สุจิตต์ วงษ์เทศ : วรรณกรรมรัฐสุโขทัย แต่งสมัยรัตนโกสินทร์ เพื่อการเมืองภายในและภายนอก

มณฑป "พระอจนะ" วัดศรีชุม สุโขทัย ก่อนการบูรณะ ภาพถ่ายในราวสมัยรัชกาลที่ 6

กรุงสุโขทัยไม่ใช่ราชธานีแห่งแรกของไทย แต่เป็นรัฐเล็ก ๆ รัฐหนึ่งอยู่ภาคกลางตอนบนที่เกิดหลังรัฐอื่น ๆ อีกหลายรัฐ ดังนั้น วรรณกรรมของรัฐสุโขทัย (ถ้ามี) จึงไม่ใช่วรรณกรรมชุดแรกของไทย

ที่สำคัญกว่านั้น คือนอกจากศิลาจารึกจำนวนหนึ่งทำขึ้นในรัฐสุโขทัยแล้ว ยังไม่เคยพบหลักฐานว่ามีวรรณกรรมของรัฐสุโขทัยในรูปแบบอื่น

“วรรณกรรมสมัยสุโขทัย” เป็นชื่อหนังสือที่กรมศิลปากรพิมพ์เผยแพร่เมื่อ พ.ศ. 2528 แล้วยังใช้เป็นทางการสืบจนทุกวันนี้ มี 3 เรื่อง คือ ไตรภูมิพระร่วง (หรือไตรภูมิกถา), สุภาษิตพระร่วง, นางนพมาศ (หรือตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์)

แต่เมื่อตรวจสอบโดยนักปราชญ์ นักวิชาการ นักค้นคว้า พบว่าทั้ง 3 เล่มล้วนเป็นหนังสือแต่งสมัยกรุงรัตนโกสินทร์

สุภาษิตพระร่วง

สุภาษิตพระร่วง เป็นวรรณกรรมที่ทางการกำหนดว่าแต่งสมัยสุโขทัยโดยพระร่วง คือพ่อขุนรามคำแหงทรงบัญญัติคำสอนนี้ แล้วทรงแสดงสั่งสอนไพร่ฟ้ากรุงสุโขทัย ต่อมามีผู้รวบรวมแล้วเรียกชื่อว่าสุภาษิตพระร่วงหรือบัญญัติพระร่วง

แท้จริงแล้วสุภาษิตพระร่วงไม่ใช่พระนิพนธ์ของพระร่วง หรือพ่อขุนรามคำแหง แต่เป็นภาษาพูดในชีวิตประจำวันของคนตระกูลไทยลาว ทุกระดับและทุกภูมิภาคมาแต่โบราณกาล ด้วยคำพังเพยที่คล้องจอง “

ครั้นราวยุคอยุธยามีผู้รวบรวมให้ร้อยเรียงคล้องจองต่อเนื่องกัน จนถึงแผ่นดิน ร.3 กรุงรัตนโกสินทร์ ได้รวบรวมรจนาอีกครั้งหนึ่ง โดยกรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรส อันเป็นฉบับที่รับรู้แล้วแพร่หลายในนามสุภาษิตพระร่วงสืบจนทุกวันนี้

(มีรายละเอียดอีกมากในหนังสือ พ่อขุนรามคำแหง ไม่ได้แต่งสุภาษิตพระร่วง รวมบทความและรายงานวิชาการ โดยศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ ณ นคร, เปลื้อง ณ นคร, ล้อม เพ็งแก้ว, เสยย์ เกิดเจริญ, ภาษิต จิตรภาษา, ดร.นิยะดา เหล่าสุนทร สำนักพิมพ์ศิลปวัฒนธรรม รวมพิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2528)

นางนพมาศ

นางนพมาศ เป็นวรรณกรรมที่ทางการกำหนดให้แต่งโดยนางนพมาศ ซึ่งทางการระบุอีกว่าเป็นสนมพระร่วง คือพ่อขุนรามคำแหง

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงมีลายพระหัตถ์ว่านางนพมาศเป็นพระราชนิพนธ์ รัชกาลที่ 3 ว่า “หนังสือเรื่องนางนพมาศซึ่งฉันเข้าใจว่า พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชนิพนธ์”

(สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงมีลายพระหัตถ์จาก Cinnamon Hall ที่ Penang เมื่อวันที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2479 ถึงพระยาอนุมานราชธน ในหนังสือ ให้พระยาอนุมาน มูลนิธิเสฐียรโกเศศ-นาคประทีป จัดพิมพ์เมื่อ 14 ธันวาคม 2521 : 56)

สมเด็จฯ ทรงอธิบายไว้ในคำนำเรื่องนางนพมาศฯ อีกว่า

ว่าโดยทางโวหาร ใคร ๆ อ่านหนังสือเรื่องนี้ด้วยความสังเกตจะแลเห็นได้โดยง่าย ว่าเป็นหนังสือแต่งในครั้งกรุงรัตนโกสินทร์นี้เอง

(คำนำหนังสือ เรื่องนางนพมาศ หรือตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ ฉบับหอพระสมุดวชิรญาณ พระนิพนธ์สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เมื่อพิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2457)

ศาสตราจารย์ ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ อธิบายเรื่องนางนพมาศเป็นวรรณคดียุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์ว่า “ต้องแต่งอยู่ระหว่าง พ.ศ. 2360-2378 เป็นช้าที่สุด หนังสือนางนพมาศจึงเป็นวรรณกรรมของต้นรัตนโกสินทร์ชิ้นหนึ่ง มีลักษณะร่วมกับวรรณกรรมของยุคเดียวกันหลายประการ”

(จากบทความเรื่อง โลกของนางนพมาศ ของศาสตราจารย์ ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ พิมพ์อยู่ในหนังสือรวมบทความเรื่อง ไม่มีนางนพมาศ ไม่มีลอยกระทง สมัยสุโขทัย สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งที่ 3 พ.ศ. 2545 หน้า 114-115)

ไตรภูมิพระร่วง

ไตรภูมิพระร่วง เป็นวรรณกรรมที่ทางการกำหนดให้แต่งโดยพระยาลิไทย เมื่อ พ.ศ. 1888 สมัยกรุงสุโขทัย แต่ไม่ระบุว่าแต่งด้วยวิธีสลักหิน หรือจารบนใบลาน หรือเขียนบนสมุดข่อย

บอกแต่ว่าต้นฉบับที่เหลือตกทอดต่อมาจนปัจจุบันเก็บไว้ในหอสมุดแห่งชาติเป็นฉบับใบลาน อักษรขอม (เขมร) มี 2 ฉบับ คือ ฉบับพระมหาช่วย วัดปากน้ำ และฉบับพระมหาจันทร์ มีฉบับละ 10 ผูก ผูกละ 24 ลาน (แผ่น) กับฉบับพิเศษ 1 ผูก มี 24 ลาน (แผ่น) เมื่อกรมศิลปากรชำระมาพิมพ์เป็นเล่ม (ขนาด 8 หน้า ยก) หนาราว 175 หน้า

วรรณกรรมที่มีเนื้อหายืดยาวอย่างไตรภูมิพระร่วง ไม่เคยพบมาก่อนในสมัยกรุงสุโขทัย และตลอดยุคกรุงสุโขทัย พบแต่จารึกบนแผ่นหินที่มีเนื้อหาไม่ยืดยาว แต่ไตรภูมิพระร่วงมีบทพรรณนาอลังการเยิ่นเย้อยืดยาวมาก

ดังเห็นจากตอนที่ว่าด้วยมหาจักรพรรดิราชใช้สำนวนโวหารต่างไปมากจากที่พบในจารึกสมัยสุโขทัย โดยเฉพาะยุคพระยาลิไทยก็ไม่มีสำนวนโวหารยืดยาวเยิ่นเย้ออย่างนี้

พยานหลักฐานด้านสำนวนภาษาและอื่น ๆ ยืนยันสอดคล้องกันว่าไตรภูมิพระร่วงเป็นวรรณกรรมสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ อ.พิริยะ ไกร ฤกษ์ วิจัยพบว่าเป็นพระราชนิพนธ์ของ ร.4 ดังนี้

“จากการเปรียบเทียบคำศัพท์ เนื้อหา และสำนวน ซึ่งมีลักษณะใกล้เคียงกันมากระหว่างจารึกพ่อขุนรามคำแหงและไตรภูมิพระร่วง เห็นได้ว่าเอกสารทั้งสองน่าจะเป็นบทประพันธ์ของผู้แต่งคนเดียวกัน

ในเมื่อจารึกพ่อขุนรามคำแหงอาจจะเป็นพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หนังสือไตรภูมิพระร่วงก็คงจะเป็นพระราชนิพนธ์ในพระมหากษัตริย์พระองค์นั้นด้วยเช่นกัน”

“ในช่วงที่พระองค์ทรงครองวัดบวรนิเวศวิหารอยู่นั้น น่าจะเป็นช่วงระยะเวลาที่พระองค์ทรงพระราชนิพนธ์เรื่องไตรภูมิกถา โดยทรงขอยืมข้อความบางตอน คำศัพท์บางคำ และสำนวนจากจารึกของพระมหาธรรมราชาที่ 1 พระยาลิไทยหลักที่ 3 และหลักที่ 5

และเมื่อเสด็จขึ้นเสวยราชสมบัติในปีพุทธศักราช 2394 (ค.ศ. 1851) แล้ว พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงพระราชนิพนธ์จารึกพ่อขุนรามคำแหง

(จากหนังสือ ไทยคดีศึกษา รวมบทความทางวิชาการเพื่อแสดงมุทิตาจิต อาจารย์ พันเอกหญิง คุณนิออน สนิทวงศ์ ณ อยุธยา, บรรณาธิการ สุนทร อาสะไวย์, วัลย์วิภา บุรุษรัตนพันธุ์, กาญจนี้ ละอองศรี, กรุงเทพฯ : คณะกรรมการจัดงานแสดงมุทิตาจิตครบรอบ 60 ปี อาจารย์พันเอกหญิง คุณนิออน สนิทวงศ์ ณ อยุธยา, 2533.)

จารึกรามคำแหง

ศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง เป็นวรรณกรรมที่ทางการกำหนดให้มีอายุเก่าสุดสมัยกรุงสุโขทัย ที่ทำขึ้นเมื่อ พ.ศ. 1835 โดยสลักลงบนแท่งหินมี 4 ด้าน แล้วทางการยกย่องอีกว่าเป็นวรรณกรรมเรื่องแรกของไทย

แต่พยานหลักฐานยืนยันตรงกันหลายอย่าง ว่าจารึกพ่อขุนหรือจารึกรามคำแหง เป็นวรรณกรรมประวัติศาสตร์การเมืองแห่งกรุงสยามสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ (มีรายละเอียดอีกมากในหนังสือ จารึกพ่อขุนรามคำแหง วรรณคดีประวัติศาสตร์การเมืองแห่งกรุงสยาม โดย รศ.ดร.พิริยะ ไกรฤกษ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งที่ 2 ปรับปรุงใหม่ พ.ศ. 2547)

อ.พิริยะ ไกรฤกษ์ วิจัยพบว่าพระจอมเกล้าฯ หรือ ร.4 ทรงทำจารึกรามคำแหงด้วยเหตุผลทางการเมืองระหว่างประเทศกับยุโรปยุคล่าเมืองขึ้น แต่ อ.นิธิ เอียวศรีวงศ์ อธิบายเพิ่มเติมว่า มีเหตุผลทางการเมืองภายในอยู่ด้วย

แท้จริงแล้ววรรณกรรมไม่ได้เกิดขึ้นลอย ๆ ในสูญญากาศ แต่เกิดขึ้นจากเงื่อนไขทางเศรษฐกิจการเมืองของยุคสมัยนั้น ๆ

ปัญหาอยู่ที่ระบบการศึกษาไทยหน้าไหว้หลังหลอก และมือถือสากปากถือศีลต่างหาก จึงพยายามยกยอปอปั้นวรรณกรรมราชสำนักโบราณว่าบริสุทธิผุดผ่องดังทองทา ไม่มีการเมือง

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาส่วนหนึ่งจากบทความ “วรรณกรรมรัฐสุโขทัย แต่งสมัยรัตนโกสินทร์ เพื่อการเมืองภายในและภายนอก” เขียนโดย สุจิตต์ วงษ์เทศ ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับ 29 มิถุนายน 2555


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่ิ 18 พฤษภาคม 2565