
ผู้เขียน | โชติกา นุ่นชู |
---|---|
เผยแพร่ |
วิวัฒนาการเงินตราไทย “ธนบัตร” แห่งสยาม จาก “หมาย” สู่ “แบงก์” ชื่อเรียกติดปากของคนปัจจุบัน
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ถือเป็นช่วงเวลาที่สยามมีการปรับตัวและพัฒนาเทคโนโลยีให้มีความเจริญก้าวหน้าทันสมัยในทุก ๆ ด้าน ทั้งนี้ก็เพื่อดำรงไว้ซึ่งเอกราชและอธิปไตยของชาติ ท่ามกลางกระแสธารลัทธิจักรวรรดินิยมชาติตะวันตก ซึ่งกำลังแพร่ขยายอิทธิพลทางการเมือง การทหาร และการค้า เข้ามาสู่เบื้องบุรพทิศ

ด้วยพระปรีชาสามารถและพระอัจฉริยภาพของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในการดำเนินนโยบายทางการเมือง ด้วยการส่งคณะทูตเดินทางไปเจริญพระราชไมตรีกับประเทศมหาอำนาจตะวันตก และยินยอมเปิดเสรีทางการค้ากับนานาอารยประเทศ สินค้าที่ทางการสยามเคยผูกขาดมาแต่เดิมนั้น ราษฎรและพ่อค้าชาวต่างชาติต่างก็สามารถซื้อขายแลกเปลี่ยนกันได้อย่างเสรี ก่อให้เกิดการพัฒนาระบบเศรษฐกิจอย่างขนานใหญ่ ยังผลให้รัฐบาลสยามต้องดำเนินการปรับปรุงระบบการผลิตเงินตราใหม่ทั้งหมด
สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น เงินตราที่ใช้ซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้าในท้องตลาดยังคงเป็นเงินพดด้วงและเบี้ยหอยเหมือนครั้งสมัยกรุงสุโขทัย แต่หลังจากรัฐบาลสยามได้เปิดเสรีทางการค้ากับนานาอารยประเทศแล้ว การติดต่อค้าขายกับพ่อค้าชาวต่างชาติก็ขยายตัวเจริญเติบโตรุดหน้าขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้มีการจับจ่ายใช้สอยเงินตราในปริมาณที่สูงขึ้นตามลำดับ
แต่เนื่องจากเงินพดด้วงเป็นเงินตรามูลค่าสูง มีกรรมวิธีการผลิตที่ต้องใช้แรงงานคนเป็นหลัก ทำให้ไม่สามารถผลิตได้เพียงพอต่อความต้องการของพ่อค้าชาวต่างชาติ ยังผลให้เกิดสภาวะขาดแคลนเงินตราขึ้นในสยาม เงินพดด้วงมีกรรมวิธีการผลิตที่ไม่ซับซ้อน และสามารถทำได้ด้วยเครื่องมือง่าย ๆ ทำให้มีผู้คิดปลอมแปลงเงินพดด้วง และนำออกใช้ปะปนอยู่ในท้องตลาดจำนวนมาก สร้างความเดือดร้อนให้แก่ราษฎรและพ่อค้าชาวต่างชาติเป็นอย่างมาก
เรื่องราวของธนบัตรไทย
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำริในการแก้ปัญหาวิกฤตการณ์เงินตราขาดแคลนในครั้งนี้ ด้วยการโปรดเกล้าฯ ให้จัดพิมพ์ “เงินกระดาษ” นำออกใช้ครั้งแรกใน พ.ศ. 2396 เรียกว่า “หมาย” หรือ “หมายแทนเงิน” เป็นกระดาษสีขาวพิมพ์ตัวอักษรและลวดลายด้วยหมึกสีดำ ประทับตราพระราชสัญลักษณ์ประจำราชวงศ์จักรีรูปพระแสงจักร และพระราชลัญจกรประจำพระองค์รูปพระมหาพิชัยมงกุฎด้วยสีแดงชาด เพื่อป้องกันการปลอมแปลง
หมายที่โปรดเกล้าฯ ให้จัดทำมี 3 ประเภท ได้แก่ หมายราคาต่ำ หมายราคาตำลึง และหมายราคาสูง อย่างไรก็ตามราษฎรยังคงคุ้นเคยกับเงินพดด้วง ซึ่งเป็นเงินตราโลหะมาแต่โบราณ จึงไม่มีการใช้หมายแทนเงินกันอย่างแพร่หลายตามพระราชประสงค์
ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เกิดปัญหาเหรียญกษาปณ์ชนิดราคาต่ำ ซึ่งเป็นเงินปลีกทำจากดีบุกและทองแดงขาดแคลน ประกอบกับมีการนำ ปี้ ซึ่งเป็นเครื่องหมายที่ใช้แทนเงินในบ่อนการพนันมาใช้แทนเงินตราใน พ.ศ. 2417 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดเกล้าฯ ให้จัดทำเงินกระดาษชนิดราคาต่ำ เรียกว่า “อัฐกระดาษ” ให้ราษฎรโดยใช้จ่ายแทนเหรียญที่ขาดแคลน แต่อัฐกระดาษก็ยังไม่เป็นที่นิยม
เงินกระดาษชนิดต่อมาคือ “บัตรธนาคาร” โดยธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศสามธนาคารที่เข้ามาเปิดสาขาในประเทศไทย ได้แก่ ธนาคารฮ่องกง และเซี่ยงไฮ้, ธนาคารชาร์เตอร์แห่งอินเดีย ออสเตรเลีย และจีน และ ธนาคารแห่งอินโดจีน ได้ขออนุญาตนำบัตรธนาคารออกใช้ใน พ.ศ. 2432 , 2441 และ 2442 ตามลำดับ เนื่องจากในช่วงเวลานั้นรัฐบาลประสบปัญหาไม่สามารถผลิตเหรียญกษาปณ์ได้ทันต่อการขยายตัวของระบบเศรษฐกิจ

บัตรธนาคารมีลักษณะเป็นตั๋วสัญญาใช้เงินชนิดหนึ่งที่ใช้อำนวยความสะดวกในการชำระหนี้ระหว่างธนาคารกับลูกค้า ดังนั้น การหมุนเวียนของบัตรธนาคารจึงจำกัดอยู่ในวงแคบ เฉพาะบุคคลที่มีความจำเป็นต้องติดต่อธุรกิจกับธนาคารดังกล่าวเท่านั้น อย่างไรก็ดี บัตรธนาคารมีส่วนช่วยให้ประชาชนรู้จักคุ้นเคยกับเงินที่เป็นกระดาษมากขึ้น และเนื่องจากมีระยะเวลาการนำออกใช้นานกว่า 13 ปี ทำให้การเรียกบัตรธนาคารทับศัพท์ว่า แบงก์โน้ต หรือ แบงก์ สร้างความเคยชินให้คนไทยเรียกธนบัตรของรัฐบาลที่ออกใช้ภายหลังว่า “แบงก์” จนติดปากถึงทุกวันนี้
ขณะเดียวกันรัฐบาลสมัยนั้นได้พิจารณาเห็นว่า บัตรธนาคารของธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศมีลักษณะคล้ายกับเงินตราของรัฐบาล ดังนั้น จึงควรจัดทำเสียเอง ใน พ.ศ. 2433 ได้เตรียมการออกตั๋วเงินของกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ เรียกว่า “เงินกระดาษหลวง” โดยสั่งพิมพ์จากห้างกีเชคเก้ แอนด์ เดวรีเอ้นท์ ประเทศเยอรมันนี จำนวน 8 ชนิดราคา กำหนดราคาตามมาตรฐานเงินแบบไทย ได้แก่ 1 บาท 5 บาท 10 บาท 40 บาท 80 บาท 400 บาท และ 800 บาท เงินกระดาษหลวงได้ส่งมาถึงกรุงเทพฯ เมื่อ พ.ศ. 2435 แต่เนื่องจากความไม่พร้อมของทางการในการบริหาร จึงไม่ได้นำเงินกระดาษหลวงออกมาใช้
จนกระทั่ง พ.ศ. 2445 จึงเข้าสู่วาระสำคัญในการออกธนบัตร กล่าวคือ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีพระบรมราชโองการให้ตราพระราชบัญญัติธนบัตรสยาม รัตนโกสินทรศก 121 ขึ้นเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2445 อีกทั้งโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้ง กรมธนบัตรในสังกัดกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ เพื่อทำหน้าที่ออกธนบัตร รับจ่ายเงินขึ้นธนบัตร และเปิดให้ประชาชนนำเงินตราโลหะมาแลกเปลี่ยนเป็นธนบัตรตั้งแต่วันที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2445 จึงนับว่าธนบัตรได้เข้ามามีบทบาทในระบบการเงินของไทยอย่างจริงจังนับแต่นั้นมา
ธนบัตรที่นำออกใช้ตามพระราชบัญญัติธบบัตรสยาม รัตนโกสินทรศก 121 นั้น มีลักษณะเป็นตั๋วสัญญาใช้เงินของรัฐบาลที่สัญญาจะจ่ายเงินตราให้แก่ผู้นำธนบัตรมายื่นโดยทันที ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติเงินตรา พุทธศักราช 2471 ซึ่งกำหนดให้เงินตราของประเทศประกอบด้วยธนบัตรและเหรียญกษาปณ์ ตลอดจนให้ธนบัตรและเหรียญกษาปณ์เป็นเงินที่ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย จึงเป็นการเปลี่ยนลักษณะของ ธนบัตร จากตั๋วสัญญาใช้เงินมาเป็นเงินตราอย่างสมบูรณ์
อ่านเพิ่มเติม :
- เมื่อพระราชโอรสร.4 กับลูกชายแม่ครัวหัวป่าก์ ร่วมมือชาวญี่ปุ่น ทำธนบัตรปลอมสมัยร.5
- การแปรแบบธนบัตร แปลงเป็นศิลปะ และนัยของธนบัตรในเชิงสัญญะ
- สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 โรงพิมพ์ ม.ธรรมศาสตร์ ช่วยรัฐบาล “พิมพ์แบงค์ 50 ”
อ้างอิง :
อ.ท.ต. นิยม. (2557, มกราคม). เหรียญกระษาปณ์ทำมือรุ่นแรกของกรุงรัตนโกสินทร์. ศิลปวัฒนธรรม. 35(3) : 125–127, 129
ธนาคารแห่งประเทศไทย. (2562). วิวัฒนาการเงินตราไทย. สืบค้นเมื่อ 18 มิถุนายน 2562 ,จาก https://www.bot.or.th/Thai/Banknotes/Pages/default.aspx
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 19 มิถุนายน 2562