ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
ถ้าบอกว่าสมัยหนึ่งประเทศไทยมีพระมหากษัตริย์ 2 พระองค์ ผู้อ่านหลายท่านคงนึกได้ทันทีว่าเป็นช่วงรัชกาลที่ 4 ของกรุงรัตนโกสินทร์ ที่นอกจากจะมีพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงครองราชสมบัติแล้ว ยังมี พระปิ่นเกล้าฯ ที่ไม่ได้ทรงเป็นแค่ “วังหน้า” หากมีการสถาปนาเป็น “พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว”
ที่น่าสนใจ และติดตามต่อไปคือ ทำไม “เวลานั้น” ประเทศต้องมีพระมหากษัตริย์ 2 พระองค์?, ทำไมขุนนางราชสำนักจึงเลือกเจ้าฟ้ามงกุฎ ที่ทรงผนวชอยู่มาครองราชย์?, ทำไมพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ตัดสินพระราชหฤทัยสถาปนากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ เป็นพระปิ่นเกล้าฯ? ทำไม…?
ส่วนคำตอบในประเด็นข้างต้นนั้น กำพล จำปาพันธ์ รวบรวมข้อมูลต่างๆ และเขียนอธิบายไว้ในบทความของเขาที่ชื่อว่า “การเมืองเบื้องหลังสถาปนาพระปิ่นเกล้าฯ” ในนิตยสาร “ศิลปวัฒนธรรม” ฉบับเดือนมีนาคม 2564
เริ่มจากสถานการณ์บ้านเมือง ช่วงปลายรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 มีกลุ่มขั้วอำนาจสำคัญอยู่ 4 กลุ่ม คือ
- เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) สมุหนายก ที่รัชกาลที่ 3 ไว้วางพระราชหฤทัยอย่างยิ่งตรัสเรียก “พี่บดินทร์” ทั้งต่อหน้าและลับหลัง เจ้าพระยาบดินทรเดชา เป็นแม่ทัพใหญ่ในสงครามไทย-เวียดนาม ที่เรียกว่า “อานามสยามยุทธ์” จึงมีที่มั่นอยู่ในหัวเมืองตะวันออก
- เจ้าพระยาพระคลังว่าที่สมุหพระกลาโหม (ดิศ บุนนาค) ไปตั้งมั่นอยู่ที่จันทบุรี สร้างเมืองจันทบุรีใหม่ขึ้นที่เขาเนินวง
- หลวงรักษรณเรศ (หม่อมไกรสร) ไปตั้งมั่นอยู่ที่ฉะเชิงเทรา ย้ายเมืองฉะเชิงเทราจากย่านบางคล้ามาสร้างป้อมปราการอยู่ที่บ้านเสาทอน (โสธร)
- กรมขุนอิศเรศรังสรรค์ หรือ พระปิ่นเกล้าฯ ก็มีสายสัมพันธ์กับลาวพนัสนิคม
ดูรวมก็เป็นการคานอำนาจทางการเมืองของเจ้านายกับขุนนางที่ดี แต่วันหนึ่งที่เกิดเสียสมดุลขึ้นมา
เมื่อกรมหลวงรักษรณเรศ ที่ไปตั้งมั่นอยู่ที่ฉะเชิงเทราขยายอิทธิพลมากขึ้นกว่าเดิม ไม่ว่าจะเป็นกำลังไพร่, การกุมชัยภูมิทางการเมืองได้เปรียบกว่ากลุ่มอื่นๆ ที่สำคัญคือ แสดงตัวเป็นกลุ่มที่จะสถาปนารัชกาลใหม่ และเมื่อถูกมองว่าเป็นภัยคุกคาม กรมหลวงรักษรณเรศจึงต้องถูกกำจัด ในปี 2375
ต่อมาเจ้าพระยาบดินทรเดชา ก็ถึงแก่อสัญกรรมอย่างกะทันหันด้วยอหิวาตกโรคในปี 2392 และไม่มีทายาทที่เข้มแข็งพอจะมาสืบทอดอำนาจได้
ปี 2394 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระประชวรใกล้จะสวรรคต เจ้าพระยาพระคลัง (ดิศ บุนนาค) ที่มีท่าทีสนับสนุนเจ้าฟ้ามงกุฎ กังวลว่ากรมขุนพิพิธภูเบนทร์ชิงราชสมบัติ จึงให้บุตรชาย-พระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) เดินทางลงไปยังป้อมปากน้ำสมุทรปราการ นำเรือกำปั่นรบขนบรรทุกกำลังไพร่พลพร้อมเครื่องอาวุธปืนครบมือ เข้าจอดเทียบท่าแล้วกระจายไปปิดล้อมฝ่ายกรมขุนพิพิธภูเบนทร์ และยื่นคำขาดให้สลายการชุมนุมเสีย สุดท้ายขุนนางบุนนาคก็คุมสถานการณ์ได้
ทั้งยังสร้างความวิตกแก่เจ้าฟ้ามงกุฎหรือพระวชิรญาณภิกขุ พระองค์ต้องทรงพิจารณาหากำลังสนับสนุนที่สามารถคานอำนาจของขุนนางตระกูลบุนนาค และเพิ่มหลักประกันความมั่นคงในราชบัลลังก์ของพระองค์
ดังนั้นเมื่อเจ้าพระยาพระคลัง (ดิศ บุนนาค) กราบบังคมทูลถวายราชสมบัติแด่พระวชิรญาณภิกขุ ตามมติที่ประชุมขุนนาง จึงเกิดการต่อรองเกิดขึ้น ในพระนิพนธ์ความทรงจำ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพได้ทรงเล่าถึงเหตุผลของเรื่องนี้ว่า
“พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เคยทรงศึกษาโหราศาสตร์ ทรงเชื่อตำราพยากรณ์อยู่มาก ตรัสว่าถ้าจะถวายราชสมบัติแก่พระองค์ ขอให้ถวายแก่เจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ด้วย เพราะสมเด็จพระอนุชาดวงพระชาตาดีวิเศษถึงฐานที่จะได้เป็นพระเจ้าแผ่นดิน ถ้าถวายราชสมบัติแก่พระองค์เกรงจะเสด็จอยู่ไม่ได้เท่าใด
เจ้าพระยาพระคลังก็ลงเรือไปเฝ้าเจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ที่พระราชวังเดิม ทูลความตามที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงปรารภนั้นให้ทรงทราบ ความที่กล่าวมานี้เป็นมูลเหตุที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสถาปนาพระมหาอุปราชให้ทรงศักดิ์พิเศษเป็นพระเจ้าแผ่นดินที่สอง Second King ทรงพระนามว่า ‘พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว’ เทียบเยี่ยงอย่างสมเด็จพระเอกาทศรถครั้งรัชกาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช”
หากในบันทึกของ มัลคอล์ม อาร์เธอร์ สมิธ (Malcolm Arthur Smith) หรือ “หมอสมิธ” แพทย์หลวงชาวอังกฤษประจำราชสำนักรัชกาลที่ 4–รัชกาลที่ 5 ให้ข้อมูลต่างไปว่า
“ผลปรากฏว่าพระองค์ทรงลังเลพระทัยเนื่องจากทรงห่างเหินจากงานราชการบ้านเมืองมาเป็นเวลานาน พระองค์ทรงเกรงว่าจะไม่สามารถแบกรับพระราชภารกิจอันใหญ่หลวงนี้ได้โดยลำพัง แต่ถ้าหากได้มีการสถาปนาสมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดินองค์ที่สองด้วยแล้ว พระองค์ก็จะทรงยอมรับในราชสมบัติ ที่ประชุมจึงเป็นอันตกลงตามข้อเสนอดังกล่าว”
ขณะที่พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 4 ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ฯ (ขำ บุนนาค) ให้เหตุผลที่แตกต่างออกไปว่า
“พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวผู้ทรงพระคุณธรรมอันมหาประเสริฐ ทรงพระราชดำริห์เห็นว่าสมเด็จพระอนุชาธิราชเจ้า ก็ทรงพระปรีชารอบรู้การในพระนครแลการต่างประเทศแลขนบธรรมเนียมต่างๆ แลศิลปศาสตร์ในการรณรงค์สงครามเป็นอันมาก พระบรมวงษานุวงษ์แลเสนาบดีทูลละอองธุลีพระบาทผู้ใหญ่ผู้น้อยก็นิยมยินดีนับถือมาก เมื่อกระทำสัตย์สาบาลถวายก็ได้ออกพระนามทั้งสองพระองค์ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็มีพระไทยสนิทเสน่หายิ่งนัก มีการรณรงค์สงครามคับขันมาประการใดจะได้ให้เสด็จไปเป็นจอมพยุหโยธาหารทั้งปวง ปราบปัจจามิตรฆ่าศึกศัตรู มีพระเดชานุภาพจะได้เหมือนสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนิรเหมือนกัน”
ด้วยความสามารถของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวที่กล่าวไปนั้น จึงสร้างความน้อยพระราชหฤทัยให้กับพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวอยู่ไม่น้อย ดังที่มีพระราชหัตถเลขาถึงพระยามนตรีสุริยวงศ์ (ชุ่ม บุนนาค) กับจมื่นสรรเพธภักดี เมื่อ พ.ศ. 2401 ระบายความอัดอั้นพระราชหฤทัยไว้ว่า
“…ขุนหลวงวังหลวงแก่ชราคร่ำคร่าผอมโซเอาราชการไม่ได้ ไม่แขงแรงโง่เขลา ได้เปนขุนหลวงเพราะเปนพี่วังหน้า ราชการแผ่นดินสิทธิ์ขาดแก่วังหน้าหมดทั้งนั้น
ถึงการทำสนธิสัญญาด้วยอังกฤษทะนุบำรุงบ้านเมืองก็ดีแต่งทูตไปก็ดี เปนความคิดวังหน้าหมด วังหลวงเปนแต่อืออือแอแอพยักเพยิดอยู่เปล่าๆ
เมื่อแขกเมืองเข้ามาหา วังหน้าต้องแอบข้างหลังสอนให้พูดจึ่งพูดกับแขกเมืองได้ วังหน้าเปนหนุ่มแขงแรง ขี่ช้างน้ำมันขี่ม้าเทศสูงสามศอกเศษ ยิงปืนทุกวัน ชอบการทหารมาก มีวิทยาอาคมดี ฤๅษีมุนีแพทย์หมอมีวิทยานับถือเข้าอยู่ด้วยมาก…
ท่านเสด็จไปทั่วบ้านด่านเมืองที่ใด ก็ได้ลูกสาวเจ้าบ้านผ่านเมืองแลกรมการมาทุกที ไปสระบุรีก็ได้ลูกสาวพระปลัดมา ไปนครราชสีมาก็ได้ลาวมากว่า 9 คน 10 คน ไปพนัศก็ได้ลูกสาวพระปลัดมา ไปราชบุรีเมื่อเดือนหกนี้ ก็ได้ลูกสาวใครไม่ทราบเลยเข้ามา
แต่ข้าพเจ้าไปไหนมันก็ว่าชรา ไม่มีใครให้ลูกสาวเลย ต้องกลับมาแผลงรัง เพราะว่าคร่ำคร่าชราภาพ ผมไม่สู้ดกถึงบางยังมีอยู่บ้าง ดำอยู่บ้าง แต่หาได้จับกระเหม่าไม่ แลไกลก็เห็นเปนล้านโล้งโต้งไปข้าพเจ้าเก็บแก๊บเขาใส่ อุตส่าห์ขี่ม้าเที่ยวเล่นจะให้มันว่าหนุ่ม มันก็ว่าแก่อยู่นั้นเอง ไม่มีใครยกลูกสาวให้…”
อ่านเพิ่มเติม :
- “อยู่ดีๆ ก็ให้มาเป็นสมภารวัดร้าง” พระปิ่นเกล้าฯ ตรัสเมื่อทอดพระเนตรสภาพวังหน้า
- พระปิ่นเกล้า วังหน้าสมัยรัชกาลที่ 4 ทรงศึกษาไสยศาสตร์วิทยาคม ลือกันถึงขั้นหายตัวได้!?
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
เผยแพร่ข้อมูลในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 9 มีนาคม 2564