นักวิชาการเวียดนามมองไทยในยุคสงครามเย็น เป็น “ลูกไล่จักรวรรดินิยมอเมริกา”

สหพันธรัฐอินโดจีน สนามบินตาคลี นครสวรรค์ ฐานบินสหรัฐอเมริกา สงครามเวียดนาม ลูกไล่จักรวรรดินิยมอเมริกา
ภาพถ่ายสนามบินตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ ฐานบินหนึ่งของสหรัฐอเมริกาในไทยช่วงสงครามเวียดนาม (พ.ศ. 2498-2518) (ภาพจาก Smithsonian’s National Air and Space Museum)

สงครามเวียดนาม (พ.ศ. 2498-2518) เกิดขึ้นในช่วงสงครามเย็น ช่วงของการแข่งขันอำนาจระหว่างสองแนวคิดต่างขั้ว สหรัฐอเมริกาพยายามสกัดกั้น “คอมมิวนิสต์” ทุกวิถีทาง โดยได้ใช้ประเทศไทยเป็น “ฐาน” สำคัญในการดำเนินนโยบายเสรีประชาธิปไตย ซึ่งส่งผลกระทบต่อแนวคิดของชาวเวียดนามต่อประเทศไทยที่มองว่าไทยเป็น “ลูกไล่จักรวรรดินิยมอเมริกา”

Porter Gareth ให้ข้อมูลว่า เวียดนามมองว่าไทยเป็น “ตัวอย่างของลัทธิล่าอาณานิคมใหม่ของอเมริกา” ซึ่งมีผลมาจากความสัมพันธ์อันใกล้ชิดระหว่างรัฐบาลไทยกับสหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะในช่วงรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่ได้รับรองรัฐบาลเวียดนามภายใต้การนำของจักรพรรดิบ๋าว ได่ เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2493

กระทั่งสหรัฐอเมริกาได้ใช้ไทยเป็น “ฐาน” ปฏิบัติการสำคัญในการต่อต้านคอมมิวนิสต์ โดยเฉพาะในช่วงรัฐบาลจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลไทยกับสหรัฐอเมริกาแน่นแฟ้นมาก ที่เห็นได้ชัดคือ เงินอุดหนุนจำนวนมหาศาลจากรัฐบาลสหรัฐอเมริกาที่มอบให้ไทยนำไปพัฒนาประเทศในด้านต่าง ๆ ทำให้ไทยเริ่มเข้าสู่ระบบ “ทุนนิยม” ตามแบบอย่างสหรัฐอเมริกา

ขณะที่ภาพลักษณ์ของไทยในสายตารัฐบาลคอมมิวนิสต์เวียดนามถูกมองว่าเป็นผู้คุกคามแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เห็นได้จากการที่ไทยเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 2 กับญี่ปุ่น จนถึงการให้สหรัฐอเมริกาใช้ไทยเป็นฐานปฏิบัติการในสงครามเย็น ซึ่งทั้งสองเหตุการณ์ได้สร้างผลกระทบต่อประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคแห่งนี้

ในบทความเรื่อง “ประเทศไทย อาณานิคมตัวอย่างของลัทธิการล่าอาณานิคมของอเมริกาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” ของ หวิ่ญ เหลือ และบทความเรื่อง “คณะทหารของถนอม-ประภาส เครื่องมือของลัทธิการล่าอาณานิคมใหม่ของอเมริกาในประเทศไทย” ของ เจิ่น หง็อก ดิ่ง บทความทั้งสองนี้ได้ชี้ให้เห็นแนวคิดของชาวเวียดนามต่อไทยในฐานะที่ตกเป็นเครื่องมือของสหรัฐอเมริกา

อย่างไรก็ตาม ทั้งสองบทความพยายามแยก “รัฐ” ออกจาก “ประชาชน” โดยมองว่าประชาชนก็ได้รับความยากลำบากไม่น้อย จากการที่รัฐบาลไทยหันไปนิยมสหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจและวัฒนธรรม

เหงวียน คัก เหวี่ยน นักวิชาการชาวเวียดนามอีกคนหนึ่งระบุว่า ไทยเป็นเหยื่อของลัทธิจักรวรรดินิยมใหม่ และผลที่ไทยได้รับจากการเป็น “ลูกไล่จักรวรรดินิยมอเมริกา” คือความเสื่อมทรามทางศีลธรรมและปัญหาสังคม อันเนื่องมาจากความไม่เท่าเทียมกันของการพัฒนาประเทศด้วยระบบทุนนิยม ดังบันทึกตอนหนึ่ง ความว่า

“เมื่อมาถึงกรุงเทพฯ สิ่งที่ผมสะดุดตา.. นั่นคือ ถนนกว้างใหญ่ ร้านคามากมาย โรงแรม ธนาคารขนาดใหญ่ไม่ต่างจากปารีส แต่ใกล้ ๆ กันนั้นมีสลัมขนาดใหญ่ ผู้คนที่อาศัยอยู่ที่นี่ส่วนหนึ่งทำงานอยู่ในโรงงานที่ทันสมัยขนาดใหญ่… แน่นอนว่ากรุงเทพฯ ไม่มีโรงงานเพียงพอไว้รองรับผู้คนจำนวนกว่า 6 ล้านคน ที่ไหลทะลักเข้ามาเมืองนี้… ในแต่ละวัน ตามสถานีรถไฟขนาดใหญ่ที่วิ่งมาจากเมืองต่าง ๆ นั้นได้นำพาผู้คนเป็นร้อยเป็นพันคนที่มาหางานทำในเมืองหลวง”

นอกจากนั้นยังระบุด้วยว่า เมื่อสหรัฐอเมริกาใช้ไทยเป็นฐานปฏิบัติการในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในยุคสงครามเย็น ไทยได้กลายเป็น “สถานบันเทิงสำหรับทหารอเมริกัน” แต่เมื่อสงครามยุติลงไปแล้ว สถานบริการเหล่านั้นยังคงเปิดให้บริการต่อไป โดยมุ่งหวังไปที่นักท่องเที่ยวต่างชาติกลุ่มใหม่ ๆ ซึ่งได้นำวัฒนธรรมการใช้ชีวิตแบบหรูหรา ฟุ่มเฟือย เข้ามาในไทยด้วย ทั้ง “บุหรี่ที่มีกลิ่นหอม เหล้าที่มีรสชาติแรง เสื้อผ้าแบบประหลาด ภาพยนตร์ที่มีเนื้อหาทางเพศ และโสเภณี”

เหงวียน คัก เหวี่ยน กล่าวอีกว่า การพัฒนาประเทศไทยโดยวิถีทุนนิยมนั้นเข้าข่ายการเป็นเมืองขึ้นแบบใหม่ เพราะผลประโยชน์นี้ตกอยู่แค่เพียงคนไม่กี่คน ขณะที่ประชาชนทั้งประเทศกลับมีความเสี่ยงหลายอย่าง โดยเฉพาะการถูกผลักให้เข้าสู่วิกฤตที่เกิดจากช่องว่างระหว่างคนจนกับคนรวย

แนวคิดของเพื่อนบ้านที่มีต่อประเทศไทยในยุคหนึ่งสมัยหนึ่งที่เห็นว่าเป็น “ลูกไล่จักรวรรดินิยมอเมริกา” จึงเป็นสิ่งที่น่าสนใจไม่น้อย และน่าขบคิดต่อไปว่า เศรษฐกิจแบบทุนนิยมและวัฒนธรรมอเมริกันในยุคนั้นได้เป็นเบ้าหล่อหลอมวัฒนธรรมไทยให้เป็นอย่างทุกวันนี้หรือไม่?

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

ไทยในสายตาเพื่อนบ้าน. (2560). พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : มติชน.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 22 กรกฎาคม 2562