มุมมองของ “แอล ดูปลาตร์” คณบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง เมื่อแรกตั้ง

ศาสตราจารย์แอล ดูปลาตร์ (L. DUPLATRE)

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง จัดพิธีเปิดปฐมฤกษ์ เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2477 การสอนช่วงแรกนั้น เมื่อมหาวิทยาลัยเปิดสอนสาขาวิชาเศรษฐศาสตร์ในระดับปริญญาโทและเอก จึงมีศาสตราจารย์แอล ดูปลาตร์ (L. DUPLATRE) เป็นคณบดีคนแรกของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง

ภายหลังจากสถาปนามหาวิทยาลัย 2 ปี วารสาร SIAM TODAY : Illustrated Review ฉบับเดือนมกราคม พ.ศ. 2479 ปรากฏบทความ “THE UNIVERSITY OF MORAL AND POLITICAL SCIENCES” (มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง) โดยศาสตราจารย์ แอล ดูปลาตร์

Advertisement

เนื้อหาในบทความบอกเล่าถึงความเป็นมาและวิชาที่มหาวิทยาลัยแห่งนี้เปิดสอนในช่วงเริ่มต้น จากการแปลของอรวรรณ ศรีอุดม เนื้อหาในบทความตอนหนึ่งสะท้อนแนวคิดในการสอนวิชามีใจความว่า

“ข้าพเจ้าขอจำกัดวงตนเองไว้เพียงอธิบายว่า นอกเหนือจากวิชาการที่ควรจะสอน – หรือกล่าวให้ถูกต้องก็คือ พื้นฐานในการเตรียมตัวอย่างดีที่สุดในวิชาชีพสาขาใดสาขาหนึ่งนั้น ผู้เข้าศึกษาจะไม่ถูกละเลยในอันที่จะได้รับการสอนให้มีความรู้ทั่วไปเบื้องต้นที่จำเป็นเพียงพอต่ออาชีพที่ตนเลือกไว้.

ยกตัวอย่างเช่น สาขากฎหมายปกครอง ซึ่งเป็นสาขาหนึ่งที่นักการเมืองในอนาคตหรือผู้บริหารในอนาคตได้เลือกเรียนนั้น. สาขาวิชานี้ได้ฝึกฝนนักศึกษามีความรู้เป็นพิเศษในด้านการพาณิชย์, คมนาคม, เกษตร, อุตสาหกรรม, กิจการด้านสาธารณชน. จุดประสงค์หลักก็คือเตรียมนักศึกษาให้มีความรู้ด้านดังกล่าว เพื่อให้พวกเขามีความสามารถไม่เพียงแต่จะเป็นผู้เชี่ยวชาญในหลักวิชาเท่านั้น หากยังเป็นผู้ที่มีความเข้าใจปัญหาที่เกี่ยวเนื่องกับหลักวิชานั้นเป็นอย่างดี ซึ่งปัญหานั้นอาจเป็นหัวข้อโครงงานหรือรายงานได้…”

กล่าวโดยรวมแล้ว การสอนอันได้จัดเตรียมไว้ ณ มหาวิทยาลัยแห่งนี้ มีเจตนารมณ์ที่จะให้ผู้ที่ศึกษาได้รับ ไม่เพียงแต่ความรู้ทางทฤษฎีอย่างเชื่อถือได้เท่านั้น หากรวมทั้งด้านการปฏิบัติที่มีประสิทธิภาพพอแก่การประกอบอาชีพต่างๆ ทั้งทางด้านพลเรือนและการศาล รวมทั้งยังได้เตรียมพร้อมพวกเขาไว้สำหรับอาชีพอิสระบางประเภทอีกด้วย…”

ศาสตราจารย์ แอล ดูปลาตร์ ยังระบุด้วยว่า “มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองได้รับความนิยมอย่างสูงจากประชาชน. คนจำนวนมากมายได้สมัครเข้าเป็นนักศึกษา. เสียงวิงวอนของรัฐบาบได้เป็นที่รับฟังกันแล้ว และการรังสรรค์สถาบันการศึกษาชั้นสูงแห่งนี้ขึ้นมาก็ได้รับความเห็นชอบจากมติมหาชนแล้ว… นักศึกษาที่มาจากหัวเมืองก็หาได้ถูกละเลยไม่. การสร้าง “ชุมชนมหาวิทยาลัย” ขนาดย่อมซึ่งได้ขยายใหญ่ขึ้นทุกปีสืบมานั้น ก็ได้มีไว้แก่พวกเขา เพื่อที่เขาจะได้มีที่พักพิงอันผาสุข โดยเสียค่าใช้จ่ายในอัตราที่เหมาะสมเป็นที่สุด.”

 


อ้างอิง :

ดูปลาตร์, แอล. มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง. อ้างถึงใน ศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 5, ฉบับที่ 8 (มิ.ย. 2527) : หน้า 22-27.


เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 14 เมษายน 2563