เปิดปรากฎการณ์ดูคนที่หน้าตา ความเชื่อวิชาดูนรลักษณ์สมัย “สามก๊ก” แบบไหนคือผู้มีธรรม

ซุนกวนที่รูปลักษณ์ ที่มีสง่าราศีเป็นพิเศษ ตามวิชานรลักษณ์

พงศาวดารสามก๊กจี่มักเจาะจงบรรยาย “รูปร่างหน้าตา” ของคนอยู่เสมอ โดยพรรณนาลักษณะคนที่รูปงามหรือแปลกประหลาดอย่างตั้งใจเป็นพิเศษ

เช่น เขียนถึง ซุนกวน ว่า “รูปลักษณ์สง่างามโดดเด่น โครงร่างไม่ธรรมดา เป็นลักษณะของผู้มีบุญ”

เขียนถึง จิวยี่ ว่า “รูปร่างคมสันสง่างาม”

เขียนถึง เล่าปี่ ว่า “งามอาภรณ์ สูง 7 ฉือ 5 ซุ่น (172.5 ซม.) แขนยาวถึงเข่า จักษุชำเลือง เห็นหู” เป็นลักษณะพิเศษของผู้ที่จะได้เป็นใหญ่

บันทึกประวัติศาสตร์ให้ความสำคัญแก่รูปลักษณ์ของคนเช่นนี้ เพราะเป็นความนิยมที่แพร่หลายไปทั่วของสังคมจีนยุคนั้น และเป็นปรัมปราคติ ประการหนึ่งในการ “พิจารณ์บุคคล” ซึ่งสืบทอดมาตั้งแต่ราชวงศ์ฮั่น

หนังสือ “เหยินจือ (ปูมประวัติบุคคล)” ของหลิวเส้า ยุคสามก๊ก มุ่งอธิบายวิธีการดูลักษณะบุคคล เช่น ตอนหนึ่งที่กล่าวว่า

“กระดูกดังพฤกษา และอ่อนโยนคือผู้โอบอ้อมเด็ดเดี่ยว อารมณ์ร่าเริงและปลอดโปร่งคือผู้มีธรรมนิยม ร่างตรงและแกร่งคือผู้เข้มแข็งมั่นคง เอ็นมีกําลังและแข็งแรงคือผู้กล้าหาญ สีหน้าสงบและผ่องใสคือผู้ละเอียดอ่อน”

นั่นคือใช้รูปลักษณ์และนิสัยมาพิจารณาตัดสินคน

ด้วยค่านิยมเช่นนี้ ในยุคสามก๊ก วิชาดูนรลักษณ์จึงเจริญมาก ผู้นำในยุคสามก๊กก็นิยมเลือกคนตามรูปลักษณ์ ดังกรณีตัวอย่างของ “บังทอง” กุนซือผู้มีสติปัญญาล้ำเลิศ แต่อัปลักษณ์ เหล่าผู้นำก๊กต่างปฏิเสธ

ในนิยายสามก๊กเขียนไว้ว่า เมื่อบังทองไปพบซุนกวน “ซุนกวนเห็นคนผู้นั้นคิ้วหนาจมูกเชิด หน้าดำ หนวดเคราสั้น รูปร่างแปลก ประหลาดก็นึกไม่ชอบ” เป็นความรู้สึกที่ไม่ดีตั้งแต่แรก บังทองก็เป็นคนหยิ่ง จึงไม่ได้ใช้งานกัน ต่อมาบังทองไปหาเล่าปี่ “เล่าปี่เห็นบังทอง รูปร่างอัปลักษณ์ ใจก็นึกไม่ชอบ”

เห็นได้ว่าซุนกวนและเล่าปี่มีอคติต่อรูปร่างอัปลักษณ์ของบังทองเหมือนกัน สุดท้ายเมื่อบังทองได้มาอยู่กับเล่าปี่ ก็ด้วยการแนะนำของขงเบ้ง เมื่อได้แสดงฝีมือให้เห็น จึงเป็นที่ยอมรับในฐานะกุนซือ

ในยุคสามก๊ก ผู้คนให้ความสำคัญแก่ความงามของรูปร่างและบุคลิกลักษณะมาก มีเรื่องรูปลักษณ์ที่ต่างจากคนธรรมดาเล่าสืบต่อกันมาหลายเรื่อง เช่น ลิโป้รูปหล่อ, ม้าเฉียวงามดังแพรไหม, จิวยี่ชำเลืองดูเพลง, เล่าปี่หูยาว, เตียวหุยหัวเสือดาว ตาโปน, กวนอูหน้าแดงดั่งพุทราสุก เป็นต้น

แต่ผู้โดดเด่นที่สุดแห่งยุค คงต้องยกให้ ซุนกวน ผู้มีตาสีฟ้า หนวดสีม่วง

นิยายสามก๊กหลายตอนกล่าวว่า ซุนกวน หนวดสีม่วง ตาสีเขียวฟ้า เช่น ตอนชมซุนกวน ล่อกวนตงพรรณนาเป็นบทกวีว่า “หนวดม่วงตาฟ้า แกล้วกล้าหาญ เชี่ยวชาญใช้คนจนภักดีสิ้น ยี่สิบสี่ปีก่อร่างสร้างแผ่นดิน เกิดเป็นถิ่นเสือมังกรกังตั๋งเอย”

แต่เวลากวนอูด่าซุนกวนก็จะเรียกว่า “ไอ้เด็กตาสีฟ้า”, “ชาติหนูหนวดม่วง” อยู่เสมอ

มหาพจนานุกรมภาษาจีนอธิบายว่า สีฟ้ามีความหมายว่า สีน้ำเงินอมขาวและสีน้ำเงินอมเขียว นิยายและนิทานชาวบ้านใช้ความแปลกประหลาดนี้ ทำให้ซุนกวนเปี่ยมไปด้วยสีสันของ “ความมหัศจรรย์”

ส่วนพงศาวดารสามก๊กจี้ ภาคง่อก๊ก บทประวัติซุนกวน ยกข้อความจากหนังสือ เจียงเปียวจ้วนมาว่า “เมื่อซุนเกี่ยนเป็นปลัดเมืองแห้ผือ (เชี่ยผี) ซุนกวนเกิด ปากกว้างคางใหญ่ ตามีรัศมีแวววับ ซุนเกี้ยนประหลาดไปเห็นว่าเป็นลักษณะของผู้มีบุญ” ที่กล่าวว่า “ตามีรัศมีแวววับ” นั้นไม่ได้บอกสีของลูกตา ได้แต่บอกว่าตามีประกายเจิดจ้า เปี่ยมด้วยพลานุภาพ เป็นลักษณะที่นิยมใช้เขียนชมคน

จากบันทึกต่างๆ ข้างต้น รูปลักษณ์พิเศษสุดของซุนกวนก็คือ ปากกว้าง คางเหลี่ยม หนวดม่วง ตาเป็นประกายเจิดจ้า รูปลักษณ์ดังกล่าว เมื่อรวมกับคุณสมบัติและบุคลิกเฉพาะตัวของซุนกวนแล้ว ทำให้ในสังคมปลายราชวงศ์ฮั่น ซึ่งให้ความสำคัญแก่รูปร่างและบุคลิกลักษณะดี

ซุนกวนที่มีสง่าราศีเป็นพิเศษ ประกอบกับความสามารถของเขา โจโฉถึงกับถอนใจกล่าวว่า “มีลูกชายต้องให้ได้อย่างซุนกวน” แสดงถึงความชื่นชม

ความจริงแล้วในช่วงปลายราชวงศ์ฮั่น พี่น้องแซ่ซุนล้วนเป็นหงส์มังกรในหมู่ผู้คน อ้วนสุดก็เคยถอนใจกล่าวว่า “หากทำให้ข้าได้ลูกชายอย่างซุนเซ็ก [พี่ชายคนโตของซุนกวน] ถึงจะตายก็ไม่มีอะไรต้องเสียใจ”

นี่คือปรากฏการณ์ของการดูคนที่ “รูปร่างหน้าตา”

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


ข้อมูลจาก :

หลี่ฉวนจวินและคณะ (เขียน), ถาวร สิกขโศล (แปล). 101 คำถามสามก๊ก, กรุงเทพฯ : มติชน 2556.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 1 กุมภาพันธ์ 2564