ผู้เขียน | พัชรเวช สุขทอง |
---|---|
เผยแพร่ |
ความสัมพันธ์ไทย-ญี่ปุ่น เกิดขึ้นอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2430 จากที่สองประเทศลงนามใน “ปฏิญญาว่าด้วยทางพระราชไมตรีและการค้าขายระหว่างสยามและญี่ปุ่น” โดยในปีนี้ (2567) จะครบรอบ 137 ปี หากมองย้อนลึกลงไป จะเห็นว่าญี่ปุ่นเข้ามามีความสัมพันธ์ทางการค้าและการทูตตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนต้น ถึงกับมีหมู่บ้านญี่ปุ่น และทหารกรมอาสาญี่ปุ่นที่ช่วยอยุธยาทำการรบอยู่บ่อยครั้ง โดยมีนักรบซามูไรอย่าง ยามาดะ นางามาซะ ที่ภายหลังเป็น ออกญาเสนาภิมุข เป็นผู้นำ
ยามาดะ นางามาซะ เมื่อครั้งอดีตที่อยู่ญี่ปุ่น เคยมีอาชีพที่ต่ำต้อย ขนาดหามเสลี่ยงให้กับ “โอคุโบะ จิเอมอง” เจ้าแห่งแคว้น “ซุนชู” ยามาดะเดินทางออกจากญี่ปุ่นเพื่อที่จะแสวงโชคเอาข้างหน้า โดยเข้ามาค้าขายในกรุงศรีอยุธยาก่อนที่จะสมัครเข้าไปเป็นทหารอาสาในเวลาต่อมา
ในรัชสมัยพระเจ้าทรงธรรรม ยามาดะได้รับการแต่งตั้งให้เป็นหัวหน้าหมู่บ้านญี่ปุ่น และยังเป็นพ่อค้าคนกลางกับชาวต่างชาติอีกด้วย เพราะว่าได้ประโยชน์ทางการค้าเป็นอย่างมาก หลังจากยามาดะรับราชการกับกรุงศรีอยุธยาแล้วมีความดีความชอบจนได้รับตำแหน่งถึง “ออกญาเสนาภิมุข” มีทหารในบังคับบัญชาประมาณ 800 คน และยังช่วยราชการปราบกบฎอยู่หลายครั้ง
การที่ยามาดะดำรงตำแหน่งสำคัญภายในราชสำนักอยุธยา จึงมีบทบาทสำคัญหลังจากที่พระเจ้าทรงธรรมเสด็จสวรรคต คือเกิดปัญหาเรื่องการสืบราชสมบัติ ยามาดะ นางามาซะมีความเชื่อเรื่องการสืบสันตติวงศ์ตามระเบียบประเพณีจึงคิดว่า สมเด็จพระเชษฐาธิราช พระโอรสของพระเจ้าทรงธรรม เหมาะสมที่จะขึ้นครองราชย์สมบัติ จึงขัดกับความคิดของออกญากลาโหม ซึ่งต่อมาคือ “สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง” ซึ่งคิดที่จะก่อการกบฏ โดยคิดกลอุบายให้ยามาดะ ไปปราบกบฏที่นครศรีธรรมราช เพื่อที่จะสะดวกในการชิงบัลลังก์จากสมเด็จพระเชษฐาธิราช ในเวลาถัดมา
หลังจากเสร็จศึกที่เมืองนครศรีธรรมราช ยามาดะ ได้ยกทัพไปปราบกบฏที่เมืองปัตตานี และถูกอาวุธจนได้รับบาดเจ็บสาหัส จึงกลับมารักษาตัวที่เมืองนครศรีธรรมราช และมีผู้คิดร้ายได้ลอบวางยาพิษ จนทำให้ ยามาดะ นางามาซะถึงแก่กรรมในที่สุด
อย่างไรก็ตาม ญี่ปุ่นยังเล่าขานถึงตำนานของยามาดะ มีการแต่งหนังสือขึ้นอยู่บ่อยครั้ง อาทิ เรื่อง “คนญี่ปุ่นในโลกของเรา” โดย วาตานาเบะ ชูจิโระ และเรื่อง “24 วีรบุรุษแห่งโลกตะวันออกตะวันตก” โดย โอโอมาชิ เคอิเกะสึ และยังพบเรื่องของ ยามาดะ นางามาซะ ในหนังสือแบบเรียนของชั้นมัธยม แต่ล้วนเป็นเรื่องที่แต่งเกินจริงโดยไม่คำนึงถึงความถูกต้องของตำนานแต่อย่างใด
เรื่องราวของยามาดะ นางามาซะ เป็นภาพสะท้อนให้เห็นถึงความสัมพันธ์ไทย-ญี่ปุ่น ที่มีมาอย่างยาวนาน ตั้งแต่แต่สมัยอยุธยาตลอดจนถึงปัจจุบัน…
อ่านเพิ่มเติม :
- ข้อสงสัยในบทบาทของ “ออกญาเสนาภิมุข” ขุนนางราชสำนักอยุธยาเชื้อสายญี่ปุ่น
- การสืบราชสันตติวงศ์ สมัยอยุธยา ในบันทึกชาวต่างชาติ
- “ออสุต” ล็อบบี้ยิสต์ กิ๊กมหาภัยในกรุงศรีอยุธยา กับสามีลับ 3 คน
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
อิชิอิ โยเนะโอะ และ โยชิกาวะ โทชิฮารุ. ความสัมพันธ์ไทย – ญี่ปุ่น 600ปี. กรุงเทพฯ : มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์
อนงคณา มานิตพิสิฐกุล. ไทยกับจีนและญี่ปุ่นสมัยอยุธยา. กรุงเทพฯ : สุวีริยาสาส์น
ปรับปรุงแก้ไขเนื้อหาในระบบออนไลน์เมื่อ 17 พฤศจิกายน 2561