อานามสยามพ่าย ยุทธนาวี “ไตเซิน” พิชิตกองทัพสยาม ล่อไทยเข้าไปจนมุม-พ่ายยับ

ภาพประดับฝาผนังภายในอาคารอนุสรณ์สถาน แสดงเหตุการณ์ตอนพวกไตเซินพิชิตกองทัพสยาม (ภาพจาก ศิลปวัฒนธรรม ฉบับสิงหาคม 2556)

ในรอบ 1,000 ปี ตั้งแต่เป็นบ้านเป็นเมืองมา เวียดนามเจอศึกน้อยใหญ่หลายครั้ง แต่ที่นับว่าเป็นศึกใหญ่ระดับ “มหาสงคราม” นั้น เวียดนามเขาระบุว่ามี 10 ศึกด้วยกัน เช่น ศึกต้านทัพจีนที่แม่น้ำแบ็กดั่ง ศึกต้านฝรั่งเศสที่เดียนเบียนฟู ศึกต้านอเมริกาที่เวียดนามใต้ และที่สำคัญคือ ศึกต้านทัพสยามที่เหร็จเกิ้ม-สว่ายมุ๊ท (Rach Gam-Xoai Mut) ศึกท้ายสุดนี้ไม่เป็นที่รับรู้ในหมู่คนไทยเรา แต่ที่เวียดนามเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ จนปรากฏเป็นอนุสรณ์สถานและบรรจุในตำราเรียน

ความเดิม

เพื่อเข้าใจเรื่องราวดีขึ้นต้องย้อนอดีตไปสักนิดว่าในพุทธศตวรรษที่ 24 นั้นเวียดนามปกครองด้วยราชวงศ์เล (Le) ราชวงศ์นี้สถาปนาโดย เลเหล่ย (Le Loi) เมื่อพุทธศตวรรษที่ 19 (หรือคริสต์ศตวรรษที่ 13) ถ้าไปเวียดนามต้องได้ยินเรื่องวีรบุรุษที่ได้ดาบวิเศษจากเต่าและใช้เป็นอาวุธจนสามารถไล่จีนออกไป จากนั้นก็ประกาศเอกราชให้แก่เวียดนาม วีรบุรุษผู้นั้นก็คือ เลเหล่ย ปฐมกษัตริย์ราชวงศ์เลพระองค์นี้แหละ ราชวงศ์เลปกครองเวียดนามตั้งแต่นั้นมา แต่ว่าในเวลาต่อมาทายาทของราชวงศ์เลอ่อนกำลังลง มีอำนาจแต่เพียงในนาม อำนาจที่แท้จริงนั้นอยู่ในมือของขุนนาง 2 ตระกูล คือ

ตระกูลตริ่นห์ หรือจิ่นห์ (Trinh) มีอำนาจอยู่ในเขตเวียดนามเหนือ บริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำแดง หรือที่รู้จักในชื่อว่า “ตังเกี๋ย” (คำนี้พวกฝรั่งจะออกเสียงเป็น Tonkin) อีกตระกูลคือตระกูลเหงวียน (Nguyen) มีอำนาจในเขตเวียดนามกลาง หรือที่รู้จักกันในชื่อ “อานาม หรือ อันนัม” (An Nam) เรื่อยลงมาทางใต้จนมาถึงเมืองไซ่ง่อน (อดีตเรียกว่าเมืองยาดิ่งห์/Gia Dinh) ในสมัยนี้อาจเรียกได้ว่าเป็น “ยุค 1 ราชวงศ์ 2 ตระกูล”

ในยุคนี้เป็นยุคที่ชาวเวียดนามโดยเฉพาะพวกชาวไร่ชาวนา ถูกขุนนางทั้ง 2 ตระกูลรีดนาทาเร้นเพื่อกอบโกยเงินทองเข้ากระเป๋าตนโดยไม่คิดถึงหัวอกของคนที่ออกแรง ตอนที่ชาวบ้านต้องตกระกำลำบากนี้แหละที่ 3 พี่น้องตระกูล “เหงวียน” จากหมู่บ้านไตเซิน เมืองบิ่นห์ดิ่นห์ ที่ต่อมารู้จักกันในชื่อ “พวกไตเซิน” (Tay Son) ได้ลุกขึ้นนำพาผู้คนเข้ายึดอำนาจจากพวกขุนนางทั้ง 2 ตระกูล

พวกไตเซินก็แซ่ “เหงวียน” เหมือนกับพวกขุนนางที่ปกครองเวียดนามใต้ พวกนี้เป็น “เหงวียนขุนนาง” แต่พวกไตเซินเป็น “เหงวียนชาวนา” มีคนเล่าให้ฟังว่าทายาทของแซ่เหงวียนจากเวียดนามคนหนึ่งได้เป็นถึงนายกรัฐมนตรีของไทย แต่ไม่ทราบว่าบรรพบุรุษของท่านผู้นี้จะเป็น “เหงวียนขุนนาง” หรือ “เหงวียนชาวนา”

ชื่อแซ่ “เหงวียน” หรือ “เหงียน” นี้เขียนเป็นภาษาอังกฤษว่า Nguyen เอกสารไทยเก่า ๆ จะออกเสียงผิดเป็น “งูเย็น”

การยึดอำนาจของพวกไตเซินเริ่มจากเขตเวียดนามใต้ก่อน จากนั้นก็เข้าสู่เวียดนามเหนือ จนในที่สุดสามารถยึดเวียดนามได้ทั้งประเทศ ฝ่ายชาตินิยมเวียดนามจะยกย่องวีรกรรมของพวกไตเซินนี้มาก ด้วยถือว่าพวกไตเซินได้รวมแผ่นดินเวียดนามเป็นครั้งแรก คือรวมเวียดนามเหนือกับเวียดนามใต้เข้าด้วยกัน แต่ฝ่ายราชสำนักเวียดนามและพันธมิตรจะมองว่าเป็นการกระทำของพวกกบฏ ดังเช่นในเอกสารฝ่ายไทยจะเรียกพวกนี้ว่า “กบฏไตเซิน” ทุกครั้ง

อนุสรณ์สถานที่ระลึกยุทธนาวี เหร็จเกิ้ม-สว่ายมุ๊ท (ภาพจาก ศิลปวัฒนธรรม ฉบับสิงหาคม 2556)

ตอนนี้ขอกลับไปตอนที่พวกไตเซินกำลังเรืองอำนาจ แล้วเข้ายึดดินแดนในเขตเวียดนามใต้ได้เรื่อย ๆ ตอนนี้แหละที่ทายาทของขุนนางตระกูลเหงวียนจากเว้ได้หลบหนีลงมาอยู่ที่ไซ่ง่อน กะว่าจะใช้ที่นี่เป็นฐานที่มั่นต่อสู้กับพวกไตเซิน แต่แล้วก็ถูกพวกไตเซินตามมาตีจนไซ่ง่อนแตก ทายาทตระกูลเหงวียนกลุ่มหนึ่งนำโดยองเชียงชุนจึงหนีเข้ามาขอพึ่งพระบรมโพธิสมภารในพระเจ้าตากสิน แต่ว่าอยู่มาไม่นานองเชียงชุนกับพวกก็ถูกประหารชีวิต เหตุเพราะคิดจะหนีกลับเวียดนาม

ส่วนทายาทตระกูลเหงวียนอีกกลุ่มหนึ่งนำโดยองเชียงสือ ไปหลบอาศัยอยู่ที่ชายแดนติดเมืองเขมร ต่อมาเมื่อมีกำลังมากพอก็ยกพลไปยึดเมืองไซ่ง่อนคืนจากพวกไตเซิน จากนั้นองเชียงสือก็ตั้งตนเป็นเจ้าเมืองไซ่ง่อน แต่ว่าอยู่ได้ไม่นานพวกไตเซินก็ตามมาตีเมืองไซ่ง่อนคืนอีก องเชียงสือเลยต้องหนีไปอาศัยอยู่ที่เกาะฝูก๊วกและเกาะกูด จากนั้นก็เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารในรัชกาลที่ 1 ของสยาม รัชกาลที่ 1 โปรดให้ตั้งบ้านเรือนอยู่ที่บ้านคอกกระบือ แถว ๆ สี่พระยาในปัจจุบัน

ความใหม่

เหตุการณ์ที่จะนำเสนอใน “อานามสยามพ่ายในสมรภูมิเหร็จเกิ้ม-สว่ายมุ๊ท” ซึ่งเกิดใน พ.ศ. 2328 นั้น ก็เกิดในตอนนี้แหละ

เรื่องก็มีอยู่ว่าพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ได้ส่งกองทัพมาช่วยองเชียงสือรบกับพวกไตเซิน ด้วยหมายจะชิงเมืองเวียดนามจากพวกไตเซินให้แก่องเชียงสือ

จดหมายเหตุความทรงจำ ของ พระเจ้าไปยิกาเธอ กรมหลวงนรินทรเทวี (เจ้าครอกวัดโพ) กล่าวว่า “ณปลายปี พระโองการรับสั่งให้กรมหลวงเทพหริรักษ์ยกไปตีไกรเกริน”

“ไกรเกริน” ก็คือ “ไตเซิน”

พงศาวดารญวน (ฉบับที่สยามเรียบเรียงขึ้นรวมอยู่ในประชุมพงศาวดาร) กล่าวว่า “ถึงปีมะโรงศักราช 1146 จึงตรัสสั่งให้จัดกองทัพเรือ ให้พระเจ้าหลานเธอกรมหลวงเทพหริรักษ์เป็นแม่ทัพ กำกับองเชียงสือไปด้วย ให้พระยานครสวรรค์เป็นทัพหน้า ยกออกไปตีเมืองญวน เข้าทางปากน้ำเมืองนำก๊ก ตีทัพพวกองไกรเซินแตกขึ้นไปจนถึงคลองว่ำน่าว ฝ่ายพระยานครสวรรค์แม่ทัพหน้าคิดมิชอบเป็นใจกับพวกญวน จึงมีตราให้หาเข้ามา ณ กรุงฯ ให้ประหารชีวิตเสีย ส่วนกองทัพไทยตั้งอยู่คลองว่ำน่าวนั้น พวกญวนตัดหลังมาทางคลองวงเจิง เป็นทัพกระหนาบ กองทัพเรือไทยเห็นพวกญวนปิดไว้ทั้งต้นคลองทั้งปลายคลอง กลัวจะออกไม่ได้ ทั้งขัดเสบียงอาหารลงด้วยก็ทิ้งเรือใบเรือไล่เสีย ขึ้นบกหนีมาทางเมืองเขมร”

ส่วนเอกสารฝ่ายเวียดนามกล่าวถึงเหตุการณ์นี้ว่า “พวกเรา [คือไตเซิน] ตั้งทัพอยู่ที่หมีทอนี้ แล้วจัดทหารไปตั้งซุ่มอยู่ในลำคลองเหร็จเกิ้มกองหนึ่ง ให้ยกไปตำบลซาแด๊ก รบล่อให้พวกองเชียงสือกับกองทัพฝ่ายสยามไล่ลงมาพ้นจากเหร็จเกิ้มแล้วให้กองทุ่มสกัดต้นน้ำไว้ กองทัพที่หมีทอตีขนาบขึ้นไป ตามที่ตกลงกันนี้เป็นอันได้จัดกองทัพมาล่อทัพไทย ให้ไล่ถลำไปดังเช่นความคิดนั้น…”

ในพระราชพงศาวดารรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 1 ฉบับ เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ กล่าวว่า “ฝ่ายสมเด็จพระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงเทพหริรักษ์ ท้าวพระยานายทับนายกองและองเชียงสือ กราบถวายบังคมลา ยกกองทับเรือออกไปทางทะเล เข้าปากน้ำเมืองปาศัก ไปตั้งอยู่คลองวามนาว ฝ่ายญวนไกเซินซึ่งมาตั้งค่ายรักษาที่ปากคลองวามนาว ทางจะลงไปซาแดกล่องโห้ไซ่ง่อน กองทับกรมหลวงเทพหริรักษ์จะหักลงไปไม่ได้ ก็ขึ้นตั้งค่ายบนบก หมายจะตีค่ายบกของญวนให้แตกเสียก่อน จึงจะยกทับเรือล่องไป ไม่ได้คิดระวังหลัง ครั้นน้ำมากขึ้น ญวนก็เอาเรือรบลัดมาทางคลององเจืองออกแม่น้ำใหญ่ แล้วมาปิดปากคลองวามนาว ค่างด้านหลังทางเข้าไป ฝ่ายทับญวนค่างปากคลองลำน้ำเมืองไซ่ง่อนก็ตีเข้ามา ค่างฝ่ายลำน้ำสมีถ่อก็ตีรุกหลังเข้าไป ทับกรมหลวงเทพหริรักษ์อยู่หว่างศึกขนาบก็ทิ้งเรือรบเรือไล่เสีย แตกขึ้นบกหนีไป”

อาวุธของกองทัพสยาม จัดแสดงในอนุสรณ์สถาน (ภาพจาก ศิลปวัฒนธรรม ฉบับสิงหาคม 2556)

เพื่อให้เข้าใจเหตุการณ์นี้ได้ดียิ่งขึ้น ผมได้ขอให้ Vo Thi Linh Phuong นักศึกษาชาวเวียดนามเอกภาษาไทย ช่วยแปลหนังสือประวัติศาสตร์เวียดนามที่กล่าวถึงเหตุการณ์นี้ ได้ข้อมูลว่า

“เดือน 7/1784 [ปี พ.ศ. 2327] กองทัพเรือสยามเข้าฝั่งและยึดได้เหร็จยา (Rach Gia) และตีกองทัพไตเซินที่เกิ้นเธอ (Can Tho) และยึดได้หลายเมืองบริเวณแม่น้ำป่าสัก [แม่น้ำโขงสายล่างคนเวียดนามเรียกว่าแม่น้ำหลังหรือเห่าหย่าง/Hau Giang] แม่ทัพของไตเซินจึงนำกองทัพจากยาดิ่นห์ [Gia Dinh เมืองนี้ต่อมาเรียกว่าไซ่ง่อน] ไปต้านข้าศึกที่แม่น้ำป่าสัก

วันที่ 30/11/1784, Chu Van Tiep แม่ทัพสยามนำทัพมาทางบก เมื่อไปถึงแม่น้ำป่าสักก็ถูกกองทัพไตเซินโจมตีจนแพ้และแม่ทัพตาย เหงวียนเหวะ [นามเดิมคือ Quang Trung น้องชายคนที่ 2 ของพวกไตเซิน] จึงนำกองทัพมาช่วยเสริม แต่พระองค์พิจารณาเห็นว่าจำนวนไพร่พลน้อยกว่าที่ต่อสู้ได้ จึงถอยออกจากแม่น้ำป่าสัก กองทัพสยามจึงให้กองทัพเรือในแม่น้ำโขง [คนเวียดนามเรียก เตียนหย่าง/Tien Giang แปลว่า แม่น้ำหน้า] ไปตั้งค่ายอยู่ที่จาเติน [Tra Tan อาจเป็นบริเวณคลองวามนาวในจังหวัดซาแด็ก/Sa Dec ในปัจจุบัน]

ปลายปี 1784 กองทัพไตเซินนำโดยเหงวียนเหวะ (Nguyen Hue) ยกทัพไปตั้งมั่นที่หมีทอ (My Tho) พอถึงต้นปี 1785 [ปี พ.ศ. 2328] เหงวียนเว้ก็ส่งกองกำลังบางส่วนโจมตีแบบกองโจรเพื่อประเมินกำลังข้าศึก เมื่อรู้จักนิสัยกองทัพสยามที่มักโลภ เหงวียนเหวะก็ให้คนเอาเงินติดสินบนเพื่อทำให้กองทัพสยามประมาท

ด้วยความใกล้ชิดทำให้ประชาชนในพื้นที่เข้ามาเป็นฝ่ายของเหงวียนเหวะมากยิ่งขึ้น ตรงกันข้ามกับกองทัพสยาม ถือว่าตนเป็นคนมาช่วยเหลือ จึงกดขี่ข่มเหงประชาชน ดูถูกทั้งกองทัพไตเซินและเหงวียนเหวะ เพราะฉะนั้นในจดหมาย ลงวันที่ 25/1/1785 [ปี พ.ศ. 2328] ของเงหวียนเว้ ที่ส่งให้กับบาทหลวง เจ. ลิออต (J. Liot) เขียนว่า ‘ตอนนี้ทหารสยามปล้นทรัพย์สิน ข่มขืนผู้หญิง ฆ่าคนตามอำเภอใจ เพราะฉะนั้นนับวันกองทัพของไตเซินยิ่งเข้มแข็ง ส่วนกองทัพสยามยิ่งอ่อนลง’

ด้วยเหตุนี้ทำให้เหงวียนเหวะมีเวลาเพียงพอที่จะศึกษาภูมิประเทศและรูปแบบของการต่อสู้ครั้งใหญ่ เมื่อเปรียบเทียบกำลังพลก็ทราบว่า กองทัพไตเซินไม่สามารถต้านทัพสยามที่ซาแด็กและจาเติน (Sa Dec/Tra Tan) ได้ เหงวียนเว้จึงไปสำรวจภูมิประเทศและเรียนรู้จุดแข็งและจุดอ่อนของศัตรู ในที่สุดก็เลือกชัยภูมิได้ที่แม่น้ำโขงในเมืองหมีทอ (My Tho) ช่วงระหว่างแม่น้ำเหร็จเกิ้มกับแม่น้ำสว่ายมุ๊ท ตรงนี้อยู่ห่างจากเมืองหมีทอในปัจจุบันไป 12 กิโลเมตร

หลังจากให้ทัพบกและทัพเรือแอบซ่อนตามที่กำหนดไว้แล้ว เหงวียนเหวะก็ให้คนไปหลอกล่อกองทัพสยามให้ลงมาตีกองทัพไตเซินที่หมีทอ คืนวันที่ 18/1/1795 [ปี พ.ศ. 2328] กองทัพสยามทั้งเรือและบกบุกมาอย่างรวดเร็ว

เช้าตรู่วันที่ 19/1/1785 ขบวนเรือของศัตรูก็มาถึงสนามรบตรงที่ได้ซุ่มกองกำลังของไตเซินไว้ในคลองเหร็จเกิ้ม-สว่ายมุ๊ท (Rach Gam-Xoai Mut) กองทัพไตเซินส่งสัญญาเปิดการโจมตี เริ่มต้นกองทัพเรือของไตเซินสองชุดโผล่ออกจากคลองเหร็จเกิ้มและสว่ายมุ๊ท ปิดกั้นทั้งสองทางแล้วไล่ศัตรูเข้าไปจุดที่ดักรอไว้แล้ว ขณะเดียวกันจากสองฝั่งแม่น้ำ กองทัพบกไตเซินก็ยิงปืนใหญ่ไปที่ขบวนเรือศัตรู ซึ่งกำลังติดอยู่ที่กลางแม่น้ำ พร้อม ๆ กันนั้นเรือรบของไตเซินจากคลองทั้งสองฝั่งโผล่ออกมาเพื่อโจมตีและแบ่งแยกขบวนและให้เรือเล็กเข้าไปเพื่อทำลายเผาผลาญเรือศัตรู

พอรุ่งอรุณ การสู้รบก็ได้ยุติ ผลปรากฏว่าเรือรบ 300 กำลังพล 200,000 คน ของกองทัพสยามถูกกองทัพเหงวียนเว้กำจัดภายในเพียงแค่วันเดียว นายพลสยามหนีไปทางซาแด๊กนำไพร่พลที่เหลือไม่กี่พันคนกลับสยามโดยทางบก ส่วนเหงวียนแอ๊นห์ (หรือองเชียงสือ) หนีไปยังเมืองฮ่าเตียน (Ha Tien)”

บริเวณแม่น้ำโขงที่เกิดเหตุอานามสยามพ่าย (ภาพจาก ศิลปวัฒนธรรม ฉบับสิงหาคม 2556)

จากเอกสารทั้งหลายที่ได้นำมาเสนอนั้น สรุปได้ว่า กองทัพเรือของสยามซึ่งนำโดยกรมหลวงเทพหริรักษ์นั้น ถูกล่อให้ถลำเข้าไปบริเวณแม่น้ำโขงช่วงที่คลองสาขา 2 สายซึ่งอยู่ฝั่งซ้ายเหมือนกันไหลมาออกแม่น้ำโขง บริเวณนี้ปัจจุบันอยู่ในเขตจังหวัดหมีทอ (My Tho) คลองที่อยู่ทางเหนือคือคลองเหร็จเกิ้ม คลองที่อยู่ทางใต้คือคลองสว่ายมุ๊ท กองทัพเรือสยามถูกล่อให้มาอยู่ที่แม่น้ำโขงตรงบริเวณที่คลองทั้ง 2 กั้นอยู่ทางเหนือและใต้ เมื่อทัพเรือสยามมาถึงที่ตาย ทัพเรือของฝ่ายไตเซินก็ออกจากคลองทั้ง 2 สายมาปิดกั้นทั้งหัว-ท้าย รวมทั้งกองกำลังที่ซุ่มอยู่ 2 ฝั่งแม่น้ำโขงต่างก็ระดมยิงเข้ามา เป็นเหตุให้ฝ่ายสยาม ซึ่งตกอยู่ในวงล้อมต้องพ่ายแพ้ในที่สุด

จะเห็นได้ว่ากลยุทธ์อย่างนี้ ฝ่ายเวียดนามใช้มาตั้งแต่สมัยนายพลเจิ้นฮึงด่าว ที่หลอกล่อทัพเรือราชวงศ์หยวนของจีนเข้าไปที่แม่น้ำแบ๊กดั่ง อันเป็นสาขาหนึ่งของแม่น้ำแดงก่อนที่จะไหลออกทะเล โดยที่ฝ่ายศัตรูไม่รู้ว่าในขณะนั้นเป็นช่วงน้ำขึ้น ทำให้เรือจีนล่วงเข้าไปในแม่น้ำได้ แต่พอกองทัพเรือจีนเข้ามาถึงที่ตายแล้ว น้ำเริ่มลด รอซึ่งปักไว้ใต้น้ำก็โผล่ กั้นไม่ให้เรือจีนหนีไปได้ จากนั้นฝ่ายเวียดนามก็เข้าตะลุมบอน จนมีชัยชนะแก่จีนในที่สุด

และในการศึกอีกหลายครั้งในประวัติศาสตร์ของเวียดนามก็ใช้กลยุทธ์นี้ รวมทั้งศึกกับสยามคราวนี้ด้วย กลยุทธ์เรียกย่อ ๆ ว่า “ล่อ-ล้อม-รุม” คือล่อข้าศึกให้เข้ามาที่วางกับดักไว้ เมื่อมาถึงที่กำหนดไว้แล้วก็เข้าล้อมและรุมบดขยี เพื่อนชาวเวียดนามเล่าให้ฟังว่าในศึกที่จีนยกมาโจมตีเวียดนามเมื่อ ปี พ.ศ. 2522 ที่เรียกว่า “สงครามสั่งสอน” นั้น ฝ่ายเวียดนามก็ใช้กลยุทธ์นี้เช่นกัน

หลายคนคงสงสัยว่ากรมหลวงเทพหริรักษ์มีองเชียงสือไปด้วย ทำไมองเชียงสือไม่แจ้งเรื่องภูมิประเทศ หรือกลยุทธ์นี้ให้ทราบเลยหรือ ถ้าอ่านจากเอกสารฝ่ายเวียดนามก็จะทราบว่ากองทัพขององเชียงสือนั้นถูกกันให้แยกออกจากกองทัพของกรมหลวงเทพหริรักษ์ หรือว่าอาจจะแจ้งแต่กองทัพเรือของสยามไม่ตระหนักในเรื่องกลศึก คงคิดแต่เพียงว่าจะตามตีกองทัพฝ่ายไตเซินให้พินาศให้จงได้ เลยต้องถลำเข้าไปติดกับดักของฝ่ายไตเซินจนพ่ายแพ้ดังกล่าว

ฝ่ายพระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา กลับกล่าวถึงเหตุการณ์นี้ต่างออกไปว่า “ครั้นเพลาวันหนึ่ง ทัพเรือฝ่ายไทยยกลงไปรบทัพเรือญวน แล้วถอยขึ้นมาเอาศีรษะเรือรบจอดอยู่หน้าค่าย รี้พลขึ้นบกเข้าค่าย ทิ้งเครื่องศาสตราวุธปืนใหญ่น้อยไว้ในเรือ ด้วยมีความประมาทมิได้ระวังข้าศึก ครั้นเพลาน้ำขึ้น ทัพเรือญวนยกตามขึ้นมาถึงหน้าค่าย ยิงปืนระดมขึ้นมาทำลายค่าย ต้องไทยในค่ายตายเป็นหลายคนและพลทหารไทยเสียที จะลงเรือออกต่อรบมิทัน ก็ทิ้งค่ายเสีย แตกหนีเป็นอลหม่าน นายทัพนายกองจะกดไว้มิอยู่ ก็พากันแตกหนีมาทั้งสิ้น…”

ข้อมูลในเอกสารนี้บอกว่าที่ฝ่ายสยามแพ้นั้นเพราะประมาท ทิ้งอาวุธไว้ในเรือ เมื่อถูกฝ่ายไตเซินโจมตี ไม่มีปืนยิ่งโต้ตอบเลยต้องแพ้ แต่ไม่บอกเรื่องที่ถูกล่อให้เข้าไปจนมุม ฟังดูไม่ค่อยน่าเชื่อถือ เพราะในการศึก ทหารจะอยู่ห่างจากอาวุธอย่างนั้นได้หรือ และการที่กองเรือฝ่ายไตเซินจะมาประชิดจนยิงถล่มนั้น ฝ่ายสยามไม่เห็นศัตรูก่อนที่จะเข้ามาใกล้หรือ? จำได้ว่า อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ บอกไว้ที่ไหนสักแห่งว่าพระราชพงศาวดารฉบับนี้น่าเชื่อถือน้อยที่สุด เห็นจะจริง

ปัจจุบันที่ริมฝั่งแม่น้ำโขงในจังหวัดหมีทอ ตรงที่สยามเคยมาแพ้นั้น ทางเวียดนามได้สร้างเป็นอนุสรณ์ถึงชัยชนะครั้งนี้อย่างใหญ่โต ถ้าอยากเข้าใจว่าเป็นเพราะเหตุใด เวียดนามจึงให้ความสำคัญกับการศึกครั้งนี้ ต้องอ่านจากหนังสือที่ชื่อ “เวียดนาม ประวัติศาสตร์ฉบับพิสดาร” ของเหงวียนคักเวียน ซึ่งเขาเล่าถึงเหตุการณ์ในตอนนี้ว่า

“เหงวียนแอ็นห์ [คือองเชียงสือ] ใช้ยุทธวิธีโบราณ แบบศักดินาในยามตกยาก คือเรียกคนต่างชาติมาช่วย เขาขอความช่วยเหลือจากพระเจ้าแผ่นดินสยาม ซึ่งทรงส่งกำลังทัพจำนวน 2 หมื่นคน (บางหลักฐานระบุว่า 5 หมื่นคน) พร้อมเรือ 300 ลำ มาช่วย ใน ค.ศ. 1784 กองทัพสยามยกเข้ามาทางตะวันตกของปากแม่น้ำโขง เหงวียนเหวะ [ผู้นำไตเซินคนที่ 2] ออกไปเผชิญกับกองทัพสยาม ล่อให้กองทัพเรือสยามเข้าเกยตื้นบนฝั่งแม่น้ำหมีทอ (My Tho) ในอำเภอเหร็จเกิ้มสว่ายมุ๊ต (Rach Gam Xoai Mut) กองทัพสยามเหลือไพร่พลเพียง 2 พันคน ถอยไปทางบกทางทิศตะวันตก เป็นชัยชนะที่งดงามที่สุดอีกครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์เวียดนาม ที่มีชื่อเสียงเพราะเอาชนะได้อย่างรวดเร็ว ตัดบทมิให้สยามพยายามขยายอำนาจเข้ามาในนามโบะ (คือภาคใต้เวียดนาม) เหงวียนเหวะปรากฏตัวขึ้นในฐานะเป็นนักวางแผนที่เฉลียวฉลาดและเป็นวีรบุรุษของชาติ ตรงข้ามกับเหงวียนแอ็นห์ผู้พยายามชิงราชบัลลังก์ด้วยความช่วยเหลือจากกองทัพต่างชาติ”

ทีนี้คงเข้าใจแล้วว่าเหตุใดทางเวียดนามจึงให้ความสำคัญกับเหตุการณ์ครั้งนี้ จนสร้างเป็นอนุสรณ์สถานไว้ที่นี่ และคงเข้าใจดีว่าในอดีตนั้นเพื่อนบ้านมองเราอย่างไร ที่สำคัญที่สุดคงเข้าใจว่าเหตุใดประวัติศาสตร์เรื่องนี้ จึงไม่ปรากฏในตำราเรียนของเรา

อ่านเพิ่มเติม :


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาจากบทความ “อานามสยามพ่าย ตอน ยุทธภูมิเหร็จเกิ้ม-สว่ายมุ๊ท” เขียนโดย สมฤทธิ์ ลือชัย ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับสิงหาคม 2556

เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 30 ธันวาคม 2564