เมื่อพระราชโอรสร.4 กับลูกชายแม่ครัวหัวป่าก์ ร่วมมือชาวญี่ปุ่น ทำธนบัตรปลอมสมัยร.5

ธนบัตร คดีธนบัตรปลอม
ธนบัตรแบบที่ 1 พิมพ์ที่บริษัทโทมัส เดอ ลา รู จำกัด (THOMAS DE LA RUE & COMPANY LIMITED) ประเทศอังกฤษ เริ่มทยอยออกใช้ตั้งแต่พ.ศ. 2445 ในรัชกาลที่ 5 จนถึงรัชกาลที่ 6 (ภาพจากธนาคารแห่งประเทศไทย)

“คดีธนบัตรปลอม” สุดอื้อฉาวในสมัยรัชกาลที่ 5 คดีนี้ เกิดขึ้นหลังจากที่สยามเพิ่งเริ่มใช้ธนบัตรได้ประมาณปีเดียวเท่านั้น มิหนำซ้ำผู้ที่มีส่วนร่วมในการปลอมแปลงธนบัตร คนหนึ่งเป็นพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นพระองค์เจ้า เป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ของสยามอีกด้วย และอีกคนหนึ่งเป็นถึงลูกเจ้าพระยา

จุดเริ่มต้นคดีธนบัตรปลอม

คดีนี้เกิดขึ้นใน พ.ศ. 2446 จุดเริ่มต้นมีขึ้นเมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน นายลอว์สัน (Eric St. Lawson) ผู้บังคับการกรมกองตระเวน (ตำรวจในปัจจุบัน) ได้รับหนังสือจากนายวิลเลียมสัน (W. J. F. Williamson) เจ้าพนักงานกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ แจ้งว่า ฮ่องกงเซี่ยงไฮ้แบงก์ (The Hongkok Shanghai Bank) ได้พบ ธนบัตรปลอม

Advertisement

นายลอว์สันเดินทางไปตรวจสอบ พบว่าเป็นธนบัตรปลอมจริง จึงได้โทรศัพท์แจ้งให้นายอากรบ่อนเบี้ยและแขวงหวยทั่วกรุงเทพฯ ให้มาพบ แล้วอธิบายจุดแตกต่างของธนบัตรจริงกับ ธนบัตรปลอม หากพบผู้ใช้ธนบัตรปลอมให้รีบมาแจ้งแก่กองตระเวนทันที ต่อจากนั้นนายลอว์สันจึงแจ้งเรื่องนี้ไปยังธนาคารทุกแห่งในกรุงเทพฯ รวมถึงโรงศุลกากร และกรมรถไฟ

ในวันถัดมา ชาเตอร์แบงก์ (The Chartered Bank) แจ้งว่า ได้รับ ธนบัตรปลอม ตรวจสอบพบลายเซ็นภาษาอังกฤษบนธนบัตร สืบสาวราวเรื่องจนพบว่าได้มาจากพ่อค้าแขกที่ถนนเฟื่องนคร เมื่อติดตามตรวจสอบห้างร้านสำคัญ ๆ ในกรุงเทพฯ ก็พบการใช้ธนบัตรปลอมจำนวนหนึ่งพัวพันอยู่กับคนคนหนึ่ง นั่นคือ นายเพ่ง (จมื่นศรีสรรักษ์) บุตรชายของเจ้าพระยาภาสกรวงศ์กับท่านผู้หญิงเปลี่ยน (เปลี่ยน ภาสกรวงศ์ ผู้แต่งตำราอาหาร “แม่ครัวหัวป่าก์”)

จากการตรวจสอบพบว่า ในช่วงเวลาเพียง 3 วัน นายเพ่งได้นำเงินไปใช้จ่ายในเรื่องต่าง ๆ ไม่ต่ำกว่า 1,600 บาท และยังนำเงินอีก 6,000 ฝากธนาคาร กรมกองตระเวนเห็นว่ามีพิรุธเป็นที่น่าสงสัย นายลอว์สันจึงเข้าพบเจ้าพระยาภาสกรวงศ์เพื่อทำการสอบสวนนายเพ่ง แต่นายเพ่งกลับแจ้งว่า เงินจำนวนนั้นได้มาจากการเล่นพนัน นอกจากนี้เมื่อตรวจค้นบ้านแล้วก็ไม่พบธนบัตรปลอมแต่อย่างใด

ลูกสาวท่านผู้หญิงเปลี่ยน ท่านผู้หญิงเปลี่ยน เจ้าพระยาภาสกรวงศ์
ท่านผู้หญิงเปลี่ยน ภาสกรวงศ์ ถ่ายภาพกับเจ้าพระยาภาสกรวงศ์ (พร บุนนาค)

ใครบ้างมีส่วนพัวพัน?

อีกด้านหนึ่ง เจ้าพนักงานกรมกองตระเวนได้พุ่งเป้าสืบคดีธนบัตรปลอมไปที่ชาวญี่ปุ่น ด้วยทราบจากหม่อมเจ้าเศรษฐศิริ ซึ่งเพิ่งเสด็จกลับจากราชการที่ญี่ปุ่น ว่า ชาวญี่ปุ่นกลุ่มหนึ่งอาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับคดีนี้ จวบจนเวลาค่ำ นายลอว์สันเดินทางไปยังสถานกงสุลญี่ปุ่น เพื่อแจ้งเรื่องต่อเจ้าหน้าที่กงสุลให้ติดตามกรมกองตระเวนไปตรวจค้นที่คอนติเนนเตลโฮเตล ถนนสีลม ซึ่งชาวญี่ปุ่นกลุ่มนี้เข้าพัก ทว่า ทางโฮเตลไม่ยินยอมให้เจ้าพนักงานเข้าตรวจค้น ดังนั้น จึงจำเป็นต้องเชิญกงสุลฝรั่งเศสมาดำเนินการ เมื่อได้ตรวจค้นแล้ว ปรากฏว่าไม่พบธนบัตรปลอมแต่อย่างใด

ต่อมา ในวันที่ 20 พฤศจิกายน เจ้าพนักงานกรมกองตระเวนยังปักใจว่า นายเพ่งมีส่วนเกี่ยวข้องกับคดี จึงตามสืบจากกลุ่มคนที่เคยเล่นพนันโปกับนายเพ่ง ทำให้ยิ่งพบว่า ธนบัตรปลอมเหล่านั้นพัวพันกับนายเพ่งมากขึ้นทุกขณะ มิหนำซ้ำยังพบว่า นายเพ่งติดต่อไปมาหาสู่กับชาวญี่ปุ่นอยู่เป็นประจำ ในช่วงเวลานั้นเองก็มีรายงานพบธนบัตรปลอมเข้ามาเรื่อย ๆ ซึ่งผูกมัดการใช้จ่ายเงินของนายเพ่งทั้งสิ้น ด้วยเหตุนี้ ในช่วงบ่ายวันนั้น นายลอว์สันจึงให้ออกหมายจับนายเพ่ง แล้วนำหมายไปแจ้งต่อกรมหลวงนเรศรวรฤทธิ์ ในค่ำวันนั้นก็นำความขึ้นกราบบังคมทูลรัชกาลที่ 5

นายเพ่งยอมรับสารภาพ ซัดทอดว่าได้คบคิดกับกรมหมื่นพงษาดิศรมหิป หรือพระองค์เจ้าไชยานุชิต พระราชโอรสในรัชกาลที่ 4 ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาเที่ยง โดยกรมหมื่นพงษาฯ ทรงเป็นผู้ออกทุนในการปลอมแปลงธนบัตร ส่วนนายเพ่งเป็นผู้จัดการติดต่อกับนายยามาโมโต (Yamamoto) ชาวญี่ปุ่น ให้ออกไปทำธนบัตรปลอมขึ้นที่ญี่ปุ่น เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2445

ขบวนการชาวญี่ปุ่นยังประกอบไปด้วย นายอิวาโมโต (Ewamoto) เป็นผู้จัดการทำ, นายวาดา (Wada) เป็นผู้แกะพิมพ์และจัดพิมพ์, นายทากาฮาชิ (Takahasi) เป็นผู้ออกเงินทุนเพิ่มเติม และนายซาซากิ (Sasaki) ซึ่งอาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ เป็นผู้ดำเนินการหาที่พำนักให้ชาวญี่ปุ่นกลุ่มนี้ หลังจากที่มีการนำธนบัตรปลอมเข้ามาถึงกรุงเพทฯ เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน

วันที่ 21 พฤศจิกายน กรมกองตระเวนจึงออกหมายจับชาวญี่ปุ่นจากกงสุลญี่ปุ่น จับนายวาดา นายอิวาโมโต และนายทากาฮาชิได้ที่โฮเตลดังกล่าว จับนายซาซากิได้ที่บ้านเจ้าพระยาภาสกรวงศ์ ส่วนนายยามาโมโตนั้นหลบหนีไปและได้มอบตัวต่อราชทูตญี่ปุ่น

ธนบัตร แบงก์
ธนบัตรของไทยในอดีต ภาพซ้ายบนสุดคือ อัฐกระดาษ หรือหมาย (ขอบคุณภาพจากหนังสือ สิ่งพิมพ์สยาม โดย เอนก นาวิกวิมูล)

ศาลพิจารณาตัดสินให้กรมหมื่นพงษาฯ และนายเพ่ง ถูกจำคุกเป็นเวลา 20 ปี และให้ยึดทรัพย์ของนายเพ่งไว้ทั้งหมด อย่างไรก็ตาม กรณีของกรมหมื่นพงษาฯ นั้น รัฐบาลเห็นว่าอาจไม่มีประโยชน์อันใดในการยึดทรัพย์ เพราะบรรดาพระญาติคงจะเข้ามาช่วยเหลือได้ในที่สุด แต่รัชกาลที่ 5 ก็ทรงมีพระราชวินิจฉัยให้ถอดจากสมาชิกเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ต้องคืนพานทองเครื่องยศ ถอดออกจากตำแหน่งองคมนตรี และยกชื่อออกจากบัญชีเงินประจำปีพระบรมวงศานุวงศ์

ขณะที่ชาวญี่ปุ่นแม้จะทำผิดกฎหมายในสยาม แต่เนื่องจากเป็นคนในบังคับญี่ปุ่น จึงถูกนำตัวไปตัดสินโทษที่ประเทศญี่ปุ่น ศาลญี่ปุ่นพิจารณาตัดสินให้ทั้งหมดถูกปรับคนละ 70 เยน มีเพียงนายซาซากิถูกปรับเพียง 40 เยน

สันนิษฐานว่า การปลอมแปลงธนบัตรครั้งนี้อาจมีเงินมากถึง 1,200,000 บาท นับว่าเป็นเงินจำนวนมหาศาลในสมัยนั้น ซึ่งนายเพ่งให้การว่านำเข้ามาเพียง 80,000 บาทเศษ ขณะที่ชาวญี่ปุ่นสารภาพว่าได้ส่งธนบัตรให้พายเพ่งและกรมหมื่นพงษาฯ เพียง 50,000 บาทเท่านั้น แต่ไม่น่าจะเป็นจริงตามอ้าง และเชื่อว่าธนบัตรปลอมที่ยังหลงเหลืออยู่ที่ญี่ปุ่นนั้น กำลังรอโอกาสเหมาะสมที่จะนำเข้ามาในภายหลัง

ผลจากการสืบสวนสอบสวนคดีธนบัตรปลอม กรมหลวงนเรศรฯ กราบทูลรัชกาลที่ 5 ให้พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์แก่นายลอว์สัน

หลังจากที่กรมหมื่นพงษาฯ และนายเพ่งรับโทษถูกคุมขังไว้ได้ 1 ปี กรมหมื่นพงษาฯ ประชวรเป็นโรคปอด ซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงแก่พระชนม์ จึงทรงขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้รับโทษโดยการควบคุมพระองค์ โดยให้รักษาพระอาการอยู่ที่หัวเมืองจนกว่าจะหายประชวร ซึ่งรัชกาลที่ 5 ทรงมีพระบรมราชานุญาต แต่ทรงห้ามไม่ให้ออกสังคม และคบค้าสมาคมกับคนต่างชาติอีกต่อไป

เวลาต่อมา นายเพ่งถูกคุมขังอยู่ได้ 4 ปี 3 เดือน ก็ขอพระราชทานอภัยโทษ หลังจากเกิดเหตุวิวาทและถูกลอบทำร้ายในเรือนจำจนได้รับบาดเจ็บเป็นแผลฉกรรจ์ ซึ่งในการณ์นี้ รัชกาลที่ 5 ก็พระราชทานอภัยโทษให้พ้นโทษ รวมถึงกรณีของกรมหมื่นพงษาฯ ด้วยเช่นกัน

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


อ้างอิง :

จิรวัฒน์ แสงทอง. (2546). ชีวิตประจำวันของชาวสยามในกรุงเทพฯ พ.ศ. 2426-2475. (2546). วิทยานิพนธ์อักษรศาสตรมหาบัณฑิต, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 2 มิถุนายน 2562