เกร็ดข้อมูล ทางพิเศษเฉลิมมหานคร “ทางด่วน” สายแรกของไทย

ทางด่วน ทางพิเศษเฉลิมมหานคร ทางด่วนสายแรก
ทางพิเศษเฉลิมมหานคร (ซ้ายบนถึงขวาล่าง) ทางด่วนสายแรกของไทย ตัดกับทางพิเศษศรีรีช (ขวาบน) (Photo by Lillian SUWANRUMPHA / AFP)

“โครงการทางด่วนขั้นที่ 1” โครงการพัฒนาระบบคมนาคม เป็นโครงการ “ทางด่วน” สายแรกของประเทศไทย โดยมีการทางพิเศษแห่งประเทศไทย เป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการ ระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่ปี 2518

ลักษณะของทางด่วน แบ่งช่องทางจราจร 6 ช่อง มีไล่ทางข้างละ 1 ช่อง รวมกว้างประมาณ 28 เมตร เป็นทางยกระดับสูงประมาณ 8.10 เมตร ประกอบด้วยทางด่วน 3 ระยะ คือ

ทางด่วนสายดินแดง-ท่าเรือ ระยะทางประมาณ 8.9 กิโลเมตร

ทางด่วนสายบางนา-ท่าเรือ ระยะทางประมาณ 9.6 กิโลเมตร

ทางด่วนสายดาวคะนอง-ท่าเรือ ระยะทางประมาณ 10.3 กิโลเมตร

จุดประสงค์ของทางด่วนขั้นที่ 1 นี้ก็เพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรติดขัดในกรุงเทพฯ และเตรียมรับมือปัญหาการจราจรในอนาคต โดยเชื่อมต่อกับทางหลวงทั้งสามทิศ คือ ทิศเหนือเชื่อมกับสายวิภาวดี-รังสิต ทิศตะวันออกเชื่อมกับสายบางนา-ตราด และทิศตะวันตกเชื่อมกับสายธนบุรี-ปากท่อ

โครงการทางด่วนขั้นที่ 1 มีมูลค่าโครงการประมาณ 8,519 ล้านบาท เป็นค่าก่อสร้างประมาณ 7,316 ล้านบาท และค่าเวนคืนที่ดินประมาณ 1,203 ล้านบาท

โดยมีเงินทุนสนับสนุนมากจาก 1. เงินอุดหนุนจากรัฐบาล 2,258.35 ล้านบาท 2. รายได้ของการทางพิเศษฯ 1,039.85 ล้านบาท 3. เงินกู้จากสถาบันความร่วมมือทางเศรษฐกิจโพ้นทะเลแห่งประเทศญี่ปุ่น (OECF) 3,820.34 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 3.0-3.25 และ 4. เงินกู้ภายในประเทศ 1,400.32 ล้านบาท โดยกู้จากกระทรวงการคลัง ไม่คิดดอกเบี้ย และกู้จากธนาคารกรุงไทย อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 10

โดยทางด่วนขั้นแรกสายดินแดง-ท่าเรือ ก่อสร้างแล้วเสร็จเป็นสายแรก เปิดใช้อย่างไม่เป็นทางการเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม ปี 2524 และมีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 4 มกราคม ปี 2525 จากปลายถนนวิภาวดีรังสิต มุ่งไปทิศตะวันออก ถึงทางแยกต่างระดับที่ท่าเรือคลองเตย

ส่วนทางด่วนสายบางนา-ท่าเรือ เปิดให้บริการวันที่ 17 มกราคม ปี 2526 และทางด่วนสายดาวคะนอง-ท่าเรือ เปิดให้บริการวันที่ 5 ธันวาคม ปี 2530

สำหรับอัตราค่าผ่านทาง รถยนต์ไม่เกิน 4 ล้อ เก็บอัตราราคาคันละ 10 บาท รถยนตร์และรถบรรทุกเกิน 4 ล้อขึ้นไป เก็บอัตราราคาคันละ 20 บาท นอกจากนี้ยังกำหนดน้ำหนักรถยนต์แต่ละคันต้องไม่เกิน 20 ตัน และจำกัดความเร็วที่ 30-80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

ปัจจุบันเรียกชื่อ ทางด่วน นี้ว่า “ทางพิเศษเฉลิมมหานคร”

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

วิมลรัตน์ สุขเจริญ. (2537). “โครงการทางด่วนพิเศษขั้นที่สอง”. กรุงเทพฯ : สถาบันนโยบายศึกษา.

โรม บุนนาค. (2552). “ตุลาอาถรรพณ์”. กรุงเทพฯ : สยามบันทึก.

จรัล บุรพรัตน์. (2525). “ทางพิเศษ”. ใน “ชีวิตและผู้คน 200 ปี กรุงรัตนโกสินทร์”. กรุงเทพฯ : คณะอนุกรรมการประมวลเอกสารในคณะกรรมการจัดงานสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 6 ธันวาคม 2564