ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
วันเวลาในอดีต ที่ยังไม่ สบู่ซักผ้า ผงซักฟอก น้ำยาซักผ้า ตลอดจนผลิตภัณฑ์สำหรับซักผ้าอื่นๆ หนึ่งในวิธีที่ใช้ทำความสะอาดเสื้อผ้าก็คือ “น้ำด่าง”
น้ำด่างเกิดจากการเอาขี้เถ้าจากเตาไฟที่ใช้ประกอบอาหาร หรือขี้เถ้าที่จากการเผาไหม้ไม้ชนิดต่างๆ โดยนำขี้เถ้ามาผสมกับน้ำและทิ้งไว้จนตกตะกอน น้ำด่างใสๆ อยู่ด้านบนนี้จะนำมาใช้ซักเสื้อผ้า โดยเอาเสื้อผ้าแช่ลงในน้ำด่างแล้วขยี้แรงๆ แต่ถ้าแช่นานเกินไปด่างจะกัดผ้าเปื่อยได้
ต่อมาเริ่มสบู่ซักผ้า จากนั้นจนพัฒนาผงซักฟอก ฯลฯ ซึ่ง เอนก นาวิกมูล เคยค้นคว้าและเรียบเรียงเรื่องนี้ไว้ใน “สารพัดเก็บ” (สนพ.มติชน, พิมพ์ครั้งแรก มีนาคม 2549) ไว้ดังนี้
ในหนังสือ The Inventions That Changed the World ซึ่ง Reader’s Digest พิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2525 กล่าวว่า พ.ศ. 2456 นักเคมีชาวเบลเยียม ชื่อ A. Reychler พบว่าสารประกอบสังเคราะห์ทางเคมีที่เรียกว่า detergent มีประสิทธิภาพในการกำจัดความสกปรกในเนื้อผ้าได้ดีกว่าสบู่
พอถึง พ.ศ. 2460 ก็เริ่มมีผงซักฟอกจำหน่ายเป็นครั้งแรกในประเทศเยอรมนี ยี่ห้อ Nekal ผงซักฟอกนี้นัยว่าออกมาเพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนสบู่ซักผ้า
ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ความจำเป็นที่จะต้องซักเครื่องแบบทหาร ในสภาวะคับขันเช่นบางที่มีแต่น้ำเค็มให้ใช้เท่านั้น เหล่านี้เป็นสิ่งที่เร่งให้ต้องพัฒนาผงซักฟอกให้มีคุณภาพตามที่ต้องการมากขึ้น เช่น ผงซักฟอกธรรมดาละลายคราบโปรตีนเช่นรอยเปื้อนจากไข่ได้ยาก แต่สารเคมีที่เรียกว่าเอนไซม์สามารถสลายโปรตีนได้
หนังสือกล่าวสั้นๆ ต่อไปเป็นประโยคสุดท้ายว่า พ.ศ. 2510 มีผงซักฟอก Biological หรือชีวภาพ ผสมเอนไซม์ออกจำหน่าย ผงซักฟอกนี้ผลิตโดยบริษัท Proctor & Gamble แห่งซินซินนาติ รัฐโอไฮโอ
อีกเล่มหนึ่งคือหนังสือ Packaging Source Book ของ Robert Opie ยอดนักสะสมบรรจุภัณฑ์ พิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2532 ให้ความรู้แตกต่างออกไปเล็กน้อยว่า
ช่วง 10 ปีหลัง ค.ศ. 1930 หรือหลัง พ.ศ. 2473 เป็นช่วงที่มีการวิจัยอย่างกว้างขวางเพื่อหาสารซักฟอกที่สังเคราะห์จากสารเคมีหรือที่ไม่ต้องใช้สบู่
ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ภาวะขาดแคลนน้ำมันและไขมันธรรมชาติกระตุ้นให้ต้องหาวัตถุดิบอื่นๆ มาทดแทน บริษัท Thomas Hedley ของอังกฤษ (ขายกิจการให้บริษัทอเมริกัน Procter & Gamble ไปใน พ.ศ. 2473) ผลิตผงซักฟอกที่ปราศจากสบู่ยี่ห้อ Dreft ออกจำหน่ายก่อนเกิดสงครามเล็กน้อย ผงซักฟอกยี่ห้อนี้ผลิตในปี พ.ศ. 2491
ในปีเดียวกันนั้นเอง บริษัทในเครือลีเวอร์ บราเธอร์ (Lever Brother) คือ Crosfield ก็ส่งผงซักฟอกยี่ห้อใหม่คือ Wisk ออกวางตลาดในประเทศอังกฤษแต่ถูกแทนที่ด้วยผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ดีกว่าใน พ.ศ. 2495 ที่ใช้ชื่อว่า Surf ซึ่งอ้างว่า “สร้างฟองได้ดังใช้มนตรา” และสามารถซักล้างได้สะอาดหมดจด
บริษัท Colgate-Palmolive-Peet ผลิต Super Suds ออกจำหน่ายในช่วง 10 ปีหลัง พ.ศ. 2483 กล่าวกันว่าเป็นสบู่ที่ทำขึ้นเพื่อล้างจาน และซักถุงน่องเนื้อไหม และเครื่องแต่งกายที่ต้องดูแลเป็นพิเศษเท่านั้น
พ.ศ. 2489 บริษัท Procter & Gamble ผลิตผงซักฟอกยี่ห้อ Tide ออกจำหน่ายในสหรัฐอเมริกา ผงซักฟอกชนิดนี้ผลิตโดยใช้สารอินทรีย์เป็นฐาน พ.ศ. 2493 จึงมีผงซักฟอกยี่ห้อนี้จำหน่ายในอังกฤษ โดยใช้กล่องบรรจุแบบเดียวกัน ต่อมาอีกราว 10 กว่าปีกล่องที่ใช้ในประเทศอังกฤษจึงเปลี่ยนแบบ
ผงซักฟอกจากคอลเกต-ปาล์มโอลีฟคือ FAB ซึ่งประดิษฐ์คำขึ้นจากตัวอักษรแรกในข้อความว่าซักล้างทุกสิ่งได้ Faster and Better (เร็วกว่าและดีกว่า) วางจำหน่ายในสหรัฐอเมริการาว พ.ศ. 2493…
คราวนี้ ลองค้นคว้าดูว่าผงซักฟอกเข้ามาสู่เมืองไทยช่วงใด เท่าที่ค้นได้จากโฆษณาพบว่าใน พ.ศ. 2468…สินค้าที่เรียกว่า “สบู่ผง” ได้เข้ามาถึงเมืองไทยก่อน หลักฐานคือโฆษณาขายสบู่ผงของห้างเพาล์ปิกเคนปัก เชิงสะพานมอญ กรุงเทพฯ ที่ลงพิมพ์ในหนังสือศัพท์ไทยฉบับเดือนธันวาคม พ.ศ. 2468
โฆษณาดังกล่าวทำเป็นรูปวาด 2 รูป รูปทางซ้ายวาดเป็นหญิงไทยนุ่งผ้าโจงกระเบนกำลังฟาดผ้า มีตัวหนังสือเขียนประกอบว่า แต่ก่อน อันหมายความว่าซักแบบเก่า ส่วนรูปทางขวาวาดหญิงไทยนุ่งผ้าซิ่น (พระราชนิยมในรัชกาลที่ 5) นั่งยองๆ มือหนึ่งคนกะละมังซักผ้าบนเตาไฟ อีกมือหนึ่งถือหนังสือสำหรับอ่านเล่น มีตัวหนังสือข้างๆ เขียนว่า เดี๋ยวนี้ ซึ่งหมายความว่าซักแบบปัจจุบัน
นอกจากนั้นก็มีถ้อยคำโฆษณาตรงกลางพิมพ์ว่า “สบู่ผงเยอรมัน ‘เพร์ซิล’ ลองใช้แล้วหรือคนที่ได้ใช้แล้วหนหนึ่งแล้ว ต่อไปต้องอยากใช้เสมอ มีขายตามร้านทั่วไป” (ผู้เขียนเคยเอาลงในหนังสือโฆษณาไทยเล่ม 1 สํานักพิมพ์โนรา)
คำว่า “สบู่ผง” ดังแสดงมา ผู้เขียนยังไม่ขอยืนยันว่าเป็นแค่เกล็ดสบู่ หรือเป็นผงซักฟอกแท้ๆ อย่างที่เราเห็นในปัจจุบัน เพราะยังไม่มีพิพิธภัณฑ์ใด นักสะสมคนใดเก็บหรือเอามาตั้งแสดงให้ดู แต่ถ้าเปรียบเทียบกับการเกิดผงซักฟอกในเยอรมนีแล้ว ก็เป็นไปได้ว่าเพร์ซิลอาจเป็นผงซักฟอกจริงๆ ก็ได้
กระโดดข้ามไปหลายปี หนังสือชื่อทำเนียบค่ายการตลาดไทย ปกสีฟ้าๆ ซึ่งนิตยสารคู่แข่งจัดพิมพ์จำหน่ายเมื่อ พ.ศ. 2535 กล่าวลอยๆ ว่าผงซักฟอกแฟ้บเคยเข้ามาเมืองไทยเมื่อ พ.ศ. 2479 แต่ทีแรกยังไม่ได้รับความนิยม จนเมื่อ พ.ศ. 2495 บริษัท หลุยส์ ที เลียวโนเวนส์ จำกัด นำผงซักฟอกแฟ้บเข้ามาขายอีกจึงเป็นที่นิยมถึงปัจจุบัน
ข้อมูลนี้น่าอ่านแล้วรู้สึกขัดแย้งกับประวัติผงซักฟอกสากล เพราะในหนังสือ Packaging ของ Robert Opie บอกว่าแฟ้บเริ่มวางจำหน่ายในอเมริกาเมื่อ พ.ศ. 2493 แม้ก่อนหน้านั้นบริษัทคอลเกตฯ จะเคยผลิตผงซักฟอกยี่ห้ออื่นเช่น Super Suds ก็ยังผลิตในช่วงใกล้ พ.ศ. 2493 อยู่
โฆษณาแฟ้บเก่าสุดเท่าที่ผู้เขียนหาได้อยู่ในนิตยสารสตรีสาร ฉบับมิถุนายน พ.ศ. 2500 โฆษณานั้นป่าวประกาศว่า
“แฟ๊บ ผงมหัศจรรย์แบบใหม่จากอเมริกา ให้ฟองมากรวดเร็วในน้ำทุกชนิด แฟ๊บไม่เหมือนสบู่ธรรมดา เพราะไม่เกิดคราบสบู่ แฟ๊บทำให้เสื้อผ้าขาวสอาดเป็นใย”
นี่แสดงว่าแฟ้บควรเข้ามาในช่วงก่อน พ.ศ. 2500 ไม่นานหรืออาจไม่กี่เดือน คำว่า แฟ้บ ในยุคแรกๆ ขอให้สังเกตว่ายังใช้ไม้ตรีผันข้างบนซึ่งนับว่าเขียนผิด ภายหลังนักภาษาพยายามติติง จึงต้องเขียนให้ถูกเป็นแฟ้บ
อีกอย่างหนึ่ง คำว่าแฟ้บนี้ หลายคนคงจำได้ว่าคนไทยเคยหมายถึงผงซักฟอกทุกชนิดอยู่นานหลายปี เพราะไม่ว่าจะไปซื้อผงซักฟอกชนิดใด ก็มักเรียกกันง่ายๆ ว่า “ไปซื้อแฟ๊บ” อยู่นั่นเอง (เหมือนเราพูดว่าไปโรเนียว หรือไปซีร็อกซ์ ซึ่งหมายถึงไปพิมพ์สำเนา, ไปถ่ายเอกสาร ทั้งๆ ที่โรเนียวกับซีร็อกซ์นั้นเป็นชื่อเครื่องโรเนียวกับเครื่องถ่ายเอกสาร เพียงแต่คนรู้จักกันแพร่หลายมาก จึงกลายเป็นศัพท์อีกคำหนึ่งขึ้นมา)
จนถึง พ.ศ. 2503 จึงเริ่มมีคำว่า “ผงซักฟอก” ปรากฏในโฆษณาแทนการเรียกกว้างๆ ว่า ผลิตภัณฑ์ซักฟอกหรือกล่าวอย่างอื่น ดังผู้เขียนพบว่าโฆษณาของแฟ้มในสตรีสารฉบับต้นมกราคม พ.ศ. 2503 เริ่มมีคำว่า “ผงซักฟอก” แล้ว คือเขียนว่า “ไม่มีผงซักฟอกใด ขจัดความสกปรกได้รวดเร็วเท่าแฟ๊บ”
อ่านเพิ่มเติม :
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 21 พฤศจิกายน 2565