มองสำนักคิดทั้ง 6 แห่งยุคจั้นกั๋ว ในมุมซือหม่าถาน แต่ละสำนักมีแนวคิดอย่างไร?

ภาพจิตรกรรมประกอบในม้วนหนังสือรวบรวมบทกวีของขงจื๊อ ที่ทำขึ้นในสมัยราชวงศ์ซ่งใต้

ในยุคจั้นกั๋ว มีสำนักคิดชื่อดังทั้งหก อันได้แก่ สำนักอินหยัง (阴阳家) สำนักหรู หรือขงจื๊อ (儒家) สำนักมั่วจื่อ (墨家) สำนักนีตินิยม (法家) สำนักนามวาที (名家) และสำนักเต๋า (道家)

แต่ละสำนักมีแนวคิดอย่างไร? ปกรณ์ ลิมปนุสรณ์ อธิบายไว้ในบทความ ปรัชญาหวง-เหล่า : การสังเคราะห์นานาอุดมทัศน์จีนในสมัยจั้นกั๋ว (ศิลปวัฒนธรรม ฉบับพฤษภาคม 2558) ดังนี้

ซือหม่าถาน [บิดาของซือหม่าเชียน – กองบก.ออนไลน์] กล่าวถึงแนวคิดของสำนักทั้งหกไว้อย่างกระชับ โดยอธิบายลักษณะที่โดดเด่นของแต่ละสำนักคิด พร้อมทั้งแสดงความเห็นวิจารณ์ข้อดีข้อด้อยโดยสังเขป ดังนี้

1. สำนักอินหยัง เน้นการสังเกตนิมิตหมายต่าง ๆ เพื่อทักทำนายโชคเคราะห์ที่นำทุกข์สุขมาสู่ชีวิต มีข้อกำหนดข้อห้ามด้านพฤติกรรมมากมาย กลายเป็นเครื่องรึงรัดให้เกิดความผวาหวาดระแวงเกินกว่าเหตุ แต่กระนั้น ความตระหนักในระเบียบวงจรของธรรมชาติซึ่งผู้ดำเนินตามย่อมเจริญรุ่งเรืองปลอดอุปสรรค ในขณะที่ผู้ขวางขืนย่อมบรรลัยนั้น ก็เป็นสัจธรรมความรู้ที่ไม่อาจปฏิเสธได้และควรจะยึดเป็นสำนึกพื้นฐานในการกอปรกิจใดๆ

2. สำนักขงจื๊อ มีภาพลักษณ์ของความเป็นผู้คงแก่เรียน เชี่ยวชาญตำรับตำราทั้งปวง หากแต่ความรู้ทั้งหลายก็มากเกินกว่าที่จะตั้งใจศึกษาให้ทั่วถ้วนได้ ถึงจะรู้มากแต่ที่จำเป็นใช้ประโยชน์กลับมีแต่เพียงน้อย จึงเป็นพวกที่ลงแรงมากแต่เก็บเกี่ยวได้ผลน้อย กระนั้นก็ตาม คุณูปการของสำนักขงจื๊อก็คือแนวคิดการจัดระเบียบชนชั้น แยกแยะหน้าที่ของคนในสังคมอย่างชัดเจน และวางจารีตเป็นแนวปฏิบัติ กำกับพฤติกรรมของชนแต่ละชั้นไว้อย่างถี่ถ้วน มีคุณค่าโดยตรงต่อสังคมอย่างไม่อาจปฏิเสธได้

ภาพประกอบเนื้อหา – ภาพเขียนสมัยราชวงศ์ซ้ง แสดงการสอนแบบวิพากษ์เชิงปัญญาของขงจื่อ

3. สำนักมั่วจื่อ โดดเด่นในความถือเคร่งธุดงควัตร ปฏิเสธความฟุ่มเฟือย กินน้อยใช้น้อยเพียงเท่าที่จำเป็น นุ่งห่มอย่างซอมซ่อ กระเบียดกระเสียนตนเองจนยากที่คนหมู่มากจะดำเนินตามได้ แต่ข้อดีคือการถือหลักการประหยัดและการส่งเสริมเร่งเร้าทุก ๆ คนให้สร้างผลิตผลแก่สังคม

4. สำนักนีตินิยม เป็นพวกถือเคร่งครัดต่อบทบัญญัติจนแล้งน้ำใจ ไม่แยกแยะว่ามีญาติมิตรคนสนิท จึงอาจใช้เป็นหลักปฏิบัติได้เพียงชั่วขณะระยะเวลาหนึ่ง เพราะหากยึดถือนานไป ย่อมไม่อาจถนอมน้ำใจคนให้ยินดีร่วมอยู่ในสังคมได้ แต่จุดแข็งก็คือสามารถสร้างความเท่าเทียมกันขึ้นในสังคมและกำกับความเป็นระเบียบของบ้านเมืองอย่างได้ผล

5. สำนักนามวาที นำพาให้ผู้คนวนเวียนหลงติดอยู่กับความซับซ้อนของการใช้ถ้อยคำ หมกมุ่นอยู่กับนิยามนามศัพท์ทั้งหลายจนหลงลืมข้อเท็จจริงที่ได้จากผัสสะสามัญสำนึก แต่กระนั้น การพยายามแยกแยะให้เกิดความแจ่มแจ้งสอดคล้องกันระหว่างคำนิยามกับความเป็นจริง ก็เป็นเรื่องที่ควรค่าแก่การพิจารณา

6. สำนักเต๋า ซือหม่าถานอธิบายถึงสำนักเต๋าไว้ดังนี้

“สำนักเต๋าช่วยให้จิตวิญญาณมนุษย์เปี่ยมด้วยสมาธิ อากัปกิริยาสอดคล้องบรรสานกับวิถีอันไร้รูปรอย เป็นเหตุให้สรรพสิ่งมีความอุดมเพียงพอ ศาสตร์ศิลป์แห่งสำนักนี้ ใช้การดำเนินตามวิถีอินหยังเป็นหลัก แล้วเลือกสรรข้อดี โดดเด่นจากสำนักขงจื๊อกับสำนักมั่วจื่อ เก็บเกี่ยวนัยสำคัญจากสำนักนามวาทีกับสำนักนีตินิยม นำมาใช้ดำเนินอย่างเหมาะสมกับกาลเวลาและสรรพสิ่งที่ผันแปรอยู่ตลอดเวลา สร้างบรรทัดฐานในการประกอบกิจนานา ปราศจากข้อที่ไม่เหมาะไม่ควร

คำสอนและการนัดแนะกระชับ ง่ายต่อการกำกับควบคุม ทำกิจน้อยแต่ได้ผลงานมาก ฝ่ายสำนักขงจื๊อไม่ได้เป็นเช่นนี้ ไพล่ไปยึดถือว่าตัวเจ้าผู้ปกครองคือมาตรวัดแห่งโลกหล้า เจ้าเป็นผู้ริเริ่มเสริมส่ง บริพารเป็นผู้สนองตอบ เจ้าเป็นผู้นำและบริพารเป็นผู้ตาม เมื่อเป็นเช่นนั้น เจ้าย่อมกลายเป็นผู้ตรากตรำโดยที่เหล่าบริพารกลับอยู่สบายลอยชายไปมา

ในขณะที่สารัตถะแห่งมหาวิถี (เต๋า) นั้น เน้นการรำงับตัณหาแลความปรารถนาทั้งปวง สลัดทิ้งซึ่งสติปัญญาความฉลาดเฉลียว ปล่อยวางไว้แล้วใช้ศาสตร์ศิลป์เป็นเครื่องมือ อันว่าดวงจิตหากใช้หนักเกินก็จักเสื่อมโทรม ร่างกายแม้นโหมเกินกำลังก็จักอ่อนเปลี้ย ในยามที่ทั้งจิตทั้งกายอ่อนไหวไม่สงบ แล้วยังปรารถนาให้ฟ้าดินยืนยง นั้นเป็นเรื่องที่ไม่เคยได้สดับยินมาก่อนเลย

……..

สำนักเต๋าไร้การกระทำ อีกทั้งยังกล่าวว่าไร้การไม่กระทำอีกด้วย มีข้อปฏิบัติที่ง่ายต่อการดำเนิน มีถ้อยคำที่ยากต่อการหยั่งรู้ ศาสตร์ศิลป์ทั้งมวลตั้งอยู่บนฐานแห่งความว่าง เจริญประโยชน์ไปตามครรลอง ไม่มีพลังที่ตายตัว ไม่มีรูปที่แน่นอน จึงอาจเข้าถึงอารมณ์แห่งสรรพสิ่งได้ ไม่กระทำก่อนสรรพสิ่ง ไม่กระทำหลังสรรพสิ่ง จึงอาจบงการสรรพสิ่งได้

มีกฎแต่ไม่อยู่ในกฎ สำเร็จกิจโดยอิงอาศัยกาละ มีเกณฑ์แต่ไม่อยู่ในเกณฑ์ ประสานกิจโดยอิงอาศัยรูปการณ์ จึงกล่าวว่า อริยมนุษย์ไม่เสื่อมสูญก็โดยที่ธำรงอยู่ในกาละที่ผันแปรนั่นเอง ความว่างคือธรรมดาแห่งวิถี (เต๋า) ดำเนินตามครรลองวิถีคือแก่นแท้ของผู้เป็นเจ้า ยามที่อำมาตย์ราชบริพารมาพร้อมอยู่ต่อหน้า ควรให้แต่ละคนถ่องแท้ในหน้าที่ตน”

อ่านเพิ่มเติม :


หมายเหตุ : การสะกดคำในที่นี้ สะกดคำวิสามานยนามจีนตามการออกเสียงของภาษาจีนแมนดารินปัจจุบันเป็นหลัก โดยใช้ตาม “เกณฑ์การถ่ายทอดเสียงภาษาจีนแมนดารินด้วยอักขรวิธีไทย” ของคณะกรรมการการสืบค้นประวัติศาสตร์ไทยในเอกสารจีน สำนักนายกรัฐมนตรี พ.ศ. 2543


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 12 ตุลาคม 2564