เผยแพร่ |
---|
“เรือกลไฟ” ได้เดินทางมาถึงสยามครั้งแรกในสมัยรัชกาลที่ 3 เนื่องจากรัฐบาลในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวต้องการเขี้ยวเล็บไว้ต่อกรกับฝ่ายญวน จึงได้สั่งซื้อเรือกลไฟจากนายโรเบิร์ต ฮันเตอร์ หรือนายหันแตรพ่อค้าจากเกาะบริเตน
แต่ด้วยความที่เรือมาถึงช้ากว่ากำหนด และความขัดแย้งกับฝ่ายเวียดนามเริ่มคลี่คลาย ความจำเป็นที่จะต้องใช้เรือกลไฟก็หมดไป สุดท้ายรัฐบาลสยามก็ไม่ได้ซื้อเรือกลไฟมาใช้ (ซึ่งก็มีเรื่องวุ่นวายเกิดขึ้นตามมาด้วยความที่นายหันแตรก็ไม่ยอมง่ายๆ เหมือนกัน)
การมาถึงของเรือกลไฟในกรุงเทพฯ เมื่อครั้งนั้นได้สร้างความประทับใจให้กับผู้ที่สนใจในวิทยาการสมัยใหม่อย่างเจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ หรือพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นอย่างมาก
ต่อมาภายหลังพระองค์จึงมีดำริที่จะต่อเรือกลไฟขึ้นเอง ดังที่ วิลาส นิรันดร์สุขศิริ ได้เล่าไว้ในบทความเรื่อง “พระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตกเป็นข่าว เรื่องเรือกลไฟลำแรกของสยาม” เผยแพร่ในนิตยสาร ศิลปวัฒนธรรม ฉบับกรกฎาคม 2548 เนื้อหาส่วนหนึ่งมีว่า
“…เมื่อนายฮันเตอร์จากไป ความหวังที่จะมีเรือกลไฟไว้ใช้ในสยามก็จางหายไปด้วย แต่เรือ ‘เอ็กสเปรส’ ก็เป็นแรงดลใจให้พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งในขณะนั้นทรงดำรงพระยศเป็นเจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ ทรงสร้างเรือกลไฟขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศ
เว็บไซต์ของมูลนิธิอนุรักษ์โบราณสถานในพระราชวังเดิม กล่าวถึงพระราชกิจจานุกิจของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวไว้ตอนหนึ่งว่า “และได้ทรงร่วมกับ Rev. J.H. Chandler สร้างเรือขับเคลื่อนด้วยเครื่องจักรไอน้ำ ที่ต่อมาเรียกว่า ‘เรือกลไฟ’ หรือ ‘เรือไฟ’ เป็นครั้งแรกในประเทศไทย โดยได้ทรงทดลองแล่นในแม่น้ำเจ้าพระยา”
เรื่องนี้ดูเหมือนสอดคล้องกันดีกับเรื่องเกี่ยวกับพระราชกิจจานุกิจของพระองค์ที่ปรากฏในเว็บไซต์ของโรงเรียนช่างฝีมือทหาร ที่ว่า
“ปี พ.ศ. 2390 (ค.ศ. 1847) ทรงสร้างเรือกลไฟขึ้นเป็นลำแรกของประเทศไทย จนกระทั่งหนังสือพิมพ์ต่างประเทศที่มีชื่อเสียงชั้นนำของโลกชื่อว่า ‘The New York Tribune’ ได้นำเรื่องราวเกี่ยวกับพระปรีชาสามารถของพระองค์ไปลงพิมพ์เป็นการสดุดี”
เรือกลไฟลำแรกที่กล่าวถึงนี้ เป็นเรือแบบมีล้อใบพัดน้ำด้านข้าง ขนาดประมาณ 20 กว่าฟุต จึงจัดว่าเป็นเรือต้นแบบมากกว่าที่จะเป็นเรือซึ่งนำมาใช้งานอย่างจริงจัง ระยะเวลาที่ใช้ในการสร้างนั้นนานกว่าเนื้อหาในเว็บไซต์ของโรงเรียนช่างฝีมือทหาร ซึ่งอ่านดูแล้วเหมือนกับว่าทรงเริ่มสร้างและสร้างเสร็จในปีนั้น
ที่จริงแล้วหากนับจากวันที่เริ่มต้นสั่งซื้อเครื่องยนต์และอื่นๆ ก็อาจกล่าวได้ว่าทรงใช้เวลาถึง 4 ปีกว่าจะเสร็จ ไม่ทราบว่าเป็นความประสงค์หรือเหตุบังเอิญกันแน่ที่เรือลำนี้ออกแล่นอวดโฉมในแม่น้ำเจ้าพระยาเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม อันเป็นวันชาติสหรัฐพอดี…”
อ่านเพิ่มเติม :
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 4 กรกฎาคม 2560