“ออสุต” ล็อบบี้ยิสต์ กิ๊กมหาภัยในกรุงศรีอยุธยา กับสามีลับ 3 คน

กรุงศรีอยุธยา หมู่บ้านวิลันดา ฮอลันดา
ภาพกรุงศรีอยุธยาท่ามกลางพายุ โดยฟาน เดอ อา เป็นภาพมุมกว้างที่มองจากหมู่บ้านวิลันดา ชุมชน เครือข่ายของฮอลันดา (ภาพจากกรุงศรีอยุธยาในแผนที่ฝรั่ง โดย ธวัชชัย ตั้งศิริวาณิช)

เรามักได้ยินคนพูดว่า ประวัติศาสตร์เป็นเรื่องเชย แต่ถ้าได้รู้เรื่องของ “ออสุต” คงต้องพูดใหม่ว่า ปัจจุบันมันเชยจริง ๆ มันเอ๊าต์ ซะไม่มี!!!

“ออสุต” หรือ นางออสุต พะโค เป็นชื่อที่ฟังดูเหมือนชาวต่างชาติ และไม่ค่อยคุ้นหูนัก เธอเป็นลูกสาวมอญที่เกิดและโต ระหว่างปลายแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ต่อสมเด็จพระนารายณ์

แม้ชื่อจะไม่คุ้นหู หากแต่ชื่อบุคคลที่เธอมีปฏิสัมพันธ์ ล้วนเป็นผู้มากบารมีที่มีอิทธิพลกับบ้านเมือง

ผู้หญิง มอญ จิตรกรรม วัดบางแคใหญ่
ภาพจิตรกรรมบนฝาไม้วัดบางแคใหญ่ สมุทรสงคราม แสดงการแต่งกายของสาวมอญ (ภาพจากหนังสือ จิตรกรรมฝาผนังหนึ่งในสยาม)

เธอสัมพันธ์กับใคร ใครที่เธอสัมพันธ์ด้วยมีความสําคัญอย่างไรกับราชสํานักกรุงศรีอยุธยา

เธอมีสามีลับ 3 คน ทั้งหมดเป็นชาวต่างชาติ และมีอิทธิพลทางการค้ากับสยามในขณะนั้น

สามีลำดับที่ 1 คือ นายยาน ฟาน เมียร์ ไวค์ พ่อค้าชาวดัตช์ที่มาค้าขายในสยาม สามีลําดับที่ 2 คือ นายฟาน ฟลีต (เยเรเมียส ฟาน ฟลีต) ซึ่งเป็นหัวหน้าสถานีค้าขาย ของบริษัทอินเดียตะวันออกของฮอลันดา หรือก็คือ วันวลิต ผู้บันทึกเหตุการณ์ต่าง ๆ ของประเทศสยาม ไว้เป็นเล่มหนังสือชื่อ “จดหมายเหตุวันวลิต” สามีลําดับที่ 3 คือ นายฟาน เมาเดน หัวหน้าสถานีค้าขาย ของบริษัทอินเดียตะวันออกของฮอลันดา

นอกจากนี้ เธอยังมีสายสัมพันธ์กับบุคคลระดับสูงในราชสํานักกรุงศรีอยุธยา

บันทึกของวันวลิต-สามีลับลําดับที่ 2 ของเธอ กล่าวว่า “4 มกราคม ค.ศ. 1637 (พ.ศ. 2180) วันที่ 4 มกราคม ออสุต พะโค (อดีตภรรยาลับของ เมียร์ไวค์) แจ้งกับข้าพเจ้าว่าช่วงเช้าของวันนั้น

พระธิดาองค์หนึ่งของพระราชินี ได้เรียกนางไปที่พระราชวัง และบอกกับนางว่า พระราชินีเคยมีพระประสงค์ที่จะส่งนางกํานัลคนหนึ่งในตําหนักของพระนางมาให้ข้าพเจ้า เพราะพระนางแน่ใจว่า ข้าพเจ้าได้รับความเดือดร้อน และรู้สึกเจ็บช้ำเกี่ยวกับวิธีปฏิบัติของพระเจ้าแผ่นดิน

แต่พระราชินีทรงระงับความตั้งใจที่จะส่งเด็กสาวนั้นมาให้ข้าพเจ้าเสียแล้ว เพราะความกลัว (ว่า บรรดานางสนมคนอื่น ๆ ที่มีความริษยาจะนําเรื่องนี้ไปเพ็ดทูลพระเจ้าแผ่นดิน)

…ออสุต พะโค บอกกับข้าพเจ้าอีกว่า พระราชินีทรงเสียพระทัยและขัดเคืองพระราชหฤทัยอย่างยิ่ง ต่อสิ่งที่พระเจ้าแผ่นดินทรงกระทำ เพราะพระเจ้าแผ่นดินไม่เคยประณามชาวต่างชาติอย่างรุนแรงเยี่ยงนี้มาก่อน ด้วยเหตุนี้ พระนางจึงต้องการวิงวอนไม่ให้ข้าพเจ้าคิดไปในทางร้าย และเขียนรายงานไปถึงกษัตริย์ และผู้บังคับบัญชาของข้าพเจ้า…”

ฟังดูอาจคิดว่า ออสุตอาศัยบารมีของสามีลับที่กุมอำนาจทางการค้า หากความจริงเป็นการสมประโยชน์ด้วยกันทั้ง 2 ฝ่าย และเธอเองก็มีความสามารถเฉพาะตัวอยู่ไมน้อย

เพราะเธอรู้จักบุคคลระดับผู้นำในแวดวงต่าง ๆ และรู้จักวิธีการที่จะติดต่อกับบุคคลเหล่านั้นที่แตกต่างกันไป นี่คือจุดแข็งของออสุต ด้วยก่อนหน้านั้น สถานะความสัมพันธ์ระหว่างบริษัท VOC กับทางราชสำนักกรุงศรีอยุธยาค่อนข้างตกต่ำ นายโยส เซเต็น (หัวหน้าสถานคนเก่า) เคยแจ้งกับนายวันวลิตที่ถูกส่งมารักษาการแทนเขาที่ต้องเดินทางไปปัตตะเวียว่า สาเหตุอาจมาจากการไม่รู้เรื่อง “ธรรมเนียมปฏิบัติในการติดต่อกับทางราชสำนัก”

และนี่คือจุดเริ่มแรกที่นำนางออสุตมาสู่ราชสำนัก และสร้างเครือข่ายผลประโยชน์ ที่ทำให้นางกลายเป็นผู้หญิงทรงอิทธิพลทางการค้าในอยุธยา ยาวนานกว่า 2 ทศวรรษถัดมา

นางออสุตเริ่มมีบทบาทในการเป็น “ตัวเชื่อม” ของบริษัท VOC กับทางราชสำนักสยามประมาณ ปี ค.ศ. 1636 (พ.ศ. 2179) เมื่อบริษัท VOC ต้องการกำจัด ออกหลวงศรียศ เจ้ากรมท่าให้พ้นทาง เพราะไม่เป็นมิตรกับบริษัทเท่าที่ควร

ภาพเขียนสีน้ำมัน กองเรือ เรือ VOC
ภาพเขียนสีน้ำมันกองเรือบริษัท VOC ( ภาพจากVOC : A Bibliography of Publication)

เดือนมิถุนายน ค.ศ. 1636 (พ.ศ. 2179) นายฟาน ฟลีต ได้รับการแต่งตั้งเป็นหัวหน้าสถานีการค้าของ VOC แล้วพยายามที่จะเข้าถึงกรมวัง คือ ออกญาอุไทยธรรม เขาจึงใช้เครือข่ายของฝ่ายใน โดยให้นางออสุตติดต่อผ่านนางกำนัลของมเหสีพระเจ้าปราสาททอง ซึ่งพระมเหสีองค์นี้มีพี่ชายเป็นเสนาบดีคลัง

และแน่นอนที่ นางออสุตไม่ได้ไปด้วยมือเปล่า แต่ไปพร้อมกับของกำนัลอันมีค่า ในระดับที่ผู้รับทั้งหลายพอใจ พระมเหสีจึงได้ให้นางกํานัลจัดการนําพ่อค้าให้ได้พบปะเจรจากับพระคลัง

บันทึก VOC ฉบับหนึ่งของเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1637 (พ.ศ. 2180) ระบุว่า นายฟาน ฟลีต ส่งนางออสุตพร้อมกับของกำนัลที่เหมาะสม ไปขอยืมเงินตราสยามจากภรรยาของออกญาตะนาว อดีตผู้ควบคุมการผลิตเหรียญกษาปณ์ของพระเจ้าแผ่นดิน

บันทึกของ นายฟาน คุนส์ ผู้แทนพิเศษของ VOC เดือนมกราคม ค.ศ. 1651 (พ.ศ. 2194) ระบุว่า นางออสุตมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับภรรยาคนโปรดของออกญาสมบัติธิบาล ผู้ที่มีอิทธิพลสูงในราชสำนัก จนกล่าวกันว่า สิ่งที่ออกญาสมบัติธิบาลพูดออกมานั้น เสมือนเป็นพระราชดำรัสของพระมหากษัตริย์สยาม

ด้วยความสัมพันธ์ระหว่างนางออสุตและภรรยาของออกญาสมบัติธิบาลนี้ ทำให้บริษัท VOC ได้รับใบอนุญาตจากราชสำนัก ในการส่งออกข้าว และสินค้าอื่น ๆ จำนวนมาก โดยไม่ต้องนำของขวัญต่าง ๆ ไปเข้าหาเสนาบดีคลังที่มีอำนาจหน้าที่โดยตรงในการออกใบอนุญาต

นอกจากใบอนุญาตให้ค้าขายแบบบนโต๊ะแล้ว นางออสุตยังสามารถดำเนินการค้าแบบใต้โต๊ะ ผ่านเครือข่ายของเธอในราชสำนักอีกด้วย หลักฐานที่ปรากฏ คือ บันทึกของ นายฟาน ฟลีต ในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1639 (พ.ศ. 2182) ที่รายงานกับทางบริษัทว่า นางออสุตสัญญาว่า จะลักลอบนำแร่ดีบุก ซึ่งเป็นสินค้าผูกขาดของหลวงมาขายให้บริษัท VOC

ความสามารถของออสุตไม่ได้เป็นเพียงคนกลางที่คอยประสานประโยชน์ทางการค้าเท่านั้น เมื่อต้องต่อสู้กับวันวลิตผู้แทนการค้าจากฮอลันดา เพื่อแย่งสิทธิที่จะเลี้ยงดูลูกสาวของเธอ ทำให้สังคมประจักษ์ว่า เธอมีฝีมือไม่ธรรมดา

เอกสารของ VOC บันทึกเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า ในกรณีพิพาทแย่งลูกสาวกับนายฟาน ฟลีต อดีตสามี ทางบริษัท VOC พยายามช่วยนายฟาน ฟลีต เต็มที่ ในการร้องขอให้ทางสยามส่งบุตรสาวทั้ง 3 คนไปให้เขา แต่นางออสุตไม่ยอม และอิทธิพลระดับไม่ธรรมดาของเธอในราชสำนักช่วยยื้อแย่งบุตรสาวทั้ง 3 คนให้อยู่ในสยามตราบจนนางสิ้นชีวิตในปี ค.ศ. 1658 (พ.ศ. 2201)

เรื่องราวของ ออสุต เป็นเรื่องที่เกิดมากว่า 300 ปีมาแล้ว แต่ก็ทำให้รู้ว่า คนกลางผู้ประสานผลประโยชน์ที่เราเรียกว่า “ล็อบบี้ยิสต์” มีมาตั้งแต่ปีมะโว้ รู้ว่า “กิ๊ก” มีมานานเหมือนกัน แต่เขาเรียกว่า สามี/ภรรยาลับ รู้ว่าอำนาจ และผลประโยชน์เป็นใครมีในมือมากก็มีผลประโยชน์ที่ต้องดูแลรักษา คงต้องกลับไปคิดใหม่ว่า “ปัจจุบัน” หรือ “อดีต”กันแน่ที่เชย

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


ที่มา : 

สุภัตรา ภูมิประภาส. “นางออสุต: เมียลับ ผู้ทรงอิทธิพลแห่งการค้าเมืองสยาม” ใน, ศิลปวัฒนธรรม กันยายน 2552.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 24 กุมภาพันธ์ 2562