“อีสาน” คำนี้มีความหมายอย่างไร คนอีสานเป็นใครมาจากไหน

ชาวบ้าน อีสาน พิธีศพ ภาพลายเส้น
ชาวอีสานในพิธีเผาศพ (ฝีมือภาพลายเส้นโดยชาวยุโรปที่เข้ามาช่วง ร. 4-ร. 5)

คนอีสาน ภาคอีสาน “อีสาน” คำนี้มีรากมาจากภาษาสันสกฤตว่า “อีศาน” หมายถึง นามพระศิวะ-เทพประจำทิศตะวันออกเฉียงเหนือ หลัง พ.ศ. 1000 จึงมีการใช้คำว่า “อีศาน” เป็นชื่อรัฐว่า “อีศานปุระ” และชื่อพระราชาว่า “อีศานวรมัน” ส่วน “อีสาน” นั้นเขียนอย่างคำบาลี ไทยยืมรูปคำบาลีมาใช้ หมายถึง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

คนอีสาน ไม่ใช่ชื่อชนชาติหรือเชื้อชาติเฉพาะของอีสาน แต่เป็นชื่อทางวัฒนธรรม มีที่มาจากบริเวณที่เรียกว่าภาคอีสาน หรือภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

แล้วคนอีสานมาจากไหน

คนอีสานมีบรรพชนมาจากการประสมประสานของผู้คนและชนเผ่าหลายชาติพันธุ์ แบ่งเป็น 2 พวกใหญ่ คือ คนพื้นเมืองดั้งเดิม และคนภายนอก

1. คนพื้นเมืองดั้งเดิม คนอีสานดั้งเดิมมีชีวิตร่อนเร่อยู่ในภาคอีสานมากกว่า 5,000 ปี มีหลักฐานทางโบราณคดียืนยันว่า การตั้งบ้านเรือน, เพาะปลูก และเลี้ยงสัตว์ในพื้นที่ อำเภอภูเวียง จังหวัดขอนแก่น แต่ไม่มีหลักฐานชี้ชัดว่า คนอีสานพวกแรกนี้เป็นเผ่าพันธุ์ใด แต่อย่างน้อยเป็นคน 2 พวก คือ

1) พวกที่สูง อาศัยอยู่บริเวณป่า มีแหล่งเพาะปลูก และแหล่งน้ำไม่พอเพียง จึงเพาะปลูกด้วยระบบที่เรียกว่า เฮ็ดไฮ่ (ทำไร่) หรือแบบล้าหลัง คือเอาไฟเผาป่าให้ราบตามที่ต้องการ ไม่มีการพรวนหรือไถดิน ทำเพียงใช้ไม้แทงดินให้เป็นรู หยอดเมล็ดพันธ์ุ เกลี่ยดินกลบ แล้วปล่อยให้มันโตตามสภาพที่เป็นไปธรรมชาติ ได้ผลผลิตไม่มาก การปลูกครั้งต่อไปบางทีก็ย้ายที่เพาะปลูกใหม่ที่อุดมสมบูรณ์ แต่มีความรู้และชำนาญในการถลุงโลหะ

2) พวกที่ราบ อาศัยบริเวณที่ราบลุ่มในหุบเขา, ที่ราบลุ่มแม่น้ำ มีน้ำท่วมถึง เป็นพวกชำนาญการเกษตร รู้จักชักน้ำ, ระบายน้ำ สำหรับการเกษตร ที่ดินจึงอุดมสมบูรณ์ไม่ต้องโยกย้ายไปหาที่เพาะปลูกใหม่ ผลผลิตก็มีจำนวนมากเกินต้องการ ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนกันในชุมชนอื่นๆ มักพัฒนาการจากหมู่บ้าน เป็นเมือง เป็นรัฐ

พวกที่สูงและที่ราบมักแลกเปลี่ยนสิ่งของและผสมกลมกลืนกันทางเผ่าพันธุ์ สังคม และวัฒนธรรม นานเข้าก็กลายเป็นพวกเดียวกัน ตั้งหลักแหล่งอยู่รวมกันในดินแดนที่คนภายนอกเรียกสยาม คนพวกนี้เลยถูกเรียกอย่างรวมๆ เป็นชาวสยามด้วย

2. คนภายนอก ที่เคลื่อนย้ายเข้ามาตั้งหลักแหล่งจนเป็นบรรพบุรุษมนุษย์สุวรรณภูมิ และบรรพชนคนอีสาน มาจากที่ต่างๆ แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ

1) ราว 3,000 ปีก่อน มาจากทิศตะวันออกเฉียงเหนือ หรือทางตอนใต้ของจีนในปัจจุบัน เช่น ยูนนาน, กวางสี, กวางตุ้ง, เวียดนาม, ลาว ฯลฯ 

สิ่งสำคัญที่คนภายนอกพวกนี้นำเข้ามาก็คือ “ภาษา” ที่ปัจจุบันเรียกตระกูลไทย-ลาว มีหลักฐานหนักแน่นว่า เมื่อ 3,000 ปีก่อน คนพื้นเมืองในกวางสี-กวางตุ้งพูดภาษาตระกูลไทย-ลาว จนยอมรับเป็น “ภาษาการค้า” และ “ระบบความเชื่อ” เช่น ประพณีการฝังศพครั้งที่สอง, มโหระทึก (หรือฆ้องบั้ง, กลองทอง, กลองกบ) ฯลฯ

ทั้งคนพวกนี้ก็ไม่ได้หยุดอยู่แค่สองฝั่งโขงทั้งลาวและอีสาน แต่เคลื่อนย้ายไปมา ไปถึงลุ่มน้ำสาละวิน (เช่น ไทใหญ่ ฯลฯ), ลุ่มน้ำน่าน-ยม (เช่น อุตรดิตถ์, พิษณุโลก, สุโขทัย ฯลฯ) บางพวกยังลงไปถึงลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่างทางลพบุรี และสุพรรณบุรีด้วย

2) ราว 2,000 ปีก่อน มาจากทิศตะวันตกเฉียงใต้ ได้แก่ ชมพูทวีปและลังกาทวีป ที่เข้ามาค้าขายกับคนพื้นเมืองสุวรรณภูมิเพื่อส่งต่อถึงจีนฮั่น คนพวกนี้มีทั้งพ่อค้าและนักบวช เป็นเหตุให้มีการเผยแพร่ศาสนาพุทธ-พราหมณ์ ผ่านชาวฝั่งทะเลอันดามันและอ่าวไทย ทางที่ราบลุ่มน้ำเจ้าพระยาและปากน้ำโขงมาถึงบริเวณสองฝั่งโขง บางส่วนก็ตั้งหลักแหล่งในพื้นที่อีสานด้วย

คนภายนอก เป็นใครบ้าง ไม่มีหลักฐานระบุได้ชัดเจน เพราะยุคนั้นยังไม่มีชาติทางการเมืองอย่างปัจจุบัน แต่จำแนกเป็นกลุ่มใหญ่ได้ 5 ตระกูลภาษา ดังนี้

1. ตระกูลมอญ-เขมร หรือออสโตรเอเชียติก เช่น พวกมอญ, เขมร, ลัวะ, ละว้า และบรรดากลุ่มที่คนอื่นๆ เรียกอย่างดูถูกว่า ข่า, ส่วย, ม้อย ฯลฯ

2. ตระกูลชวา-มลายู หรือออสโตรเนเชียน หรือมาลาโยโพลินีเชียน เช่น พวกชวาและหมู่เกาะอินโดนีเซีย, มลายู, จาม ฯลฯ มีหลักแหล่งตามชายฝั่งและหมู่เกาะทางตอนใต้ของอุษาคเนย์ รวมทั้งมอเก็นหรือชาวเล และเงาะ

3. ตระกูลไทย-ลาว เช่น พวกไทย, ลาว, จ้วง, หล, อาหม ฯลฯ มีหลักแหล่งทั้งหุบเขาและทุ่งราบบนผืนแผ่นดินใหญ่ของอุษาคเนย์ บริเวณตะวันออก-ตะวันตกสองฝั่งโขง

4. ตระกูลจีน-ทิเบต เช่น กะเหรี่ยง, อะข่า (อีก้อ), ปะดอง ฯลฯ นอกจากนั้นยังมีพวกพม่า-ทิเบตด้วย

5. ตระกูลม้ง-เมี่ยน หรือแม้ว-เย้า เช่น ม้ง (แม้ว) เมี่ยน (เย้า) มีหลักแหล่งอยู่บนดอยสูงทางตอนเหนือของผืนแผ่นดินใหญ่อุษาคเนย์

คนทั้ง 5 พวกนี้เป็นเครือญาติกันไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง เมื่อพราหมณ์กับพุทธเข้ามาถึงดินแดนอีสาน กลุ่มชนต่างๆ ที่มีมาแต่เดิมทั้ง 5 ตระกูลภาษาก็เปลี่ยนไป เพราะมีผู้คนจากภายนอกหลายทิศเคลื่อนย้ายเข้ามาปะปนเพิ่มขึ้น ประกอบด้วยหลายเผ่าพันธุ์ ดังนี้

พวกข่า เป็นกลุ่มชนพื้นเมืองดั้งเดิม พูดภาษาตระกูลมอญ-เขมร มักอาศัยอยู่บนที่สูง ทางราชการประเทศลาวจึงเรียกว่าพวกลาวเทิง พวกกุยหรือกวยหรือส่วยในอีสานก็จัดอยู่พวกเดียวกัน

พวกไทและชนเผ่าอื่นๆ จากน่านเจ้า มีหลายเผ่าพันธุ์ เหตุที่มีพวกนี้อยู่ด้วยก็เพราะเอกสารจีนระบุว่าเขตเจนละกับเขตน่านเจ้าติดต่อถึงกัน และสามารถเดินทางไปมาถึงกันโดยเส้นทางแม่น้ำโขง

พวกกัมพูหรือกัมพุช ที่อยู่ในเจนละน้ำ ชื่อเหล่านี้ชาวอินเดียใช้เรียกชาวกัมพูชา อาจมีส่วนผสมกับชาวอินเดียกลุ่มทมิฬด้วย

พวกจาม เป็นชนเผ่ากลุ่มหนึ่งที่อาศัยอยู่ระหว่างทะเลจีนใต้กับเทือกเขาอันนาม ในทางเชื้อชาติพวกจามมีความสัมพันธ์กับกลุ่มชนบทที่สูง เช่น พวกระแตว์และจะราย ซึ่งนับเป็นข่ากลุ่มหนึ่ง ทางด้านวัฒนธรรมพวกจามมีความเชื่อของตนเองมาก่อนที่จะรับนับถือฮินดู-พุทธ แต่บางพวกนับถืออิสลาม โดยได้รับการยกย่องว่าชำนาญการค้าทางทะเล การประมง มีความสามารถในการเดินเรือทะเล ในเอกสารจีนโบราณกล่าวถึงพวกจามว่า สลัดทะเล

พวกจามเป็นชนกลุ่มใหญ่ที่มีความเจริญ และมีรัฐของตนเองที่ชื่อจามปาอยู่ใกล้ทะเลในเขตเวียดนามภาคกลาง จึงมีฐานะเป็นผู้มีอารยธรรมสูงกว่าชนพื้นเมือง แหล่งอารยธรรมของจามที่อยู่ในลุ่มแม่น้ำโขงก็คือปราสาทวัดภูที่จัมปาสัก กับชิ้นส่วนของศาสนสถานที่อุบลราชธานี

พวกเวียด มีเส้นทางคมนาคมไปมาหาสู่กันมาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์แล้ว

พวกสยาม มีอยู่ในจารึกจาม พวกนี้สื่อสารด้วยตระกูลภาษาไทย

พวกลาว เชื่อกันว่าเข้ามาทีหลังสุด

พวกลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา เช่น พวกละโว้ และพวกอื่นๆ กลุ่มชนพวกนี้เคลื่อนไหวอยู่ในดินแดนอีสานยุคต้นประวัติศาสตร์ ถือเป็นบรรพชนคนอีสานทุกวันนี้

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


หมายเหตุ : บทความนี้เขียนเก็บความจาก สุจิตต์ วงษ์เทศ. “พลังลาว” ชาวอานมาจากไหน?. สำนักพิมพ์มติชน, พิมพ์ครั้งแรกเมื่อ กรกฎาคม 2549.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 20 กันยายน 2566