เจ้านายเล่าเรื่อง “อัฐปลอม” สมัยรัชกาลที่ 4

โรงกระสาปน์สิทธิกร ภาพถ่ายเก่าสมัยรัชกาลที่ 5

บ่อยครั้งเรามักได้ยินเรื่องราวแบงค์ปลอมเงินปลอมที่ระบาดไปทั่ว ดูเหมือนเรื่องการปลอมเงินจะไม่ได้มีแค่ในสมัยปัจจุบัน สยามเมื่อแรกผลิตเงินขึ้นใช้ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ก็เริ่มมีการทำเงินปลอมเกิดขึ้น สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ทรงเล่าเกี่ยวกับเรื่อง “อัฐปลอม” ที่เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 ไว้ว่า

“เรื่องอัฐปลอม นั้น เดิมในประเทศนี้ใช้เงินตราพดด้วง 3 ขนาด คือ บาท สลึง (1/4 ของบาท) และเฟื้อง (1/8 ของบาท) ราคาต่ำกว่านั้นลงมาใช้เบี้ย (หอยเก็บมาจากทะเลตั้งพิกัดราคา 1/6400 ของบาท) ถึงรัชกาลที่ 4 เมื่อทำหนังสือสัญญาค้าขายกับต่างประเทศแล้ว มีเรือกำปั่นเข้ามาซื้อสินค้าในกรุงเทพฯ มากขึ้น พวกชาวต่างประเทศเอาเงินเหรียญเม็กสิโคมาซื้อสินค้า ราษฎรไม่พอใจ พวกพ่อค้าจึงต้องเอาเงินเหรียญเม็กซิโคมาขอแลกเงินบาทที่พระคลังมหาสมบัติไปซื้อสินค้า

Advertisement
อัฐกระดาษ ในสมัยรัชกาลที่ ๔ เป็นกระดาษหน้าเดียว ทำด้วยกระดาษขาวมีกรอบใบเทศต่อก้าน มุมด้านซ้ายเขียนหมายเลขที่ของอัฐกระดาษ

จำนวนเงินที่มาขอแลกมากขึ้นทุกที จนโรงทำเงินที่พระคลังมหาสมบัติทำให้ไม่ทัน เพราะเงินพดด้วง ทำด้วยมือ ทำทั้งกลางวันกลางคืนก็ได้เพียงวันละ 2,400 บาท เป็นอย่างมาก จึงเป็นเหตุให้เกิดฝืดเคืองในการค้าขายด้วย

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดฯ ให้สั่งเครื่องจักรมาตั้งโรงกระษาปณ์เมื่อปีวอก พ.ศ. 2403 ทำเงินตราเปลี่ยนรูปเป็นเงิน (เหรียญ) แบน คงพิกัดบาทสลึงและเฟื้องตามราคาเดิม ต่ำกว่านั้นลงมาให้เลิกการใช้เบี้ย เปลี่ยนเป็นเหรียญทองแดง 2 อย่าง เรียกว่า “ซีก” (หมายความว่าครึ่งเงินเฟื้อง ราคา 1/16 ของบาท) อย่าง 1 “เสี้ยว” (หมายความว่าส่วนสี่ของเงินเฟื้อง ราคา 1/32 ของบาท) อย่าง 1 ถัดนั้นลงมาให้ทำเหรียญดีบุกขึ้น 2 อย่าง เรียกว่า “อัฐ” (หมายความว่าส่วนแปดของเงินเฟื้อง ราคา 1/64 ของบาท) อย่าง 1 เรียก “โสฬส” (หมายความว่าส่วนสิบหกของเฟื้อง ราคา 1/128 ของบาท) อย่าง 1 แต่ดีบุกเป็นของอ่อนหล่อง่ายและหาได้ง่ายในประเทศนี้ จึงมีผู้ทำอัฐและโสฬสปลอมขึ้นในกรุงเทพฯ

ครั้นตรวจตราจับกุมกันกวดขันก็ย้ายลงไปทำตามหัวเมืองมลายูแล้วลอบส่งเข้ามาจำหน่ายในกรุงเทพฯ จนอัฐปลอมแพร่หลายในท้องตลาด ราษฎรไม่รู้ว่าไหนเป็นของจริงไหนเป็นของปลอม พากันรังเกียจไม่อยากรับอัฐและโสฬส แต่จะไม่รับก็เกรงรัฐบาลจะเอาผิด จึงตื่นกันถึงกับคิดจะปิดร้านไม่ขายของ พ้องในเวลาเมื่อเปลี่ยนรัชกาล เรื่องนี้จะได้ปรึกษาหารือกันในรัฐบาลประการใดไม่ทราบ แต่ตกลงจะแก้ไขด้วยลดราคาทั้งเหรียญทองแดงและเหรียญดีบุกลงทันที

พอเปลี่ยนรัชกาลได้ 13 วัน ก็ออกประกาศอนุญาตให้ราษฎรเอาเหรียญทองแดงและดีบุกของรัฐบาลมาแลกเอาเงิน จะยอมให้เต็มราคาเดิมเพียง 15 วัน ต่อไปนั้นให้ลดพิกัดราคาเหรียญทองแดงซีกลงเป็นอันละอัฐ 1 (1/64 ของบาท) ลดราคาเหรียญทองแดงเสี้ยวลงเป็นอันละโสฬส ลดราคาเหรียญอัฐดีบุกลงเป็นอันละ 10 เบี้ย (1/640 ของบาท) และลดราคาเหรียญโสฬสลงไปเป็นอันละ 5 เบี้ย แล้วทำเหรียญดีบุกตรารัชกาลที่ 5 ขนาดเท่าเหรียญอัฐของเดิม ความตื่นเต้นกันด้วยอัฐปลอมก็สงบไป”

เป็นไปได้ว่าคงไม่ใช่เพียงยุคปัจจุบันที่มีแบงค์ปลอมเงินปลอมระบาดไปทั่ว แต่มีมาตั้งแต่ยุคก่อนหน้านี้แล้วเพียงแค่เราจะรับรู้ข้อมูลมากน้อยผ่านช่องทางใดเท่านั้นเอง ดังนั้นก่อนจับจ่ายใช้สอยอะไรควรตรวจเช็คให้ดีสักนิดเดี๋ยวจะโดนข้อหาใช้แบงค์ปลอมซื้อของเอาเสียดื้อๆ


คัดข้อความจาก. หนังสือ “ความทรงจำ”. สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ. มติชน. 2546


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 10 ตุลาคม 2560