ผู้เขียน | เสมียนอารีย์ |
---|---|
เผยแพร่ |
การเสียชีวิตของ พลเอก กฤษณ์ สีวะรา ลือกันว่ามีเหตุมาจาก “ข้าวเหนียวมะม่วง” บ้างก็พูดกันไปถึงขั้นวาง “ยาพิษ” เรื่องนี้มีเค้ามูลมากน้อยแค่ไหน?
กฤษณ์ สีวะรา คือใคร
พลเอก กฤษณ์ สีวะรา เกิดเมื่อวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2457 เป็น “ทหารการเมือง” อีกขั้วหนึ่งในกองทัพ เป็นนายทหารคนสำคัญที่มีบทบาทในช่วงเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 แม้จะดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) แต่ก็ไม่ได้มีหน้าที่รับผิดชอบจัดการการชุมนุมประท้วงของนักศึกษาและประชาชนในวันนั้น
ภายหลังกลุ่ม “ถนอม-ประภาส-ณรงค์” ถูกขับออกจากประเทศแล้ว พลเอก กฤษณ์ มีบทบาทในกองทัพและงานการเมืองสูงมากขึ้น แต่ไม่ได้รวบอำนาจเผด็จการดังเช่นยุคของ จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ และจอมพล ถนอม กิตติขจร
ในเหตุการณ์ “14 ตุลาฯ” พลเอก ทวี จุลละทรัพย์ ผู้ช่วยบัญชาการทหารสูงสุดในขณะนั้น และเป็นคนที่สนิทสนมกับ พลเอก กฤษณ์ เล่าว่า พลเอก กฤษณ์ ได้ใช้กุศโลบายให้สถานการณ์คลี่คลายลง โดยการตรวจและเก็บคำสั่งที่ไม่ถูกต้องไว้ไม่ให้ลงไปสู่หน่วยทหารภายใต้การบังคับบัญชาของตน พลเอก ทวี จุลละทรัพย์ ถึงกับกล่าวว่า “ข้าพเจ้าอาจจะพูดได้อย่างเต็มที่ว่า ถ้า พลเอกกฤษณ์ฯ ไม่ทำเช่นนั้น เราจะไม่ได้อะไรกันเลย นอกจากเลือดไทยจะต้องไหลเต็มถนนราชดำเนิน…”
พลเอก กฤษณ์ เกษียณอายุราชการเมื่อ พ.ศ. 2517 แต่ก็ยังทำงานการเมืองต่อมา ด้วยความหวังว่าจะเป็นเสาค้ำยันให้รัฐบาลผสมที่มีพรรคประชาธิปัตย์เป็นแกนนำ ซึ่งได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งเมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2519 ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช นายกรัฐมนตรีคนใหม่ จึงแต่งตั้งให้ พลเอก กฤษณ์ ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม แต่ยังไม่ทันรับตำแหน่งก็เสียชีวิตไปเสียก่อน
เหตุมรณกรรม
พลเอก กฤษณ์ สีวะรา ล้มป่วยกะทันหัน และเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า เมื่อวันที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2519 อย่างไรก็ตาม 2 เดือนก่อนหน้านี้ คือวันที่ 16 กุมภาพันธ์ หลังจากเวียนเทียนที่ปากช่อง นครราชสีมา ก็เคยล้มป่วยมาแล้วครั้งหนึ่ง
คุณหญิงสุหร่าย สีวะรา ภรรยา เล่าเหตุการณ์นี้ไว้ว่า “ท่านมีอาการป่วยครั้งหนึ่งที่โคราช หลังจากไปทำบุญวันมาฆบูชา มีอาการเจ็บที่หน้าอกและแน่น คุณหมอที่โคราชก็มาตรวจ ได้พักพอค่อยยังชั่ว แล้วกลับกรุงเทพฯ รุ่งเช้าได้ไปตรวจที่พระมงกุฎเกล้า พบว่าเส้นเลือดที่หัวใจตีบ ห้ามทำงานหนัก ห้ามเล่นกอล์ฟ คุณหมอสั่งให้พักผ่อนมาก ๆ แต่ท่านก็ไม่ยอมพัก…ต่อมาอีก 2 เดือน วันที่ 16 เมษายน 2519 เจ็บที่ยอดอกต้องส่งโรงพยาบาล อยู่ได้ 7 วันก็เสีย ดิฉันรู้สึกเสียใจมาก นึกไม่ถึงว่ามันจะรวดเร็วเช่นนี้…”
จากการสืบค้นของผู้เขียนในหนังสือพิมพ์ประชาชาติ ในช่วงเดือนเมษายน พ.ศ. 2519 ปรากฏรายงานข่าว พลเอก กฤษณ์ ล้มป่วยโดยละเอียด แต่ไม่มีเนื้อหาข่าวแม้แต่ส่วนเดียวที่ระบุถึง “ข้าวเหนียวมะม่วง” และจากรายข่าวในช่วงเวลานั้นชี้ชัดอาการป่วยไปที่โรคเกี่ยวกับ “หัวใจ” มากกว่า
หนังสือพิมพ์ประชาชาติ รายงานข่าวการล้มป่วยของ พลเอก กฤษณ์ วันแรกลงในฉบับวันที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2519 ลงหน้า 1 กรอบเล็ก ๆ ว่า “กฤษณ์ป่วย กฤษณ์ สีวะรา เข้าโรงพยาบาลกะทันหัน โรค ‘พิเศษ’ แพทย์ให้พักผ่อนระยะหนึ่ง…” เหตุที่ใช้คำว่า “โรคพิเศษ” นี้ เข้าใจว่าเป็นการเขียนข่าวรายงานอย่างกว้าง ๆ ไว้ก่อน เพราะยังไม่สามารถระบุโรคได้แน่ชัดว่าล้มป่วยด้วยเหตุใดกันแน่
ในวันที่ 16 นั้น พลเอก กฤษณ์ มีอาการแน่นหน้าอกหลังจากรับประทานอาหาร เมื่อนำตัวมารักษาที่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า แพทย์ได้ให้พักรักษาตัวที่ห้องฉุกเฉิน และงดเยี่ยม เพื่อให้ พลเอก กฤษณ์ พักผ่อนมาก ๆ
ข้าวเหนียวมะม่วง
หนังสือพิมพ์ประชาชาติ ฉบับวันที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2519 รายงานว่าเมื่อวานนี้คณะแพทย์ให้สัมภาษณ์กับนักข่าวว่า พลเอก กฤษณ์ เป็นโรคหัวใจ แต่ต้องคอยระมัดระวังโรคแทรกซ้อน และแพทย์แนะนำว่า “จะต้องมีการลดน้ำหนัก ออกกำลังกายแต่พอควร และต้องระมัดระวังในเรื่องการรับประทานอาหารประเภทไขมัน และของหวานให้มาก…”
ข้อความในหนังสือพิมพ์ประชาชาติวรรคนี้ พอจะเป็นเค้ามูลเกี่ยวข้องกับ “ข้าวเหนียวมะม่วง” ได้บ้างไม่มากก็น้อย เพราะอาหารชนิดนี้มีน้ำตาลและไขมันค่อนข้างมาก โดยจากบทความ “มะม่วง ผลไม้เพื่อสุขภาพคู่หน้าร้อน” เขียนโดย ดร. ดาลัด ศิริวัน จากสถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ อธิบายว่า
“ผู้สูงอายุ หรือผู้มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง และไขมันในเลือดสูง ต้องระมัดระวัง เพราะข้าวเหนียวมะม่วงเป็นอาหารที่มีทั้งน้ำตาลและไขมันปริมาณที่ค่อนข้างสูง…ผู้ป่วยโรคเบาหวาน หรือไขมันในเลือดสูง ควรกินมะม่วงสุกแต่น้อย กินครั้งละไม่เกิน 1 ผล ขนาดกลาง และใน 1 สัปดาห์ไม่ควรกินเกิน 2 ครั้ง ส่วนผู้ป่วยโรคไตควรงดกินมะม่วงสุกเพราะมีปริมาณโพแทสเซียมสูง…”
สำหรับ พลเอก กฤษณ์ เป็นคนที่ชอบกิน “ข้าวเหนียวมะม่วง” มาก ข้อมูลจากแหล่งข่าวกล่าวว่า ในอดีตเมื่อ พลเอก กฤษณ์ เดินทางไปยังโรงแรมแห่งหนึ่งในจังหวัดสระบุรี ก็มักสั่ง “ข้าวเหนียวมะม่วง” มารับประทานเป็นประจำ
สิ้น กฤษณ์ สีวะรา
อาการป่วยของ พลเอก กฤษณ์ เรียกว่าสวิงกลับไปกลับมา คือวันที่ 17 อาการทรุดน่าวิตก แต่ในช่วงเช้าวันที่ 18 อาการกลับดีขึ้น ซึ่งขณะที่อาการทรุดตัวนั้นตัวจะเขียวคล้ำ และปวดที่หัวใจ ถึงวันที่ 20 และ 21 อาการยังอยู่ในเกณฑ์ทั่วไป และมีทิศทางดีขึ้น คือ “หัวใจเต้นเป็นจังหวะ ระบบการหายใจปกติ ความจำดี พูดตอบโต้ได้ ระบบทางเดินอาหารปกติ คงให้ยาและอาหารทางเส้นหลอดเลือดและให้อ๊อกซิเจนเป็นครั้งคราว…”
ในช่วงเวลานี้ พลเอก กฤษณ์ ถูกแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ฝ่ายการเมืองกังวลเรื่องการให้ พลเอก กฤษณ์ ปฏิญาณตนรับตำแหน่ง แต่แพทย์ไม่ให้แจ้งเรื่องนี้กับ พลเอก กฤษณ์ เพราะเกรงว่าจะทำให้ตื่นเต้น ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อหัวใจได้
ทว่า ในวันที่ 22 อาการไม่ค่อยดี เส้นกราฟหัวใจค่อย ๆ อ่อนลงตั้งแต่ช่วงบ่าย และทรุดลงในช่วงเช้าของวันที่ 23 กระทั่ง พลเอก กฤษณ์ เสียชีวิตด้วยอาการหัวใจวาย หนังสือพิมพ์ประชาชาติ ฉบับวันที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2519 รายงานว่า พลเอก กฤษณ์ สีวะรา เสียชีวิตด้วยโรคหัวใจขาดเลือด หรือหัวใจตีบ ความดันโลหิตสูง และเบาหวานแทรกซ้อน
ผลกระทบ
การเสียชีวิตของ พลเอก กฤษณ์ ทำให้เกิดคลื่นใต้น้ำในกองทัพ โดยเฉพาะประเด็นการแต่งตั้งตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ซึ่งมีการยื้อแย่งอำนาจกันในกองทัพจากหลายขั้ว นอกจากนี้ บุคคลสำคัญในกองทัพ เช่น พลเอก ประมาณ อดิเรกสาร, พลเอก ทวิช เสนีย์วงศ์ ณ อยุธยา, พลอากาศเอก บุญชัย บำรุงพงศ์, พลเอก ฉลาด หิรัญศิริ, พลเรือเอก สงัด ชลออยู่, พลอากาศเอก กมล เดชะตุงคะ ฯลฯ ก็แข่งอำนาจกันอยู่ไม่น้อย
บรรยากาศฟากการเมือง กลุ่มนักศึกษา ฝ่ายขวา ฝ่ายซ้าย ก็ดุเดือดไม่แพ้กัน มุดา สุวรรณชาติ อธิบายว่า “ตลอดช่วงปี 2518-2519 การต่อสู้ในกระแสการเมือง ฝ่ายซ้าย-ฝ่ายขวา รุนแรงมาก กลุ่มขวาจัดเตรียมการรัฐประหารตั้งแต่กรกฎาคม 2518 แต่ยังทำไม่ได้ เพราะ ผท.ทบ. [พลเอก กฤษณ์ สีวะรา – ผู้เขียน] ท่านนี้แหละที่ขวางไว้ หลังจากพ้นตำแหน่ง ผบ. ทบ. พลเอก กฤษณ์ ก็ส่งข่าวผ่านอดีต ส.ส. ไขแสง สุกใส มาว่า ‘เตือนน้อง ๆ นักศึกษาด้วยว่า เขาจะฆ่าพวกคุณจริง ๆ ขณะนี้ผมยังไม่มีกำลังจะคัดค้านได้แล้ว’…”
หนังสือพิมพ์ประชาชาติ ฉบับวันที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2519 สัมภาษณ์ สุธรรม แสงประทุม ให้ทัศนะว่า “รู้สึกเสียใจต่อการสูญเสียในวงการทหาร เพราะ พลเอก กฤษณ์ ไม่เคยมีท่าทีเป็นปฏิปักษ์ต่อการเคลื่อนไหวเพื่อความเป็นธรรมแต่อย่างใด และพยายามอย่างยิ่งที่จะคานอำนาจของกลุ่ม พลตรี ประมาณ อดิเรกสาร ไว้ ‘หลังจากนี้การเมืองไทยจะถูกผลักดันจากกลุ่มทหารของ พลตรี ประมาณ ให้เป็นไปทางขวาจัดมากขึ้น’ นายสุธรรมกล่าว…”
เพราะ พลเอก กฤษณ์ ไม่เคยใช้นโยบาย “ขวาพิฆาตซ้าย” ความกังวลของนักศึกษาจึงเริ่มก่อตัวขึ้น
สรุป
ด้วยเพราะวัยที่ล่วงเข้า 62 ปี ประกอบกับอาการเจ็บป่วยตามประสาผู้สูงอายุ ซึ่งปรากฏเป็นสัญญาณเตือนมาตั้งแต่ 2 เดือนก่อนเสียชีวิตแล้ว รวมทั้งพฤติกรรมการกิน การใช้ชีวิต และโภชนาการ ฯลฯ ซึ่งในยุคสมัยนั้นอาจยังขาดความรู้ความเข้าใจอยู่ จึงเป็นเหตุให้ พลเอก กฤษณ์ จากไปอย่างกะทันหันเช่นนี้
ความชื่นชอบรับประทาน “ข้าวเหนียวมะม่วง” คงไม่ใช่สาเหตุสำคัญประการเดียวของการเสียชีวิตของ พลเอก กฤษณ์ สีวะรา
อ่านเพิ่มเติม :
- ในอดีต ผู้นำรัฐบอกให้ใช้มะม่วงแทนเมื่อมะนาวแพง และดูผลการปั้นให้มะนาวออกหน้าแล้ง
- ยำมะม่วง “สูตรอัมพวา” ฉบับ “รสโบราณ”
- ย้อนไอเดีย “ใช้น้ำมะม่วง(เบา) แทนน้ำมะนาว(ในน้ำยำ)” งานวิจัยหวังบรรเทาทุกข์เมื่อมะนาวแพง
อ้างอิง :
ที่ระลึกในงานพระราชทานเพลิงศพ พลเอก กฤษณ์ สีวะรา ณ เมรุหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส วันเสาร์ที่ 25 ธันวาคม 2519. ม.ป.พ, 2519.
หนังสือพิมพ์ประชาชาติ, ฉบับวันที่ 17-24 เมษายน พ.ศ. 2519.
แกะรอย ‘พล.อ. กฤษณ์’ จาก ‘ป๋าเปรม’ ถึง ‘บิ๊กตู่’. หนังสือพิมพ์มติชน, 16 มีนาคม 2557.
เส้นทาง อำนาจ อำนาจ ทหาร การเมือง ยุค กฤษณ์ สีวะรา. หนังสือพิมพ์ข่าวสด, 22 มกราคม 2548.
มุกดา สุวรรณชาติ. สงครามแย่งยึด…มิใช่แบ่งแยกประเทศ ทางเลือกที่ไม่มีใครอยากเลือก. มติชนสุดสัปดาห์, 21 มีนาคม 2557.
มะม่วง ผลไม้เพื่อสุขภาพคู่หน้าร้อน. ดาลัด ศิริวัน. หมอชาวบ้าน, พฤษภาคม 2557.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 18 เมษายน 2565