เผยแพร่ |
---|
พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว (4 กันยายน 2351-7 มกราคม 2408) เป็นสมเด็จพระอนุชาธิราชในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงได้รับพระบวรราชาภิเษกเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ที่ 2 พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว
ทรงพระปรีชาสามารถและทรงรอบรู้วิทยาการด้านต่างๆ เช่น ทางการทหาร, วิชาช่างจักรกล, วิชาปืนใหญ่ และภาษาอังกฤษ ทั้งมีสายพระเนตรที่กว้างไกลในด้านการต่างประเทศ ทรงรอบรู้ข่าวสารในด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ นับเป็นเจ้านายปัญญาชนหัวก้าวหน้าแห่งยุค ดังจะเป็นได้จากการพระราชทานพระนามของพระโอรสองค์โตของพระองค์ ในเจ้าจอมมารดาเอมว่า “ยอร์ช วอชิงตัน” (หรือพระองค์เจ้ายอดยิ่งยศ) ตามชื่อประธานาธิบดีจอร์จ วอชิงตัน ของสหรัฐอเมริกา
ซึ่งอาจดูแปลกไปบ้างในสังคมไทยในสายตาคนไทย แล้วในมุมของต่างชาติล่ะเป็นอย่างไร ในเอกสารต่างชาติบันทึกเกี่ยวกับพระองค์ไว้เช่นไร
“วันที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2379
เย็นวันนี้ ขณะที่หมอบรัดเลนั่งอยู่ในห้องอ่านหนังสือ มีเสียงร้องทักเป็นภาษาอังกฤษว่า Hallo Doctor! How do you do? เป็นอย่างไรหมอ สบายดีหรือ หมอบรัดเลได้ยินเช่นนั้น จึงหันไปดูทางนอกชานว่าจะเป็นชาวอังกฤษที่ไหนมา เมื่อได้เห็น คนรูปร่างสันทัด ผิวเนื้อดำแดง แต่งตัวเป็นทหารเรือ มีกระบี่กะไหล่ทองแขวนอยู่ข้างๆ จึงเดินตรงเข้าไปหา ขณะที่หมอบรัดเลเดินตรงเข้าไปหานี้เอง นายทหารเรือผู้นั้นอดขันมิได้ หัวเราะออกมาดังๆ อาการเช่นนี้ทำให้หมอบรดเลจำได้ว่าไม่ใช่ใครที่ไหน คือเจ้าฟ้าน้อยนั่นเอง พระองค์ทรงเครื่องทหารเรือที่ได้รับพระราชทานเมื่อเร็วๆ นี้ และการที่ทรงเครื่องมา เช่นนี้ ก็โดยพระประสงค์จะทรงสัพยอกหมอบรัดเลกับภรรยาเล่น เพื่อเป็นการสนุกซึ่งพระองค์ทรงโปรดนัก”
หมอบรัดเล (Dan Beach Bradley M.D.)
จาก จดหมายเหตุเรื่องมิชชันนารีอเมริกันเข้ามาในประเทศไทย
“ก็จากมิสเตอร์ฮันเตอร์นี้เอง ที่เจ้าฟ้า [น้อย] ทรงได้รับรู้ภาษาอังกฤษในชั้นผิวเผินเป็นครั้งแรก และโดยการที่มิสเตอร์ฮันเตอร์ช่วยจัดหาหนังสือเรียนระดับต้นมาให้ก็เป็นเสมอด้วยการวางรากฐานการศึกษาของพระองค์; ด้วยความรักในการศึกษาอย่างแรงกล้า ทรงอ่านเนื้อหาในตำราเหล่านั้นอย่างดื่มด่ำหิวกระหาย, และด้วยไม่ทรงพอพระทัยที่จะจำกัดพระองค์ไว้กับวิชาคำสอนง่ายๆ พื้นๆ ก็ทรงขวนขวายหาตำราด้านคณิตศาสตร์และการสร้างป้อมค่าย, ทรงหมุ่นอยู่กับวิชาปืนใหญ่, ศิลปะการหล่อทั้งปืนเล็กและปืนใหญ่; และผลที่ตามมา หลังจากที่ทรงดิ้นรนต่อสู้กับอุปสรรคนานัปการที่แวดล้อมพระองค์อยู่…สุดท้ายก็ทรงผลุดพ้นจากสภาพชาวสยามที่กร้านและหยาบ มาเป็นสิ่งที่พระองค์ทรงเป็นเมื่อครั้งที่ข้าพเจ้าอยู่ที่สยาม –นั่นก็คือทรงเป็นปราชญ์ผู้ชาญฉลาดเกินกว่าใครจะกังขา และทรงเป็นสุภาพบุรุษที่สมบูรณ์.
ในเวลานั้น ความหิวกระหายในงานวรรกรรมของพระองค์ใหญ่หลวงกว่าที่เคยเป็นมา; ทรงสั่งหนังสือบรรดาที่พิมพ์ออกมาล่าสุดจากสิงคโปร์ โดยผ่านตัวแทนที่นั่น, และข้าพเจ้าก็เคยเห็นพระองค์ทรงสรวลอย่างสบพระทัยเป็นอย่างยิ่งขณะที่ทรงอ่าน “Pickwick” ของดิ๊กเกนส์ ราวกับว่าทรงคุ้นเคยกับฉากที่หนังสือเล่มนั้นพรรณนามาตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์…
เจ้าฟ้า [น้อย] ทรงมีกลุ่มคนโปรดที่พอมีความรู้ภาษาอังกฤษแบบงูๆ ปลาๆ ไว้ช่วยงานทางด้านวิทยาศาสตร์ที่ทรงเห็นว่าสนุกกว่า. ตรงข้ามกับโรงแสง และตรงกับประตูทางเข้าวังของพระองค์ ก็มีตึกเล็กๆ โครงเป็นไม้น่ารัก มีหน้าต่างกระจกรายรอบด้านอยู่หลังหนึ่ง และเหนือประตูเข้ามีแผ่นประกาศ เขียนด้วยตัวอักษรสีทองขนาดใหญ่ติดไว้ว่า ‘ที่นี่รับทำและซ่อมนาฬิกาพกและนาฬิกาซุ้ม’ และก็ที่นี่ก็จะได้เห็นพระองค์ประทับอยู่ที่โต๊ะที่เกลื่อนกลาดไปด้วยชิ้นส่วนและเฟืองเล็กเฟืองน้อย, กำลังยุ่งกับงานช่างซ่อมนาฬิกาอันเป็นงานที่ทรงโปรดยิ่ง.”
เอฟ.เอ.นีล (F.A.Neale)
Residence in Siam, 1852
(หมายเหตุ:นีลมาสยามและได้เข้าเฟ้า “เจ้าฟ้าน้อย” ในปี ค.ศ. 1840 / พ.ศ. 2383 ในสมัยรัชกาลที่ 3 – สุพจน์ แจ้งเร็ว แปล)
“วันที่ 18 เมษายน [ค.ศ. 1855 /พ.ศ. 2398]…
ในตอนบ่ายไปเข้าเฝ้าพระเจ้าแผ่นดินองค์ที่สอง พระองค์ทรงเป็นผู้มีเหตุมีผล เงียบขรึม และน่ารัก ด้วยความสุขุมรอบคอบและนโยบาย (มากกว่าสาเหตุอื่นใด) พระองค์จึงทรงมีส่วนร่วมน้อยมากในกิจการบ้านเมือง พวกเราพบว่า ตลอดทางจากท่าน้ำถึงพระราชวังปูลาดด้วยเสื่อ ที่ประทับของพระองค์นั้นสะดวกสะบาย ตกแต่งอย่างมีรสนิยม เครื่องเรือนและเครื่องประดับพระราชวังต่างๆ จะทำให้คุณคิดว่าคุณกำลังอยู่ในบ้านของคนอังกฤษ ยกเว้นผ้าที่ห้อยแขวนลงมาเพื่อโบกลม และลักษณะห้องแบบหลังคาสูง การสนทนาของพระองค์เป็นไปอย่างผู้มีการศึกษาและน่ารับฟัง ภาษาอังกฤษของพระองค์นั้นอยู่ในขั้นยอดเยี่ยม ห้องสมุดของพระองค์มีหนังสือภาษาอังกฤษที่เลือกเฟ้นอย่างดี ส่วนในพิพิธภัณฑ์ของพระองค์ก็มีเครื่องกลไกต่างๆ พร้อมด้วยหุ่นจำลองในสาขาต่าง ๆ ของวิทยาศาสตร์ ซึ่งเป็นรุ่นที่ได้รับการปรับปรุงล่าสุด มีเครื่องวัดแดและเครื่องวัดมุมชั้นเยี่ยม หุ่นจำลองเรือกลไฟแบบย่อส่วน และอาวุธใหม่ๆ หลากชนิด มีดนตรีบรรเลงตลอดเย็นนั้น และข้าพเจ้าหลงใหลในความไพเราะของเครื่องดนตรีที่ประกอบด้วยไม้ซางสูงกว่า 7 ฟุต พระองค์ทรงเป่าแคน และหลังจากนั้นก็พระราชทานเครื่องดนตรีดังกล่าวแก่ข้าพเจ้า…
…เป็นที่น่าสังเกตว่า ไม่ว่าจะพิจารณาในแง่ความสุขุมรอบคอบหรือการวางเฉยในกิจการบ้านเมือง ดูพระองค์ทรงหลีกเลี่ยงที่จะเข้ามามีบทบาท และหากว่าพระองค์ทรงมีอิทธิพลอยู่มาก ก็จะไม่ทรงแสดงออกมาให้เป็นที่ปรากฏ พระองค์ทรงก่อให้เกิดความประทับใจในทางที่น่าพอใจอย่างยิ่ง”
เซอร์จอห์น เบาว์ริ่ง (Sir John Bowring)
ราชอาณาจักรและราษฎรสยาม, ๒๔๐๐
(หมายเหตุ: เบาว์ริ่งเข้ามากรุงเทพฯ เพื่อทำสนธิสัญญากับรัฐบาลสยามในปี ค.ศ. 1๘๕๕ / พ.ศ. ๒๓๙๘ หลังจากนั้นได้เขียนบันทึกเกี่ยวกับราชอาณาจักรสยามขึ้นดังที่คัดมานี้ – คำแปลของ นันทนา ตันติเวสส)
“[พุธที่ 23 เมษายน 2399] พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว พระเจ้าแผ่นดินองค์ที่สอง ทรงส่งพระราชสาส์นอันเปี่ยมไปด้วยพระกรุณายิ่งมายังข้าพเจ้า พร้อมทั้งของขวัญผลไม้งามๆ ที่สุดของประเทศสยาม…ขุนนางผู้ใหญ่ผู้พูดภาษาอังกฤษได้ดีวิเศษ รับหน้าที่เป็นผู้นำของขวัญมาให้…ไวยากรณ์ในพระราชสาส์นก็ถูกต้องสมบูรณ์ และการเขียนลายมือบรรจงก็งดงามมาก ทำให้ฝีมือเขียนบรรจงของเราได้อายทีเดียว อักษรแต่ละตัวเขียนอย่างไม่มีที่ติ ประหนึ่งว่าครูคัดลายมือเป็นผู้เขียนทีเดียว และยิ่งกว่านั้น ทั้งข้อความและการเขียน พระเจ้าแผ่นดินองค์ที่สองเป็นผู้ทรงเองทั้งหมด”
……………………………….
“[ศุกร์ที่ 20 พฤษภาคม 2399] เวลาห้าโมงเย็น ไปเฝ้าพระเจ้าแผ่นดินองค์ที่สอง…ข้าพเจ้าพบว่ามีเสื่อปูลาดให้ข้าพเจ้าเดินตั้งแต่ประตูใหญ่นอกวังขึ้นไปจนถึงที่ซึ่งพระเจ้าแผ่นดินทรงเรียกว่าพระตำหนักอังกฤษของพระองค์ พระเจ้าแผ่นดินองค์ที่สองทรงต้อนรับข้าพเจ้าอย่างทรงพระเมตตาที่สุด พระองค์ตรัสภาษาอังกฤษได้วิเศษจริงๆ ทรงให้ข้าพเจ้าดูหนังสือจำนวนมากสิ่งพิมพ์ อาวุธ เครื่องเคมี ฯลฯ ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นของแท้ของยุโรปหรืออเมริกา…ได้สนทนากันมากมายเกี่ยวกับสหรัฐอเมริกา, ประธานาธิบดี และเกี่ยวกับเจ้าหน้าที่ของเรือพีค๊อก (The Peacock) ผู้เคยมาที่นี่ในปี พ.ศ. 2376 พระเจ้าแผ่นดินทรงจำได้ไม่เพียงแต่ชื่อสกุลของพวกเขาแต่ละคนเท่านั้น ยังทรงจำชื่อต้นของเขาได้ด้วย และทรงถามถึงคนเหล่านั้นเกือบทุกคน…
พระเจ้าแผ่นดินองค์ที่สองพระราชทานเลี้ยงน้ำชา กาแฟ ชอกโกแลต ผลไม้ ขนมหวาน และอื่นๆ ทรงชงชาด้วยพระองค์เอง และได้ตรัสถามแต่ละคนว่าเขาชอบดื่มอย่างไร ใส่นมหรือไม่ใส่นม…”
เทาเซนด์ แฮรีส (Townsend Harris)
บันทึกรายวันของเทาเซนด์ แฮรีส
(หมายเหตุ: เทาเซนด์ แฮรีส เป็นผู้แทนทางการทูตผู้มีอำนาจเต็มของสหรัฐอเริกา บันทึกเมื่อเดินทางมาเมืองไทยเพื่อแก้ไขสนธิสัญญาใน พ.ศ. 2399 -นันทา วรเนติวงศ์ แปล)
“ข้อมูลเกี่ยวกับกษัตริย์พระองค์ที่ 2 ที่ข้าพเจ้าทราบมีดังนี้ ทรงได้รับการศึกษารอบรู้ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าพระเชษฐา ตรัสภาษาอังกฤษและฝรั่งเศสได้ดีอย่างน่าอัศจรรย์ ทรงชื่นชอบยุโรปและวัฒนธรรมของทางเรา ทรงมีพระบรมราชวินิจฉัย มีไหวพริบตัดสินพระทัยเหมาะสมกับสถานการณ์ เป็นนักบริหารจัดการ และนักปกครองที่มีประสิทธิภาพกว่าพระเชษฐา ด้วยทรงตระหนักดีถึงข้อได้เปรียบของพระองค์ในเรื่องเหล่านี้ จึงทรงเหน็ดหน่ายพระราชหฤทัยต่อการปกครองที่ผิดทิศผิดทางยิ่งกว่าใคร ๆ สรุปได้ว่าพระองค์ทรงมีรสนิยมและแบบแผนในการใช้ชีวิตเยี่ยงเจ้าขุนมูลนายชั้นสูงที่มั่งคั่งทางยุโรป ด้วยทรงชื่นชอบศิลปวัฒนธรรมและอักษรศาสตร์ ทรงโปรดม้า และโปรดให้เลี้ยงม้างาม ๆ ไว้หลายตัวทีเดียว”
อ็องรี มูโอต์ (Henri Mouhot)
บันทึกการเดินทางของอ็องรี มูโอต์ ในราชอาณาจักรสยามฯ
(หมายเหคุ: อ็องรี มูโอต์ออกเดินทางสำรวจราชอาณาจักสยาม, กัมพูชา, ลาว และอินโดจีนตอนกลาง ในช่วงปี พ.ศ. 2401 – พ.ศ. 2404 – กรรณิกา จรรย์แสง แปล)
“ในทางพระองค์ สำหรับคนสยามแล้วต้องนับว่างาม; พระวรกายสันทัด, กระทัดรัด และสมส่วน และพระฉวีออกคล้ำ. ถ้อยสนทนาและอากัปกริยาบ่งถึงการอบรมบ่มเพาะ, ความละเอียดประณีต และท่วงทีอันสง่างามตามอย่างสุภาพบุรุษสมบูรณ์แบบ; และทรงรับสั่งภาษาอังกฤษได้อย่างถูกต้องและคล่องแคล่วอย่างเห็นได้ชัดว่าไม่ต้องทรงฝืนพยายามเป็นช่วง ๆ อย่างที่ปรากฏในการใช้ภาษาอังกฤษแบบภาษาละครเชคสเปียร์ของพระเชษฐา.”
แอนนา เลียวโนเวนส์ (Anna Leonowens)
The English Governess at the Siamese Court, 1870
(หมายเหตุ: แหม่มแอนนาเข้ามาสยามเพื่อเป็นครูสอนภาษาอังกฤษในราชสำนักพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในช่วงระหว่างปี ค.ศ. 1862 /พ.ศ. 2405 ถึง ค.ศ. 1867 /พ.ศ. 2410- สุพจน์ แจ้งเร็ว แปล)
ข้อมูลจาก
กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม. เอกสารสโมสรศิลปวัฒนธรรมเสวนา เรื่อง พระปิ่นเกล้าฯ-“เจ้าฟ้าน้อย” กษัตริย์วังหน้า 26 มกราคม พ.ศ.2560