ความเป็นมาของกฎหมาย “ลิขสิทธิ์” และ “หลักสากล” ในกฎหมายลิขสิทธิ์ไทย

ภาพเขียนสีบนกระจกของนักบุญโคลัมบา (Brian Gratwicke from DC, USA (St Columba Stained glass window), via Wikimedia Commons)

“ลิขสิทธิ์” เป็นคำไทยที่ใช้แทนแนวคิดของฝรั่งซึ่งแปลมาจากคำว่า “Copyright” ซึ่งมีรากศัพท์มาจาก “copia” คำละตินที่แปลว่า “ทำให้มากขึ้น” ในที่นี้ถูกใช้เพื่อสื่อถึงสิทธิในการทำซ้ำผลิตภัณฑ์ที่สร้างสรรค์ขึ้นจากสมองของมนุษย์ อันเป็นสิทธิที่หวงกันมิให้ผู้อื่นกระทำการใดๆ อันเป็นการทำซ้ำ หรือเผยแพร่โดยไม่ได้รับอนุญาตซึ่งงานอันได้รับความคุ้มครองนั้นๆ

แนวคิดในการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาถือเป็นเรื่องที่ค่อนข้างใหม่ ในเมืองไทย ตอนเด็กๆ ผู้เขียนจำได้ว่าเทปเพลงสากลแทบทั้งหมดที่วางขายกันล้วนเป็นเทปผีทั้งสิ้น จนกระทั่งถึงวัยประถมปลายเทปเพลงฝรั่งที่ถูกลิขสิทธิ์จึงจะมีขายอย่างแพร่หลายมากขึ้นด้วยราคาที่เข้าถึงง่ายและคุณภาพที่ดีกว่า

เมื่อถึงยุคดิจิตอล ซีดีเพลงหรือภาพยนตร์ฝรั่งถือว่ามีราคาแพงมากแผ่นละอย่างน้อยก็ 5-6 ร้อยบาท ซีดีผีจึงเข้ามาทำตลาดในราคาเพียงแผ่นละ 80-100 บาท เมื่อ MP3 เข้ามา ซีดีผียิ่งขายดีเป็นเทน้ำเทท่า ด้วยราคาไม่ถึงร้อยแต่มีเพลงเป็นพันๆเพลง ซึ่งถึงตรงนี้ค่ายเพลงไทยที่ปกติขายกันในราคาเพียงชุดละร้อยสองร้อยบาทก็เริ่มได้รับผลกระทบบ้าง เมื่อคนหันไปฟังเพลงจากแผ่น MP3 จนยอดขายเพลงไทยตกลงอย่างหนัก การใช้กฎหมายลิขสิทธิ์ในเมืองไทยจึงเริ่มเข้มข้นขึ้นมากในช่วงราว 15 ปีที่ผ่านมา (สถิติการจับกุมการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาตามพ.ร.บ. ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 เพิ่มจาก 2,515 คดีในปี 2544 เป็น 3,363 คดี ในปี 2555 และเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนปี 2549 สถิติการจับกุมได้พุ่งสูงขึ้นถึง 6,459 คดี)

ในทางกลับกันหากมองไปที่โลกตะวันตก แนวคิดเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาเป็นสิ่งที่ถูกพัฒนาขึ้นเป็นเวลานับพันปี เริ่มตั้งแต่ยุคโรมันซึ่งเป็นอารยธรรมที่วางรากฐานของระบบกฎหมายในปัจจุบัน โดยหลักคิดสำคัญของโรมันที่ส่งผลต่อการยอมรับหลักการเรื่องลิขสิทธิ์ก็คือ หลักการว่าด้วยเรื่อง “ทรัพย์สินที่ไม่มีรูปร่าง” (res incorporales)

หลักการดังกล่าวถูกอ้างถึงเป็นครั้งแรกตามหลักฐานที่มีอยู่คือเมื่อปี ค.ศ. 161 (พ.ศ. 704) โดยนักกฎหมายนามว่า ไกอัส (Gaius) ซึ่งเป็นการเปลี่ยน “สิทธิ” สิ่งที่เป็นเพียงนามธรรมจับต้องไม่ได้ให้มีสถานะเดียวกันกับวัตถุธาตุที่จับต้องได้ผ่านหลักเหตุผลของนักกฎหมาย และค่อยๆ พัฒนาให้ทรัพย์สินที่ไม่มีรูปร่างนี้สามารถเปลี่ยนมือได้โดยมีค่าตอบแทน หรือการซื้อขายสิทธินั่นเอง

ภาพเขียนสีบนกระจกของนักบุญฟินเนียนจากโบสถ์แห่งหนึ่งในไอร์แลนด์ (Andreas F. Borchert, via Wikimedia Commons)
ภาพเขียนสีบนกระจกของนักบุญฟินเนียนจากโบสถ์แห่งหนึ่งในไอร์แลนด์ (Andreas F. Borchert, via Wikimedia Commons)

ส่วนข้อพิพาทในยุคโบราณที่เรียกได้ว่ามีลักษณะไม่ต่างไปจากการ “ละเมิดลิขสิทธิ์” ในยุคปัจจุบันคือข้อพิพาทที่เกิดขึ้นในช่วงปลายศตวรรษที่ 6 (หลัง ค.ศ. 560 หรือ พ.ศ. 1103) ระหว่าง นักบุญโคลัมบา (St. Columba) มิชชันนารีชาวไอริช กับนักบุญฟินเนียน (St. Finnian บ้างสะกดว่า Finian) ซึ่งมีสถานะเป็นพระอาจารย์ของนักบุญโคลัมบาเอง โดยนักบุญโคลัมบาได้แอบทำสำเนาคัมภีร์ทางศาสนาของนักบุญฟินเนียนเพื่อเก็บไว้ใช้เอง

นักบุญฟินเนียนมองว่าการกระทำของนักบุญโคลัมบาเป็นการ “ละเมิด” สิทธิของตน จึงโต้แย้งและอ้างว่าตนคือผู้ที่มีสิทธิเหนือสำเนาที่นักบุญโคลัมบาทำขึ้น แต่นักบุญโคลัมบาไม่เห็นด้วย เนื่องจากเชื่อว่า ถ้อยคำของพระเจ้าไม่ควรถูกเก็บซ่อนให้สูญหาย แต่ควรที่จะนำออกเผยแพร่สู่สาธารณะทำให้เขาควรมีสิทธิที่จะทำสำเนาเอกสารดังกล่าว

ข้อพิพาทดังกล่าวได้รับการตัดสินโดยกษัตริย์เดอร์มอร์ท (King Dermot ในภาษาอังกฤษหรือ Diarmait mac Cerbaill ในชื่อแบบไอริช) ซึ่งอ้างหลักการ “แม่วัวย่อมมีสิทธิเหนือลูกวัวที่ตนให้กำเนิด” (to every cow its calf) ทำให้นักบุญฟินเนียนชนะคดี

เห็นได้ว่า ชาวตะวันตกตระหนักในสิทธิที่จับต้องไม่ได้นี้มานานมาก และยิ่งได้นวัตกรรมการพิมพ์เข้ามาในยุคศตวรรษที่ 15 ทำให้การทำสำเนาเอกสารเกิดขึ้นได้ง่ายเป็นล่ำเป็นสัน จึงยิ่งกระตุ้นให้มีระบบคุ้มครองลิขสิทธิ์ก่อตัวขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม

ในปี ค.ศ. 1469 สภาแห่งเวนิชได้มอบสิทธิแต่เพียงผู้เดียวในการตีพิมพ์งานของซิเซโร (Cicero, นักกฎหมาย นักปรัชญาและนักการเมืองของโรมัน) ให้กับช่างพิมพ์ชาวเยอรมันนามว่า จอห์นแห่งสปีรา (John of Spira หรือ Johann of Speyer หรือ de Speier) เป็นเวลา 5 ปี ทำให้ช่างพิมพ์รายอื่นๆ กระโดดมาร่วมวงในการแสวงหาสิทธิในลักษณะเดียวกัน

เมื่อถึงต้นศตวรรษที่ 16 แนวคิดของพ่อค้าแห่งเวนิชก็มาถึงอังกฤษ โดยกษัตริย์อังกฤษเริ่มมอบสิทธิแต่เพียงผู้เดียวในการตีพิมพ์งานต่างๆให้กับบรรดาโรงพิมพ์ รูปแบบการคุ้มครองลิขสิทธิ์ในอังกฤษจึงเริ่มวางรากฐานขึ้นเป็นรูปเป็นร่างในยุคนี้ พร้อมกับการพัฒนาการจดทะเบียนของสมาคมช่างพิมพ์เพื่อรับรองสิทธิเพียงหนึ่งเดียวของโรงพิมพ์แต่ละแห่งในงานพิมพ์แต่ละชิ้น

จากหลักการสิทธิแต่เพียงผู้เดียวของเจ้าของผลงานอันมีลิขสิทธิซึ่งได้รับการรับรองจากสถาบันกษัตริย์ก็ถูกพัฒนาต่อโดยศาล (ตามระบบยุติธรรมแบบจารีตประเพณีหรือ common law) ที่ค่อยๆเริ่มยอมรับสิทธิของผู้สร้างสรรค์ผลงาน และผู้เผยแพร่ในฐานะผู้เป็นเจ้าของสิทธิโดยธรรมทันทีที่ได้สร้างสรรค์ผลงานนั้นๆขึ้นมา

ต่อมาในปี 1710 ได้มีการประกาศใช้กฎหมายที่เรียกว่า “Statue of Anne” (เนื่องจากร่างกฎหมายดังกล่าวถูกผ่านในรัชสมัยของควีนแอนน์) ซึ่งถือเป็นกฎหมายระดับ “เจ้าคุณปู่” แห่งระบบกฎหมายลิขสิทธิ์ของอังกฤษ (และอเมริกันในภายหลัง) โดยกฎหมายดังกล่าวเป็นกฎหมายฉบับแรกๆ ที่ให้เขี้ยวเล็บแก่ผู้สร้างสรรค์ และผู้เผยแพร่ในการเล่นงานผู้ละเมิดลิขสิทธิ์ที่จะต้องชดเชยค่าเสียหายแก่เจ้าของลิขสิทธิ์ พร้อมกับการกำหนดระยะเวลาการคุ้มครองสิทธิของผู้ถือลิขสิทธิ์อย่างชัดเจน

เมื่อเวลาผ่านไป สื่อที่ใช้ในการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารก็ไม่ได้จำกัดอยู่แต่เฉพาะสิ่งพิมพ์เท่านั้น กฎหมายจึงต้องพัฒนาตามมาเพื่อคุ้มครองงานสร้างสรรค์ของผู้ประพันธ์ และผู้เผยแพร่ในสื่อทุกชนิด รวมไปถึงสื่อบันทึกภาพ และสื่อบันทึกเสียง หรือสื่อที่สามารถบันทึกได้ทั้งภาพและเสียง

(หมายเหตุ : เนื้อหาต่อไปนี้กล่าวถึงข้อถกเถียงเรื่องลิขสิทธิ์ในไทยอันเป็นเหตุการณ์และข้อมูลจากเมื่อปี พ.ศ. 2559 – กองบก.ออนไลน์)


กลับมาที่สถานการณ์ปัจจุบันในเมืองไทย (2559) การจับกุมผู้ประกอบการร้านกาแฟรายหนึ่งที่เปิดเพลงของค่ายดังจากยูทูปในข้อหาละเมิดลิขสิทธิ์ ทำให้เกิดการถกเถียงขึ้นว่า การกระทำดังกล่าวขัดต่อกฎหมายลิขสิทธิ์จริงหรือไม่ ในเมื่อครั้งหนึ่ง ศาลฎีกาเคยตัดสินไว้ตามคำพิพากษาฎีกาที่ 8220/2553 ว่า

“โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยประกอบกิจการค้าขายอาหารตามสั่งและเครื่องดื่ม จำเลยเปิดแผ่นวีซีดีเพลง ‘กำลังใจที่เธอไม่รู้’ อันเป็นลิขสิทธิ์ของผู้เสียหาย ซึ่งได้มีผู้ทำขึ้นหรือดัดแปลงขึ้นให้ลูกค้าในร้านอาหารของจำเลยฟัง ไม่ปรากฎว่าจำเลยเปิดเพลงเพื่อหากำไรโดยตรงจากการที่ให้ลูกค้าฟังเพลงโดยการเรียกเก็บค่าตอบแทนหรือเรียกเก็บเพิ่มรวมไปกับอาหารและเครื่องดื่มแต่อย่างใด การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 31 ประกอบมาตรา 70 วรรคสอง เพราะไม่ครบองค์ประกอบความผิดของบทมาตราดังกล่าว ซึ่งต้องเป็นการกระทำเพื่อหากำไรโดยตรงจากการละเมิดลิขสิทธิ์”

จากถ้อยคำตามคำพิพากษาทำให้คนส่วนใหญ่ตีความกันไปว่า การที่ร้านกาแฟเปิดเพลงจากยูทูปให้ลูกค้าฟัง ซึ่งไม่ใช่ “การหากำไรโดยตรง” เช่นกัน ย่อมไม่เป็นความผิด แต่นักกฎหมายและผู้ประกอบการธุรกิจดนตรีก็รีบเข้ามาขัดโดยทันทีว่า ฎีกาฉบับดังกล่าวเป็นการตัดสินความผิดตามมาตรา 31 (2) ฐานเผยแพร่ต่อสาธารณชนซึ่งงานใดอันได้ทำขึ้นโดยละเมิดสิทธิ์ของบุคคลอื่น แต่การกระทำของผู้ประกอบการร้านกาแฟเป็นการประทำผิดตามมาตรา 27 (2) เป็นเรื่องของการเผยแพร่งานอันมีลิขสิทธิ์ต่อสาธารณชนโดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งศาลยังมิได้ “วินิจฉัย” ความผิดในข้อนี้

ข้ออ้างดังกล่าวถือว่ารับฟังได้เนื่องจาก ศาลอาจตีความคำว่า “เผยแพร่ต่อสาธารณชน” ที่บัญญัติไว้ในมาตรา 27(2) ต่างจากคำว่า “เผยแพร่ต่อสาธารณชน” ในมาตรา 31(2) แม้ว่าถ้อยคำดังกล่าวจะสะกดตรงกันทุกตัวอักษรก็ตาม ซึ่งเป็นสิ่งที่อาจเกิดขึ้นได้ด้วยการใช้เหตุผล “แบบนักกฎหมาย” ที่ชาวบ้านทั่วไปคงยากจะเข้าใจว่าเหตุใดการเผยแพร่ “เพลงดัดแปลงโดยละเมิดลิขสิทธิ์” จำเป็นต้องเรียกหากำไรโดยตรงจึงจะผิดกฎหมายลิขสิทธิ์ แต่การเผยแพร่ “เพลงต้นฉบับ” ลำพังแค่เผยแพร่ในร้านโดยไม่ได้เรียกเก็บหากำไรโดยตรงก็เป็นความผิดแล้ว

นุสรา กาญจนกูล ผอ.สำนักกฎหมาย กรมทรัพย์สินทางปัญญา ได้ให้สัมภาษณ์กับไทยรัฐทีวี ยืนยันว่า การเปิดเพลง (รวมถึงการเปิดวิทยุ) ในร้านอาหารเป็นการ “เผยแพร่ต่อสาธารณชน” โดยไม่ได้รับอนุญาต ไม่ใช่การใช้ “เพื่อส่วนตัว” จึงที่ไม่เข้าข้อยกเว้นตามกฎหมายย่อมขัดต่อกฎหมายลิขสิทธิ์ ซึ่งเธอย้ำว่า หลักการดังกล่าวเป็นไปตาม “หลักสากล” อันเป็นหลัก “ที่ทุกประเทศมีเหมือนกัน” (โดยมิได้อธิบายการตีความคำพิพากษาของศาลฎีกา)

“ขอให้คิดง่ายๆนะคะว่า เมื่อใดก็ตามที่การใช้เนี่ยมันมีเรื่องของธุรกิจเข้ามาเกี่ยวข้อง แม้ไม่ใช่ทางตรงนะคะ โดยอ้อมเนี่ยก็ต้องหยุดสักนิดนึง แล้วก็ดูว่าเราจะใช้ได้มั้ย” นุสรากล่าว “คือผลโดยอ้อมที่ก่อให้เกิดประโยชน์กับธุรกิจของเราเนี่ยมันเป็นเรื่องที่เราจะต้องไดรับอนุญาตน่ะค่ะ”

เมื่อพิธีกรถามว่า หากเป็นกรณีที่ “แท็กซี่” เปิดเพลงให้ผู้โดยสารฟังจะผิดหรือไม่ นุสรา ยกตัวอย่างกรณีบริษัททัวร์ที่มีรถบัสขนาดใหญ่ที่เปิดเพลงให้ผู้โดยสารฟัง เช่นนี้ผู้ประกอบการ “ต้องเสีย” ค่าลิขสิทธิ์

“แต่แท็กซี่เนี่ยเข้าใจว่าเจ้าของสิทธิเขาคงไม่ได้สนใจหรอก” นุสราตอบเลี่ยงๆ ไม่ตรงคำถาม แต่ความหมายโดยนัยชัดเจนว่า ต่อให้เป็นแท็กซี่เปิดเพลงให้ผู้โดยสารฟังก็อยู่ในข่ายที่จะต้องเสียค่าลิขสิทธิ์เช่นกัน (ในเมื่อกฎหมายมิได้กำหนดว่า ขนาดธุรกิจของผู้ให้บริการเป็นข้อยกเว้นของกฎหมายลิขสิทธิ์)

ถึงตรงนี้ หลายคนคงรู้สึกได้ว่า “ลิขสิทธิ์” เป็นสิทธิที่ทั้ง “เด็ดขาด” และ “กว้างขวาง” พร้อมกับอาจเห็นว่า ถ้ามีการไล่เก็บค่าลิขสิทธิ์จาก “แท็กซี่” จริงย่อมเป็นเรื่องที่ไม่เป็นธรรม เช่นเดียวกับที่หลายคนรู้สึกว่า การที่บริษัทยักษ์ใหญ่มาไล่เก็บค่าลิขสิทธิ์จากร้านกาแฟเล็กๆ ก็ “ไม่เป็นธรรม” เช่นกัน ซึ่งปัจจัยที่ทำให้คนรู้สึกเช่นนี้ส่วนร่วมสำคัญคือ “ขนาดของธุรกิจ” ที่ถูกเรียกเก็บค่าลิขสิทธิ์

ในขณะที่ นุสรา ยืนยันว่า การที่เจ้าของธุรกิจบันเทิงไล่เก็บค่าลิขสิทธิ์จากผู้ประกอบไม่ว่าจะเป็นรายเล็กหรือรายใหญ่ และไม่ว่าจะเป็นงานจากสื่อชนิดใดก็ตาม เป็นไปตาม “หลักสากล” แต่ในสหรัฐฯ กฎหมายลิขสิทธิ์กลางแห่งสหรัฐฯ มาตรา 110(5)(B) ได้ยกเว้นสิทธิแต่เพียงผู้เดียวของผู้ถือลิขสิทธิ์เอาไว้ ทำให้ “ผู้ประกอบธุรกิจขนาดเล็ก” (รวมถึงผู้ประกอบการขนาดใหญ่ที่จำกัดการเผยแพร่งานอันมีลิขสิทธิ์ภายใต้เงื่อนไขที่กำหนด) สามารถเผยแพร่งานเพลง และงานวิดิทัศน์ที่มีการกระจายเสียงหรือแพร่ภาพทางวิทยุหรือโทรทัศน์สู่สาธารณะอยู่แล้ว โดยไม่ต้องเสียค่าลิขสิทธิ์ให้แก่ผู้ถือสิทธิแต่อย่างใด หากไม่มีการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายในการรับฟังหรือรับชมโดยตรง

พูดง่ายๆก็คือ ถ้าผู้ประกอบธุรกิจขนาดเล็ก (หรือใหญ่แต่จำกัดการเผยแพร่) เปิดทีวี หรือวิทยุซึ่งเผยแพร่ต่อสาธารณะโดยไ่ม่จำกัดผู้รับ ย่อมไม่ถือเป็นการกระทำที่ละเมิดต่อกฎหมายลิขสิทธิ์ของสหรัฐฯ ซึ่งเป็นเรื่องที่สมเหตุสมผล เนื่องจากงานดังกล่าวทุกคนสามารถรับชมรับฟังได้ฟรีๆอยู่แล้ว ยิ่งในยุคปัจจุบันต่อให้ร้านอาหาร หรือร้านค้าอื่นๆ ไม่เปิดวิทยุ หรือทีวี ลูกค้าที่มีมือถือรุ่นใหม่ๆ ก็สามารถรับสื่อดังกล่าวได้โดยไม่ต้องพึ่งร้านค้า หรือร้านอาหาร

แต่เป็นที่น่าเสียดาย ที่หลักการดังกล่าวในกฎหมายสหรัฐฯ “ไม่ใช่หลักสากล” ทำให้ชาวบ้านชาวช่องในเมืองไทยไม่ได้รับผลประโยชน์เช่นชาวบ้านในสหรัฐฯ


อ้างอิง:

1. “Copyright: Its History and Its Law”. Richard Rogers Bowker.

2. “The Roman Law Roots of Copyright”. Russ Ver Steeg. <http://digitalcommons.law.umaryland.edu/mlr/vol59/iss2/7>

3. “เปิดเพลงอย่างไรไม่ให้ละเมิดฯ”. ไทยรัฐออนไลน์ <http://www.thairath.co.th/clip/56506>


เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ กรกฎาคม พ.ศ. 2559