เปิดประวัติ “สินค้า” ติดปากคนไทย “มาม่า-แพมเพิร์ส-ซีร็อกซ์-แฟ้บ” ที่ไม่ต้องมีลิขสิทธิ์ก็เรียกได้

สินค้า มาม่า แฟ้บ แพมเพิร์ส ซีร็อกซ์

เมื่อคิดจะค้าขาย “สินค้า” ชิ้นใด ชิ้นหนึ่ง ทุกบริษัทล้วนต้องการให้ชื่อผลิตภัณฑ์ของตนเองติดตลาด โดยใช้วิธีการต่าง ๆ มากมาย เช่น โฆษณา ปรับการผลิตให้เข้ากับความต้องการของตลาด แม้จะไม่ใช่ทุกชื่อที่สามารถเจาะตลาดได้ แต่ก็มีอยู่ไม่น้อยที่เพียงเอ่ยแบรนด์ออกมา ทุกคนต่างจะต้องร้องอ๋อ อย่างน้อยก็ไม่พ้น 4 ชื่อนี้ นั่นคือ มาม่า แพมเพิร์ส ซีร็อกซ์ และ แฟ้บ

1. มาม่า

มาม่า บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป
ภาพ : www.mama.co.th

บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่อยู่คู่ครัวคนไทยมากกว่า 50 ปี เดิมทีบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเป็นผลิตภัณฑ์ที่เกิดขึ้นในประเทศญี่ปุ่น และได้รับความนิยมอย่างมาก ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เนื่องจากแดนปลาดิบขาดแคลนอาหารอย่างหนัก จึงทำให้เกิดเมนูเส้นบะหมี่แห้งที่เพียงเติมน้ำก็รับประทานได้ทันที และเมื่อเข้าปี 1958 อาหารชนิดนี้ก็ได้รับความนิยมไปทั่วญี่ปุ่น เพราะกินง่าย ราคาถูก รสชาติคล้ายคลึงกับราเมน อาหารพื้นถิ่นที่อิ่มอยู่ท้องแห่งแดนอาทิตย์อุทัย

กระทั่งปี 1972 บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปก็ได้เข้ามาในประเทศไทย โดยนายห้าง เทียม โชควัฒนา เจ้าของบริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด และตั้งแบรนด์ชื่อว่า “มาม่า” (MAMA) แม้ในตอนแรกจะยังไม่ประสบความสำเร็จมากนัก เนื่องจากคนไทยไม่ค่อยเข้าใจวิธีกิน ทั้งราคายังสูงกว่าบะหมี่ชามจริง ๆ ในท้องตลาด แต่เพราะความพยายามในการพัฒนารสชาติ เอาใจใส่เรื่องคุณภาพ ควบคู่ไปกับการโฆษณาที่มีประสิทธิภาพ จึงไม่แปลกใจเลยว่า ทำไมเมื่อคนไทยนึกอยากกินเส้นบะหมี่แห้งในซองรสชาติต่าง ๆ ต้องเอ่ยว่า “มาม่า” แทนคำว่า “บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป” ทุกครั้ง

2. แพมเพิร์ส 

แพมเพิร์ส เด็ก
ภาพ : www.pampers.com

ไม่แน่ใจว่า “แพมเพิร์ส” กลายมาเป็นคำเรียกแทน “ผ้าอ้อม” ตั้งแต่เมื่อไหร่ แต่ที่แน่ ๆ คือ คนไทยหลายคนน่าจะเข้าใจว่าแพมเพิร์สเป็นคำภาษาอังกฤษที่แปลว่าผ้าอ้อมไปเสียแล้ว 

แพมเพิร์ส เป็นชื่อแบรนด์ผ้าอ้อมในสหรัฐอเมริกา กำเนิดขึ้นมาตั้งแต่ปี 1961 ผู้คิดค้นคือ วิค มิลส์ (Vic Mills) ซึ่งทำงานให้กับบริษัท พร็อคเตอร์ แอนด์ แกมเบิล เขามองเห็นความยากลำบากในการใช้ผ้าอ้อม เนื่องจากแต่ก่อนจะใช้ผ้าทั่วไป หากใช้ซ้ำก็ต้องซักใหม่ จึงทำให้เกิดผ้าอ้อมสำเร็จรูปอย่าง “แพมเพิร์ส” ขึ้น

แพมเพิร์ส ถือเป็นแบรนด์ผ้าอ้อมอันดับ 1 ที่คนทั่วโลกเลือกใช้อย่างล้นหลาม อ้างอิงจากส่วนแบ่งในตลาดปี 2019 ที่ครองไป 25% แม้ในตลาดผ้าอ้อมสำเร็จรูปจะมีคู่แข่งมากหน้าหลายตาก็ตาม 

ปัจจุบัน “แพมเพิร์ส” ไม่ได้รับความนิยมในประเทศไทยเท่าที่ควรแล้ว หากอ้างอิงจากส่วนแบ่งการตลาดที่ถูกยึดพื้นที่ด้วยมามี่โพโคและเบบี้เลิฟ แต่สิ่งที่ไม่เปลี่ยนไปคือ ไม่ว่าจะผ่านไปนานเท่าไหร่ คนไทยก็ยังคงติดปากใช้คำว่า แพมเพิร์ส เพื่อเรียกแทนผ้าอ้อมเหมือนเดิม

3. ซีร็อกซ์ 

เครื่องถ่ายเอกสาร ซีร็อกซ์ สินค้า
ภาพ : www.britannica.com

“เครื่องถ่ายเอกสาร” หรือที่คนไทยเรียกว่า “ซีร็อกซ์” เป็นสิ่งประดิษฐ์ที่คิดค้นขึ้นมาจาก เชสเตอร์ คาร์ลสัน (Chester Carlson) นักฟิสิกส์ชาวอเมริกัน เขาได้นำวิธีคิดที่ร่ำเรียนมาช่วงมหาวิทยาลัยเพื่อผลิตสิ่งประดิษฐ์ในฝัน อย่าง การผนวกไฟฟ้าสถิตกับการเหนี่ยวนำไฟฟ้าด้วยแสง (photoconductivity) โดยใช้ตัวชาร์จไฟฟ้าสถิตบนพื้นผิวที่โรยด้วยผงละเอียดเพื่อให้เกิดภาพ 

คาร์ลสันพยายามทดลอง ปรับเปลี่ยนโครงสร้างของสิ่งประดิษฐ์ไปเรื่อย ๆ พร้อมกับผู้ช่วยที่ชื่อว่า อ็อตโต คอร์เน (Otto Kornei) ในที่สุดพวกเขาทั้ง 2 คน ก็สร้างเครื่องถ่ายเอกสารซีโรกราฟิกเครื่องแรกขึ้นตามแนวคิดนี้ได้สำเร็จ

2 หนุ่มเดินเตร็ดเตร่ไปขายเครื่องถ่ายเอกสารชิ้นนี้ให้กับ 3 บริษัทใหญ่ ได้แก่ ไอบีเอ็ม, 3 เอ็ม, และ เอ.บี. ดิ๊ค หวังว่าทั้ง 3 บริษัทจะสามารถต่อยอดอุปกรณ์ชิ้นนี้ให้โด่งดังในอนาคตได้ ทว่า บริษัทที่เขามุ่งหวังอยากจะสานสันพันธ์กลับปฏิเสธทั้งหมด

กระทั่ง เจ้าของผลงานได้พบกับ โจ วิลสัน (Joe wilson) เจ้าของบริษัท ฮาลอยด์ คอมพานี ในปี 1946 ทั้งคู่ได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นซึ่งกันและกัน จนท้ายที่สุด คาร์ลสันและวิลสัน จึงตัดสินใจพัฒนาเครื่องถ่ายเอกสารนี้ให้เหมาะกับตลาดร่วมกัน กินเวลาไปประมาณ 12 ปี แบรนด์ซีร็อกซ์ก็ได้โชว์ตัวต่อหน้าตลาด และกลายมาเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก

แม้ปัจจุบันการถ่ายเอกสารจะไม่ได้รับความนิยมเท่าที่ควร แต่สิ่งที่ยังหลงเหลือคือ คนไทยยังเรียกการถ่ายเอกสารว่า “ซีร็อกซ์” 

4. แฟ้บ

แฟ้บ ผงซักฟอก
ภาพ : ธีรภาพ โลหิตกุล

“ไม่มีผงซักฟอกใด ขจัดความสกปรกได้รวดเร็วเท่าแฟ๊บ” หนึ่งในคำโฆษณาในสตรีสารฉบับต้นมกราคม พ.ศ. 2503 

แฟ้บ เป็นสินค้าที่ผลิตขึ้นจาก บริษัท คอลเกต-ปาล์มโอลีฟ ช่วงปี 2493 หลังจากมีการแข่งขันทำผงซักฟอกมาตั้งแต่ปี 2460 เป็นต้นมา แม้จะมีแบรนด์ทำผงซักผ้าอยู่ค่อนข้างมาก แต่เนื่องด้วย แฟ้บมีส่วนประกอบที่โดดเด่น ประจวบเหมาะกับชื่อที่ติดหูได้ง่ายอย่าง FAB ซึ่งย่อมาจาก Faster and Better จึงทำให้ในเวลาต่อมา แฟ้บ กลายมาเป็นผงซักฟอกยี่ห้อท็อป ๆ ของโลก

เมื่อได้รับความนิยมอย่างมาก แฟ้บจึงเข้ามาในประเทศไทยราว พ.ศ. 2468 ในช่วงแรกคนไทยยังกล้า ๆ กลัว ๆ ในการใช้ผงซักฟอก เพราะเป็นสิ่งแปลกใหม่ และไม่คุ้นชิน เนื่องจากคนไทยสมัยนั้นใช้สบู่ในการซักผ้า จึงทำให้แฟ้บไม่ได้เฉิดฉายในท้องตลาดเท่าที่ควร โปรเจกต์ที่จะตีตลาดในประเทศไทยจึงเป็นอันว่าตกไป

พ.ศ. 2495 แฟ้บ ได้กลับมาพร้อมความมุ่งมั่นที่จะครองตลาดผงซักฟอกในประเทศไทยอีกครั้ง โดย บริษัท หลุยส์ ที เลียวโนเวนส์ จำกัด และอาจเพราะช่วงเวลาที่เปลี่ยนไป รวมไปถึงคนไทยเริ่มคุ้นกับสิ่งที่เรียกว่า “ผงซักฟอก” ขึ้นบ้างแล้ว เนื่องจากในปี 2475 เกิดผงซักฟอกของไทยชื่อว่า “พรรณอร” จึงทำให้คนไทยลองเปิดใจใช้แฟ้บ แล้วก็ค้นพบว่า มันใช้ง่ายมาก เพียงแค่เทผงลงไปในน้ำ ตีให้เกิดฟอง ใส่ผ้าลงไป ขยี้เสียหน่อยก็เป็นอันใช้ได้ 

ด้วยเหตุนี้เองจึงทำให้ “แฟ้บ” เป็น “สินค้า” ที่ครองใจคนไทยเป็นระยะเวลานาน ทั้งยังถูกยกให้เป็นสรรพนามในการเรียกชื่อผงซักฟอกยี่ห้ออื่น ๆ 

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง : 

https://www.silpa-mag.com/history/article_87265

https://www.silpa-mag.com/history/article_96640

https://www.silpa-mag.com/history/article_29762

https://www.silpa-mag.com/history/article_96640

https://www.brandcase.co/42037

https://marketeeronline.co/archives/25398

https://www.instantramen.jp/post/japanese-instant-noodles-popularity

https://www.bangkokfoodies.com/the-story-of-jeh-ohs-khao-tom-ped-how-one-instant-noodle-dish-became-a-local-phenomenon-bangkok-foodies/


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 31 สิงหาคม 2566