ผู้เขียน | เสมียนนารี |
---|---|
เผยแพร่ |
ถ้าถามว่า “ธนบัตร” คืออะไร หลายท่านคงตอบว่า “ธนบัตรเป็นเงินที่ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย” เพราะเห็นข้อความนี้บนธนบัตรมานาน แต่นอกจากข้อความดังกล่าวแล้ว เอกลักษณ์สำคัญของธนบัตรไทยที่ทุกคนจำได้ดีก็คือ พระบรมฉายาสาทิสลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ด้านขวาของธนบัตร (ในอดีตอยู่ด้านซ้ายก็มี) และสถานที่สำคัญ หรือบุคคลสำคัญของของประเทศที่เลือกมาพิมพ์
ในหนังสือ “ธนบัตรรัชกาลที่ 9 เอกลักษณ์แห่งองค์พระมหากษัตริย์และความเป็นไทย” รวบรวมธนบัตรแบบหมุนเวียน และธนบัตรที่ระลึกในแบบราคาต่างๆ มาแสดงไว้ ในส่วนของ “ธนบัตรหมุนเวียน” ที่พิมพ์ออกมาเพื่อใช้หมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ รวบรวมมา 8 แบบด้วยกันคือ แบบ 9-16 ซึ่งขอเสนอเฉพาะ “ธนบัตรหมุนเวียน” บางประเภท ดังนี้
ธนบัตรแบบ 9 (พิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2491-92) มี 6 ชนิดราคา คือ 50 สตางค์, 1 บาท, 5บาท, 10 บาท, 20 บาท, 100 บาท ธนบัตรชนิดราคา 5บาท, 10 บาท, 20 บาท, 100 บาท ด้านหลังเลือกพิมพ์ภาพ “พระที่นั่งอนันตสมาคม” ส่วนด้านหน้ามีพระบรมฉายาสาทิสลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพิมพ์อยู่ด้านซ้าย
แต่ตรงกลางธนบัตรพิมพ์รูปสถานที่สำคัญแตกต่างกันไปดังนี้
ชนิดราคา 1 บาท-พระสมุทรเจดีย์ จังหวัดสมุทรปราการ , ชนิดราคา 5 บาท-พระปฐมเจดีย์ จังหวัดนครปฐม, ชนิดราคา 10 บาท-ป้อมปราการป้องกันรักษาพระนคร, ชนิดราคา 20 บาท-พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท, ชนิดราคา 100 บาท-ประตูซุ้มยอดมงกุฎ วัดอรุณราชวราราม หน้าประตูมีรูปปั้นยักษ์
สำหรับธนบัตรราคา 50 สตางค์ มีลักษณะแปลกไปกว่าชนิดอื่น คือด้านหน้าพิมพ์ภาพรัฐธรรมนูญบนพานแว่นฟ้า ส่วนด้านหลังเป็นภาพพระสมุทรเจดีย์ จังหวัดสมุทรปราการ
ธนบัตรแบบ 10 (พิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2511) มีชนิดราคา 100 บาท เท่านั้น ด้านหน้ามีพระบรมฉายาสาทิสลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพิมพ์อยู่ด้านขวา ด้านหลังพิมพ์ภาพเรือพระที่นั่งสุวรรณหงส์ แทนรูปสถานที่สำคัญ
ธนบัตรแบบ 11 (พิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2512-14) มี 5 ชนิดราคา คือ 5 บาท, 10 บาท, 20 บาท, 100 บาท, 500 บาท ด้านหน้ามีพระบรมฉายาสาทิสลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพิมพ์อยู่ด้านขวา ด้านหลังพิมพ์ ชนิดราคา 5 บาท -พระที่นั่งอาภรณ์ภิโมกข์ปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง, ชนิดราคา 10 บาท-พระอุโบสถ วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม, ชนิดราคา 20 บาท-เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช, ชนิดราคา 100 บาท-วัดพระศรีรัตนศาสดาราม, ชนิดราคา 500 บาท-พระปรางค์สามยอด จังหวัดลพบุรี
ธนบัตรแบบ 12 (พิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2521-24) มี 3 ชนิดราคา คือ 10 บาท, 20 บาท, 100 บาท ด้านหน้ามีพระบรมฉายาสาทิสลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพิมพ์อยู่ด้านขวา ด้านหลังเปลี่ยนมาพิมพ์ภาพบุคคลสำคัญของชาติแทนพิมพ์ ชนิดราคา 10 บาท-พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, ชนิดราคา 20 บาท-พระบรมราชานุสาวรีย์ตากสินมหาราช, ชนิดราคา 100 บาท-พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช
ส่วนธนบัตรแบบ 13-16 เป็นธนบัตรที่เพิ่งผลิตไม่นานยังมีใช้เวียนในระบบจึงไม่ขอกล่าวถึง
จะเห็นได้ว่าสถานที่สำคัญต่างๆ ที่เลือกมาพิมพ์ในธนบัตรนั้นไม่ว่าจะเปลี่ยนไปอย่างไรก็ยังคงเป็นศาสนาและพระมหากษัตริย์ซึ่งเป็นสถาบันหลักสำคัญของชาติ ส่วนจะเลือกใช้ในธนบัตรชนิดราคาใด บางท่านอาจคิดว่าธนบัตรชนิดราคา 500 บาท 1,000 บาท ต้องเลือกสถานที่สำคัญมากๆ แต่ธนบัตรราคา 10 บาท 20 บาท นั้นเข้าถึงประชาชนจำนวนมากกว่า สถานที่, บุคคลสำคัญที่เลือกพิมพ์ก็คงมีความสำคัญไม่น้อยเช่นกัน และทั้งหมดเล่าประวัติศาสตร์ของชาติ
คลิกอ่านเพิ่มเติม : วิวัฒนาการ “ธนบัตร” แห่งสยาม จาก “หมาย” สู่ “แบงก์” ชื่อเรียกติดปากของคนปัจจุบัน
ข้อมูลจาก ธนาคารแห่งประเทศไทย. ธนบัตรรัชกาลที่ 9 เอกลักษณ์แห่งองค์พระมหากษัตริย์และความเป็นไทย (ไม่ได้ระบุปีที่พิมพ์)
เผยแพร่ครั้งแรกในระบบออนไลน์เมื่อ 2 เมษายน 2563