบราณห่างจากโนนชัยประมาณ 200 เมตร ซึ่งพบภาชนะดินเผาเคลือบน้ำโคลนสีแดงอยู่ปะปนกับเศษภาชนะที่หนาและถูกเผาไหม้

จากการสำรวจชุมชนในบริเวณลุ่มแม่น้ำชีตอนบน ข้าพเจ้าพบว่ามีชุมชนก่อนประวัติศาสตร์ในกลุ่มเดียวกับที่โนนชัย ตั้งถิ่นฐานอยู่หนาแน่นในบริเวณลุ่มน้ำชี โดยเฉพาะในเขตอำเภอเมือง อำเภอบ้านฝาง ทางตะวันตกของอำเภอเมือง จะมีชุมชนหนาแน่นอยู่ริมฝั่งแม่น้ำชี และลำห้วยสาขาในบริเวณพื้นที่ราบลุ่ม ชุมชนแรกๆ จะอยู่ใกล้ลำน้ำชี บึงน้ำต้อน ซึ่งเป็นแหล่งน้ำธรรมชาติ มีชุมชนรวมตัวกันอยู่อย่างหนาแน่น และพัฒนาการกันอย่างต่อเนื่องพบเสมาทวารวดี และศาสนสถานแบบขอม ก่อด้วยหินทรายและศิลาแลง

โดยเฉพาะที่ปรางค์กู่แก้ว ที่บ้านหัวสระ ตำบลดอนช้าง พบจารึกพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ซึ่งกล่าวถึงการสร้างอโรคยาศาลาที่บริเวณนี้

ส่วนกลุ่มในเขตชุมแพ ภูเวียง นั้นมีชุมชนที่ต่อเนื่องอยู่จนถึงทวารวดี และในเขตนี้ยังพบชุมชนที่มีร่องรอยการผลิตเกลือในสมัยโบราณหลายแห่ง เช่น โนนนา บ้านโคกสูง เขตอำเภอเมือง โนนงิ้ว เขตอำเภอบ้านฝาง

3. กลุ่มแม่น้ำชีตอนใต้และแม่น้ำมูลตอนล่าง หรือกลุ่มทุ่งกุลาร้องไห้

ชุมชนกลุ่มนี้กระจายถิ่นฐานอยู่ตามที่ราบลุ่มแม่น้ำท่วมถึงในเขตจังหวัดมหาสารคาม บุรีรัมย์ ร้อยเอ็ด สุรินทร์ ยโสธร ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี ชุมชนในกลุ่มนี้จะปรากฏหนาแน่นมาก โดยเฉพาะในเขตทุ่งกุลาร้องไห้ (DEPARTMENT OF ANTHROPOLOGY 1981:1-40)

ผลจากการขุดทดสอบที่บ้านโนนยาง และบ้านยะวึก อำเภอชุมพลบุรี สุรินทร์ (พรชัย สุจิตต์ 2526 : 85-45) พบว่าชั้นดินล่างสุดมีอายุประมาณ 4,000 ปีที่ผ่านมา ภาชนะดินเผาในระยะแรกมีรูปแบบหนาเนื้อหยาบกว่าที่พบในบริเวณอื่น ซึ่งตอนหลังก็พัฒนาขึ้นเป็นรูปแบบที่บางลง ลักษณะภาชนะดินเผามีทั้งลายเชือกทาบผิวเรียบ และที่เป็นลักษณะพิเศษเฉพาะในบริเวณนี้คือภาชนะดินเผาเนื้อสีขาว ซึ่งมีทั้งหนาและบาง ส่วนที่เป็นลายเขียนสีก็มีบางเล็กน้อย แต่จะเขียนเป็นลายเส้นเฉพาะที่ขอบปากด้านนอก หรือมีการเคลือบน้ำโคลนสีแดงภายในภาชนะด้วย

จากการขุดค้นทั้งสองแห่งทำให้ทราบว่า ลักษณะทางวัฒนธรรมประเพณีของกลุ่มทุ่งกุลาร้องไห้ มีลักษณะพิเศษเฉพาะที่แตกต่างจากบริเวณแอ่งสกลนคร โดยเฉพาะประเพณีการฝังศพ ที่มีการนำกระดูกคนตายใส่ลงในภาชนะดินเผาแล้วฝังอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งเป็นรูปแบบของการฝังศพครั้งที่สอง (SECONDARY BURIAL) นอกจากนั้นยังพบตะกรัน (SLAG) ของเหล็กอยู่มากซึ่งแสดงว่าบริเวณดังกล่าวมีการถลุงแร่เหล็กมาตั้งแต่ช่วงก่อนประวัติศาสตร์

ประเพณีการฝังศพครั้งที่สอง และการถลุงแร่เหล็กคงมีต่อเนื่องมาจนกระทั่งถึงสมัยประวัติศาสตร์ ซึ่งในสมัยหลังบริเวณนี้พบลักษณะภาชนะดินเผาที่มีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้เนื่องจากพัฒนาการของการตั้งถิ่นฐานชุมชนที่มีอยู่อย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ช่วงสมัยก่อนประวัติศาสตร์จนกระทั่งถึงสมัยประวัติศาสตร์

โดยเฉพาะในระยะปลายช่วงก่อนประวัติศาสตร์ ถึงช่วงต้นสมัยประวัติศาสตร์นั้นมีการสร้างคูน้ำล้อมรอบเนินดินที่อยู่อาศัย พร้อมกับมีการผลิตเกลือและเหล็ก ซึ่งเป็นผลผลิตที่สำคัญของท้องถิ่นที่มีผลทำให้สังคมพัฒนาขึ้นจากชุมชนขึ้นสู่สังคมบ้านเมืองในสมัยหลัง

4. กลุ่มแม่น้ำมูลตอนบน หรือกลุ่มพิมาย

กลุ่มนี้ตั้งถิ่นฐานในบริเวณที่ราบน้ำท่วมถึงในเขตลุ่มแม่น้ำมูล ตั้งแต่อำเภอโนนสูง อำเภอพิมาย อำเภอบัวใหญ่ อำเภอประทาย นครราชสีมา ชุมชนที่เก่าแก่ตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์จะอยู่หนาแน่น บริเวณเขตพิมาย และโนนสูง

บริเวณบ้านปราสาทซึ่งได้รับการขุดค้น (กรมศิลปากร 2523 : 11-12) ชั้นดินตอนล่างสุดเป็นที่ตั้งถิ่นฐานชุมชนก่อนประวัติศาสตร์ เนื่องจากพบภาชนะดินเผาเคลือบน้ำโคลนสีแดง ลักษณะของภาชนะดินเผาเคลือบน้ำโคลนในบริเวณนี้จะเป็นรูปปากบาน ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะที่พบในเขตแม่น้ำมูลตอนบน นอกจากนั้นยังมีภาชนะสีดำขูดขีดเป็นลายเส้น และภาชนะขัดมันเนื้อสีดำลักษณะเช่นนี้เรียกว่า พิมายดำ (PHIMAI BLACK) ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะที่พบในบริเวณลุ่มแม่น้ำมูลตอนบนเช่นเดียวกัน

การขุดค้นที่บ้านตำแย และโนนบ้านขาม (WELCH:232-238) ก็มีการตั้งถิ่นฐานมาตั้งแต่ช่วงก่อนประวัติศาสตร์ราว 1,000 ปีก่อนคริสต์ศักราชจนกระทั่งถึงสมัยประวัติศาสตร์

การตั้งถิ่นฐานในบริเวณลุ่มแม่น้ำมูลตอนบน คงเริ่มตั้งแต่เมื่อประมาณ 3,000 ปีที่ผ่านมา และมีพัฒนาการของชุมชนอย่างต่อเนื่อง จะเห็นได้ชัดจากภาชนะดินเผาเคลือบน้ำโคลนสีแดง และภาชนะดินเผาพิมายสีดำ ซึ่งอยู่ตามลำดับชั้นดินที่บ้านปราสาท นอกจากนั้นยังพบหลักฐานในสมัยประวัติศาสตร์และการสร้างคูน้ำคันดินล้อมรอบชุมชนในแหล่งเดียวกัน แสดงถึงพัฒนาการของชุมชนที่มีมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลายต่อเนื่องจนกระทั่งถึงสมัยประวัติศาสตร์ ซึ่งเป็นสังคมบ้านเมืองในระยะหลัง ส่วนหลักฐานอื่นก็คล้ายกับบริเวณลุ่มน้ำชีตอนใต้ เช่น ตะกรัน (SLAG) ของเหล็ก ซึ่งก็คงมีการถลุงเหล็กอยู่โดยทั่วไป และในบริเวณนี้คงจะมีการผลิตเกลือเช่นเดียวกับบริเวณอื่นๆ เนื่องจากพบเนินดินที่มีร่องรอยการผลิตเกลือในสมัยโบราณเช่นเดียวกัน

จากกลุ่มวัฒนธรรมทั้ง 4 กลุ่ม ที่กล่าวมาแล้ว จะมีลักษณะของพัฒนาการชุมชนที่แตกต่างกัน แต่ปัจจัยที่มีผลทำให้เกิดการพัฒนาการของสังคมก่อนประวัติศาสตร์ในช่วงปลายก็คือ ข้าว เกลือ และเหล็ก

ข้าวเป็นพืชที่เพาะปลูกกันมาเป็นเวลานาน การเพาะปลูกข้าวคงเริ่มจากการนำเอาข้าวป่ามาหว่านเพาะปลูกเพื่อบริโภค และมีการปรับปรุงวิธีการปลูกหลังการตั้งถิ่นฐาน ในพื้นราบเป็นการเพาะปลูกข้าวในที่น้ำขัง อัตราการขยายตัวของประชากรและพื้นที่การเพาะปลูกจะเป็นผลทำให้เกิดการขยายชุมชนไปเรื่อยๆ เป็นหลายๆ ชุมชนแตกตัวกันออกไป ขณะที่ชุมชนเดิมก็ยังมีการตั้งถิ่นฐานและพัฒนาการขึ้นอยู่ทุกระยะในลักษณะหมู่บ้านขยายนี้จะขึ้นอยู่กับความจำเป็นของที่อยู่อาศัยและที่ทำกินเป็นหลัก

แต่การเพาะปลูกข้าวในระยะแรกนี้คงยังไม่มีรูปแบบซับซ้อนมากนัก ทั้งนี้เนื่องจากการเพาะปลูกข้าวก็เพียงเพื่อการบริโภคเฉพาะในชุมชนเท่านั้น หากทุกชุมชนมีการเพาะปลูกข้าวแล้ว ข้าวก็จะไม่ได้เป็นปัจจัยสำคัญของการแลกเปลี่ยน และก็จะไม่จำเป็นที่ต้องมีผลิตส่วนเกิน (SURPLUS) การปลูกข้าวจึงไม่น่าจะมีความซับซ้อนจนกระทั่งถึงระบบการทำนาปักดำ เช่นสังคมเกษตรกรรมสมัยใหม่ แต่การเพาะปลูกข้าวจะเป็นผลที่ทำให้เกิดการตั้งถิ่นฐานชุมชนอย่างถาวรขึ้น

เกลือและเหล็กมีความสำคัญต่อชุมชนในฐานะของผลผลิตที่นำมาใช้สอย เพื่อตอบสนองความต้องการของท้องถิ่น และเพื่อการแลกเปลี่ยนกับท้องถิ่นอื่นๆ

บริเวณแอ่งโคราช นับตั้งแต่เขตจังหวัดขอนแก่นลงมาถึงบริเวณลุ่มแม่น้ำชี และแม่น้ำมูลนั้น พบชุมชนที่ปรากฏร่องรอยการถลุงแร่เหล็กในสมัยโบราณอย่างกว้างขวางโดยเฉพาะตะกรัน (SLAG) ของเหล็กที่เหลือจากการถลุงแร่ ขณะเดียวกันในบริเวณแอ่งโคราชก็มีการผลิตเกลือในสมัยโบราณอยู่หลายแห่ง เนื่องจากลักษณะทางธรณีวิทยา ชั้นหินตอนล่างของแอ่งเป็นหน่วยมหาสารคาม (MAHA SARAKHAM FORMATION) ซึ่งมีการสะสมเกลือในใต้ดิน และระเหยขึ้นมาชัดเจนบนพื้นผิวดินในช่วงที่ไม่มีฝนจะมีเป็นดินที่เป็นบริเวณต้มเกลือ เนื่องจากพบภาชนะดินเผาหนาและมีรอยถูกเผาไฟ นับตั้งแต่ตอนล่างของแอ่งสกลนคร เช่น บ้านค้อน้อย กุมภวาปี อุดรธานี จนกระทั่งถึง โนนชัย ชุมชนโบราณในเขตอำเภอบ้านฝาง บ้านเมืองเพีย อำเภอบ้านไผ่ ขอนแก่น บ่อพันขัน ร้อยเอ็ด และอีกหลายแห่งในเขตแอ่งโคราช

อย่างไรก็ตาม หลักฐานที่มีอยู่นั้นยังไม่สามารถที่จะยืนยันได้ว่า การผลิตเกลือเริ่มขึ้นในช่วงระยะใด แต่ก็คงมีการผลิตทั้งเกลือและเหล็กอย่างมากมาตั้งแต่ช่วงก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลายในภูมิภาคนี้

เมื่อเกลือและเหล็กเป็นผลผลิตที่สำคัญของท้องถิ่นแล้ว นอกจากการใช้ประโยชน์ในท้องถิ่นตนเอง ผลผลิตส่วนเกินทำให้เกิดการติดต่อแลกเปลี่ยนกับชุมชนอื่น ความมั่งคั่งของผลผลิตและการติดต่อแลกเปลี่ยนนี้เองที่ทำให้เกิดการตั้งถิ่นฐานบริเวณทางตอนใต้ของภูมิภาคมากขึ้น เกิดการพัฒนาการของชุมชน การขยายถิ่นฐานและการตั้งถิ่นฐานอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วงก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลายจนกระทั่งถึงช่วงที่รับศาสนาและอารยธรรมอินเดียเข้ามา

หลังการตั้งถิ่นฐานถาวรในภูมิภาคแล้ว ผู้คนในสังคมจำเป็นต้องมีการปรับตัวเพื่อการเอาชนะธรรมชาติ โดยวิธีการเก็บกักน้ำไว้ใช้ในช่วงฤดูขาดแคลนน้ำ จึงเป็นเหตุที่ทำให้เกิดการขุดสระหรือคูน้ำล้อมชุมชนขึ้น ซึ่งมีคูน้ำทั้งชั้นเดียวและสองถึงสามชั้น

โดยเฉพาะแอ่งโคราช ซึ่งมีปริมาณของฝนตกน้อยกว่าบริเวณแอ่งสกลนคร การขุดสระคูน้ำล้อมรอบชุมชนคงจะเกิดขึ้นตั้งแต่ราวต้นพุทธศักราช หรือเมื่อประมาณ 2,500 ปีมาแล้ว พร้อมกับการจัดระบบองค์กรทางสังคมซึ่งคงเป็นผู้นำในระดับ CHIEFDOM จนกระทั่งถึงการรับอารยธรรมอินเดียเข้ามา ที่มีผลทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงรูปแบบทางวัฒนธรรมในภูมิภาค

อย่างไรก็ตาม การพัฒนาการของชุมชนในช่วงเข้าสู่สมัยประวัติศาสตร์นั้น ในกลุ่มวัฒนธรรมทั้ง 4 กลุ่ม จะมีการพัฒนาการหลังรับอารยธรรมอินเดียที่แตกต่างกัน

บริเวณแอ่งสกลนครนั้น ชุมชนสมัยประวัติศาสตร์จะอยู่หนาแน่นในเขตหนองหาน สกลนคร และใกล้เคียง

บริเวณลุ่มแม่น้ำชีตอนบน หลักฐานของการพัฒนาการชุมชนจะมีอยู่อย่างต่อเนื่องในบริเวณใกล้ลำน้ำชี แต่ในช่วงระยะหลังก็จะมีชุมชนที่มีคูน้ำล้อมรอบ และศาสนสถานแบบขอมกระจายอยู่ตามลำห้วยสาขา

ส่วนกลุ่มพิมาย และทุ่งกุลาร้องไห้นั้น พัฒนาการของชุมชนจะมีอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ช่วงก่อนประวัติศาสตร์ การสร้างคูน้ำคันดินจนกระทั่งการรับวัฒนธรรมเขมรในสมัยประวัติศาสตร์ และมีชุมชนหนาแน่นขึ้นเรื่อยๆ

จากลักษณะดังกล่าวการเข้าสู่สังคมเมืองในสมัยประวัติศาสตร์ของภูมิภาคอีสานในแต่ละส่วนจะแตกต่างกัน ความชัดเจนของรูปแบบการเข้าสู่สังคมเมืองในเขตอีสานตอนล่าง เช่น กลุ่มพิมาย และกลุ่มทุ่งกุลาร้องไห้จะมีมากกว่าบริเวณแอ่งสกลนคร และกลุ่มลุ่มแม่น้ำชีตอนบนที่มีลักษณะของชุมชนเพียงกลุ่มเล็กๆ จนถึงสมัยประวัติศาสตร์ แต่ทั้งหมดนี้เป็นเพียงข้อสังเกตของข้าพเจ้าซึ่งก็คงจะต้องมีการศึกษาพัฒนาการชุมชนหลังการรับอารยธรรมอินเดียในภูมิภาคนี้ในโอกาสต่อไป

สรุป

จะเห็นได้ว่าภูมิภาคอีสานมีชุมชนโบราณที่มีการตั้งถิ่นฐานมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์เป็นจำนวนมาก ทั้งบริเวณแอ่งสกลนครและแอ่งโคราช จากลักษณะทางกายภาพของภูมิภาค ซึ่งประกอบด้วยแม่น้ำใหญ่หลายสาย เช่น แม่น้ำสงคราม แม่น้ำชี แม่น้ำมูล ซึ่งปรากฎการตั้งถิ่นฐานชุมชนโบราณตามแม่น้ำและลำห้วยสาขาของแม่น้ำดังกล่าวอยู่อย่างหนาแน่น มีลักษณะกลุ่มทางวัฒนธรรมที่เด่นชัดอย่างน้อย 4 กลุ่มที่มีการพัฒนาการเองในกลุ่มและการติดต่อแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมกันอย่างกว้างขวาง

บริเวณแอ่งสกลนครมีชุมชนหนาแน่นในเขตลุ่มแม่น้ำสงคราม และกระจายชุมชนไปถึงเขตหนองหาน สกลนครในระยะหลัง ส่วนบริเวณแอ่งโคราชมีชุมชนตั้งถิ่นฐานหนาแน่นทั้งในเขตลุ่มแม่น้ำชีและแม่น้ำมูล ในพื้นที่ราบลุ่มแม่น้ำท่วมถึงกับที่ราบขั้นบันได

การเพาะปลูกข้าวที่เป็นผลให้เกิดการตั้งหลักแหล่งถาวรในภูมิภาค

ส่วนการผลิตเกลือและเหล็กในช่วงปลายสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ทำให้เกิดการติดต่อแลกเปลี่ยนกับชุมชนอื่นที่อยู่ไกลจากภูมิภาคมากขึ้น การพัฒนาการของชุมชนจากการขยายตัวของประชากร และพื้นที่ทำกินมีอยู่อย่างต่อเนื่องจนกระทั่งถึงการสร้างคูน้ำคันดินล้อมรอบชุมชน

ในระยะพุทธศตวรรษที่ 12 เป็นต้นมา วัฒนธรรมจากภายนอกได้เข้ามาในภูมิภาคตั้งแต่การสร้างเสมาหินทวารวดี และการเข้ามาของวัฒนธรรมเขมร ในระยะพุทธศตวรรษที่ 15-18 ทำให้เกิดการปรับตัวจากระดับหมู่บ้านเข้าสู่สังคมเมืองในระยะหลัง

จากหลักฐานดังที่กล่าวมาแล้ว อดีตของอีสานจึงไม่ใช่ภาพของความแห้งแล้งและดินแดนที่รกร้างว่างเปล่า แต่มีชุมชนที่ตั้งถิ่นฐานอย่างหนาแน่น ในภูมิภาคมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ จนกระทั่งถึงพุทธศตวรรษที่ 14 ถึงแม้ว่าหลักฐานในระยะหลังต่อมาจะดูไม่ค่อยต่อเนื่องนักก็ตาม

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


บรรณานุกรม :

กรมศิลปากร. แหล่งโบราณคดีบ้านปราสาท, เอ็ม เอ็ม มาร์เกตติ้ง : กรุงเทพ, 2527

ปฐมฤกษ์ เกตุทัต. “ความสับสนในการแบ่งยุคสมัยวัฒนธรรม ก่อนประวัติศาสตร์ไทย : ตัวอย่างจากยุคหิน” วารสารเมืองโบราณ ปีที่ 11 ฉบับที่ 1 มกราคม-มีนาคม 2528 หน้า 6-19.

สมพรชัย สุจิตต์. “ลักษณะพิเศษของเครื่องปั้นดินเผาโบราณในเขตลุ่มแม่น้ำมูล-ชี” วารสารเมืองโบราณ ปีที่ 4 ฉบับที่ 9 ธันวาคม 2525-มีนาคม 2526 หน้า 85-89.

ศรีศักร วัลลิโภดม. “อีสาน : ความ สัมพันธ์ของชุมชนที่มีคูน้ำคันดินกับการเกิดของรัฐในประเทศไทย” วารสารศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 4 ฉบับที่ 1 พฤศจิกายน 2529 หน้า 130-140.

ศรีศักร วัลลิโภดม. “อารยธรรมบ้านเชียงกับความพินาศของมรดกทางวัฒนธรรมอีสานในแอ่งสกลนคร” วารสารเมืองโบราณ ปีที่ 4 ฉบับที่ 9 ธันวาคม 2525-มีนาคม 2526 หน้า 20-30.

Bayard, Donn. “Excavation at Non OK Tha, Northeastern Thailand, 1968 : An Interim Report” Asian Perspectives Vol. XIII pp. 110-143, 1970.

Bayard, Donn. “A Tentative Regional Chronology for Northeast Thailand” in Southeast Asia Archaeology at the XV Pacific Science Congress (ed.D. Bayard) University of Otago New Zealand pp. 161-168, 1984.

Bayard, Donn. Pisit Charoenwongsa and Sonsuda Rutnin “Excavation at Non Chai. Northeastern Thailand 19771978” Asian Perspectives Vol. XXV No. 1 pp. 13-61, 1987.

Pisit Charoenwongsa and Donn Bayard “Non Chai : New Dates on Metal Working and Trade from Northeastern Thailand” Current Anthropology Vol. 24 No. 4 August – October 1983 pp. 521-523, 1983.

Department of Anthropology, Archaeologic Study of the Lower MunChi Basin. Silpakorn University, 1981.

Gorman, Chester “The Hoabinhian and After : Subsistence Pattern in Southeast Asia during the Late Pleistocene and Early Recent Periods” World Archaeology Vol. 2 No. 3. pp. 300-319, 1971.

Solheim, Willheim G. “Northern Thailand, Southeast Asia and World Archaeology” Asian Perspectives Vol. XIII pp. 145-162.

Welch, Dawid J. Adaptation to Environment Unpredictability : Intensive Agriculture and Regional Exchange at Late Prehistoric Centers in the Phimai Region, Thailand. Ph.D. dissertation submitted to the University of Hawaii 1985.

White, Joyce C. Discovery of Lost Bronze Age : Ban Chiang. University of Pennsylvania Press, 1982.


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาส่วนหนึ่งจากบทความ “พัฒนาการชุมชนอีสานก่อนประวัติศาสตร์” เขียนโดย ชลิต ชัยครรชิต ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับมกราคม 2531


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 9 มิถุนายน 2565