หญิงบริสุทธิ์ไม่ใช่ประเด็นสำคัญ แม่หม้ายแต่งงานใหม่เป็น เรื่องปกติสมัยสามก๊ก

(ซ้าย) นางเอียนสี ในสามก๊ก แม่หม้ายที่โจผี แต่งเป็นภรรยาเอก (กลาง) โจผี (ขวา) โจสิด
(ซ้าย) นางเอียนสี ในสามก๊ก แม่หม้ายที่โจผี แต่งเป็นภรรยาเอก (กลาง) โจผี (ขวา) โจสิด

หลังจาก “กำฮูหยิน” ผู้เป็นภรรยาเอกเสียชีวิตลง เล่าปี่ได้ “ซุ่นซ่างเซียง” น้องสาวซุนกวนมาเป็นฮูหยิน (ภรรยาเอก) ภายหลังซุนกวนรับซุนฮูหยินกลับกังตั๋ง ตำแหน่งภรรยาเอกว่างลง เล่าปี่เหลือแต่อนุภรรยา จึงไปสู่ขอตบแต่ง “นางง่อซี” ที่เคยเป็นภรรยาเล่ามอมาเป็นภรรยาเอกของตน 

ดังที่พงศาวดารสามก๊กจี่ ภาคจ๊กก๊ก บทชายาของสองกษัตริย์ บันทึกไว้ หลังจากเล่ามอตาย ง่อซีเป็นแม่หม้าย เหล่าขุนนางเสนอเล่าปี่ให้รับนางเป็นภริยาเอก เล่าปี่เห็นด้วย ถึงรัชสกจางอู่ปีแรก เล่าปี่ครองราชย์ สถาปนาง่อซีเป็นฮองเฮา

ไม่ใช่แต่เล่าปี่ ยังมีผู้นำในสามก๊กอีกหลายคนที่รับ “แม่หม้าย” มาเป็นภรรยา

พงศาวดารสามก๊กจี่ ภาคง่อก๊ก บทประวัติพระชายา ก็บันทึกว่า ซุนกวนมีชายาทั้งหมดหกคน สีว์ฮูหยินซึ่งเป็นหนึ่งภรรยาทั้งหกนั้นเคยแต่งงานกันลู่ซ่างมาก่อน หลังจากลู่ซ่างตาย ซุนกวนซึ่งขณะนั้นเป็นเถาหลี่ว์เจียงจวิน (ขุนพลปราบเชลย) ได้สู่ขอนางมาเป็นภรรยา แต่สีว์ฮูหยินมีนิสัยขี้อิจฉา เข้ากับภรรยาคนอื่นไม่ได้ ซุนกวนจึงไม่ตั้งเป็นฮองเฮา

นิยายสามก๊กตอนที่ 33 กล่าวว่า หลังจากโจโฉปราบอ้วนฮีบุตรอ้วนเสี้ยวได้แล้ว นางเอียนซีภรรยาอ้วนฮีหนีไปแอบในบ้าน โจผีไปตรวจค้นในคฤหาสน์ พบนางเอียนซีผู้งามดั่งหยกดั่งดอกไม้ก็ยึดไว้เป็นของตน โจโฉก็เห็นชอบให้โจผีรับนางเป็นภรรยา

เล่าปี่ ซุนกวน และโจผี ล้วนแต่งกับ “แม่หม้าย” แสดงว่าทัศนะต่อพรหมจารีของผู้หญิงไม่เข้มข้น ไม่มีความคิดเรื่องห้ามหญิงหม้ายแต่งงานใหม่

พงศาวดารสื่อจี้ บทประวัติซือหม่าเซียงหญู (กวีเอกยุคราชวงศ์ฮั่นตะวันตก) บันทึกไว้ว่า หลังจากนางจั้วเหวินจวินเป็นหม้าย เห็นซือหม่าเซียงหญูรูปร่างสง่างามจึงหนีตามกวีเอกผู้นี้ไป เหตุการณ์เช่นนี้ไม่ใช่เรื่องแปลกในยุคราชวงศ์ฮั่น

ช่วงปลายราชวงศ์ฮั่นตะวันตกภรรยาจูไหม่เฉินหย่าแล้วก็แต่งงานใหม่ ในยุคราชวงศ์ฮั่นตะวันออก หญิงหม้ายแต่งงานใหม่เป็นเรื่องปกติทั่วไป เช่น กวีหญิงไช่เหวินจี (ซัวบุ้นกีหรือซัวเอี๋ยมในนิยายสามก๊ก) ก็แต่งงานสามครั้ง ครั้งนั้นก็มิได้มีคำตำหนิวิจารณ์

จึงเห็นได้ว่าทัศนะเรื่องความบริสุทธิ์ หรือพรหมจารีของผู้หญิงไม่ใช่ถือสาหนักหนาในสังคมจีนสมัยโบราณ หากเป็นสภาวะที่ผ่อนปรนต่อเพศหญิง ในยุคสามก๊กการแต่งงานกับแม่หม้ายเป็นเรื่องธรรมดา

อ่านเพิ่มเติม :


ข้อมูลจาก :

หลี่ฉวนจวินและคณะ เขขียน, ถาวร สิกโกศล แปล. 101 คำถามสามก๊ก, สำนักพิมพ์มติชน, พิพม์ครั้งแรก กรกฎาคม 2556


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 15 ธันวาคม 2564