“เจ้าชายยอช วอชิงตัน” พระราชโอรสในพระปิ่นเกล้าฯ เป็นอะไรกับประธานาธิบดี จอร์จ วอชิงตัน?

เจ้าชายยอช วอชิงตัน พระองค์เจ้ายอดยิ่งยศ บวรราโชรสรัตนราชกุมาร พระราชโอรสองค์โต ใน พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว จอร์จ วอชิงตัน
(ซ้าย) เจ้าชายยอช วอชิงตัน หรือพระองค์เจ้ายอดยิ่งยศ บวรราโชรสรัตนราชกุมาร พระราชโอรสองค์โตในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว

“เจ้าชายยอช วอชิงตัน” หรือ พระองค์เจ้ายอดยิ่งยศ พระราชโอรสใน พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นอะไรกับประธานาธิบดี จอร์จ วอชิงตัน ?

พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีความสนพระทัยในกิจการบ้านเมืองของประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นอย่างยิ่ง คงเนื่องมาจากที่ครั้งพระองค์ยังดำรงพระยศเป็นสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ทรงสนพระทัยในวิทยาการสมัยใหม่ของชาวตะวันตก

ทรงเริ่มศึกษาภาษาอังกฤษกับบรรดามิชชันนารีอเมริกัน ซึ่งต่อมาทรงมีความรู้ภาษาอังกฤษถึงขั้นโต้ตอบจดหมายหรือมีพระราชสาส์นเป็นลายพระหัตถ์ภาษาอังกฤษได้เป็นอย่างดี ส่วนความรู้ต่าง ๆ เกี่ยวกับประเทศสหรัฐอเมริกาได้รับการถวายข้อมูลจากเหล่าครูมิชชันนารี

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว นอกจากทรงศึกษาภาษาอังกฤษแล้ว ยังสนพระทัยศึกษาวิชาการความรู้ต่าง ๆ อีกมาก อาทิ การทดลองทางวิทยาศาสตร์ การสร้างปืนใหญ่ การต่อเรือรบเรือกลไฟ การฝึกทหารแบบตะวันตก

การศึกษาหาความรู้สมัยใหม่ของพระองค์ทำให้บรรดาฝรั่งที่ได้มาพบเห็นเกิดความเลื่อมใสศรัทธา ไม่กล้าดูหมิ่นอย่างที่ฝรั่งเศสเคยดูหมิ่นชาวตะวันออกอื่น ๆ ทั้งนี้ก็เพราะพระองค์ได้กระทำให้ฝรั่งเห็นว่าพระองค์เป็น “ผู้เจริญแล้ว” และ “ทันสมัย”

เจ้าชายยอช วอชิงตัน พระราชโอรสในพระปิ่นเกล้าฯ

การที่ พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงคบค้าสนิทสนมกับฝรั่งที่เข้ามาสยามแทบทุกคน โดยเฉพาะบรรดามิชชันนารีชาวอเมริกัน และมีพระราชนิยมประเทศสหรัฐอเมริกาดังกล่าวจึงเป็นเหตุให้พระองค์ทรงพระราชทานนามพระโอรสองค์โตของพระองค์ในเจ้าจอมมารดาเอม เมื่อยังเป็นหม่อมเจ้าในรัชกาลที่ 3 ว่า “ยอช วอชิงตัน” เป็น เจ้าชายยอช วอชิงตัน ตามนามประธานาธิบดีคนแรกของสหรัฐอเมริกา

คนทั้งหลายเรียกพระนามว่า ยอด ครั้นพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ ได้พระราชทานนามใหม่ว่า พระองค์เจ้ายอดยิ่งยศ บวรราโชรารัตนราชกุมาร 

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานอุปราชาภิเษก พระองค์เจ้ายอดยิ่งยศ เป็น กรมพระราชวังบวรสถานมงคล… 

ภาพสีน้ำมันรูป ยอร์ช วอชิงตัน เครื่องบรรณาการสำหรับพระเจ้าแผ่นดินสยาม

พ.ศ. 2399 (ค.ศ. 1856) ประธานาธิบดีแฟรงกลิน เพียร์ซ (Franklin Pierce) ประธานาธิบดีคนที่ 14 แห่งสหรัฐอเมริกา ได้แต่งตั้งให้ เทาเซนด์ แฮรีส (Townsend Harris) เป็นทูตมาสยามประเทศ [2] ในช่วงต้นรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

ภาพสีน้ำมันประธานาธิบดี ยอร์ช วอชิงตัน แขวนภายในพระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

ครั้งนั้น เทาเซนด์ แฮรีส ได้บันทึกเรื่องราวเกี่ยวกับการเดินทางมาเจรจาเรื่องสนธิสัญญาการค้า สิ่งที่เขาได้พบเห็นในสยามโดยละเอียดตั้งแต่เรือจอดทอดสมอที่สันดอนปากแม่น้ำเจ้าพระยา วันที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2399 และรายการบัญชีเครื่องบรรณาการสำหรับถวายพระเจ้าแผ่นดินสยามทั้งสองพระองค์ (พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว)

โดยบันทึกของ เทาเซนด์ แฮรีส ทางกรมศิลปากรได้มีการแปลพิมพ์เผยแพร่เป็นภาษาไทยเมื่อ พ.ศ. 2515 ในชื่อ บันทึกรายวันของเทาเซนด์ แฮรีส คณะทูตภายใต้การนำของ เทาเซนด์ แฮรีส เข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2399 และในวันรุ่งขึ้น 2 พฤษภาคม ได้เข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เทาเซนด์ แฮรีส บันทึกไว้ว่า

“จัดขบวนอย่างเมื่อวานนี้ ไปพระราชวังของพระเจ้าแผ่นดินองค์ที่สอง มีการยิงสลุต 21 นัด บรรดาทหารของพระองค์อยู่ในระเบียบวินัยดียิ่งกว่าพวกทหารของพระเจ้าแผ่นดินองค์ที่หนึ่งเสียอีก บางคนแต่งกายในแบบยุโรป มีทหารองครักษ์เดินนำหน้าเรา และเป็นทหารที่ฝึกมาแล้วอย่างดีที่สุดเท่าที่ข้าพเจ้าเคยเห็น ปืนใหญ่สนามที่ใช้ในการยิงสลุตก็ได้รับการดูแลรักษาอย่างงดงาม ท้องพระโรงโอ่อ่าหรูหราน้อยกว่าท้องพระโรงของพระเจ้าแผ่นดินองค์ที่หนึ่ง ข้าพเจ้ายินดีที่ได้เห็นขุนนางชั้นสูงที่สุดหลายคน ที่ข้าพเจ้าได้เห็นที่ท้องพระโรงของพระเจ้าแผ่นดินองค์ที่หนึ่ง เช่น เจ้าชายวงศาธิราชสนิทและสมเด็จองค์น้อย มาอยู่ที่ท้องพระโรงของพระเจ้าแผ่นดินองค์ที่สองพระอนุชาด้วย ข้าพเจ้าอ่านคำกราบบังคมทูลของข้าพเจ้าดังนี้

ขอเดชะใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท ข้าพระพุทธเจ้าขอพระราชทานนำความเคารพด้วยความจริงใจและด้วยมิตรไมตรีอย่างสุดซึ้ง จากท่านประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกามากราบบังคมทูลแด่ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท และขอกราบบังคมทูลว่าท่านประธานาธิบดีได้ทราบถึงพระมหากรุณาธิคุณ ในใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท ที่ได้ทรงต้อนรับชาวอเมริกันทั้งหลายผู้ได้มาเยือนประเทศสยามตลอดหลายปีที่ผ่านมาแล้ว

สหรัฐอเมริกามิได้ยึดครองดินแดนใดในตะวันออก ทั้งมิได้ปรารถนาที่จะยึดครองดินแดนแห่งใดแห่งหนึ่ง ระบบการปกครองของสหรัฐอเมริกาห้ามการยึดอาณานิคม ฉะนั้นสหรัฐอเมริกาจึงไม่มีข้ออิจฉาริษยาอำนาจของประเทศตะวันออกประเทศใด ความสัมพันธ์ทางการค้าขายอย่างสงบสุขซึ่งจะทำให้ได้รับผลประโยชน์เสมอเช่นเดียวกัน เป็นสิ่งที่ท่านประธานาธิบดีปรารถนาที่จะสถาปนาให้มีกับประเทศสยาม และนั่นเป็นจุดมุ่งหมายของคณะทูตของข้าพเจ้า

รัฐใหม่รัฐหนึ่งของสหรัฐอเมริกาได้เกิดขึ้นทีหลัง จากรัฐนี้การเดินทางมายังประเทศสยามสามารถทำได้ในเวลา 1 เดือน นี่ทำให้สหรัฐอเมริกาเป็นเพื่อนบ้านใกล้ที่สุด ซึ่งประเทศสยามมีอยู่ในบรรดาเชื้อสายคอเคเซี่ยน และเป็นเหตุผลอันแข็งแกร่งในการสมัครสมานสองชาติเข้าด้วยกัน

พระเกียรติยศชื่อเสียงในด้านความรอบรู้ของใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทในภาษาหลายภาษา และในสาขาวิชาวิทยาศาสตร์ชั้นสูงหลายวิชา (ทรงรอบรู้ผิดไปจากคนในหมู่ชาติตะวันออกมาก) ได้แพร่สะพัดมาถึงสหรัฐอเมริกา และเป็นเหตุให้เกิดความชื่นชมเลื่อมใสเป็นอันมาก ถ้าข้าพเจ้าสามารถสำเร็จสมความปรารถนาอันจริงจังของข้าพเจ้า เพื่อดึงความผูกพันทางไมตรีซึ่งประเทศสยามและสหรัฐอเมริกามีอยู่ให้สนิทแน่นแฟ้นมากขึ้นกว่าเดิม ข้าพระพุทธเจ้าจะถือว่าเป็นเหตุการณ์ที่มีความสุขที่สุดในชีวิตของข้าพระพุทธเจ้า พระเจ้าแผ่นดินองค์ที่สองทรงไต่ถามถึงสุขภาพของเรา

พระองค์ตรัสว่า ทรงรู้ชื่อประธานาธิบดีทุกคน ยกเว้นแต่ประธานาธิบดีคนที่แล้ว และทรงมีพระราชประสงค์ที่จะทราบชื่อของรองประธานาธิบดีซึ่งเป็นอยู่ในเวลานี้ การเข้าเฝ้าได้ผ่านพ้นไป เราได้รับประทานอาหารแล้วก็กลับ [3]

“พระองค์ตรัสว่า ทรงรู้ชื่อประธานาธิบดีทุกคน ยกเว้นแต่ประธานาธิบดีคนที่แล้ว และทรงมีพระราชประสงค์ที่จะทราบชื่อของรองประธานาธิบดีซึ่งเป็นอยู่ในเวลานี้” ประโยคนี้แสดงให้เห็นว่าพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวมีความสนพระทัยในกิจการบ้านเมืองของประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นอย่างยิ่ง คงเนื่องมาจากที่พระองค์ครั้งยังดำรงพระยศเป็นสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ทรงสนพระทัยในวิทยาการสมัยใหม่ของชาวตะวันตก ทรงเริ่มศึกษาภาษาอังกฤษกับบรรดามิชชันนารีอเมริกัน ครูภาษาอังกฤษของพระองค์อาจมีหลายคนก็เป็นได้ เช่น หมอแคสเวล หมอบรัดเลย์ และหมอเฮ้าส์ เป็นต้น ซึ่งต่อมาทรงมีความรู้ภาษาอังกฤษถึงขึ้นโต้ตอบจดหมายหรือมีพระราชสาสน์เป็นลายพระหัตถ์ภาษาอังกฤษได้เป็นอย่างดี [4]

ส่วนความรู้ต่างๆ เกี่ยวกับประเทศสหรัฐอเมริกาคงได้รับการถวายข้อมูลจากเหล่าครูมิชชันนารีอเมริกัน พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว นอกจากทรงศึกษาภาษาอังกฤษแล้ว ยังทรงสนพระทัยศึกษาวิชาการความรู้ต่างๆ อีกมาก อาทิ การทดลองทางวิทยาศาสตร์ การสร้างปืนใหญ่ การต่อเรือรบเรือกลไฟ การฝึกทหารแบบตะวันตก การศึกษาหาความรู้สมัยใหม่ของพระองค์ทำให้บรรดาฝรั่งที่ได้มาพบเห็นเกิดความเลื่อมใสศรัทธา ไม่กล้าดูหมิ่นเหมือนอย่างที่ฝรั่งเคยดูหมิ่นชาวตะวันออกอื่นๆ ทั้งนี้ก็เพราะพระองค์ได้ทรงกระทำให้ฝรั่งเห็นว่าพระองค์เป็น ผู้เจริญแล้ว และ ทันสมัย ดังหมอบรัดเลย์ได้บันทึกถึงความทันสมัย และความเป็นกันเองของพระองค์ว่า

วันที่ 13 มิถุนายน [พ.ศ. 2379] เย็นวันนี้ ขณะที่หมอบรัดเลนั่งอยู่ในห้องอ่านหนังสือ มีเสียงร้องทักเปนภาษาอังกฤษว่า Hallo Doctor! How do you do? เปนอย่างไรหมอ สบายดีหรือ หมอบรัดเลได้ยินเช่นนั้น จึงหันไปดูทางนอกชานว่าจะเป็นชาวอังกฤษที่ไหนมา เมื่อได้เห็นคนรูปร่างสันทัด ผิวเนื้อดำแดง แต่งตัวเปนทหารเรือ มีกระบี่กาไหล่ทองแขวนอยู่ข้างๆ จึงเดิรตรงเข้าไปหา ขณะที่หมอบรัดเลเดิรตรงเข้าไปหานี้เอง นายทหารเรือผู้นั้นอดขันไม่ได้ หัวเราะออกมาดังๆ อาการเช่นนั้นทำให้หมอบรัดเลจำได้ว่าไม่ใช่ใครที่ไหนมา คือเจ้าฟ้าน้อยนั่นเอง พระองค์ทรงเครื่องทหารเรือที่ได้รับพระราชทานเมื่อเร็วๆ นี้ แลการที่ทรงเครื่องมาเช่นนี้ ก็โดยพระประสงค์จะทรงสัพยอกหมอบรัดเลกับภรรยาเล่นเพื่อเปนการสนุกซึ่งพระองค์ทรงโปรดนัก [5]

กลับมาที่เครื่องบรรณาการที่ทางคณะทูตถวายพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น ประกอบด้วยสิ่งของต่างๆ จำนวนหลายรายการ ซึ่งพระองค์น่าจะโปรด เช่น เครื่องไฟฟ้า 1 เครื่อง รุ่นล่าที่สุดและได้รับความนิยมมากที่สุด มีพลังเป็นพิเศษ มีแผ่นกระจกหนา 30 นิ้ว ปั่นด้วยลูกยาง 4 ลูก มีสกรูปรับเลื่อนได้ สื่อไฟฟ้าทองเหลืองรองรับบนก้านแก้ว 4 ก้าน ซึ่งตั้งอยู่ในช่องทองเหลือง

หุ่นจำลองโรงเลื่อยจักรใช้ไฟฟ้า เป็นหุ่นที่น่าสนใจมาก เดินเครื่องด้วยกระแสไฟฟ้า เครื่องไฟฟ้า ซึ่งแสดงให้เห็นตำแหน่งสัมพันธ์กันในระบบสุริยะ หรือโลก พระจันทร์ และพระอาทิตย์ หมุนไปได้ด้วยกระแสไฟฟ้า มันตั้งอยู่บนขาตั้งที่มีขดลวดอยู่ในหลอดซึ่งเมื่อกระแสไฟฟ้าผ่านจะเปล่งแสงสวยงามมาก

นอกจากเครื่องมืออุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์ที่มีอีกกว่า 20 รายการ ยังมีปืน, หนังสือ, ภาพเขียนทิวทัศน์ และที่สำคัญคือ ภาพวาดนายพลวอชิงตัน ขนาดเท่าตัวจริง 1 ภาพ และภาพประธานาธิบดีเพียร์ซ ขนาดเท่าตัวจริง 1 ภาพ อนึ่งภาพวาดทั้งสองรายการนี้มีปรากฏอยู่ในรายการบัญชีเครื่องบรรณาการสำหรับถวายพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวด้วย [6]

แต่จากหนังสือ จิตรกรรมและประติมากรรมแบบตะวันตกในราชสำนัก โดย ดร. อภินันท์ โปษยานนท์ ที่ศึกษารวบรวมงานศิลปกรรมแบบตะวันตกในราชสำนักไม่ปรากฏภาพทั้งสองรายการ ส่วนเครื่องบรรณาการเกือบทั้งหมดที่ทางคณะทูตถวายพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวไม่ทราบว่าเก็บรักษาไว้ ณ ที่ใด หรือสูญหาย

แต่ยังน่าดีใจว่า ภาพวาดนายพลวอชิงตัน ขนาดเท่าตัวจริง ยังแขวนเก็บรักษาไว้ภายในห้องรับแขก พระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์ พระบวรราชวังที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว หรือพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ในปัจจุบัน

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เชิงอรรถ :

[2] การเซ็นชื่อในจดหมายถึงราชสำนักสยาม เทาเซนด์ แฮรีส ได้ระบุว่าตัวเขาเป็น ทูตผู้มีอำนาจเต็มของสหรัฐอเมริกา มายังประเทศสยามและเป็นกงสุลใหญ่อเมริกันประจำจักรวรรดิญี่ปุ่น ส่วนพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 4 ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์เรียกชื่อว่า กัปตันเซนด์ ฮารีส

[3] เทาเซนด์ แฮรีส. บันทึกรายวันของเทาเซนด์ แฮรีส. แปลโดย นันทา วรเนติวงศ์. (กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2515), น. 78-80.

[4] จากบันทึกรายวันของเทาเซนด์ แฮรีส ได้ชื่นชมในพระปรีชาสามารถของพระองค์จากพระราชสาส์นที่ทรงส่งมายังเขาพร้อมกับของขวัญผลไม้งามๆ ก่อนที่จะได้เข้าเฝ้าว่า ไวยากรณ์ในพระราชสาส์นก็ถูกต้องสมบูรณ์ และการเขียนลายมือบรรจงก็งดงามมาก ทำให้ฝีมือเขียนบรรจงของเราได้อายทีเดียว และยิ่งกว่านั้น ทั้งข้อความและการเขียน พระเจ้าแผ่นดินองค์ที่สองเป็นผู้ทรงเองทั้งหมด เรื่องเดียวกัน, น. 45.

[5] ประชุมพงศาวดารภาคที่ 31 จดหมายเหตุเรื่องมิซชันนารีอเมริกันเข้ามาประเทศสยาม. หมอ ดี บี บรัดเล แต่ง, ป่วน อินทุวงศ แปลเปนภาษาไทย. (พิมพ์ในงารศพพระยาสารสินสวามิภักดิ (เทียนฮี้ สารสิน), 2468), น. 60.

[6] รายการบัญชีเครื่องบรรณาการสำหรับพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวดูเพิ่มเติมในบันทึกรายวันของเทาเซนด์ แฮรีส. น. 123-128. และรายการบัญชีเครื่องบรรณาการสำหรับพระบาทสมเด็จจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว น. 119-122.


หมายเหตุ : เนื้อหานี้เรียบเรียงจากบทความ “ภาพสีน้ำมันรูป ‘ยอร์ช วอชิงตัน’ ของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ของดีที่กรมศิลป์ควรอวด” เขียนโดย ทัศน์ ทองทราย ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับกรกฎาคม 2551


แก้ไขเนื้อหาในระบบออนไลน์ เมื่อ 22 กุมภาพันธ์ 2562 ปรับปรุงเพิ่มเติมเนื้อหาเมื่อ 5 พฤศจิกายน 2563