ขุนนางชิงชม “จอร์จ วอชิงตัน” ดั่งบุรพกษัตริย์ในตำนาน ยิ่งใหญ่กว่าเล่าปี่ โจโฉ

จอร์จ วอชิงตัน ลงนามในรัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกา (ภาพจาก https://www.aoc.gov)

วันที่ 28 สิงหาคม 1784 ที่ท่าเรือหวง มณฑลกว่างโจว ประชาชนนับหมื่นรวมตัว กันเฉลิมฉลองครั้งยิ่งใหญ่อย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน เรือบรรทุกสินค้าลําเล็กๆ สัญชาติอเมริกันชื่อ “Empress of China” ออกเดินทางจากนิวยอร์กเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ ข้ามน้ำข้ามทะเลมา อ้อมแหลมกู๊ดโฮป ข้ามมหาสมุทรอินเดียจนมาถึงกว่างโจว เป็นครั้งแรกที่เดินเรือจากสหรัฐอเมริกามาถึงจีนได้สําเร็จ

ด้วยความภาคภูมิใจ เรือ “Empress of China” ยิงปืนใหญ่ 13 นัด (แทนทั้ง 13 รัฐของอเมริกาในตอนนั้น) แสดงความเคารพต่อเรือที่เทียบท่าอยู่โดยรอบ เรือของประเทศอื่นๆ ก็ยิงปืนใหญ่เพื่อเป็นการตอบรับ นี่เป็นช่วงเวลาที่มีความหมาย อย่างยิ่งในประวัติศาสตร์โลก

สหรัฐอเมริกาประเทศน้องใหม่ที่เพิ่งถือกําเนิดได้ไม่นาน แต่ก็รีบรุดเดินทางมาเจริญสัมพันธไมตรีกับประเทศเก่าแก่ที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานถึง 5,000 ปี

สองประเทศซึ่งอยู่ไกลกันกว่าหมื่นลี้ ตอนนี้ต่างรู้สึกแปลกๆ และเก้ๆ กังๆ ประวัติศาสตร์จารึกไว้ว่า ก่อนหน้านี้ชาวอเมริกันที่เดินทางมาถึงเมืองจีนมีแค่เพียง 2 คน ถึงแม้พ่อค้าชาวจีนจะต้อนรับเรือ “Empress of China” ด้วยความยินดีปรีดา แต่พวกเขาก็แทบไม่รู้อะไรเกี่ยวกับประเทศนี้เลย แม้แต่ตําแหน่งที่ตั้งก็รู้เพียงครึ่งๆ กลางๆ และยิ่งไม่รู้อะไรเกี่ยวกับชาวอเมริกันเลย เนื่องจากภาษาที่ใช้สื่อสารคล้ายคลึงกันมาก พวกเขาจึงเข้าใจผิดว่าชาวอเมริกันคือชาวอังกฤษ

บุพเพสันนิวาสระหว่างวอชิงตันกับประเทศจีนก็เริ่มต้นจากการเดินทางครั้งประวัติศาสตร์ครั้งนี้ จอห์น กรีน (John Green) กัปตันเรือ “Empress of China” เคยเป็นนายร้อยประจํากองทัพเรือในสงครามประกาศอิสรภาพของสหรัฐอเมริกา เป็น ผู้ติดตามที่จงรักภักดีของจอร์จ วอชิงตัน เขาได้รับ “ใบอนุญาตเดินเรือสมุทร” จากรัฐสภา ใบอนุญาตนี้เขียนไว้อย่างไม่ธรรมดา เพราะไม่ได้ระบุชัดว่ามอบให้ใคร

แต่เขียนว่า “ถึงจักรพรรดิ กษัตริย์ ผู้นําสาธารณรัฐ เจ้าชาย ดยุก เอิร์ล บารอน ชนชั้นสูง ผู้นําท้องถิ่น สมาชิกสภา ผู้อ่านหรือผู้ได้ยินคําประกาศใบอนุญาตเดินเรือสมุทรที่ทรงศักดิ์ ยิ่งใหญ่ ทรงปรีชาญาณ ทรงเกียรติ สูงส่ง เป็นที่เคารพบูชา โดดเด่นทรงคุณค่า และรอบคอบ” สะท้อนถึงนิสัยตลกขบขันของชาวอเมริกันอย่างเห็นได้ชัด เนื่องจากพวกเขาเองก็ไม่รู้ว่าจุดหมายปลายทางของการเดินเรือครั้งนี้คือที่ใดและจะเรียกผู้ที่มา ต้อนรับพวกเขาว่าอย่างไรดี

ชาวอเมริกันให้ความสําคัญกับการเดินทางครั้งนี้มาก กัปตันกรีนตั้งใจเลือกวันคล้ายวันเกิดของจอร์จ วอชิงตันเป็นวันออกเดินทาง พระเจ้าคุ้มครอง ดวงของกัปตัน กรีนก็ดีไม่น้อย การเดินทางครั้งประวัติศาสตร์ของเขาสั่นสะเทือนวงสังคมของอเมริกา หลังจากสินค้าจีนถูกขนกลับมาถึงอเมริกาแล้วนั้น ผู้คนนับหมื่นก็ต่างแย่งกันซื้อหา จอร์จ วอชิงตันก็สนใจใคร่รู้เรื่องของจีนมากจนกลายเป็นลูกค้าขาประจําคนหนึ่ง เขาซื้อเครื่องลายครามจากหลายชิ้น และเริ่มหลงใหลศิลปกรรมตะวันออกอันเก่าแก่อย่างยากจะถอนตัว

ขณะที่วอชิงตันกําลังตั้งใจพินิจพิจารณาเครื่องลายครามของจีนอย่างละเอียดอีกฟากฝั่งอันไกลโพ้น ชาวจีนก็ประสบกับความลําบากยากเข็ญที่จะเปิดใจรับและเข้าใจ เขากับประเทศสหรัฐอเมริกา

อเมริกามีแต่หัวหน้าเผ่าที่จับสลากกันทุก 4 ปี

เมื่อถึงปี 1795 ชาวอเมริกันเดินทางมาถึงกว่างโจวนับสิบปีแล้ว แต่ข้าราชการจีนยังคงเหมารวมว่าพวกเขาเป็นชาวอังกฤษอยู่ ใช่ว่าพวกเขาไม่มีโอกาสทําความรู้จักอเมริกา และใช่ว่าพวกเขาไม่เคยเจอเรื่องที่ต้องสํารวจตรวจสอบเกี่ยวกับคนอเมริกัน แต่ภายใต้กรอบความคิดของ “ราชวงศ์สวรรค์” พวกเขาขาดความกระตือรือร้นที่จะเข้าใจโลกภายนอก นอกจากจะได้รับอนุญาตให้ไปสืบหาความจริงเมื่อเจอเหตุการณ์ บางอย่างพอเป็นพิธีแล้ว

ขุนนางจีนก็ไม่เคยศึกษาเรื่อง “คนต่างชาติในแผ่นดิน” อย่างลึกซึ้ง อ้างแต่ว่า “ไม่มีข้อมูล” จึงไม่สามารถแยกแยะ“ชาวอเมริกัน” กับ“ชาวอังกฤษ” ออกจากกันได้เสียที

เมื่อถูกคนจีนเรียกผิดฝาผิดตัว พ่อค้าชาวอังกฤษที่ได้รับผลกระทบจากเรื่องนี้มาโดยตลอดจึงโกรธเป็นฟืนเป็นไฟ พวกเขาเข้าเจรจากับฉางหลิน ผู้ว่าการมณฑลกว่างซีและกว่างตงอย่างจริงจังว่า “(คนอเมริกัน) พูดภาษาเราได้ แต่งตัวก็เหมือนกับ เรา แต่สัญลักษณ์ธงไม่เหมือนกัน อย่าเอาพวกเรากับพวกเขามาปนกัน!” ผู้ว่าฯ หลิน รู้สึกผิดมาก รีบออกคําสั่งลูกน้องในบังคับบัญชา “บันทึกไว้เพื่ออ้างอิง หากพบเจอเหตุการณ์ ต้องตรวจสอบสัญลักษณ์ธงให้ดีก่อน อย่าให้สับสนปนเปกัน”

ภาพเหมือนของจอร์จ วอชิงตัน ผลงานของกิลเบิร์ต สจ๊วร์ต (ภาพจาก https://en.wikipedia.org)

กลุ่มคนรุ่นใหม่ในราชสํานักชิงที่มีความรู้กว้างขวางและรู้จักเปิดตามองโลกกว้าง ก็ยังรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์อเมริกา สภาพภูมิประเทศ ระบอบการปกครองไม่ชัดเจนนัก แม้แต่คนที่ถูกยกย่องว่าเป็น “ผู้รู้รอบแห่งยุค” อย่างหย่วนหยวน ยังกล่าว เอาไว้ในจดหมายเหตุกว่างโจว ว่าอเมริกาอยู่ในดินแดนทวีปแอฟริกา สําหรับระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยของอเมริกาที่ไม่เคยมีใครได้ยินมาก่อน ชาวจีนยิ่งไม่ใส่ใจใคร่รู้ เจี่ยงโยวเซียน ผู้ว่าการมณฑลกว่างซีและกว่างตงเขียนราย งานไปยังราชสํานักอย่างคลุมเครือว่า “คนเผ่านี้ไม่มีประมุข มีแต่หัวหน้าเผ่า คนในเผ่าหลายคนเลือกมา จับฉลากผลัดกันทําหน้าที่ 4 ปี เปลี่ยนครั้งหนึ่ง”

สิ่งที่ทําให้เขาประหลาดใจมากก็คือ สหรัฐอเมริกาเป็นประเทศที่ “ไม่มีประมุข” เพราะฉะนั้นผู้ว่าฯ เจียงจึงมองพวกเขาเป็นชนเผ่าดึกดําบรรพ์ที่ยังไม่พัฒนา แม้แต่ “หัวหน้าเผ่า” (ที่จริง ก็คือประธานาธิบดี) ก็ยังมาจากวิธีการจับฉลาก (การเลือกตั้ง) ประหลาดจริงๆ

เทพเจ้าจอร์จ วอชิงตัน

ท่ามกลางสถานการณ์เช่นนี้ ผนวกกับกระแสตะวันตกศึกษาในช่วงปลายราชวงศ์ชิง ภาพลักษณ์อันแสนประเสริฐของจอร์จ วอชิงตันค่อยๆ เผยแพร่มาถึงจีน สําหรับคนจีนที่ถูกปิดหูปิดตาเหมือนอยู่ในห้องเหล็ก แรงปะทะครั้งนี้จะมากขนาดไหนก็คงพอ นึกออก

ปี 1837 กุสลาฟ (Gützlaff) มิชชันนารีชาวปรัสเซียแนะนําจอร์จ วอชิงตันให้ ชาวจีนได้รู้จักเป็นครั้งแรก เขาใช้ภาพของเหยาและซุ่น[1] บุรพกษัตริย์ของจีนในยุคบรรพกาลมาพรรณนาจอร์จ วอชิงตันใน “ตงซีหยางเข่าเหม่ยเย่ว์ถังจีจ้วน” วารสารฉบับแรกของจีนยุคใกล้เขียนแนะนําจอร์จ วอชิงตันไว้ โดยเฉพาะยกย่องว่าเขาคือ “ผู้มีความสามารถในการปกครอง คุณธรรม จริยธรรม แผ่ไพศาล เป็นผู้ที่เสียสละและจงรักภักดี”

ชาวอเมริกันเคารพรักเพื่อนร่วมชาติคนนี้เป็นอย่างมาก ปี 1844 ขณะที่คาเล็บ คุชชิ่ง เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจําประเทศจีนกําลังเล่าประวัติศาสตร์อเมริกา ให้ข้าราชการชั้นสูงของจีนฟังอยู่นั้น เขากล่าวถึงจอร์จ วอชิงตันด้วยความภาคภูมิใจว่า “แม่ทัพผู้ยิ่งใหญ่ คนดี มีความสามารถในการวางแผนสูง” ประเทศของเขาเป็นอิสระ ได้เพราะสติปัญญาความสามารถของจอร์จ วอชิงตัน และเป็นปึกแผ่นมั่นคงได้ด้วย รัฐธรรมนูญที่วอชิงตันเป็นแกนนําในการร่าง

ตอนนี้ภาพลักษณ์ของ “วีรบุรุษผู้ยิ่งใหญ่” ได้ก่อเกิดขึ้นในแผ่นดินอเมริกาแล้วและยังค่อยๆ “กลายเป็นสัญลักษณ์ประจำชาติ” ขึ้นเรื่อยๆ จนกลายเป็นตํานานแห่งการปกครอง สมัยนั้นศาสนายังคงมีอิทธิพลในสังคมอเมริกามาก ผู้เลื่อมใสศรัทธาเรียกเขาว่า “เทพเจ้าจอร์จ วอชิงตัน” ชาวอเมริกันทุกคนเห็นว่าการแขวนรูปจอร์จ วอชิงตันไว้ในบ้านเป็นเรื่องมงคล

ในสายตาของคนจีน จอร์จ วอชิงตันผู้พิทักษ์ บ้านเมืองปกป้องประชาชน เมื่อภารกิจสําเร็จแล้วก็ถอยออกมา ไม่ฝักใฝ่ลาภยศสรรเสริญและอํานาจ แต่เป็นผู้ที่ “ใช้เครื่องมือที่เป็นธรรมตอบแทนมติมหาชน” “สร้าง ปรากฏการณ์ที่ไม่เคยมีมาก่อน” ราวกับเป็นเทวดาจากสรวงสวรรค์ที่ไม่เคยได้พบได้เห็นที่ไหน

พันปีมานี้แผ่นดินจีนระส่ำระสาย สงครามจลาจลมีไม่ขาดสาย การช่วงชิงอํานาจในราชสํานักเกิดขึ้นไม่รู้จบ ใครบ้างไม่ได้ทําเพื่อให้ได้ฉลองพระองค์ลายมังกรมาประดับกาย เป็นใหญ่เพียงหนึ่งเดียวในปฐพี จักรพรรดิผู้ยิ่งใหญ่ของราชวงศ์ถัง ราชวงศ์ซ่ง หรือแม้แต่เจงกิสข่าน ทุกพระองค์ล้วนมีอํานาจแบบจิ๋นซีฮ่องเต้ แต่ไม่มีคุณธรรมอย่างเหยาและซุ่น แม้ว่าจะรวบรวมแผ่นดินได้ แต่จักรพรรดิก็ยังเป็นจักรพรรดิ ยึดครองแผ่นดินก็เพื่อให้ลูกหลานได้ปกครอง สร้างประเทศก็เพื่อให้ลูกหลานได้อยู่อาศัย

เหยาซุ่นต่างแดน

ในประวัติศาสตร์จีนมีคนมากมายที่ฆ่าพ่อฆ่าลูกตัวเอง เพื่อให้ได้มาซึ่งอํานาจที่ยิ่งใหญ่ ทําการชักใยหุ่นเชิด พอได้ครองบัลลังก์แล้วก็ฆ่าพวกที่ช่วยเหลือตน เลือดไหลหลั่งดังสายน้ำ นี่เป็นลักษณะพิเศษของระบอบจักรพรรดิ จนถึงทุกวันนี้ละครย้อนยุคในจอแก้วก็ยังฉายอยู่ซ้ำๆ ว่าฮ่องเต้ทรงพระเจริญ เรียกความทรงจําของระบอบจักรพรรดิอันเน่าเฟะให้กลับคืนมา

ดังนั้น เมื่อมี “เหยาซุ่นต่างแดน” ปรากฏขึ้นอย่างกะทันหันในวิสัยทัศน์ของคนสมัยชิง พวกเขาจึงไม่อาจเชื่อหูตัวเอง คนที่น่าใจที่สุดเห็นจะเป็นหลินเจ๋อสวี เขานึกไม่ออกเลยว่าเหตุใดจอร์จ วอชิงตันจึงเป็นที่รักและเคารพยิ่งในประเทศของเขา ถึง ขนาดที่ “วอชิงตัน” ไม่เพียงแต่เป็นชื่อเมืองหลวงของประเทศ แม้กระทั้งชื่อลูกหลาน ร้านรวงหรือชื่อเรือก็นิยมตั้งว่า วอชิงตัน” เพื่อความเป็น “สิริมงคล” เขาอยากรู้จริงๆ ว่า “เกษตรกรคนแรกของอเมริกา” ผู้ทุ่มเทกว่าครึ่งชีวิตไปกับฟาร์มและที่ดินของเขา ไฉนจึงมีเสน่ห์อันเป็นเอกลักษณ์มากถึงเพียงนี้

เมื่อได้ศึกษาลงลึกเรื่องระบอบการปกครองของสหรัฐอเมริกาที่จอร์จ วอชิงตัน เป็นผู้ริเริ่ม หลินเจ๋อสวีก็ยอมศิโรราบด้วยความเต็มใจ ปี 1839 เขาเป็นตัวตั้งตัวตีในการแปลหนังสือ “บันทึกสี่ทวีป” อันจะทําให้คนได้รู้จักและเข้าใจโลกตะวันตก ในหนังสือเล่มดังกล่าว เขาอดไม่ได้ที่จะรู้สึกสลดใจ อเมริกาแซงหน้าระบอบการปกครองแบบ “ศักดินา เขตการปกครอง และขุนนาง” ของจีนไปแล้ว การเมืองของประเทศกํากับดูแลโดยมติมหาชน พูดแล้วต้องทํา รวดเร็วฉับไว สั่งห้ามคือห้าม มีเอกลักษณ์ กลายเป็นผู้นํากระแสโลกตัวจริง

เว่ยหยวน ผู้ที่ตั้งใจจะกู้ชาติด้วยการ “ใช้วิทยาการต่างชาติควบคุมต่างชาติ” เข้าใจระบบของอเมริกาอย่างทะลุปรุโปร่ง เขาใช้คํา 6 คํา ได้แก่ “ต่อสู้ สติปัญญา ยุติธรรม ทั่วถึง มั่งคั่ง มิตรภาพ” อธิบายระบบการเมือง เศรษฐกิจ และการต่างประเทศของสหรัฐอเมริกาด้วยความชื่นชมลงในหนังสือ “ภาพประเทศโพ้นทะเล” เพื่อบอกให้ชาวจีนรู้ว่า

อเมริกามีการเลือกตั้งอย่างเปิดเผย (เลือกคนมาทํางาน ล้วนใช้วิธีการนี้) แยกอํานาจตุลาการ (ให้ศาลเป็นผู้ตัดสินข้อพิพาท) และ ประมุขของรัฐ (“หัวหน้าใหญ่”) มาจาก “การเลือกตั้งโดยประชาชน” ไม่ใช่การสืบทอด “ผู้ครองโลก” จากรุ่นสู่รุ่น การเลือกตั้ง อํานาจตุลาการ และประชาธิปไตย เป็นคําศัพท์ใหม่จากดินแดนตะวันตก

เสมือนดวงอาทิตย์ที่กําลังขึ้นสู่ฟ้าส่องสว่างเจิดจ้าในโลกแห่งความคิดของเว่ยหยวน เว่ยหยวนคิดว่า เพราะมีระบอบสาธารณรัฐที่ “สามารถ ยืนหยัดอยู่ได้อย่างสง่างามไร้ที่ติ” จึงทําให้สหรัฐอเมริกาก้าวหน้าและดีงาม เขาชื่นชม จากใจจริงว่า “แม้ประมุขจะเปลี่ยนไป แต่ใจคนยังเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน” (จากบท ส่งท้ายในหนังสือ “ภาพประเทศโพ้นทะเล”)

ในสายตาของเหล่าขุนนางชั้นสูงของจีนสมัยนั้น ระบอบของอเมริกาฉีกขนบธรรมเนียมโบราณที่ “กษัตริย์อยู่บน ประชาชนอยู่ล่าง” ทั้งยังจํากัดระยะเวลาในการดํารงตําแหน่ง ทําให้ “ผู้ปกครอง” ไม่มีโอกาสที่จะ “กอบโกยผลประโยชน์อย่างโหดร้าย” ถือเป็นความก้าวหน้าอย่างใหญ่หลวง และพวกเขาล้วนยกความสําเร็จนี้ให้แก่ “เหยาซุ่นต่างแดน” อย่างจอร์จ วอชิงตัน “จงใช้คุณธรรมสูงสุดปกครองบ้านเมืองและทําทุกอย่างเพื่อส่วนรวม” จากประสบการณ์ในประวัติศาสตร์ของชาวจีน “การเลือกคนดีมีความสามารถมาสืบทอดอํานาจ” เป็นตํานานที่ผู้คนเล่าขานต่อๆ กันมา จักรพรรดิองค์ก่อนๆ ได้รับการเชิดชูให้สูงส่งเพราะสิ่งนี้

ในสายตาพวกเขา ระบอบประชาธิปไตยของอเมริกาช่างมาตรงกับ “สังคมแห่งความเสมอภาค” ที่พวกเขาวาดฝันไว้โดยบังเอิญ พวกเขาคิดว่าจอร์จ วอชิงตันไม่เพียงเป็น “จักรพรรดิ” ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน แต่ยังสามารถยก “ราชบัลลังก์” ให้คนเก่งคนอื่นๆ ที่ไม่ใช่ลูกหลานของตนได้ เป็นเรื่องน่าอัศจรรย์ใจอะไรเช่นนี้!

การสืบทอดอํานาจของกษัตริย์เหยาซุ่นนั้นเป็น เพียงเรื่องเล่าต่อๆ กันมา ส่วนใหญ่เป็นการเปลี่ยนผ่านอํานาจอย่างจอมปลอมแบบราชวงศ์ฮันกับเว่ยเสียมากกว่า แต่วอชิงตันเป็นตัวอย่างที่แท้จริงสําหรับคนรุ่นหลังใน เรื่องการไม่ยึดติดกับตําแหน่งและอํานาจ

เรื่องนี้ช่างต่างกับเหตุการณ์วุ่นวายในการเมืองจีนที่ “เหล่าขุนนางเสนอให้หยางเจียน (จักรพรรดิพระองค์แรกของราชวงศ์สุย) ขึ้นเป็นฮ่องเต้” ราวฟ้ากับเหว ในการกล่าวสุนทรพจน์อําลาตําแหน่ง ปี 1796 เขาบอก กับประชาชนอเมริกันว่า “ผมตัดสินใจแล้วที่จะปฏิเสธการเสนอชื่อเป็นผู้เข้าชิง” หวังจะฝากอนาคตของประเทศไว้กับการเลือกตั้ง ปีเดียวกันนั้นจักรพรรดิเฉียนหลงที่ครองราชย์มา 60 ปีเต็ม ก็สละราชบัลลังก์และส่งต่อให้จักรพรรดิเจียซิ่ง  ในประวัติศาสตร์ อารยธรรมทางการเมืองของมนุษยชาติ ระยะเวลา 60 ปีนี้ไม่ได้มีน้ำหนักมากไปกว่า 8 ปีของจอร์จ วอชิงตันเลย

สุนทรพจน์อําลาตําแหน่งของจอร์จ วอชิงตัน ปี 1796 (ภาพจาก https://www.loc.gov)

ประวัติศาสตร์เป็นเหมือนนักมายากลมือฉมังที่จัดสรรให้ จอร์จ วอชิงตันและจักรพรรดิเฉียนหลงลงจากตําแหน่งพร้อมกัน แต่แสดงให้ชาวโลกเห็นถึงมุมมองของการใช้อํานาจที่ต่างกันอย่างสิ้นเชิง ซึ่งชะตากรรมและทิศทางของทั้ง 2 ประเทศก็แยกกันคนละทางนับแต่นั้นมา

การยกย่องจากใจขุนนางชิง

จากเสียงชื่นชมคุณงามความดีของจอร์จ วอชิงตัน คนจีนที่เลื่อมใส “ตํานาน จอร์จ วอชิงตัน” อยู่แล้วยิ่งยกย่องสรรเสริญมากขึ้นไปอีก ในสมัยจักรพรรดิเสียนเพิ่ง เหลียงถิงหนาน บัณฑิตหรูเจียชื่อดังชาวกว่างตง เป็นคนแรกในจีนยุคใกล้ที่ศึกษา สาเหตุการก่อตั้งระบอบประชาธิปไตยของอเมริกาที่ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างจริงจัง จากแง่มุมของสภาพภูมิศาสตร์ การเมือง และประชากร

แรกเริ่มเขาก็เหมือน ชาวจีนคนอื่นๆ ที่คิดว่าระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นหลักการที่ถูกต้องเหมาะสม แต่เมื่อเขาได้รู้ว่าอเมริกาปกครองด้วยกฎหมายไม่ใช่ด้วยคน ปกครองโดยประชาชนไม่ใช่กษัตริย์ ประธานาธิบดีมีวาระแน่นอนไม่ใช่เป็นตลอดชีวิต ไม่เพียงทําให้ความคิด ของเขาสั่นคลอน แต่ยังทําให้เขาชื่นชมระบอบการปกครองของอเมริกาเป็นอย่างยิ่ง

ยิ่งไปกว่านั้นคือชื่นชมความดีของจอร์จ วอชิงตันผู้ก่อตั้งระบอบนี้ขึ้นมา เขาเป็นคนแรกที่กล่าวถึงคุณลักษณะของจอร์จ วอชิงตันด้วยคําว่า “กั๋วฟู” (ผู้สร้างชาติหรือบิดาของชาติ) “มีความเป็นธรรม ไม่ฝักใฝ่อํานาจลาภยศ ไม่ย่อท้อต่อความลําบาก” และ บอกว่าเมื่อลงจากตําแหน่งแล้วเขามักจะใช้เวลาว่าง “นําข้าราชการและผู้ดีทั้งหลายร่วมกันทําไร่ไถนา” ถ้อยบรรยายของเขาพรรณนาได้อย่างออกรสออกชาติและเปี่ยม ด้วยความรัก

ระหว่างที่ภาพลักษณ์ของจอร์จ วอชิงตันกําลังก่อตัวเป็น “เหยาซุ่นต่างแดน” ในสายตาชาวจีนอยู่นั้น

ในสมัยจักรพรรดิเสียนเฟิง สวีจี้อวี่ ผู้ตรวจการเมืองฝูเจี้ยน จัดว่าเป็น “คนแรก” ที่เทคะแนนให้จนหมดใจ ในหนังสือ “อิ๋งหวนจื้ออเล่ว์” (瀛寰志略 ) ผลงานวิชาการอันเลื่องชื่อของเขาเขียนบรรยายให้เห็นภาพชัดเจนว่า “หลังจาก ที่จอร์จ วอชิงตันก่อตั้งประเทศสําเร็จแล้วก็ส่งมอบอํานาจและกลับไปใช้ชีวิตอย่างสงบเงียบ ประชาชนไม่ยอมให้เขาลงจากตําแหน่ง ยืนกรานจะตั้งเขาเป็นพระมหากษัตริย์ให้ได้ จอร์จ วอชิงตันจึงบอกกับประชาชนว่า สร้างประเทศขึ้นมาแล้วมอบอํานาจให้ลูกหลานของตัวเองเรียกว่าเห็นแก่ตัว หน้าที่ของพวกคุณคือเลือกคนดีมีความสามารถ มาเป็นผู้นําชาติบ้านเมือง”

สวีจี้อวี่เห็นจอร์จ วอชิงตันเป็น “วีรบุรุษแห่งยุค” บอกว่าเขาเป็นดั่ง “กษัตริย์เหยาและซุ่น” ของจีน ถึงขนาดบรรยายภาพว่าเขาเป็นเหมือน “เหยา ซุ่น ทัง อู่ รวมกันอยู่ในคนเดียว” [2] เขากล่าวชื่นชมจอร์จ วอชิงตันอย่างไม่ขาดปากว่า

วอชิงตันเป็นคนต่างถิ่น กล้ากว่าเฉินเซิ่งและอู๋กว่าง ยิ่งใหญ่กว่าโจโฉและเล่าปี่ ถือดาบยาวบุกเบิกไปทั่วแคว้น แต่ไม่หวงตําแหน่ง ไม่ส่งต่อให้ลูกหลาน สร้างวิธีการเลือกตั้งเพื่อประโยชน์ส่วนรวม ดํารงความยุติธรรม…ถือเป็นยอดคนแห่ง ตะวันตก แล้วจะไม่ตั้งเขาเป็นประมุขได้อย่างไร!

นักวิชาการผู้เป็นขุนนางชั้นสูงแห่งโลกตะวันออกผู้นี้คิดว่าจอร์จ วอชิงตันกล้าหาญยิ่งกว่าเฉินเซิ่งและอู๋กว่าง ยิ่งใหญ่กว่าโจโฉและเล่าปี่ อีกทั้งพอภารกิจสําเร็จแล้ว ก็ไม่ยึดติด ไม่หวงอํานาจ คิดวิธีการเลือกตั้งขึ้นมา เป็นนักปรัชญาเมธีผู้ “ทําเพื่อส่วนรวม” ที่คนโบราณว่าไว้ ในสายตาของเขา คนอย่างจอร์จ วอชิงตันคือผู้นํามหาชนไปทวงคืน “แผ่นดิน” แต่เขากลับทิ้งโอกาสขึ้นเป็นประมุข ผู้ที่ “ซ่อนคมมีด เตะมงกุฎกษัตริย์ทิ้ง”[3] หาได้ยากนัก ช่างน่านับถือจริงๆ

การเปรียบเทียบของสวีจี้อวี่อาจมีส่วนเกินจริงอยู่บ้าง แต่ก็พอจะเห็นถึงอิทธิพลของระบอบประชาธิปไตยของอเมริกาที่ส่งผลอย่างมากต่อขุนนางชั้นสูงในราชสํานักชิง จอร์จ วอชิงต้นไม่เพียงพิชิตโลกตะวันตกได้เท่านั้น แต่ยังพิชิตอารยธรรมตะวันออกได้อีกด้วย

สิ่งนี้ทําให้ชาวอเมริกันประหลาดใจและยินดีเป็นอย่างยิ่ง พวกเขานึกไม่ถึงเลย ว่า ณ ดินแดนอันไกลโพ้นที่ปิดกั้นตัวเองอย่าง “จักรวรรดิจีนผู้ยิ่งใหญ่” ยังมีเพื่อนผู้รู้ใจที่เป็นชาวผิวเหลืองนัยน์ตาดําอยู่ผู้หนึ่ง!

อนุสรณ์สถานวอชิงตัน ที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. (ภาพจาก https://th.wikipedia.org)

ปี 1811 เนื่องในโอกาสวันรําลึกการสถาปนาประเทศ รัฐบาลอเมริกาเริ่มสร้างอนุสาวรีย์เพื่อรําลึกถึงจอร์จ วอชิงตัน ในการ สร้างอนุสาวรีย์นี้ รัฐบาลอเมริกาขอรวบรวมของที่ระลึกจากทั่วโลก จากความร่วมมือของหลายฝ่าย ข้อความสรรเสริญอเมริกาของสวีจี้อวี่ท่อนนี้จึงได้สลักลงบนแผ่นหินคุณภาพดี และ “ข้ามน้ําข้ามทะเล” ไปถึงอเมริกา เพื่อบรรจุไว้ในฐานของอนุสาวรีย์ จอร์จ วอชิงตันในปี 1853

ปี 1862 ปีเตอร์ พาคเกอร์ มิชชันนารีชาวอเมริกันได้แปลข้อความบนแผ่นหิน นั้นแล้วนําไปตีพิมพ์ ทําให้ข้อความของสวีจี้อวี่แพร่หลายไปทั่วอเมริกา โดยเฉพาะท่อนที่เขาสรรเสริญจอร์จ วอชิงตัน สร้างความประทับใจให้แก่รัฐบาลและ ประชาชนอเมริกันเป็นอย่างมาก เกิดเสียงสะท้อนเป็นวงกว้าง

เพื่อตอบแทนขุนนางจีนผู้นี้ วันที่ 21 ตุลาคม 1867 แอนสัน เบอร์ลินเกม เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา ประจําประเทศจีนที่ใกล้จะหมดวาระ เป็นตัวแทนรัฐบาลสหรัฐอเมริกามอบภาพวาด ของจอร์จ วอชิงตันให้แก่สวีจี้อวี่ ภาพนี้เป็นภาพที่ประธานาธิบดีแอนดรูว์ จอห์นสัน ตั้งใจเชิญคนมาวาดเลียนแบบภาพเหมือนของจอร์จ วอชิงตัน ผลงานของกิลเบิร์ต สจ๊วร์ต (Gilbert Stuart) จิตรกรชื่อดังชาวอเมริกัน พิธีส่งมอบจัดขึ้นที่ปักกิ่งอย่างยิ่งใหญ่อลังการ เอกอัครราชทูตอเมริกาขึ้นกล่าวอย่างตื้นตันในพิธีว่า

จอร์จ วอชิงตันก็เหมือนประชาชนชาวจีนที่เชื่อมั่นว่าทุกคนสามารถสูดอากาศแห่งเสรีภาพได้ และก็เหมือนประชาชนชาวจีนที่ยึดมั่นในหลักการของขงจื่อ ที่เคยกล่าวไว้เมื่อ 2,300 ปีก่อนว่า สิ่งใดที่ตนไม่ปรารถนาก็จงอย่ากระทําสิ่งนั้นต่อผู้อื่น

ขณะเดียวกันเขาก็แสดงความเคารพต่อสวีจี้อวี่จากใจจริงว่า “ผู้ที่สมควรได้รับ การเคารพจากพวกเราทั้งประเทศ มีเพียงคุณคนเดียวเท่านั้น!” สหรัฐอเมริกาบันทึก ชื่อของสวีจื้อเอาไว้ใน “รายนามผู้มีชื่อเสียงของโลก”

แต่สําหรับราชสํานักชิงในตอนนั้น คําพูดของสวีจี้อวี่เหมือนสายฟ้าที่ฟาดลงมากลางวันแสกๆ

กลุ่มอนุรักษนิยมโจมตีว่าเขา “ยกย่องประจบประแจงพวกต่างชาติ” แม้แต่เจิงกั๋วฟานผู้มีความคิดเปิดกว้างและเคยชมว่าสวีจี้อสี่เป็น “คนเก่งที่หาได้ยาก ในแผ่นดิน” ยังคิดว่า “หนังสือที่สวีซงคัน (ชื่อรองของสวีจี้อวี่) เขียนนั้นชื่นชมพวกอังกฤษเกินจริง” และมีมือดีใช้วิธีตัดตอนข้อความเพื่อกล่าวหาว่าหนังสือเล่มนี้ “ไม่รู้หนักเบา ทําลายความน่าเชื่อถือของประเทศ” สนับสนุนให้ทําลายหนังสือและลงโทษประหารเขา

ในปี 1851 สวีจี้อวี่ถูกปลดออกจากตําแหน่งผู้ตรวจการมณฑลฝูเจี้ยน กลับมาเป็นขุนนางชั้นผู้น้อยที่ปักกิ่งโดยเป็นผู้ช่วยหน่วยดูแลม้า ปีต่อมาก็ถูกปลดออก และกลับบ้านเกิด สวีจี้อวี่ไม่เพียงมีชีวิตที่ลุ่มๆ ดอนๆ แม้กระทั่งตอนเสียชีวิตไปแล้ว ประวัติศาสตร์ของเขาก็พลิกกลับไปกลับมาระหว่าง “ไส้ศึกของอเมริกา” กับวีรบุรุษ แม้แต่หลุมฝังศพของเขายังเคยโดนกองทัพยุวชนแดงในยุคปฏิวัติวัฒนธรรมทําลายมาก่อน

รัชศกกวงซวีปีที่ 2 (ปี 1876) คณะทูตของกัวซงเทาออกเดินทางไปยุโรป ได้เห็นสภาพของโลกตะวันตกด้วยตาตัวเอง จึงยืนยันได้ว่าเรื่องต่างๆ ของโลกภายนอก ที่บรรยายอยู่ในหนังสือ “อ๋งหวนจื้อเล่ว์” ล้วนเป็นความจริง เขารําพึงในจดหมายที่ส่ง มายังประเทศจีนว่า “ท่านสวีไม่เคยมาเยือนตะวันตก แต่สิ่งที่เขาเขียนล้วนเป็นจริง ทั้งยังรู้ก่อนหน้าพวกเราตั้ง 20 กว่าปี จะไม่พูดว่าเขาเป็นคนที่มีวิสัยทัศน์กว้างขวาง มองการณ์ไกลได้อย่างไรกัน”

เชิงอรรถ

[1] เหยาและซุนคือกษัตริย์ในตํานานของจีน เป็นแบบอย่างอันดีงามของจักรพรรดิจีนทุกยุคสมัย

[2] เหยากับซุ่นเป็นสองผู้นําชนเผ่าในยุคห้าจักรพรรดิ ทั้งเป็นปฐมกษัตริย์ราชวงศ์ซาง อู่เป็นปฐมกษัตริย์ราชวงศ์โจว

[3] หมายถึงผู้ที่เก็บงําความสามารถ ไม่หวังชื่อเสียงและตําแหน่งใหญ่โต

 


ข้อมูลจาก

หวังหลง(เขียน), เขมณัฏฐ์ ทรัพย์เกษมชัย และสุดารัตน์ วงศ์กระจ่าง (แปล). ราชสำนักจีนหันซ้าย โลกหันขวา, สำนักพิมพ์มติชน, 2559


เผยแพร่ออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 1 มีนาคม 2562