ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
ประเทศไทยเริ่มใช้ “ธนบัตร” เป็นครั้งแรก เมื่อ พ.ศ. 2445 โดยว่าจ้างให้ บริษัท โทมัส เดอ ลา รู จำกัด ประเทศอังกกฤษ เป็นผู้พิมพ์เรื่อยมา จนถึง พ.ศ. 2484 ก็มีเหตุให้การพิมพ์ธนบัตรของบริษัทฯ ต้องยุติลงชั่วคราว เนื่องจากเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 โรงพิมพ์ธนบัตรของบริษัทฯ ถูกโจมตีจากเครื่องบินเยอรมนี ทำให้ไทยเกิดปัญหาขาดแคลนธนบัตร
สุมัยวดี เมฆสุต ทีมวิชาการพิพิธภัณฑ์ พิพิธภัณฑ์ธนาคารแห่งประเทศไทย อธิบายถึงสถานการณ์ขาดแคลนธนบัตรในประเทศ และวิธีการแก้ของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี ไว้ในบทความที่ชื่อ “เมื่อมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ‘พิมพ์ธนบัตร’” (จุลสารหอจดหมายเหตุธรรมศาสตร์ ฉบับที่ 19 ) ว่า
ขณะที่รัฐบาลพยายามใช้มาตรการต่างๆ ในการปัญหาขาดแคลนธนบัตร ในขณะเดียวกันก็พิจารณาหาแหล่งพิมพ์ธนบัตรอื่นๆ ทดแทน ไว้ 2 แนวทาง คือ
- สั่งพิมพ์ธนบัตรมาจากประเทศญี่ปุ่น โดยขอให้ สํานักงานการพิมพ์ธนบัตรแห่งรัฐบาลญี่ปุ่น เป็นผู้ทํำธนบัตร และมี บริษัท มิตซุย บุซซัน ไคชะ ที่กรุงเทพฯ เป็นตัวแทนติดต่อ
- พิมพ์ธนบัตรเองภายในประเทศ ซึ่งวิธีนี้มีทั้งการพิมพ์ขึ้นใหม่ทั้งฉบับ การพิมพ์ธนบัตรทั้งฉบับ แต่พิมพ์แบบลดสี เพื่อให้พิมพ์ได้เร็วขึ้น หรือการนําธนบัตรที่พิมพ์เสร็จแล้วแต่ไม่มีการนําออกใช้ มาแปลงเป็นธนบัตรชนิดราคาอื่นๆ
การพิมพ์ธนบัตรในประเทศ รัฐบาลเลือกใช้โรงพิมพ์หลายแห่งด้วยกัน ดังนี้ 1. โรงพิมพ์ส่วนราชการ ได้แก่ โรงพิมพ์กรมแผนที่ทหารบก, โรงพิมพ์กรมอุทกศาสตร์กองทัพเรือ, โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง 2. โรงพิมพ์ของเอกชนได้แก่ โรงพิมพ์กรุงเทพฯ วานิช, โรงพิมพ์กิมไป๊, โรงพิมพ์จันหว่า ฯลฯ ให้พิมพ์ธนบัตรเป็นการชั่วคราว โดยเจ้าหน้าที่ของธนาคารแห่งประเทศไทยกำกับควบคุมดูแลอย่างใกล้ชิดที่โรงพิมพ์ทุกแห่ง
โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง เข้าไปเกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาขาดแคลนธนบัตร เมื่อกระทรวงการคลังมีหนังสือแจ้งขอความร่วมมือให้มหาวิทยาลัยช่วยพิมพ์ธนบัตร ซึ่งในเอกสารที่ติดต่อกัน เรียกธนบัตรที่จะให้ช่วยพิมพ์ว่า “ธนบัตร ใบละ 50 บาท”
ผู้เขียน (สุมัยวดี เมฆสุต ) ค้นคว้าเอกสารชั้นต้น ลำดับเหตุการณ์สรุปได้ดังนี้
12 กุมภาพันธ์ 2488 ผู้จัดการโรงพิมพ์ (นายประสิทธิ์ ลุลิตานนท์) ขอไปดูการพิมพ์ธนบัตรของกรมแผนที่ทหารบก เพื่อเตรียมการพิมพ์ธนบัตรให้แก่รัฐบาล
17 กุมภาพันธ์ 2488 ผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัย (นายปรีดี พนมยงค์) ประกาศแยกโรงพิมพ์แผนกพาณิชย์มหาวิทยาลัย ขึ้นเป็นหมวดพิเศษ เรียกว่า “หมวดการพิมพ์ธนบัตร” มีการตั้งคณะกรรมการควบคุมการพิมพ์ธนบัตร
1 มีนาคม 2488 มีบันทึกขอดูตัวอย่างธนบัตรที่พิมพ์ ขอให้ฝ่ายที่จัดพิมพ์แจ้งเรื่องสี รวมทั้งจํานวนสีที่ต้องการ เพื่อสํารองใช้ในเวลา 1 ปี และเรื่องยืมแท่นพิมพ์จากโรงพิมพ์พานิชศุภผล
5 มีนาคม 2488 หนังสือจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ถึงผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัย แจ้งเรื่องที่สั่งให้กรมบัญชีกลางจ่ายเงิน 200,000 บาทแล้ว และได้กําหนดให้ตั้งเบิกเป็นคราวๆ ในประเภทเงินทุนพิมพ์ธนบัตรของมหาวิทยาลัย
14 มีนาคม 2488 เลขาธิการมหาวิทยาลัย (ดร.เดือน บุนนาค) แจ้งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังว่า ได้รับเช็คเลขที่ 73206 ลงวันที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2488 สั่งจ่ายเงิน 100,000 บาทแล้ว
15 มีนาคม 2488 ส่งกระดาษมาให้ เพื่อพิมพ์ปรู้ฟธนบัตรใบละ 50 บาท พร้อมกับขอให้โรงพิมพ์แต่งสีแดงให้เข้ากับกระดาษที่ส่งมา
12 เมษายน 2488 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังมีหนังสือถึง เลขาธิการมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง แจ้งเรื่องจะให้ช่วยพิมพ์ธนบัตรชนิด ราคา 1 บาท
9 พฤษภาคม 2488 ผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัยมีหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เรื่องการคืนเงินทดรอง ที่ทางกระทรวงจ่ายมาเป็นค่าพิมพ์ธนบัตร
12 กันยายน 2488 อธิบดีกรมคลังแจ้งผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัย ยืนยันค่าใช้จ่ายในการพิมพ์ธนบัตร โดยขอให้ส่งใบสําคัญค่าใช้จ่ายเงิน และเงินเหลือจ่ายคืน
สำหรับธนบัตรใบละ 50 บาท ที่ทางโรงพิมพ์มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง จะจัดพิมพ์นั้น มีการระบุรายละเอียดของการพิมพ์ไว้ คือ 1. ใช้กระดาษจากโรงงานกระดาษกาญจนบุรี ชนิดเดียวกับธนบัตรแบบเจ็ดชนิดราคา 1 บาท และมีขนาดเท่ากันด้วย คือ 6.5 x 12.5 ซม. 2. ลายน้ำในตัวโรยไหมด้านหน้าใช้สีฟ้าและสีแดง ด้านหน้าพิมพ์ 2 สีด้านหลัง พิมพ์ 1 สี (พิมพ์ 3 ครั้ง) 3. พิมพ์ Running no. (หมวดเลขหมาย) ด้วยหมึกสีแดง 4. ตัดเป็นแผ่นเล็กเข้าแหนบเสร็จ
การช่วยราชการพิมพ์ธนบัตรนี้ มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ได้จัดแยกโรงพิมพ์แผนกพาณิชย์มหาวิทยาลัยขึ้นเป็นหมวดพิเศษต่างหาก เรียกว่า “หมวดการพิมพ์ธนบัตร” มีการทดลองพิมพ์ต้นฉบับ และกําหนดว่าจะเริ่มพิมพ์ธนบัตรใบละ 50 บาท รุ่นแรกในวันที่ 1 มีนาคม 2488 เป็นต้นไป
แต่ในท้ายที่สุด โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ก็ไม่ได้ช่วยพิมพ์ธนบัตรใบละ 50 บาท ตามเหตุผลที่กระทรวงการคลังแจ้งให้ทราบว่า
“เนื่องจากได้รับธนบัตรมาจากต่างประเทศพอจําหน่ายได้ชั่วคราว และประกอบทั้งการผลิตกระดาษในประเทศได้แก้ไขมีจํานวนพอทันแก่การพิมพ์ธนบัตร กระทรวงการคลังจึงได้ดําริที่จะแก้ไขการพิมพ์ธนบัตรฉบับละ 50 บาทใหม่ เพื่อให้ได้ขนาดและลักษณะของธนบัตรราคาสูง แต่ปรากฏว่ากรมแผนที่ได้มีแม่พิมพ์ธนบัตรชนิดราคา 50 บาท ตามขนาดที่ต้องประสงค์อยู่ และได้ขนาดที่จะพิมพ์โดยเครื่องของทางกรมแผนที่ แต่จะพิมพ์ได้ไม่รวดเร็วเหมือนเครื่องพิมพ์ของทางมหาวิทยาลัย และเพราะเห็นว่าเป็นธนบัตรชนิดราคาสูง จึงได้ตกลงให้กรมแผนที่เป็นผู้พิมพ์”
ถึงแม้โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง จะไม่ได้ช่วยพิมพ์ธนบัตรให้กับกระทรวงกระทรวงการคลัง แต่นี่ก็คือส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์การพิมพ์ธนบัตรของปะเทศไทย ที่มีโรงพิมพ์มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองร่วมอยู่ด้วย
อ่านเพิ่มเติม :
- “ตึกโดม” ตึกแรกของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สัญลักษณ์พิทักษ์ธรรมของ “ลูกแม่โดม”
- มุมมองของ “แอล ดูปลาตร์” คณบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง เมื่อแรกตั้ง
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
ข้อมูลจาก :
สุมัยวดี เมฆสุต “เมื่อมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ‘พิมพ์ธนบัตร’ ”, จุลสารหอจดหมายเหตุธรรมศาสตร์ ฉบับที่ 19 (มิถุนายน 2558-พฤษภาคม 2559 )
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 11 ตุลาคม 2562