จอร์จ วอชิงตัน ผู้ไม่ยอมเป็นจักรพรรดิแห่งอเมริกา

ประธานาธิบดี จอร์จ วอชิงตัน
ประธานาธิบดีจอร์จ วอชิงตัน

จอร์จ วอชิงตัน (22 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1732 – 14 ธันวาคม ค.ศ. 1799) เป็นผู้นำทางทหารและการเมืองของอเมริกา ในสงครามประกาศอิสรภาพ เป็นหนึ่งในคณะทำงานที่รับผิดชอบการร่างรัฐธรรมนูญฉบับแรกของอเมริกา และเป็นผู้นำที่ปฏิเสธตำแหน่ง “จักรพรรดิแห่งอเมริกา” แต่เลือกเป็น “ประธานาธิบดี” ที่มาจากการเลือกตั้งทุกๆ 4 ปี แทน

เรื่องราวการปฏิเสธตำแหน่ง “จักรพรรดิแห่งอเมริกา” นั้น หวังหลง (เขมณัฏฐ์ ทรัพย์เกษมชัย และสุดารัตน์ วงศ์กระจ่าง – แปล) อธิบายไว้ใน “ราชสำนักจีนหันซ้าย โลกหันขวา” (สนพ.มติชน, 2559) สรุปเนื้อหาโดยสังเขปดังนี้

เมื่อคราวที่จอร์จ วอชิงตัน ประกาศชัยชนะในสงครามประกาศอิสรภาพ ประเทศต่างๆ ในเวลานั้นปกครองของด้วยระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นส่วนมาก ยังไม่มีประเทศขนาดใหญ่ใดที่จัดตั้งรัฐบาลจากเสียงของประชาชน

มองเตสกิเออ นักคิดทางการเมืองชาวฝรั่งเศส ยังมีความเห็นว่ารัฐบาลสาธารณรัฐเหมาะกับประเทศขนาดเล็กเท่านั้น ประเทศทั้งหลายในยุโรปก็มีความเห็นว่า ถ้าให้ประชาชนปกครองบริหารประเทศกันเอง ท้ายที่สุดอาจกลายเป็นอนาธิปไตย และเกิดความวุ่นวายในที่สุด

ดังนั้นเมื่อจอร์จ วอชิงตัน ชนะสงครามประกาศอิสรภาพ หลายฝ่ายจึงเชื่อว่า “วอชิงตันจะเป็นจักรพรรดิแห่งอเมริกัน”

เดือนพฤษภาคม 1782 พันเอก นิโคลาส แห่งกองทัพบก นำนายทหารกลุ่มหนึ่งประชุมลับ เตรียมการสนับสนุนให้เขาเป็นกษัตริย์ แต่เขาปฏิเสธโดยให้คำอธิบายกับตำหนิพันเอก นิโคลาสว่า

ถ้าข้าพเจ้ายังมีจิตสำนึกรู้ตัวเองอยู่บ้าง คงจะบอกได้ว่าคุณคงหาคนที่เกลียดแผนการนี่มากไปกว่าข้าพเจ้าไม่ได้อีกแล้ว…เพราะฉะนั้น ข้าพเจ้าขอร้องให้คุณล้มเลิกความคิดในหัวคุณเสียเอง และอย่าปล่อยให้ตัวเองหรือใครก็ตามเผยแพร่ความคิดเช่นนี้อีก หากยังเห็นความสำคัญของชาติบ้านเมือง เป็นห่วงเป็นใยรุ่นลูกรุ่นหลาน หรือยังเคารพนับถือข้าพเจ้าอยู่

การละทิ้งอำนาจจักรพรรดิของเขาทำให้โลกตะลึง

พระเจ้าจอร์จที่ 3 แห่งสหราชอาณาจักรยังตรัสว่า “เขาจะกลายเป็นบุคคลผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกนี้”

ผู้คนกล่าวถึงผู้นำทางทหารและการเมืองอเมริกาคนนี้ว่า “เขาคือโอลิเวอร์ ครอมเวลล์ (ผู้นำทางการทหารและการเมืองชาวอังกฤษ) ที่ไม่มักใหญ่ใฝ่สูง และเขาคือซุลลา (แม่ทัพใหญ่ของจักรวรรดิโรมัน) ที่ไม่มีพฤติกรรมชั่วร้าย”

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 28 เมษายน 2565