“อยู่ดีๆ ก็ให้มาเป็นสมภารวัดร้าง” พระปิ่นเกล้าฯ ตรัสเมื่อทอดพระเนตรสภาพวังหน้า

(ซ้าย) พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว (ขวา) ภาพถ่ายทางเครื่องบิน บริเวณพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร โรงละครแห่งชาติ และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

“—เออ อยู่ดีๆ ก็ให้มาเป็นสมภารวัดร้าง—“

เป็นพระราชปรารภในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล แต่ทรงมีพระเกียรติยศเสมอเหมือนพระเจ้าแผ่นดินอีกพระองค์หนึ่ง และพระราชทานพระบวรราชวังให้เป็นที่ประทับ ซึ่งขณะนั้นพระบวรราชวังอยู่ในสภาพชำรุดทรุดโทรมทั้งวัง

Advertisement

ครั้นถึงเวลาที่พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวจะต้องเสด็จฯ มาประทับ ณ วังนี้ เป็นช่วงเวลาที่อาคารสิ่งก่อสร้างต่างๆ ภายในวังหน้าถึงกาลเวลาชำรุงทรุดโทรมลงอย่างหนัก ดังปรากฏในหลักฐานจากพระนิพนธ์ตำนานวังหน้าของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ความตอนหนึ่งว่า

“—ซุ้มประตูแลป้อมปราการรอบวังหักพังเกือบหมด กำแพงวังชั้นกลางก็ไม่มีท้องสนามในวังหน้า ชาวบ้านเรียกว่า สวนพันชาติ เพราะพันชาติตำรวจในวังปลูกเหย้าเรือนอาศัย และขุดท้องร่องทำสวนตลอดไปจนถึงหน้าพระที่นั่งศิวโมกข์พิมาน—“

สภาพดังกล่าวของวังหน้า จึงเป็นที่มาของคำพระราชปรารภที่ว่า

“—เออ อยู่ดีๆ ก็ให้มาเป็นสมภารวัดร้าง—“

แต่เพราะเหตุว่าเป็นพระราชประสงค์ของสมเด็จพระบรมเชษฐา พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงต้องทรงปฏิบัติตาม

เมื่อจะเสด็จฯ เข้ามาประทับได้โปรดให้ทำพิธีและสถาปนาอาคารสิ่งก่อสร้างต่างๆ ใหม่โดยมาก นับแต่โปรดให้ทำพิธีฝังอาถรรพ์ใหม่เมื่อวันขึ้น 2 ค่ำ เดือน 6 ปีกุน ตรงกับวันที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2394 ในพิธีนี้พราหมณ์ได้ฝังหลักอาถรรพ์ทุกป้อมและทุกประตูแห่งพระบวรราชวังรวม 80 หลัก

ต่อจากนั้นโปรดให้สร้างพระราชมนเทียร พระที่นั่งและพระตำหนักต่าง ๆ เช่น พระที่นั่งเก๋งจีน เป็นพระราชมนเทียรที่ประทับลักษณะศิลปะแบบจีน พระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์ เป็นพระราชมนเทียรที่ประทับลักษณะศิลปะแบบยุโรป พระที่นั่งมังคลาภิเษก พระที่นั่งชลสถานทิพอาศน์ พระที่นั่งประพาสคงคา พระที่นั่งทัศนาภิรมย์ พลับพลาสูง และพระตำหนักแดง เป็นต้น

การสถาปนาพระบวรราชวัง ครั้งพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น นับว่างดงามและสมบูรณ์แบบ ซึ่งน่าจะเป็นด้วยเหตุ 3 ประการ คือ สร้างเพื่อเฉลิมพระเกียรติที่เสมอด้วยพระเจ้าแผ่นดิน สร้างแทนของเดิมซึ่งปรักหักพังให้บริบูรณ์ดังแต่ก่อน สร้างตามพระราชอัธยาศัยและตามพระราชหฤทัยพระองค์เอง


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาบางส่วนจากหนังสือ วาทะประวัติศาสตร์ เขียนโดย ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย สนพ.มติชน

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 7 มกราคม 2560