ทุพภิกขภัยในเวียดนามปี 1945 ภาวะอดอยากครั้งรุนแรง ต้องกินรากไม้ประทังชีวิต

ชาวเวียดนาม ปล้น ยุ้งฉาง ข้าว
ชาวเวียดนามปล้นยุ้งฉางข้าวของกองทัพญี่ปุ่น เมื่อปี 1945 ไฟล์ภาพจาก Võ An Ninh ไฟล์ภาพ public domain

ทุพภิกขภัยใน “เวียดนาม” ปี 1945 ภาวะอดอยากครั้งรุนแรง ต้องกินรากไม้ประทังชีวิต

ผู้เขียนได้ซื้อหนังสือภาษาเวียดนามเล่มเล็ก ๆ เล่มหนึ่ง ชื่อ Noi Dau Lich Su Nan Doi 1945 ซึ่งแปลความได้ประมาณชื่อเรื่องของบทความนี้ [ประวัติศาสตร์แห่งความทุกข์ระทม : ความอดอยากหิวโหยของเวียดนามเหนือในปี 1945 – กองบก.ออนไลน์]

…หนังสือจัดทำในปี 2005 (พิมพ์ครั้งที่ 3 ในปี 2007) โดยสำนักพิมพ์เยาว์ (Nha Xuat Ban Tre) ของหนังสือพิมพ์เยาว์วัย (Bao Tuoi Tre) มีลักษณะเป็นหนังสือรวมข้อเขียนสั้น ๆ หลายชิ้นด้วยกัน

จุดประสงค์ที่เขียนไว้ในคำนำหนังสือ บอกไว้ชัดเจนว่าต้องการรำลึกถึงเหตุการณ์อันน่าเศร้าสลดใจของประเทศเวียดนามเมื่อปี 1945 ซึ่งในทางจันทรคติเป็นปีที่มีชื่อเรียกเป็นภาษาเวียดนามว่า เอิ๊ตโหซ่ว (At Dau) หรือปีระกา คนเวียดนามจึงมักเรียกชื่อเหตุการณ์นี้ว่า Nan Doi At Dau (หนั่นด๊อยเอิ๊ตโหซ่ว)…

ปีระกา 1945 ในช่วงเวลาตอนปลายที่เวียดนามถูกยึดครองโดยกองทัพของญี่ปุ่น และขณะเมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 ใกล้จะปิดฉากแล้ว ได้เกิดภาวะความอดอยากอย่างรุนแรงที่ภาคเหนือของ เวียดนาม โดยเริ่มขึ้นตั้งแต่เดือนตุลาคม 1944 ต่อเนื่องเรื่อยมาถึงขั้นวิกฤตในช่วงต้นปี 1945 จนถึงเดือนพฤษภาคม ผู้คนกว่า 32 จังหวัดในภาคเหนือต้องอดอยากหิวโหยล้มตาย ตัวเลขของคนเวียดนามประมาณว่ามีคนตายในช่วงนั้น 2 ล้านกว่าคน จำนวนนี้มากกว่า 10 เท่าของคนญี่ปุ่นที่ตายเพราะถูกระเบิดปรมาณูลง 2 ลูกรวมกัน หรือมากกว่า 1 ใน 10 ของประชากรเวียดนามเหนือในขณะนั้น

เซืองจุงก๊วก ผู้เขียนบทนำเรื่อง เป็นนักวิชาการเวียดนามที่บังเอิญผู้เขียนเคยรู้จักตั้งแต่ปี 1989 ปัจจุบันยังเป็นนักวิจัยประวัติศาสตร์ นักวิจารณ์การเมือง สังคม และวัฒนธรรม ที่มีความแหลมคมคนหนึ่ง เขาและเพื่อนนักวิชาการญี่ปุ่นได้ชวนกันลงพื้นที่เพื่อเก็บข้อมูลเกี่ยวกับความอดอยากหิวโหยในภาคเหนือของ เวียดนาม ปี 1945 พวกเขาค้นพบว่า นอกจากความอดอยากเป็นสาเหตุแห่งการตายอันน่าเศร้าสลดใจแล้ว ยังมีสาเหตุอื่นเข้ามาผสมโรงด้วย คือ การตายเพราะโดนระเบิดของสหรัฐอเมริกาที่เอามาทิ้ง โดยเฉพาะในเมืองฮานอยระหว่างปี 1944-45 และยังมีการตายเพราะโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ อีกด้วย

เขากล่าวว่า ศพคนตายในเมืองฮานอยส่วนใหญ่ได้ถูกนำไปไว้รวมกันเป็นจำนวนมากในเขตฮายบ่าจึง โดยเฉพาะที่สุสานเหิบเถี่ยน และตั้งแต่ปี 1960 เริ่มมีการล้างสุสานโดยเอาที่ไปทำอย่างอื่น แต่ก่อนที่สุสานจะถูกล้างจนหมดสิ้น เซืองจุงก๊วกได้ลุกขึ้นต่อต้านและรณรงค์ให้อนุรักษ์สุสานที่เหลือไว้เพื่อเป็นอนุสรณ์สถาน และเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ทั้งยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ได้อีกด้วย

หลังจากนั้น รัฐบาลก็ได้รักษาสุสานดังกล่าว พร้อมกับจัดทำแผ่นป้ายหินบอกเล่าเรื่องราวของสถานที่ และนำเอาบทกวีขนาดยาวชื่อ แด่มวลชนผู้ประสบทุพภิกขภัยมรณะ (Truy Dieu Nhung Luong Dan Chet Doi) ของหวูเคียว ซึ่งแต่งไว้เมื่อต้นปี 1945 บรรยายสภาพความอดอยากหิวโหยของประชาชนทั่วภาคเหนือ มาสลักลงบนป้ายหินจารึกด้วย

เซืองจุงก๊วกยังเรียกร้องรัฐบาลให้เข้าไปเก็บและรักษาหลักฐานทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับเรื่องนี้ในเมืองท้ายบิ่ญ (จังหวัดท้ายบิ่ญ) ซึ่งเป็นพื้นที่เล็ก ๆ ที่มีคนตายเพราะความอดอยากมากที่สุด โดยเฉพาะเขาให้รีบเก็บข้อมูลจากคนที่มีชีวิตเหลือรอดมา หรือผู้ร่วมสมัยกับเหตุการณ์ เพราะว่าข้อเท็จจริง ความรู้สึกทุกข์ทรมาน รวมทั้งความคิดเห็นที่จะได้จากคนเหล่านี้นั้น คือประวัติศาสตร์บอกเล่าอันมีค่า หรือหลักฐานทางประวัติศาสตร์อันสำคัญยิ่งสำหรับการเรียนรู้ของเยาวชนเวียดนามรุ่นหลัง

เซืองจุงก๊วกย้ำว่า นี่คือประวัติศาสตร์ ที่คนเวียดนามไม่อาจลืมได้และต้องจดจำสำนึกไปชั่วกาลนาน…

ประวัติศาสตร์แห่งความทุกข์ระทมในปี 1945 มีสาเหตุรากฐานมาจากระบบการปกครองอาณานิคมของฝรั่งเศสใน เวียดนาม ซึ่งยึดผลประโยชน์ของเมืองแม่เป็นหลัก และไม่ได้คำนึงถึงประชาชนคนพื้นเมืองทั้งยังใช้ประโยชน์จากทรัพยากรและแรงงานอย่างขูดรีดเต็มกำลัง ทำให้ประชาชน โดยเฉพาะในเวียดนามเหนือ ซึ่งปกติสมัยศักดินาปกครองก็ยากจนข้นแค้นอยู่แล้วนั้น ต้องตกอยู่ในสภาพยากจนไม่รู้จบ กินไม่เคยอิ่ม และสุขภาพย่ำแย่ พวกชาวนาและกรรมกรถูกขูดรีดมากที่สุดในระบบอาณานิคม

สำหรับเวียดนามเหนือ ฝรั่งเศสปกครองโดยให้เป็นรัฐในอารักขา ไม่ได้ปกครองโดยตรงเช่นเดียวกับเวียดนามใต้ ซึ่งเป็นที่ตั้งศูนย์กลางการปกครองอินโดจีนของฝรั่งเศส และเป็นพื้นที่ที่ฝรั่งเศสใช้สำหรับการผลิตข้าวและยางพาราส่งออกเป็นสำคัญ

แม้จะเป็นรัฐในอารักขา ฝรั่งเศสก็ไม่ได้ละเว้นในการแสวงหาผลประโยชน์จากเวียดนามเหนืออย่างเต็มที่ โดยเฉพาะการผลิตข้าวและการใช้ทรัพยากรแหล่งแร่ธาตุต่าง ๆ ที่มีในเวียดนามเหนือ

ในปี 1913 ฝรั่งเศสเริ่มเร่งรัดการส่งออกข้าวมากขึ้นเรื่อย ๆ จนทำให้มีข้าวสำหรับการบริโภคภายในเหลือน้อยลง ยิ่งในเวียดนามเหนือด้วยแล้วยิ่งลำบาก เพราะไม่ได้อุดมสมบูรณ์เท่ากับเวียดนามใต้ และยังมีประชากรที่หนาแน่นกว่าด้วย การขาดแคลนข้าวสำหรับการบริโภคจึงส่งผลถึงคนเวียดนามเหนือโดยตรง

ทุพภิกขภัยในเวียดนามเหนือเริ่มขึ้นในช่วงทศวรรษ 1930-40 ทั้งนี้เนื่องจากภายหลังเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก (Great Depression) ฝรั่งเศสได้เปิดฉากการใช้นโยบายเศรษฐกิจที่ขูดรีดอย่างเข้มข้นยิ่งขึ้นในอินโดจีน โดยบังคับให้คนพื้นเมืองกันพื้นที่สำหรับการปลูกพืชเศรษฐกิจ (cash crops) เพิ่มขึ้น ในราคาค่าตอบแทนพืชผลที่ต่ำมาก ทำให้ชาวนาไม่ได้รับประโยชน์อะไร ซ้ำยังต้องเสียภาษีหนัก และขาดแคลนที่ดินสำหรับปลูกข้าวด้วย รวมทั้งทำให้เกิดตลาดมืดรับซื้อพืชผลในราคาสูงมากถึง 20 เท่า

ในระหว่างช่วงแรกที่เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 (1939-41) ฝรั่งเศสกักตุนอาหารโดยเฉพาะข้าวจากชาวนาเวียดนามทั้งเหนือและใต้ ทำให้ข้าวซึ่งมีเหลือสำหรับการบริโภคน้อยอยู่แล้วนั้น กลับน้อยลงไปอีก เพราะนอกจากจะไว้ส่งออกแล้ว ยังเอาข้าวไปกลั่นเป็นน้ำมันเอทานอลอีก

ภาวะที่ย่ำแย่ของคนเวียดนามเหนือต่อเนื่องซ้ำเติมด้วยช่วงเวลาการยึดครองของญี่ปุ่นในระหว่างปี 1941-45 ซึ่งบังคับเอาข้าวปลาอาหารจากพวกชาวนาไปเป็นเสบียงของตน ปรากฏว่าในระหว่างปี 1942-45 ญี่ปุ่นนำข้าวจากเวียดนามใต้ส่งออกไปประเทศของตนเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ยังบังคับชาวนาให้ปลูกพืชเศรษฐกิจแทนข้าวเช่นเดียวกับพวกฝรั่งเศส การผลิตข้าวที่ลดลงกับผลผลิตที่เหลือน้อยจึงยาวนานสืบต่อกันถึง 15 ปี

และแล้ว สาเหตุปัจจุบันมาถึงเมื่อสวรรค์ไม่ปรานี จุดวิกฤตก็บังเกิด การผลิตข้าวที่ลดลงอยู่แล้ว ต้องถูกซ้ำเติมอย่างรุนแรงที่สุดจากภัยแห้งแล้งและน้ำท่วมต่อกันในช่วงปี 1944 ปรากฏว่าผลผลิตลดลงทันที 20% และยังลดลงต่อเนื่องไปเรื่อย ๆ จนถึงต้นปี 1945 ผู้คนเริ่มขาดแคลนอาหาร จากมีกินน้อย กลายเป็นไม่มีจะกิน เริ่มอดอยาก หิวโหย และล้มตาย จากตายน้อยถึงตายมาก จากตายมากถึงตายเป็นเบือไม่ต้องนับ

ในภาวะสงคราม ทุพภิกขภัยมรณะของเวียดนามเหนือแทบจะไม่ได้รับการช่วยเหลือ หรือบรรเทาทุกข์ได้ทันเวลา เหตุเพราะอยู่ในระหว่างสงคราม และการคมนาคมไม่สะดวก เพราะการทิ้งระเบิดอย่างหนักปิดเส้นทางบกและน้ำของฝ่ายสัมพันธมิตรในระหว่างปี 1944 พวกเวียดมินห์ (เหวียดมิญ) ยังอยู่ในป่า คอยหลบการปราบปรามของพวกญี่ปุ่น พวกฝรั่งเศสถูกญี่ปุ่นขับไล่ออกไปแล้ว และถึงยังอยู่ก็ไม่รู้ว่าจะช่วยได้หรือจะทำให้แย่ลง พวกญี่ปุ่นซึ่งกำลังสาละวนรบอยู่ก็ถือว่าข้าวเป็นยุทธปัจจัยที่สำคัญในการทำสงคราม จึงไม่ได้เอาข้าวที่อยู่ในเสบียงคลังของตนออกมาแจกจ่ายช่วยเหลือคนเวียดนาม

ส่วนจักรพรรดิราชวงศ์เหงวียนที่เฮว้ก็ไม่สามารถสั่งการช่วยเหลือดูแลอะไรได้ เพราะหมดอำนาจและต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของต่างชาติ ได้แต่ยังอยู่อย่างเจว็ดตั้งแต่สมัยฝรั่งเศสเข้าปกครองแล้ว

ทั้งญี่ปุ่นและฝรั่งเศสซึ่งรบกันอยู่ต่างก็ปล่อยให้ เวียดนามเหนืออดอยากไป และยังมีส่วนที่คิดเห็นว่า เป็นการดีที่จะทําให้ฐานขบวนการปฏิวัติของพวก เวียดมินห์ถูกขจัดไปหรืออ่อนกําลังลงด้วย

แต่เหตุการณ์อันแสนสาหัสนี้กลับเป็นประโยชน์ต่อพวกเวียดมินห์ กลายเป็นโอกาสสำคัญทำให้ได้ใช้ประโยชน์สำหรับการรณรงค์ต่อต้านลัทธิอาณานิคมฝรั่งเศสและฟาสซิสต์ญี่ปุ่น ทำให้สามารถระดมคนจำนวนมากเข้ามาเป็นกำลังของพวกเวียดมินห์ การใช้ประโยชน์นี้รวมไปถึงการปลุกปั้นให้ประชาชนเข้าปล้นสะดมคลังอาหารของญี่ปุ่นด้วย โดยมีคำขวัญว่า “ปล้นฉางข้าวเอามาช่วยคนอดอยาก” ในระหว่างนี้จึงเกิดการปล้นคลังข้าวปลาอาหารของญี่ปุ่นในหลายจังหวัด

ชาวเวียดนาม ปล้น ยุ้งฉางข้าว ของ กองทัพญี่ปุ่น
ชาวเวียดนามปล้นยุ้งฉางข้าวของกองทัพญี่ปุ่น

ในคำประกาศอิสรภาพของโฮจิมินห์ (โหจี๊มิญ) เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 1945 ภายหลังการปฏิวัติเดือนสิงหาคม (ก๊ากหมั่งท้างต๊าม) ประสบความสำเร็จแล้ว ได้กล่าวว่า ประชากรของเวียดนามเหนือที่ล้มตายเพราะความอดอยากนั้นมีจำนวน 2 ล้าน กว่าคน ในขณะที่สถิติของฝรั่งเศส (Annuaire statistique de I” Indochine 1943-1946) บันทึกไว้จำนวน 13,156,300 คน นักประวัติศาสตร์เวียดนามจึงให้ตัวเลขเป็นกลาง ๆ โดยประมาณจำนวน 1-2 ล้านคน…

ในภาวะอดอยากทำให้เกิดความยากแค้นตามมา เริ่มขาดแคลนสิ่งจำเป็นของชีวิตแม้แต่เสื้อผ้า ผู้คนที่เดินตามท้องถนนแทบจะไม่มีเสื้อผ้าติดตัว บางคนแค่เอาใบไม้หรือวัสดุที่หาได้มาปิดกาย พวกเขาผอมโซ ผิวหนังดำกร้านและเที่ยวแห้ง ดูไม่ออกว่าหนุ่มสาวหรือแก่ ทุกคนอยู่ในสภาพที่น่าสังเวชเหมือนกันหมด

กวางเถี่ยน ผู้มีข้อเขียนหลายชิ้นในหนังสือนี้ ได้เล่าถึงประสบการณ์ลงพื้นที่สัมภาษณ์คนร่วมสมัยกับเหตุการณ์ในหมู่บ้านหลายแห่งของจังหวัดท้ายบิ่ญ และในพื้นที่สุสานเขตเมืองฮานอย ทำให้เราได้รับรู้ถึงความทุกข์ทรมานแสนสาหัส ความตายอย่างน่าเวทนา และการต่อสู้ของประชาชนที่จะรักษาชีวิตของตนและครอบครัวให้อยู่รอด

ภาพเหตุการณ์ถูกรื้อฟื้นขึ้นมาท่ามกลางน้ำตาที่หลั่งไหลของคนเล่า แต่ละเรื่องที่เล่าเต็มไปด้วยความน่าเศร้าสะเทือนใจยิ่ง ตั้งแต่การล้มตายของผู้คนในหมู่บ้าน ร่วงไปทีละคนสองคน จนถึงตายตกยกครัว ตายตกยกหมู่บ้าน ไม่มีใครเหลือ ศพของผู้คนเกลื่อนกลาดอยู่ตามบ้าน ตามท้องถนน และตามที่สาธารณะต่าง ๆ ต้องเผาบ้านเผาศพกันไม่หวาดไหว ส่วนคนที่ยังมีชีวิตอยู่ก็ต้องดิ้นรนหาอาหารมาใส่ท้อง จากฆ่าหมูหมาไก่แมววัวควายในบ้านจนหมดแล้ว ขุดเผือกขุดมันจนหมดแล้ว กินทุกอย่างที่กินได้จนหมดแล้ว จึงต้องออกไปจับหนูจับแมลงกิน กินแม้แต่หญ้า ดิน และรากไม้

ที่น่าโศกสลดที่สุดเห็นจะเป็นเรื่องเล่าเกี่ยวกับ 2 ผัวเมียที่ออกไปหาอาหารในเมือง ทิ้งลูกเล็กแบเบาะไว้คนเดียวในบ้าน แต่ผัวหิวทนไม่ไหวได้ตายไปก่อนกลางทาง เหลือเมียซึ่งก็จวนตาย และรู้ตัวว่ากลับไม่ถึงบ้านแน่ จึงฝากฝังลูกไว้กับคนรู้จักในเมือง เมื่อคนรู้จักนั้นไปช่วยดูเด็กที่บ้านก็พบว่าเด็กถูกหมาที่หิวโซกัดกินจนตายแล้ว เหลือแต่เลือดและขาข้างหนึ่งเท่านั้น และหมาก็ยังยืนอยู่ข้าง ๆ เลือดเต็มปากเห็น ๆ

และยังมีเรื่องเล่าของคนซึ่งขณะนั้นเขามีอายุเพียง 5 ขวบ พ่อแม่และญาติพี่น้องของเขาตายหมด เหลือเขาคนเดียวในบ้านที่เงียบเชียบ ตกกลางคืนไม่มีไฟ ต้องอยู่ท่ามกลางความมืดมิดและความหวาดกลัว ตัวเขาเองก็จำไม่ได้โดยละเอียดแล้วว่ารอดมาได้อย่างไร แต่เท่าที่ยังจำได้คือ “ผมคงจะหาอะไรที่ขวางหน้าใส่ปากเข้าไปกินหมด กินแล้วร้องไห้จนลงไปคลาน คลานแล้วก็ล้มตัวลงนอน”

เหตุการณ์ครั้งนี้มีผลกว้างไกล และไม่ได้กระทบแต่คนจนเท่านั้น แม้แต่คนรวยก็ได้รับผลสะเทือนเช่นเดียวกัน คนรวยมีเงินก็หาซื้อข้าวไม่ได้ หรือใช้เงินหมดแล้วเอาสมบัติไปขายเพื่อแลกเงิน ก็ไม่มีใครรับซื้อ สุดท้าย หิวมาก ๆ เข้าก็มีคนตายเหมือนกัน

นี่คือตัวอย่างเพียงเล็กน้อยในประวัติศาสตร์แห่งความทุกข์ระทมของประชาชนเวียดนามเหนือ

เด็ก เวียดนาม ซูบผอม ในเหตุการณ์ ทุพภิกขภัย
เด็กชาวเวียดนามในเหตุการณ์ ทุพภิกขภัย ค.ศ. 1945 ภาวะอดอยากครั้งรุนแรงที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติสาสตร์ในเวียดนาม

โฮจิมินห์และรัฐบาลเวียดมินห์ได้เข้ามาแก้ไขปัญหาความอดอยากเป็นประการแรก และประสบความสำเร็จภายใน 4 เดือน ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ประชาชนภาคเหนือศรัทธาและร่วมแรงร่วมใจกับการปฏิวัติของเวียดมินห์ ความอดอยากหิวโหยจึงกลายเป็นประเด็นสำคัญในนโยบายของพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามมาโดยตลอด

หลังจากทุพภิกขภัยมรณะปีระกาสิ้นสุดลง พร้อมกับสงครามโลกครั้งที่ 2 ฝรั่งเศสกลับมา และเพื่อเรียกคะแนนนิยม จึงโยนบาปให้ญี่ปุ่นแต่ผู้เดียว ว่าเป็นผู้ทำให้เกิดภัยดังกล่าว เหตุเพราะคนญี่ปุ่นกินข้าว แต่คนฝรั่งเศสไม่ได้กิน และถ้าฝรั่งเศสยังอยู่ก็จะช่วยแก้ไขสถานการณ์นี้ได้ ซึ่งเป็นการโฆษณาที่น่าชวนหัวยิ่ง ฝรั่งเศสคงไม่รู้ว่าระหว่างที่ตนไม่อยู่นั้น พวกเวียดมินห์ที่ยึดเวียดนามเหนือได้แล้วนั้น เข้มแข็งและมีอำนาจมากขึ้นเพียงไร

นับจากปี 1946 เวียดนามเหนือยังต้องเผชิญกับภาวะสงครามอย่างต่อเนื่องไปอีก 30 ปี ผ่านสงครามอินโดจีนกับฝรั่งเศส (1946-54) สงครามเวียดนามกับสหรัฐอเมริกา หรือบางทีก็เรียกกันว่า สงครามอินโดจีน ภาค 2 (1955-75) ทำให้ประชาชนเวียดนามทั้งเหนือใต้ต้องล้มตายสูญหายไปอีกมากกว่า 3 ล้านคน

แม้สงครามอันยาวนานจะสิ้นสุด และรวมชาติได้ในปี 1975 แต่จากปีนั้นมาจนถึงปี 1986 อีก 12 ปี เวียดนามทั้งประเทศก็ยังอยู่ในความยากจน ต่อสู้ขลุกขลักอยู่กับการสร้างสรรค์สังคมนิยมภายในประเทศที่ล้มเหลวและเต็มไปด้วยปัญหารุมล้อมมากมาย โดยเฉพาะยังมีความอดอยากหิวโหยในระหว่างทศวรรษ 1980 เนื่องจากนโยบายสหกรณ์ของพรรคคอมมิวนิสต์ไม่ได้ผล แม้จะไม่ถึงกับล้มตาย แต่ประชาชนยังต้องอดมื้อกินมื้อ

พอเปิดสมัยโหด่ยเหมยตั้งแต่ปี 1986 เป็นต้นมา ซึ่งช่วงทศวรรษแรกยังไม่เห็นผลชัดเจน แต่เมื่อเวลา 25 ปีผ่านไป เวียดนามเพิ่งจะลืมตาอ้าปาก เหมือนเพิ่งโผล่จากนรก ได้กินพออิ่ม มีเงินพอเก็บกับเขาบ้าง

ความอดอยากหิวโหย หรือทุพภิกขภัย กับความยากจนในเวียดนามเหนือ มีมาแต่โบราณกาลเป็นพื้นฐาน ถึงขนาดชาวนาละทิ้งหมู่บ้านกันเป็นประจำ และชื่อหมู่บ้านเปลี่ยนแปลงเป็นว่าเล่น แต่เหตุการณ์ทุพภิกขภัยมรณะปีระกา 1945…เป็นฝันร้ายที่เขย่าขวัญมากที่สุด ซึ่งจะคอยเตือนคนเวียดนามทั้งชาติตลอดไปว่า การอยู่ดีมีกินนั้นราคาแพงลิบลิ่ว และจะต้องชดใช้ด้วยความเจ็บปวดทรมานเพียงใดในประวัติศาสตร์อันยาวนานของตนเอง…

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาส่วนหนึ่งจากบทความ “ประวัติศาสตร์แห่งความทุกข์ระทม : ความอดอยากหิวโหยของเวียดนามเหนือในปี 1945” เขียนโดย พรเพ็ญ ฮั่นตระกูล ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับพฤษภาคม 2554


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 27 กรกฎาคม 2564