พม่า-ไทย-เวียดนาม มหาอำนาจอุษาคเนย์ ปะทะกัน สู่ยุครับมือมหาอำนาจตะวันตก

กองทัพอังกฤษโจมตีนครย่างกุ้งในปี 1824 (ภาพเขียนในสมัยศตวรรษที่ 19 โดย J. Moore [Public domain], via Wikimedia Commons)

ในช่วงเวลาครึ่งหลังของคริสต์ศตวรรษที่ 18 (พุทธศตวรรษ 24) ได้ปรากฏการก้าวสู่อำนาจของ 3 ราชวงศ์ในเอเชียตะวันเฉียงใต้ภาคพื้นทวีป และทั้ง 3 ราชวงศ์ได้ก้าวขึ้นเป็นมหาอำนาจ แผ่แสนยานุภาพเข้าครองบ้านเล็กเมืองน้อยที่เป็นเมืองเอกราชมาก่อน

ราชวงศ์แรกใน 3 ราชวงศ์ คือราชวงศ์คองบอง พ.ศ. 2295-2428 (ค.ศ. 1752-1885) ในลุ่มอิรวดี ราชวงศ์ที่ 2 ที่สถาปนาอำนาจตามมาคือราชวงศ์จักรี ใน พ.ศ. 2325 (ค.ศ. 1782) ตั้งราชธานีที่เมืองบางกอกหรือกรุงเทพฯ ถือกำเนิดขึ้นภายหลังการล่มสลายของอาณาจักรอยุธยาใน พ.ศ. 2310 ไปแล้ว 15 ปี… ราชวงศ์สุดท้ายคือราชวงศ์เหงียน ซึ่งสถาปนาขึ้น 20 ปี ภายหลังสถาปนาราชวงศ์จักรีราชวงศ์นี้เป็นใหญ่เหนือเวียดนาม มีราชธานีอยู่ที่เมืองเว้…

ในระยะแรกของการเถลิงอำนาจ ราชวงศ์ทั้ง 3 ต่างใช้เวลาส่วนใหญ่สร้างความชอบธรรมทางอำนาจ ทั้งนี้เป็นด้วยผู้สถาปนาราชวงศ์มิได้เป็นหน่อเนื้อเชื้อกษัตริย์มาก่อน จึงจำเป็นต้องจัดการทางอำนาจ…ก่อนจะขยายอิทธิพลสู่รัฐเพื่อนบ้าน [1] การปรากฏตัวของ 3 ราชวงศ์นับเป็นจุดเปลี่ยนผ่านสำคัญ เพราะเป็นการผนวกรวมทางอำนาจในภูมิภาคให้เป็นกลุ่มก้อนและเป็นกลุ่มมหาอำนาจที่ชัดเจน

เมื่อถึงครึ่งหลังของคริสต์ศตวรรษที่ 19 อันเป็นช่วงเวลาที่มหาอำนาจจากโพ้นทะเลในทวีปยุโรปแผ่อิทธิพลเข้ามาจึงเกิดการเผชิญหน้ากันระหว่างมหาอำนาจตะวันตกกับมหาอำนาจพื้นถิ่น ซึ่งแตกต่างไปจากพื้นที่อื่น อาทิ ในทวีปอเมริกาและแอฟริกาที่มหาอำนาจตะวันตกเผชิญกับกลุ่มอินเดียนหรือชนเผ่าที่มิได้มีพัฒนาการที่ซับซ้อน ในทางตรงกันข้ามรัฐมหาอำนาจในภูมิภาคอุษาคเนย์ล้วนเป็นรัฐโบราณ มีอารยธรรมเก่าแก่ ที่สำคัญคือ มีแสนยานุภาพทางทหาร และไม่เป็นรองทางอำนาจต่อผู้ใด การเผชิญหน้ากันของ 2 มหาอำนาจต่างซีกโลก จึงเป็นอีกฉากสำคัญของหน้าประวัติศาสตร์ ก่อนที่มหาอำนาจตะวันตกจะผนวกอาณาจักรในอุษาคเนย์เป็นส่วนหนึ่งของอาณานิคมแห่งตน

ในกรณีรัฐสยามนั้นกล่าวได้ว่ารัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็น “ช่วงแห่งการเปลี่ยนผ่าน” สำคัญ เพราะมหาอำนาจตะวันตก โดยเฉพาะจักรวรรดินิยมอังกฤษยังไม่พร้อมที่จะใช้ความเหนือกว่าทางการทหารกดดันสยาม เพราะยังติดพันกับการจัดการปัญหาในลุ่มอิรวดี ขณะที่รัฐสยามก็ได้ก้าวขึ้นสู่ช่วงสูงสุดแห่งการแสดงแสนยานุภาพทางการเมืองและการทหารซึ่งสะท้อนผ่านการขยายแสนยานุภาพทางทหารเข้าสู่พื้นที่ที่รัฐสยามไม่เคยขยายแสนยานุภาพไปถึง

การเผชิญหน้าระหว่างมหาอำนาจตะวันตกกับรัฐสยามในช่วงสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงไม่ต่างจากเหตุการณ์ในลุ่มอิรวดีที่ราชวงศ์คองบองก็กระชับอำนาจได้มั่นคงกว่าราชวงศ์ในอดีต สำหรับรัฐสยามในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวนับเป็น “ช่วงแห่งการเปลี่ยนผ่าน” ไปสู่ยุคสยามใหม่ก่อนการลงนามในสนธิสัญญาเบาว์ริง (Bowring Treaty) ใน พ.ศ. 2398 (ค.ศ. 1855)

พม่าเป็นคู่สงครามรัฐสยามมาแต่โบราณกาล เสถียรภาพทางการเมืองในพม่าขาดความต่อเนื่อง โดยเฉพาะด้านความมั่นคง เมื่อเทียบกับสยามจะเห็นว่าพม่าต้องเปลี่ยนและย้ายราชธานีเป็นหลายหน จากพุกามมาสู่อังวะ ตองอู หงสาวดี ชเวโบ จนถึงอมรปุระ กระนั้นก็ดี นับแต่พระเจ้าอลองพญา (Alaungphaya, พ.ศ. 2295-2303) ขึ้นเถลิงอำนาจ เสถียรภาพทางการเมืองของพม่าก็มีความมั่นคงขึ้น ถึงแม้จะปรากฏการย้ายราชธานี แต่ก็ไม่ได้เกิดการเปลี่ยนสายราชวงศ์ ปัญหาการแย่งชิงราชสมบัติยังคงมีประปรายเมื่อสิ้นรัชกาลพระเจ้ามังระ (Hsinbyushin, พ.ศ. 2306-2319) แต่ก็กลับมามีเสถียรภาพภายหลังจากพระเจ้าปดุง (Bodawphaya, พ.ศ. 2325) เสด็จขึ้นเสวยราชสมบัติ

ในช่วงราชวงศ์คองบองนี้ พม่าได้ขยายอาณาจักรออกไปกว้างขวางอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน ไม่ว่าจะเป็นการครองพม่าตอนล่างอันเป็นเขตปริมณฑลทางอำนาจของมอญเดิม มณีปุระหรือกะแซ เชียงใหม่ อยุธยา และยะไข่หรืออะระกัน สงครามครั้งสำคัญกับสยาม อาทิ ศึกอลองพญา (พ.ศ. 2303) สงครามคราวเสียกรุงฯ (พ.ศ. 2309-2310) ศึกอะแซหวุ่นกี้ (พ.ศ. 2318) และสงครามเก้าทัพ (พ.ศ. 2328) จึงกล่าวได้ว่า

พม่าหรือราชสำนักอังวะนับเป็นหนึ่งในมหาอำนาจสำคัญของอาณาจักรบนภาคพื้นทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จึงเข้าใจได้ว่าเหตุใดพม่าจึงไม่ยอมอ่อนข้อให้จักรวรรดินิยมอังกฤษที่แผ่อำนาจเข้ามาทางทิศตะวันตก ดังในสงครามอังกฤษ-พม่าครั้งแรก (First Anglo-Burmese War) ระหว่าง พ.ศ. 2367-2369 (ค.ศ. 1824-1826) เกิดขึ้นในช่วงต้นรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว

ด้วยความไม่ชำนาญในภูมิประเทศจักรวรรดินิยมอังกฤษต้องใช้เวลานานถึง 2 ปีจึงเอาชนะพม่าได้ สงครามครั้งนั้นจบลงด้วยสนธิสัญญายันดาโบ (Treaty of Yandabo) ใน พ.ศ. 2369 (ค.ศ. 1826) ซึ่งพม่าต้องยอมเสียดินแดนด้านอะระกัน อัสสัม และฝังตะนาวศรี ให้อังกฤษ [2] ผลจากสงครามครั้งนั้นทำให้ราชสำนักกรุงเทพฯ ตระหนัก ในแสนยานุภาพของมหาอำนาจโพ้นทะเลที่สามารถเอาชนะคู่สงครามที่เคยมีชัยเหนือสยามได้อย่างเด็ดขาด

เวียดนามเป็นมหาอำนาจเบื้องตะวันออกที่ประสบความสำเร็จในการสร้างความเป็นปึกแผ่นได้ 20 ปีภายหลังการสถาปนาราชวงศ์จักรี…นับแต่ พ.ศ. 2345 จึงมีความเป็นเอกภาพขึ้น โดยเฉพาะในช่วง 2 รัชกาลแรกของราชวงศ์เหงียน เวียดนามได้ค่อยๆ ขยับขึ้นมาเป็นมหาอำนาจบนภาคพื้นทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นับจากจักรพรรดิซาล็อง หรือเหงียน ฟุก อั๊ญ (ไทยเรียกว่า จักรพรรดิเวียดนามยาลอง (Gialong) และยังเป็นที่รู้จักในพระนามว่าองเชียงสือ หรือเจ้าอนัมก๊ก) ครองราชย์ทั้งสิ้น 17 ปี 247 วัน (1 มิถุนายน พ.ศ. 2345-กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2363) ตกมาถึงจักรพรรดิเหงียน ฟุก เกี๋ยว หรือมิญหมั่ง (Minh Mang (25 พฤษภาคม พ.ศ. 2363-20 มกราคมพ.ศ. 2384)) ครองราชย์ทั้งสิ้น 21 ปี รวมแล้วทั้ง 2 รัชกาลครองราชย์เป็นเวลา 38 ปีกว่า…

ในรัชกาลจักรพรรดิยาลองนั้น พระองค์ทรงปราบกบฏไตเซิง (Tyson) ได้สำเร็จใน พ.ศ. 2345 นับเป็นก้าวแรกและก้าวสำคัญของเวียดนาม เพราะเอกภาพทางการเมืองได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ในยุคนี้ศูนย์กลางอำนาจของอาณาจักรอยู่ที่เว้ แม้ว่าฐานอำนาจของราชวงศ์นี้จะอยู่ที่เวียดนามตอนใต้…ในยุคนี้ได้เริ่มปฏิรูปการปกครองโดยเน้นรวมอำนาจเข้าสู่ส่วนกลาง ลดทอนอำนาจเจ้าท้องถิ่น ซึ่งแต่เดิมรับผลประโยชน์จากจักรพรรดิด้วย การปันส่วนที่ดินโดยมีไพร่ติดที่ดินในสังกัด มาเป็นระบบการรับค่าตอบแทน (remuneration) [3]

เหตุสำคัญที่ช่วยให้การกระชับอำนาจของส่วนกลางเป็นไปได้ เพราะเวียดนามในสมัยนั้นมีถนนทอดยาวจากเหนือถึงดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงเรียกว่า Mandarin Road (quan 10) ถนนนี้ช่วยย่นระยะเวลาเดินทางลงเป็นอย่างมาก ถึงแม้ในช่วงถนนยังสร้างไม่เสร็จดี ระยะทางจากไซ่ง่อนถึงเว้จะกินเวลาเพียง 13 วัน และจากเว้ถึงฮานอยจะใช้เวลาเพียง 5 วัน [4] ถนนสายนี้ไม่เพียงช่วยให้อำนาจรัฐที่เว้กระจายลงสู่ท้องถิ่นได้ดีกว่าที่เคยเป็นมา ทั้งยังง่ายต่อการเรียกระดมพลและเคลื่อนกำลัง ในยุคนี้ซึ่งนับว่าเป็นช่วงเข้าสู่ยุคทองของเวียดนาม…

ครั้นตกถึงรัชกาลจักรพรรดิมิญหมั่งราชโอรส พระองค์ได้นำระบบการสอบจอหงวนกลับมาใช้ ส่งผลให้เปิดการขยายโอกาสคัดเลือกคนดีมีความสามารถจากต่างถิ่นต่างที่และต่างชนชั้นเข้ารับราชการ พระองค์ยังได้สร้างคณะครูฝึกปืนใหญ่ขึ้นมาช่วยเสริมเขี้ยวเล็บของกองทัพ [5]

ก่อนที่ 3 ราชวงศ์ซึ่งสถาปนาความเป็นใหญ่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ภาคพื้นทวีปเป็นลำดับมาจะต้องเผชิญหน้ากับมหาอำนาจจากโพ้นทะเล ต่างก็ได้ประมือกันก่อน ราชวงศ์จักรีต้องเผชิญกับการรุกรานของราชวงศ์คองบองหลายครั้ง เช่น ศึกอลองพญา (พ.ศ. 2303) สงครามคราวเสียกรุงฯ (พ.ศ. 2309-2310) ศึกอะแซหวุ่นกี้ (พ.ศ. 2318) สงครามเก้าทัพ (พ.ศ. 2328) และสงครามรบพม่าที่ท่าดินแดง (พ.ศ. 2329)

ในกรณีเวียดนาม ทันทีที่พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยขึ้นเถลิงราชบัลลังก์ จักรพรรดิยาลองได้ส่งทูตเข้ามาขอเมืองบันทายมาศ (ฮาเตียน) คืน [6] ก่อนจะมีเหตุกระทบกระทั่งจนถึงสมัยจักรพรรดิมิญหมั่ง ทั้งนี้สืบด้วยราชสำนักเว้ประสงค์จะขยายอำนาจเข้ามาในกัมพูชาซึ่งเป็นเมืองประเทศราชขึ้นกับราชสำนักกรุงเทพฯ ส่วนเจ้านายกัมพูชาก็มักขัดแย้งแย่งอำนาจกันเองระหว่างฝ่ายที่สวามิภักดิ์ราชสำนักเว้และราชสำนักกรุงเทพฯ ต่างฝ่ายต่างชักนำให้พระเจ้ากรุงสยามกับกรุงเว้ต้องขัดใจกัน ชนวนความขัดแย้งนี้ปะทุเป็นสงครามระหว่างราชวงศ์เหงียนและราชวงศ์จักรีในช่วงรัชกาลที่ 3 ซึ่ง รู้จักกันในชื่อ “อานามสยามยุทธ” (พ.ศ. 2374-2377 และ 2384. 2388)

………..

จากที่กล่าวมาข้างต้นทั้งหมด สรุปในชั้นนี้ได้ว่า

1) ก่อนการขยายอำนาจของมหาอำนาจตะวันตกสู่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 เพื่อยึดครองเป็นอาณานิคม พื้นที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ภาคพื้นทวีปได้ปรากฏมหาอำนาจภายในหรือมหาอำนาจพื้นถิ่น 3 ราชวงศ์ด้วยกัน คือ ราชวงศ์เหงียนแห่งเว้ ราชวงศ์คองบองแห่งอังวะ และราชวงศ์จักรีแห่งกรุงเทพฯ

2) การปรากฏตัวของมหาอำนาจในระดับท้องถิ่น แม้จะเป็นการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่สำคัญในหน้าประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ก็ยังมิได้เป็น “การเปลี่ยนแปลงในเชิงโครงสร้าง” กล่าวคือ มหาอำนาจทั้งสามยังคงสืบทอดมรดกของรัฐจารีตเดิม ไม่ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงในด้านปัจจัยการผลิต จนส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงแบบก้าวกระโดด ไม่ว่าจะเป็นการเกิดรัฐชาติ การปรับเปลี่ยนโครงสร้างการผลิต และพัฒนาการด้านเทคโนโลยี ปัจจัยตามกล่าวส่งผลให้เกิดความแตกต่างอย่างมากระหว่างมหาอำนาจระดับพื้นถิ่นกับมหาอำนาจจากโพ้นทะเลไกลเมื่อเกิดการเผชิญหน้ากัน

การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในโลกตะวันตกก่อนจะก้าวเข้าสู่ยุคอาณานิคมมีภูมิหลังมาหลายศตวรรษ มิหนำซ้ำยังเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ต่อเนื่องผูกพันเป็นลูกโซ่ ที่สำคัญคือ เป็นการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างที่ปรับเปลี่ยนโฉมหน้าของสังคมในทุกมิติ และส่งผลกระทบกว้างไกลที่ไม่เพียงจำกัดอยู่แต่ในโลกตะวันตก แต่ยังแผ่ไพศาลไปแทบทุกภาคส่วนของโลก…

………..

มหาอำนาจตะวันตกที่ออกมาแสวงหาอาณานิคมได้ผ่านการปฏิวัติที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือการปฏิวัติทางการเมือง รูปธรรมของการปฏิวัติดังกล่าวส่งผลให้เกิด “รัฐชาติ” (National State) ส่งผลให้มหาอำนาจที่ออกมาแสวงหาอาณานิคมในโลกเอเชียศตวรรษที่ 19 นั้น ไม่ได้ออกมาในนามของบริษัทเป็นสำคัญ แต่จะมีรัฐบาลเกี่ยวข้องหรือเป็นเจ้าของรัฐชาติเป็นรัฐที่มีความเป็นเอกภาพ (unity) อำนาจไม่ได้ถูกแบ่งแยกแต่รวมศูนย์ (centralization) ซึ่งตรงข้ามกับรัฐสยามในยุคเดียวกัน

การเป็นเอกภาพเป็นที่มาของความเป็นระบบ ระเบียบ และมีประสิทธิภาพในการจัดสรรทรัพยากร (resources) ที่สำคัญคือกำลังคน และภาษี ทั้งหมดส่งผลโดยตรงต่อการสร้างประสิทธิภาพของกองทัพ ซึ่งได้รับการติดเขียวเล็บด้วยยานพาหนะและอาวุธยุทโธปกรณ์ที่ทันสมัย เป็นดอกผลจากการปฏิวัติทางวิทยาศาสตร์และอุตสาหกรรม ฉะนั้นเมื่อประเมินความแข็งแกร่งของมหาอำนาจท้องถิ่นกับมหาอำนาจยุโรปจึงมีความแตกต่างกันอย่างมาก

ยิ่งไปกว่านั้น มหาอำนาจยุโรปจะให้น้ำหนักต่อการพัฒนาการรบทางน้ำเป็นสําคัญ ในอดีตนั้นกองเรือไวกิ้งเป็นที่เล่าขาน แต่ในสมัยหลังก็เป็นกองเรืออามาดา (Amada) ของสเปน ก่อนที่จะเป็นกองเรือของอังกฤษซึ่งพิชิตกองเรือของสเปนและก้าวขึ้นมาเป็นเจ้าทางทะเล

ขณะที่โลกเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ภาคพื้นทวีปนั้นชำนาญการรบทางบกมาเป็นศตวรรษ เมื่อเกิดการเผชิญหน้ากันทางทหาร มหาอำนาจตะวันตกก็ใช้นโยบายเรือปืน (Gun Boat Policy) ที่ถนัดบดขยี้เอาชนะกองทัพพื้นถิ่น เช่น กองทัพของพม่า (First Anglo Burmese War) ระหว่าง พ.ศ. 2367-2469 (ค.ศ. 1824-1826) และกองทัพจีนในคราวสงครามฝันครั้งแรก (The First Opium war) ใน พ.ศ. 2382 (ค.ศ. 1839)

ชัยชนะที่โลกยุโรปมีเหนือเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จึงมีใช่เหตุบังเอิญ แต่เป็นผลจากภูมิหลังที่ต่างกันในด้านการเปลี่ยนแปลง โลกตะวันออกไม่ได้ผ่านการเปลี่ยนแปลงในเชิงโครงสร้าง ยังคงสภาพรัฐจารีต ในขณะที่โลกตะวันตกได้ผ่านการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างในทุกมิติ เมื่อโลกทั้งสองเผชิญหน้ากันจึงมีความแตกต่าง ความได้เปรียบเสียเปรียบอย่างยากที่จะเปรียบกันได้ ความสัมพันธ์ด้านการต่างประเทศในยุคนี้จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งยวด เพราะสามารถส่งผลอันไม่คาดฝันต่อมหาอำนาจท้องถิ่นในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เลยทีเดียว


เชิงอรรถ

[1] David Joel Steinberg, In Search of Southeast Asia: A Modern History (Honolulu: University of Hawaii Press, 1985), p. 99.

[2] ประวัติศาสตร์พม่าช่วงราชวงศ์คองบองยุคต้น ดู G. E. Harvey , History of Burma (London: Frank Cass, 1967) ; กรณีสนธิสัญญายนดาเบ ดู D. G. E. Hall, Europe and Burma: A Study of European Relations with Burma to the Annexation of Thibaw’s Kingdom, 1886 (London: Oxford University Press, 1945), p. 119.

[3] David Joel Steinberg, In Search of Southeast Asia: A Modern History, p. 129.

[4] Ibid.

[5] Ibid., p. 133.

[6] เรื่องเดียวกัน, น. 33-34


หมายเหตุ : บทความนี้คัดเนื้อหาส่วนหนึ่งจากหนังสือ ฝรั่งรุกพระนั่งเกล้าฯ การทูตสยามคราวจักรวรรดินิยมบุกอุษาคเนย์ โดย ศ.ดร. สุเนตร ชุติณธรานนท์, วิกัลย์ พงศ์พนิตานนท์ (สำนักพิมพ์มติชน, พิมพ์ครั้งแรก สิงหาคม 2564)


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 8 ตุลาคม 2564