แรกมี “ลิขสิทธิ์” ในวงการสิ่งพิมพ์สยาม

รัชกาลที่ 5
รัชกาลที่ 5 ทรงออกประกาศพระราชบัญญัติกรรมสิทธิ์ผู้แต่งหนังสือ

แนวคิดเรื่อง “ลิขสิทธิ์” เข้ามาพร้อมกับเทคโนโลยีการพิมพ์ ตั้งแต่แรกรับในสมัยรัชกาลที่ 4 เริ่มจากหมอบรัดเลย์ซื้อลิขสิทธิ์เรื่อง นิราศลอนดอน ของหม่อมราโชทัยในราคา 400 บาท เพื่อตีพิมพ์จำหน่าย แต่เหตุการณ์ครั้งนี้เป็นกรณีพิเศษที่ไม่ได้ส่งผลกระทบในวงกว้าง เพราะหลังจากนั้นไม่พบการจ่ายค่าลิขสิทธิ์หนังสือในรายอื่นๆ ต่อมา

จนกระทั่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้ออกหนังสือวชิรญาณ ใน พ.ศ. 2427 พร้อมกับการเปิด หอสมุดวชิรญาณ หนังสือวชิรญาณมีเนื้อหาในลักษณะเผยแพร่ความรู้ทางประวัติศาสตร์วรรณคดี แบบวิชาการ ซึ่งบรรดาสมาชิกของหอพระสมุดเป็นผู้ค้นคว้าเรียบเรียงขึ้น ปรากฏว่ามีผู้คัดลอกเอาเรื่องที่ลงในวชิรญาณไปตีพิมพ์จำหน่าย จึงได้ทรงออกประกาศมิให้ผู้หนึ่งผู้ใดคัดลอกหนังสือวชิรญาณไปตีพิมพ์โดยพลการ เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2435 หากประสงค์จะพิมพ์ต้องขออนุญาตต่อกรรมการหอพระสมุดเสียก่อน

Advertisement

เมื่อ “เรื่อง” ที่มีผู้เอาไปคัดลอกพิมพ์ซ้ำเป็นของเชื้อพระวงศ์ชั้นสูง จึงได้รับการยอมรับปฏิบัติตามประกาศของทางการเป็นอย่างดี ปรากฏว่าไม่มีผู้ใดล่วงละเมิดประกาศดังกล่าว ซึ่งต่อมาระเบียบนี้ได้พัฒนาขึ้นโดยให้ผู้ที่ขอพิมพ์หนังสือจากต้นฉบับที่เป็นลิขสิทธิ์ของหอพระสมุดฯ ต้องจ่ายหนังสือให้เป็นค่าภาคหอ และให้เจ้าหน้าที่ของหอพระสมุดควบคุมการตรวจปรู้ฟ และดูแลการจัดพิมพ์ให้เรียบร้อย

ความใส่ใจในเรื่องลิขสิทธิ์เกิดขึ้นอีกครั้งเมื่อมิสเตอร์เฮมิลตัน คิง ราชทูตอเมริกันได้นำหนังสือของหมอยอช แมคฟาแลนด์ มาปรึกษากรมหลวงเทวะวงศ์วโรปการเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2443 ว่าจะขอพระราชทานอำนาจผู้แต่งหนังสือให้กับหมอยอช ซึ่งเป็นผู้แต่ง

ต่อมาเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2444 กรมหมื่นราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ได้ขอพระราชทานอำนาจกอปีไรต์หนังสือตำราเรียนกฎหมายและกฎหมายอื่นๆ ที่ทรงแต่งไว้พิมพ์ขายบ้าง พร้อมกันนี้ ได้ส่งข้อความร่างประกาศพระราชทานอำนาจกอปีไรต์ถวายแด่รัชกาลที่ 5 ด้วย

ในวันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2444 นั่นเอง จึงได้ออก “พระราชบัญญัติกรรมสิทธิ์ผู้แต่งหนังสือ” อันเป็นกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการพิมพ์ฉบับแรกในสมัยที่การพิมพ์แพร่หลายในสยามแล้ว โดยหนังสือที่จดกรรมสิทธิ์จะลงข้อความไว้ภายในเล่ม เช่น

“ห้องกรมพระอาลักษณ์

เรื่องที่ 82 สมุดทะเบียนเล่มที่ 1 น่าที่ 45 หนังสือประถมศารีรศาสตร์นี้ หมอยอชแมคฟาแลนด์ นำมาขอจดทะเบียนต่อกรมพระอาลักษณ์ เพื่อมีกรรมสิทธิ์ในหนังสือนี้ เจ้าพนักงานได้รับจดทะเบียนไว้ตามพระราชบัญญัติรัตนโกสินทรศก 120 แล้ว แต่วันที่ 24 มีนาคม รัตนโกสินทรศก 123

พระยาศรีสุนทรโวหาร เจ้ากรมพระอาลักษณ์

หมอยอชแมคฟาแลนด์ ผู้รับกรรมสิทธิ์”

เมื่อออกพระราชบัญญัติฉบับนี้แล้ว ปรากฏว่ามีผู้มาขอกรรมสิทธิ์เป็นจำนวนมากทั้งเชื้อพระวงศ์ เช่น กรมหลวงดำรงราชานุภาพ เรื่องพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 1 กรมหมื่นราชบุรีดิเรกฤทธิ์ เรื่องกฎหมายสำหรับผู้พิพากษาและทนายความ กลุ่มขุนนางข้าราชการ เช่น พระยาสีหราชเดโช เรื่องหนังสือตำราแผนที่ ขุนจรัสชวนพันธ์ เรื่องพงศาวดารโปลิติกส์ และราษฎรทั่วไป เช่น นายกุหลาบ เรื่องมหามุขมาตยานุกูลวงษ์ เล่ม 1 พระบรมราชประวัติสี่รัชกาล จีนเสงหลี เรื่องแบบเรียนง่ายภาษาอังกฤษ 1 และ 2 [อำไพ จันทร์จิระ, “ประวัติและวิวัฒนาการการพิมพ์หนังสือในประเทศไทย” (วิทยานิพนธ์อักษรศาสตรบัณฑิต แผนกวิชาบรรณารักษศาสตร์ บัณฑฺตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2515 น.113-128]

แนวคิดเรื่อง “กรรมสิทธิ์ผู้แต่งหนังสือ” นี้สะท้อนให้เห็นความเปลี่ยนแปลงทัศนคติต่อ “ความรู้” ซึ่งกล่าวได้ว่าเป็นผลกระทบโดยตรงจากเทคโนโลยีการพิมพ์ ที่ทำให้ความรู้กลายเป็นสิ่งที่ซื้อหามาครองได้ นอกจากนั้นพระราชบัญญัติฉบับนี้ยังทำให้การประพันธ์กลายเป็นอาชีพขึ้นมาได้

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


หมายเหตุ : บทความนี้คัดย่อจาก สุจิตต์ วงษ์เทศ บรรณาธิการ. สยามพิมพการ: ประวัติศาสตร์การพิมพ์ในประเทศไทย, สำนักพิมพ์มติชน, พิมพ์ครั้งที่ 2 มกราคม 2565 [สั่งเน้นคำโดยกองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม]


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 1 กุมภาพันธ์ 2565