รู้จัก แซนสัน (Sanson) เต่ายักษ์อายุกว่า 100 ปีแห่งหมู่เกาะกาลาปากอส และปมปริศนาเรื่องอายุ

ภาพ แซนสัน (Sanson) เต่ายักษ์ กับ เซกันดีโน เบนิเตซ ผู้ดูแลเต่า ภาพจาก แฟ้มภาพซินหัว (เก็บภาพจากไฟล์วิดีโอ)

เมื่อปี 2021 รายงานข่าวจากสื่อต่างประเทศต่างเผยข้อมูลของ แซนสัน (Sanson) เต่ายักษ์ อายุมากกว่า 100 ปี จากหมู่เกาะกาลาปากอส (Galapagos Islands) ซึ่งกลายเป็นสิ่งดึงดูดนักท่องเที่ยวเดินทางมาเยือนสวนสาธารณะเลเจนด์ส (Legends Park) ในกรุงลิมา เมืองหลวงของเปรู

สำนักข่าวซินหัวรายงานโดยอ้างอิงเซกันดีโน เบนิเตซ ผู้ดูแลเต่า ซึ่งเล่าว่า แซนสัน เดินทางมาถึงเปรูในปี ค.ศ. 1960 และถูกย้ายจากสวนสัตว์บาร์รังโก ในเมืองเดียวกันมายังสวนสาธารณะแห่งนี้ เขาเล่าว่า

“ผมอยู่กับแซนสันที่นี่มานานกว่า 30 ปี ตอนผมเริ่มงานมันก็อยู่ที่นี่แล้ว มันถูกย้ายจากบาร์รังโกมานานกว่า 60 ปีแล้ว เราไม่รู้อายุที่แท้จริงของมัน แต่คาดว่าน่าจะมากกว่า 100 ปี” 

ประชาชนผู้มาเยี่ยมชมแซนสันเมื่อวันที่ 23 พ.ค. 2021 ซึ่งตรงกับวันเต่าโลก (World Turtle Day) ต่างรู้สึกประหลาดใจกับขนาดและน้ำหนักของมัน โดยมันมีน้ำหนักราว 220 กิโลกรัม ซึ่งเป็นเรื่องปกติสำหรับเต่าสายพันธุ์นี้จากหมู่เกาะกาลาปากอสในเอกวาดอร์

ทั้งนี้ องค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) ประกาศเตือนว่าเต่าในหมู่เกาะกาลาปากอสกำลังตกอยู่ในอันตรายจากการสูญพันธุ์

หมู่เกาะกาลาปากอส ซึ่งเป็นอุทยานแห่งชาติที่มีชื่อเสียงและได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลกขององค์การยูเนสโก เชื่อกันว่าเป็นแรงบันดาลใจให้ชาร์ลส์ ดาร์วิน สร้างทฤษฎีแห่งวิวัฒนาการโดยการคัดเลือกตามธรรมชาติ หลังเขาเดินทางเยือนหมู่เกาะแห่งนี้เมื่อปี 1835

หากอ้างอิงตามข้อมูลของสำนักข่าวต่างประเทศ หมู่เกาะกาลาปากอสอันเป็นต้นทางของสัตว์หายากเป็นอีกหนึ่งแหล่งอนุรักษ์ทางธรรมชาติที่สำคัญของโลก ยูเนสโก (UNESCO) ประกาศให้หมู่เกาะแห่งนี้มีสถานะเป็นมรดกทางธรรมชาติของโลกนับตั้งแต่ปี 1978 จากเอกลักษณ์ด้านพืชพรรณท้องถิ่นและสัตว์ท้องถิ่น

เชื่อกันว่า หมู่เกาะแห่งนี้เป็นที่อยู่ของสัตว์น้ำไม่ต่ำกว่า 2,900 สายพันธุ์ ในปี 1835 นักธรรมชาติวิทยาชื่อดังอย่างชาร์ลส ดาร์วิน มาอยู่บนเกาะแห่งนี้เป็นเวลาหนึ่ง

เมื่อครั้งที่เขาอายุ 22 ปี ดาร์วิน ออกเดินทางไปกับเรือเอชเอ็มเอส บีเกิล (HMS Beagle) ในทริปนี้เขาได้ศึกษาเรื่องภูมิประเทศ วัฒนธรรม และสัตว์ ระหว่างการเดินทางนี้เองที่เขาพัฒนาทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์ว่าด้วยแนวคิดเรื่องวิวัฒนาการ

ระหว่างการเดินทาง ดาร์วิน จดบันทึกลงในกระดาษจำนวนกว่า 1,750 หน้า ประกอบไปด้วยภาพวาดสัตว์และสิ่งต่างๆ ที่เขาพบเห็น และเก็บกระดูก ซากสัตว์ กลับมาด้วย เมื่อเดินทางกลับถึงลอนดอนเขาได้เผยแพร่เนื้อหาในบันทึก เวลาต่อมาก็ได้เผยแพร่หนังสือที่สะเทือนวงการอย่าง “กำเนิดสปีซีส์” (On the Origin of Species) เมื่อปี 1859

อ่านเพิ่มเติม :


หมายเหตุ : เนื้อหานี้เรียบเรียงขึ้นโดยข้อมูลส่วนหนึ่งคัดมาจากบริการข่าวสารภาษาไทยของสำนักข่าวซินหัว เผยแพร่เมื่อ 24 พฤษภาคม 2564


เผยแพร่ในเว็บไซต์ศิลปวัฒนธณรมครั้งแรกเมื่อ 8 กุมภาพันธ์ 2565