กำเนิดเครื่องถ่ายเอกสาร จากลูกช่างตัดผมเร่ร่อนถูกปฏิเสธร่วมธุรกิจ ก่อนกลายเป็นเศรษฐี

ซีร็อกซ์ เครื่องถ่ายเอกสาร
ภาพประกอบเนื้อหา - คนงานกำลังประกอบเครื่องถ่ายเอกสารในโรงงานที่ชลบุรี เมื่อปี 2018 (ภาพโดย LILLIAN SUWANRUMPHA / AFP) ใช้ประกอบอ้างอิงถึงเนื้อหาเท่านั้น ไม่ได้เกี่ยวข้องกับเนื้อหาโดยตรง

บ่อยครั้งที่สิ่งประดิษฐ์บางอย่างมักถูกมองข้าม เมื่ออยู่ผิดยุคผิดสมัย ไม่เว้นแม้แต่เครื่องถ่ายเอกสารด้วยการใช้แสงของ เชสเตอร์ คาร์ลสัน (Chester Carlson)

คาร์ลสันเป็นบุตรเพียงคนเดียวของช่างตัดผมเร่ร่อน พ่อกับแม่พาเขาระหกระเหินไปทั่วอเมริกาเพื่อรับจ้างทำงานเล็กๆ น้อยๆ ประทังชีวิต คาร์ลสันต้องช่วยพ่อแม่ทำงานตั้งแต่อายุ 8 ขวบ พอเรียนมัธยมปลายก็กลายเป็นเสาหลักที่หาเงินจุนเจือครอบครัว คาร์ลสันย้ำอยู่เสมอว่า ชีวิตวัยเด็กที่โดดเดี่ยวทำให้เขามีเวลาปลดปล่อยจินตนาการได้เต็มที่ ส่วนความลำบากในวัยเด็กทำให้เขาเรียนรู้ที่จะพึ่งพาตนเองและอดทน

Advertisement

แม้จะตกทุกข์ได้ยาก แต่คาร์ลสันก็ไม่เคยละทิ้งการศึกษา เขาเรียนและทำงานไปพร้อมกัน กระทั่งสำเร็จการศึกษาสาขาฟิสิกส์จากแคลเทคในปี 1930 และได้ทำงานด้านสิทธิบัตร จากประสบการณ์เหล่านี้ คาร์ลสันจึงเชื่อว่าเครื่องถ่ายเอกสารแบบใหม่ที่เขาคิดไว้เพื่อทดแทนเครื่องโรเนียวแบบเก่านั้น น่าจะเป็นที่ต้องการของตลาดอย่างแน่นอน

คาร์ลสันคิดว่าแสงน่าจะมีส่วนสำคัญในการสำเนาเอกสารขึ้นมา กระทั่งในปี 1937 จึงคิดวิธีผนวกไฟฟ้าสถิตกับการเหนี่ยวนำไฟฟ้าด้วยแสง (photoconductivity) ด้วยการใช้ตัวชาร์จไฟฟ้าสถิตบนพื้นผิวที่โรยด้วยผงละเอียดเพื่อทำให้เกิดภาพ

ปีถัดมา คาร์ลสัน และ อ็อตโต คอร์เน (Otto Kornei) ผู้ช่วยของเขา จึงสร้างเครื่องถ่ายเอกสารซีโรกราฟิคเครื่องแรกขึ้นตามแนวคิดนี้ขึ้นมา คาร์ลสันนำเสนอผลงานเบื้องต้นกับ 3 บริษัทยักษ์ใหญ่ ได้แก่ ไอบีเอ็ม, 3 เอ็ม, และ เอ.บี. ดิ๊ค แต่ทั้ง 3 บริษัทแสดงท่าทีไม่กระตือรือร้นต่อประดิษฐกรรมชิ้นนี้

โชคดีที่ความหัวรั้นและไม่ยอมแพ้ของคาร์ลสัน ซึ่งหล่อหลอมขึ้นมาจากความยากจนและการต่อสู้ดิ้นรนในวัยเด็ก สั่งให้เขาเดินหน้าต่อ คาร์ลสันได้รับสิทธิบัตรเครื่องถ่ายเครื่องทำสำเนาภาพ (Electrophotography) ในปี 1940 จากนั้นก็พยายามตระเวนขายสิ่งประดิษฐ์นี้ ขณะศึกษาต่อปริญญาโทด้านกฎหมายควบคู่กันไป ในที่สุดโชคก็เข้าข้าง หลังจากเขานำเสนอเครื่องถ่ายเอกสารต้นแบบมา 8 ปี หัวหน้าฝ่ายกราฟิคของสถาบันวิจัยแบ็ทเทลล์ ซึ่งเป็นองค์กรค้นคว้าวิจัยที่ไม่ประสงค์ผลกำไรตกลงรับเป็นตัวแทนสำหรับสิทธิบัตรของคาร์ลสันแต่เพียงผู้เดียว แลกกับ 50% ของค่าลิขสิทธิ์ที่จะได้ในอนาคต

จากนั้นในปีเดียวกัน โจ วิลสัน (Joe wilson) เจ้าของบริษัท ฮาลอยด์ คอมพานี สนใจสิ่งประดิษฐ์ของคาร์ลสัน ทั้งคู่พบกันครั้งแรกในปี 1946 วิลสันซึ่งเป็นผู้นำที่มีวิสัยทัศน์และเปี่ยมด้วยความคิดสร้างสรรค์ ถูกชะตากับนักวิทยาศาสตร์ผู้เคร่งขรึมและเด็ดเดี่ยวในทันที ทั้งสองรู้ด้วยสัญชาตญาณและสามัญสำนึกว่า สิ่งประดิษฐ์ของคาร์ลสันคือโอกาสสำคัญของทั้งคู่ พวกเขาร่วมกันล้มลุกคลุกคลาน พัฒนาเครื่องถ่ายเอกสารต้นแบบเป็นเวลากว่า 12 ปี และเปลี่ยนชื่อบริษัทให้ติดหูมากขึ้นว่า “ซีร็อกซ์” ซึ่งกลายเป็นคำเรียกขานเครื่องถ่ายเอกสารตั้งแต่นั้นมา

ในปลายทศวรรษ 1950 บริษัท ซีร็อกซ์ ได้สร้างเครื่องถ่ายเอกสารรุ่น 914 ที่สามารถถ่ายสำเนาได้ 1 แสนแผ่นต่อเดือน โดยไม่ต้องใช้น้ำยาเคมี และหลังจากสำรวจความต้องการของตลาดที่ต้องการถ่ายเอกสารทีละแผ่นด้วย พวกเขาจึงติดตั้งเครื่องนับจำนวนแผ่นเข้าไป ทำให้ในปี 1962 ฮาลอยด์สามารถส่งเครื่องถ่ายเอกสารออกสู่ตลาดได้ 10,000 เครื่อง

แม้คาร์ลสันจะมองว่าสิ่งประดิษฐ์คือสะพานนำเขาไปสู่ความมั่งคั่งที่ทำรายได้ให้เขากว่า 150 ล้านเหรียญในทศวรรษ 1960 แต่เขาก็ไม่ได้หลงระเริงกับชื่อเสียงเงินทองที่ได้มาเลย ตรงกันข้ามคาร์ลสันยังใช้ชีวิตสมถะ อยู่ในบ้านหลังเล็กๆ กับครอบครัว และบริจาคเงินรายได้ก้อนใหญ่ให้การกุศล เขายอมรับว่าความลำบากในวัยเด็ก ทำให้เขามีภูมิคุ้มกัน ไม่หลงระเริงกับความหรูหราฟู่ฟ่าที่อยู่รอบกาย

คาร์ลสันเสียชีวิตด้วยอาการหัวใจวาย ขณะอายุ 62 ปี ในขณะที่ประดิษฐกรรมของเขากลายเป็นสินค้าที่บริษัทด้านอิเล็กทรอนิกส์หันมาแชร์ตลาดเพิ่มขึ้น และทำให้ 3 บริษัทยักษ์ใหญ่ที่เคยปฏิเสธผลงานของเขาแทบกระอักเลือดเลยทีเดียว

อ่านเพิ่มเติม :


อ้างอิง :

Coller, Jeremy. The Lives, Loves and Deaths of Splendidly Unreasonable Inventors. Infinite Ideas, 2009.

www.answers.com

www.greatamericaninventor.com

www.scienceandsociety.co.uk

www.wikipedia.com


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาส่วนหนึ่งจากบทความ “สิ่งประดิษฐ์ของคนหัวรั้น…ของธรรมดาที่เปลี่ยนโลก (ตอนที่ 2)” เขียนโดย วารยา ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับกันยายน 2553


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 22 มีนาคม 2562