แผ่นไม้จำหลักภาพเครื่องราชกกุธภัณฑ์ไม่เก่าถึง “สุโขทัย” แต่อาจสร้างหลังยุค ร.4

แผ่นไม้จำหลักเครื่องราชกกุธภัณฑ์ จากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ รามคำแหง จังหวัดสุโขทัย

เครื่องราชกกุธภัณฑ์ที่ใช้ในพระบรมราชพิธีราชาภิเษกเชื่อกันว่ามีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย เบื้องต้นตามจารึกวัดป่ามะม่วงระบุว่ามีอยู่ 3 สิ่งคือ มงกุฎ พระขรรค์ชัยศรี และเศวตฉัตร (ร่มขาว) แต่ภาพราชกุธภัณฑ์ที่สลักบนแผ่นไม้สมัยสุโขทัย ปัจจุบันเก็บไว้ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติจังหวัดสุโขทัยแสดงให้เห็นว่ามีอยู่ ห้าสิ่ง คือ แส้ พระขรรค์ กระบังหน้า ฉลองพระบาทและธารพระกร ซึ่ง วิทย์ พิณคันเงิน ผู้เขียนหนังสือ “เครื่องราชภัณฑ์” ตั้งข้อสังเกตว่า เครื่องราชกกุธภัณฑ์ทั้ง 5 ซึ่งปรากฏตามแผ่นไม้ดังกล่าวน่าจะอยู่ในรัชกาลหลังๆ ของอาณาจักรสุโขทัย ซึ่งเปลี่ยนแปลงไปตามเหตุผลและกาลสมัย แต่มิได้ระบุชัดเจนว่าสร้างขึ้นในรัชสมัยใ

ด้าน พิชญา สุ่มจินดา ผู้เขียน “ถอดรหัส พระจอมเกล้า” กล่าวว่า แผ่นไม้จำหลักดังกล่าวนักวิชาการ “เชื่อกันว่า” ได้มาจากปรางค์ประธานวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ เชลียง จึงสันนิษฐานกันต่อไปว่าอายุของมันน่าจะอยู่ในสมัยเดียวกับการสร้างหรือการปฏิสังขรณ์ปรางประธานองค์ดังกล่าวไปด้วย ซึ่งอาจครอบคลุมช่วงระยะเวลาตั้งแต่สมัยสุโขทัยไปจนถึงสมัยอยุธยาตอนปลาย แต่ พิชญา ตั้งข้อสังเกตว่า บานไม้ประตูจำหลักรูปเทพทวารบาลทรงพระขรรค์และดาวเพดานของคูหาปรางค์ประธาน โบราณวัตถุจากวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ เชลียง ซึ่งถือเป็นโบราณวัตถุชิ้นเอกที่เก็บไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ รามคำแหง จังหวัดสุโขทัย เช่นเดียวกับแผ่นไม้จำหลักดังกล่าว ต่างได้รับการกล่าวถึงเป็นครั้งแรกในปี 2444 โดย สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัตติวงศ์ ในจดหมายเหตุระยะทางไปพิษณุโลก แต่พระองค์มิได้ทรงกล่าวถึงแผ่นไม้จำหลักเครื่องราชกกุธภัณฑ์ไว้เลย เช่นเดียวกับพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งทรงดำรงพระราชอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร ก็มิได้ทรงกล่าวถึงแผ่นไม้ชิ้นนี้ในพระราชนิพนธ์เที่ยวเมืองพระร่วง

Advertisement

และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ รามคำแหงยังได้ติดป้ายจัดแสดงใหม่ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษอธิบายแผ่นไม้จำหลักตามข้อมูลใหม่ว่าเป็น “แผ่นไม้สลักเครื่องราชกกุธภัณฑ์ ศิลปะอยุธยา พุทธศตวรรษที่ ๒๒-๒๓ ได้จากศาลากลางจังหวัดสุโขทัย” และ “WOODEN SLAB REPRESENTING THAI REGALIA Ayudhya Style, 17th-18th Century A.D.” พิชญา กล่าวว่า ทางพิพิธภัณฑ์ยืนยันว่า ทะเบียนโบราณวัตถุของแผ่นไม้จำหลัก เลขทะเบียน อย 5599 ได้ระบุตรงกับป้ายจัดแสดงว่า ไม้จำหลักแผ่นนี้มาจากศาลากลางจังหวัดสุโขทัย แต่ไม่ได้บอกว่าได้มาตั้งแต่เมื่อใด และจากศาลากลางหลังใด (พิชญา สันนิษฐานว่าน่าจะมีทั้งหลังเก่าและหลังใหม่) นอกจากนั้นทะเบียนก็ไม่ได้แสดงให้เห็นว่าแผ่นไม้ดังกล่าวมีความเกี่ยวข้องกับปรางค์ประธานวัดพระศรีรันมหาธาตุ เชลียง

พิชญากล่าวว่า ที่มาของแผ่นไม้จำหลักถือเป็นประเด็นสำคัญเพราะนักวิชาการหลายคนเชื่อว่าอายุแผ่นไม้ดังกล่าวอยู่ในช่วงสุโขทัยหรืออยุธยาเพราะเชื่อว่าได้มาจากปรางค์ประธานดังกล่าว ซึ่งเดิมทางพิพิธภัณฑ์เองก็เคยระบุว่าได้มาจากปรางค์ประธานของวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ เชลียง เช่นกัน จนเพิ่งมาแก้ไขข้อมูลให้ตรงกับทะเบียนโบราณวัตถุของทางพิพิธภัณฑ์เมื่อไม่นานมานี้

 

"ถอดรหัสพระจอมเกล้า" โดย พิชญา สุ่มจินดา คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
“ถอดรหัสพระจอมเกล้า” โดย พิชญา สุ่มจินดา คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ส่วนอายุที่แท้จริงของแผ่นไม้ พิชญา เสนอว่า คงมิได้ถูกสร้างขึ้นในสมัยสุโขทัยหรืออยุธยาตอนปลาย “อย่างแน่นอน” เพราะคำว่า “พระบรมราชโองการ” (ที่ถูกสลักด้วยอักษรขอมบนแผ่นไม้ดังกล่าว) เพิ่งมาเริ่มใช้กันในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องจากพระองค์ทรงสถาปนาให้พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นพระมหากษัตริย์องค์ที่สอง จึงมีการกำหนดคำราชาศัพท์ขึ้นมากำกับเพื่อแยกให้เห็นความแตกต่างระหว่างวังหลวงและวังหน้า ซึ่งคำรับสั่งของวังหน้าที่เดิมเคยใช้ว่า “พระบัญฑูร” ก็เปลี่ยนมาใช้ “พระบวรราชโองการ” ส่วนคำว่า “บรม” เป็นคำที่ใช้กับฝ่ายวังหลวง ทั้งนี้จากคำอธิบายของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทำให้ พิชญา สรุปว่า “พระบรมราชโองการ” เพิ่งมีในสมัยรัชกาลที่ 4 แผ่นไม้ดังกล่าวจึงไม่อาจมีอายุเก่าแก่ไปกว่ารัชสมัยนี้