“สุสานญี่ปุ่น” วัดราชบุรณะ มีที่มาอย่างไร?

สุสานญี่ปุ่น วัดราชบุรณะ หอเก็บกระดูกชาวญี่ปุ่น
สุสานญี่ปุ่น หรือหอเก็บกระดูกชาวญี่ปุ่น ภายในวัดราชบุรณะ

“สุสานญี่ปุ่น” วัดราชบุรณะ กรุงเทพมหานคร มีที่มาอย่างไร?

ผู้คนที่อาศัยอยู่ในดินแดนที่เป็นประเทศญี่ปุ่นและประเทศไทยทุกวันนี้มีความสัมพันธ์กันมายาวนาน ดังที่อาจารย์อิชิอิ โยเนะโอะ นักวิชาการด้านไทยศึกษา ได้ตั้งชื่อหนังสือของอาจารย์ไว้ว่า “600 ปี ความสัมพันธ์ไทย-ญี่ปุ่น” โดยเริ่มจากความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างเมืองท่าอยุธยากับเมืองท่าริวกิว ซึ่งปัจจุบันคือบริเวณเกาะโอกินาวา

Advertisement

การแลกเปลี่ยนระหว่างผู้คนทั้งสองดินแดนปรากฏหลักฐานให้เห็นเรื่อยมาตั้งแต่สมัยอยุธยา ที่รู้จักกันดี เช่น หมู่บ้านญี่ปุ่นที่อยุธยา รวมทั้งเรื่องราวเกี่ยวกับ ยามาดะ นางามะซะ ขุนนางไทยชาวญี่ปุ่น กระทั่งถึงรูปปั้นชาวโอกินาวาที่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ซึ่งพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้สร้างรูปคนต่างชาติ 32 ชาติขึ้น พร้อมโคลงบรรยายลักษณะการแต่งกายของคนแต่ละชาติประจำไว้ในศาลาทั้ง 16 หลังภายในวัด ซึ่งปัจจุบันเหลือเพียง 2 รูป คือ รูปจีนซัวเถา และรูปชาวโอกินาวา

สถานที่แห่งความทรงจำของชาวญี่ปุ่นอีกแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ คือ หอเก็บกระดูกชาวญี่ปุ่น หรือ “สุสานญี่ปุ่น” ภายในวัดราชบุรณะ ซึ่งเป็นวัดเก่า สร้างมาตั้งแต่ก่อนสถาปนากรุงเทพฯ เป็นราชธานี และได้บูรณะใหม่เมื่อแรกตั้งกรุงเทพฯ

หอเก็บกระดูกแห่งนี้ สร้างขึ้นเพื่อเป็นสุสานสำหรับชาวญี่ปุ่นที่อาศัยอยู่ในเมืองไทย โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ ซึ่งมีจำนวนมากขึ้นตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว บางส่วนเป็นข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของบริษัทห้างร้านญี่ปุ่นที่เข้ามาเปิดหน่วยงานและกิจการในไทย และบางส่วนเป็นพ่อค้าเอกชนที่เข้ามาแสวงโชคในดินแดนใหม่ ตลอดจนแรงงานอพยพทั้งหญิง-ชาย ที่เข้ามาทำนาและขายแรงงานในสยาม

สมุดบันทึกรายชื่อชาวญี่ปุ่นที่เสียชีวิตในสยาม

น่าสนใจว่า ชาวญี่ปุ่นกลุ่มแรกที่เดินทางมายังสยาม คือ “คารายุกิซัง” หรือ “หญิงโสเภณี” จากจังหวัดทางภาคใต้ของญี่ปุ่น ดังปรากฏหลักฐานในสมุดบันทึกรายชื่อชาวญี่ปุ่นที่ถึงแก่กรรมในไทย ซึ่งเก็บรักษาไว้ภายใน สุสานญี่ปุ่น แห่งนี้

ความพยายามของชุมชนชาวญี่ปุ่นที่จะสร้างสุสาน เริ่มตั้งแต่ พ.ศ. 2440 แต่ได้รับอนุมัติให้สร้างจริงเมื่อ พ.ศ. 2475 ตรงกับปีที่เปลี่ยนแปลงการปกครองพอดี โดยมีพระญี่ปุ่น และฟุจิอิ ชินสุอิ นักเรียนชาวญี่ปุ่นที่กำลังศึกษาอยู่ในเมืองไทยขณะนั้น เป็นผู้ประสานงาน จนกระทั่ง พ.ศ. 2478 จึงได้ก่อสร้างอาคารคอนกรีต 3 ชั้น เลียนแบบสถาปัตยกรรมจากวัดคินคะคุจิ ในเมืองเกียวโต โดยได้รับเงินบริจาคจากสมาคมญี่ปุ่นแห่งสยาม และได้อัญเชิญพระพุทธรูปศากยมุนี จากวัดไทย-ญี่ปุ่น ที่เมืองนาโงยะมาประดิษฐาน

หอเก็บกระดูกชาวญี่ปุ่น วัดราชบุรณะ รอดพ้นจากการทิ้งระเบิดในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 มาได้อย่างหวุดหวิด พร้อมกับองค์พระปรางค์ของวัด ขณะที่บริเวณอื่นของวัดโดนระเบิดเสียหายหนัก เนื่องจากบริเวณรอบๆ วัดเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญ ทั้ง โรงไฟฟ้า และสะพานพระพุทธยอดฟ้า 

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 25 เมษายน 2560