บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป สินค้าที่เกิดขึ้นเพราะขาดแคลนอาหารหลังสงคราม

การต้ม มาม่า หรือ บะหมี่สำเร็จรูป หรือ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ในหม้อ
บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป (ภาพจาก pixabay.com - public domain)

บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป หรือที่คนไทยคุ้นปากว่า มาม่า มีจุดกำเนิดเมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติลง ญี่ปุ่นเผชิญปัญหาการขาดแคลนอาหาร โมโมฟุกะ อันโดะ จึงคิดถึงการผลิตอาหารสำหรับมวลชนคนส่วนใหญ่ ปี 2491 อันโดะตั้งบริษัท Nissin Food Product และสินค้าที่เขานึกถึงก็คือ “บะหมี่” เพราะเป็นอาหารที่คนญี่ปุ่นนิยมบริโภค

บะหมี่ที่อันโดะคิดทำขึ้นไม่ใช่บะหมี่ทั่วไป แต่มันเป็น “บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป” ที่กินที่ไหนก็ได้ กินเมื่อไรก็ได้ ใช้เวลาเพียงไม่กี่นาทีในการทำก็กินได้ เหมือนกับ “กาแฟสำเร็จรูป”

วันหนึ่งขณะที่ภรรยาเขากำลังทำอาหาร เธอนำบะหมี่ไปทอดกรอบ ก่อนจะทำเป็นอาหารเมนูหนึ่ง แต่มันจุดประกายความคิดให้อันโดะว่า หากนำบะหมี่กรอบไปเติมน้ำร้อนจัด ก็สามารถกินเป็นบะหมี่น้ำได้ทันที ถ้าต้องการรสชาติอื่น ๆ ก็แค่เติมเนื้อ เติมผักลงไป

ในปี 2501 บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป (บ้างเรียกบะหมี่สำเร็จรูป) หรือ มาม่า ก็ออกสู่ตลาดเป็นครั้งแรก

แต่บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่อันโดะตั้งใจให้เป็นสินค้าอาหารสำหรับคนทั่วไป กลับไม่เป็นอย่างที่เขาคิด เพราะมันมีราคาแพงกว่าบะหมี่ปกติทั่วไปถึง 5-6 เท่า คนชั้นแรงงานที่เป็นกลุ่มเป้าหมายแต่แรกของอันโดะจึงไม่นิยม แต่เวลาเพียงไม่ถึงปี บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปก็เข้าร้านขายของชำได้มากขึ้น และค่อย ๆ แจ้งเกิดสำเร็จ ก่อนจะมีผู้ผลิตหน้าใหม่อื่น ๆ ตามมา

ปี 2513 อันโดะส่งออกบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปไปสู่ต่างประเทศ ไปจำหน่ายที่แคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา ตามด้วยการตั้งโรงงานผลิตในเวลาต่อมา นอกจากนี้ยังมีการตั้งโรงงานในฮ่องกง, จีน, เนเธอร์แลนด์ และเยอรมนี

ในช่วงเวลาประมาณ 20 ปี บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปก็สร้างกระแสโลกานุวัตร จากสินค้าของญี่ปุ่นก็กลายเป็นสินค้าของโลก ที่ไม่ได้เพียงสร้างรายได้แก่ผู้ผลิต หากยังช่วยแผ่ขยายอิทธิพลทางวัฒนธรรมญี่ปุ่นอีกด้วย ชาวญี่ปุ่นจึงยกย่องบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเป็นประดิษฐกรรมที่ยิ่งใหญ่แห่งศตวรรษที่ 20 อันดับที่ 1 (จากการสำรวจของ Fuji Research Institute, ธันวาคม 2543)

สำหรับประเทศไทย บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเริ่มเข้าสู่ตลาดเป็นครั้งแรกประมาณปี 2515 แต่ก็เจอปัญหาเดียวกับการวางตลาดครั้งแรกในญี่ปุ่น คือ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปราคาแพงกว่าบะหมี่ในร้านบะหมี่ทั่วไป หรือบะหมี่รถเข็น และผู้บริโภคเองก็ไม่คุ้นเคยกับการ “ชง” บะหมี่ด้วยน้ำร้อน

แต่ปี 2516 ประเทศไทยมีภาวะเหตุการณ์ทางการเมืองไม่สงบ ประกอบกับปัญหาเศรษฐกิจ น้ำมันแพง ฯลฯ ทำให้อาหารมีราคาแพง และบางอย่างมีการขาดแคลน จึงกลายเป็นโอกาสของบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่ได้แจ้งเกิด เพราะได้ปรุงง่ายและเร็ว ราคาถูก (เพราะสินค้าอื่น ๆ ปรับราคาขึ้น)

วันนี้ “บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป” เป็นสินค้ามวลชน สำหรับคนส่วนใหญ่อย่างที่อันโดะตั้งใจแต่แรก ทุกครั้งที่มีประชาชนสำรองสินค้าและอาหาร เพื่อรับมือสถานการณ์การเมือง, ภัยธรรมชาติ หรือโรคระบาด บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปจะเป็นสินค้ากลุ่มแรก ๆ ที่หายไปจากชั้นวางสินค้าเสมอ

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


ข้อมูลจาก :

รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์. “นิชชินบะหมี่สำเร็จรูป” ใน, ผู้จัดการรายเดือน ฉบับเดือนกรกฎาคม 2544

หทัยรัตน์ ไชยพุทธา. “ปัจจัยที่มีผลต่อพฤติกรรมการซื้อของผู้บริโภคบะหมี่กึ่งสาเร็จรูปยี่ห้อมาม่า ในจังหวัดสมุทรปราการ” สารนิพนธ์ ปริญญาบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต สาขาวิชาการตลาด มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มิถุนายน  2553


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 24 พฤษภาคม 2565