ผู้เขียน | ธนกฤต ก้องเวหา |
---|---|
เผยแพร่ |
“เล่าจื๊อ” ปราชญ์โบราณเจ้าลัทธิ “เต๋า” แนวคิดทรงอิทธิพลในสังคมจีนแต่โบราณ มุ่งหลุดพ้นจากเรื่องทางโลกเหมือนพุทธศาสนา แต่ลุ่มลึกและยืดหยุ่นอย่างน่าอัศจรรย์
“เต๋าที่เอ่ยอ้างถึงได้ ย่อมไม่ใช่เต๋าอันเป็นนิรันดร์ นามที่เอ่ยถึงได้ ย่อมมิอาจดำรงอยู่ชั่วกาล”
มีคำกล่าวในหมู่นักวิชาการว่า อารยธรรมจีนหล่อหลอมจากหลักธรรม 3 สาย คือ พุทธ หยู (ขงจื่อ) และเต๋า สามเสาหลักนี้ปฏิสัมพันธ์กันตลอดประวัติศาสตร์ และแทรกซึมอยู่ในทุกอณูวัฒนธรรมจีน ทั้งเป็นรูปธรรม นามธรรม ในความรู้สึกนึกคิดของผู้คน
เจ้าปรัชญาเต๋า คือ ปราชญ์จีนนาม เล่าจื๊อ (Lao Tzu) หรือ “เหลาจื่อ” ผู้มีชีวิตอยู่เมื่อราว 600-500 ปีก่อนคริสตกาล เนื่องจากมีชีวิตอยู่เมื่อนานมาแล้ว คือสองพันห้าร้อยกว่าปี (ร่วมสมัยกับพระพุทธเจ้า) เรื่องราวเกี่ยวกับบุรุษผู้นี้จึงมีลักษณะกึ่งตำนานและนิทาน
เล่าจื๊อเป็นคนลึกลับ ท่านไม่ได้บันทึกเกี่ยวกับตนเองไว้เลย แม้แต่ลูกศิษย์ก็จดจารเรื่องราวของปรมาจารย์ท่านนี้เป็นลายลักษณ์อักษรไว้น้อยมาก ดูเหมือนบันทึกเกี่ยวกับตัวท่านจะเกิดขึ้นหลังท่านเสียชีวิตไปแล้วร่วมร้อยปีด้วย
รูปลักษณ์ของเล่าจื๊อถูกบรรยายว่า “มีรูปร่างสูง หูยาว ตากลมโต หน้าผากกว้าง และริมผีปากหนา” ซึ่งเป็นลักษณะของคนทรงภูมิ ผู้คงแก่เรียน หรือเป็น “ปราชญ์” ในทัศนะของชาวจีน ส่วนที่มาของชื่อ สถานที่ หรือปีเกิด ยังเต็มไปด้วยความคลุมเครือ
ซือหม่าเชียน บิดาแห่งประวัติศาสตร์จีน สันนิษฐานว่าเล่าจื๊อ “น่าจะ” ถือกำเนิดเมื่อ 604 ปีก่อนคริสตกาล ยุคราชวงศ์โจว ที่หมู่บ้านหลี่ แคว้นขู่ ทางใต้ของรัฐฉู่ (ปัจจุบันอยู่ในมณฑลเหอหนาน) จากข้อมูลนี้ เล่าจื๊อจะมีอายุน้อยกว่าสิทธัตถะหรือพระพุทธเจ้าราว 19 ปี ส่วนอายุขัยของท่านมีบอกเล่าไว้ตั้งแต่ 90 ปี (ถือว่าอายุยืนอย่างน่าเหลือเชื่อสำหรับคนยุคนั้น) ไปจนถึง 160 ปี หรือ 200 ปี นั่นมาจากการเข้าถึง “เต๋า” และบำเพ็ญเพียรของท่าน ทำให้มีอายุยืนยาวนั่นเอง
ว่ากันว่านาม “เหลาจื่อ” แปลว่า “กุมารเฒ่า” ตำนานเล่าว่า เล่าจื๊อเกิดมาพร้อมหนวดเคราหงอกขาวโพลน อย่างไรก็ตาม สมญานามนี้อาจมาจากการที่ท่านเริ่มเขียนตำราตอนแก่ชราก็เป็นได้ บ้างก็ว่าชื่อท่านหมายถึง “ลูกชายของเหลา” หญิงพรหมจารีนางหนึ่ง ผู้ตั้งครรภ์จากการมองเห็นดาวตก
เล่าจื๊อเกิดในกลียุค บ้านเมืองเต็มไปด้วยสงคราม ผู้คนเสื่อมศรัทธาต่อเทพเจ้า เพราะเทพเจ้าไม่ช่วยบรรเทาทุกข์จากยุคแห่งความยากเข็ญเลย แผ่นดินจีนจึงเกิดนักปราชญ์ผู้มีแนวคิดในการเสาะแสวงหาความรู้ ความเข้าใจในชีวิต และสร้างหลักเกณฑ์ทางจริยธรรมมาค้ำจุนสังคม ปลดปล่อยมนุษย์จากความวุ่นวาย เกิดเป็นศาสนาจารย์คนสำคัญในห้วงเวลาไล่เลี่ยกัน คือ ขงจื๊อ กับเล่าจื๊อ ทั้งคู่ยังมีโอกาสได้พูดคุยสนทนากันด้วย
เล่าจื๊อรับราชการเป็นหัวหน้าบรรณารักษ์หรือผู้อำนวยการหอสมุดหลวงแห่งราชวงศ์โจว แต่ท่านชอบใช้ชีวิตเรียบง่าย ต่างจากขุนนางและชนชั้นสูงส่วนใหญ่ที่มุ่งแสวงหาลาภ ยศ สรรเสริญ บรรดาศักดิ์ สังคมเต็มไปด้วยการฉ้อฉล รวมถึงการใช้ชีวิตแบบสำมะเลเทเมาของฮ่องเต้ เล่าจื๊อเล็งเห็นว่าไม่ช้าราชวงศ์คงล่มสลาย ท่านจึงออกจากราชการแล้วเดินทางสู่ทิศตะวันตกของจีน ระหว่างทาง นายด่านขอให้ท่านเขียนตำราใช้เป็นคัมภีร์หลักธรรมนำชีวิตและยึดเหนี่ยวจิตใจ เป็นที่มาของ “คัมภีร์เหลาจื่อ” 81 บท 2 ภาค 5,000 ตัวอักษร
จากนั้น เล่าจื๊อขี่กระบือหายสาบสูญไปทางตะวันตก บ้างว่าท่านกับกระบือคู่ใจข้ามทะเลทรายในมณฑลซินเกียง หรือแม้แต่กลายเป็น “เซียน” เหาะขึ้นฟ้าหายวับไป ไม่มีใครทราบว่าท่านไปยังที่ใด ไม่ว่าชีวประวัติท่านจะพิสดารเพียงใด การที่เล่าจื๊อหายไปแบบนี้ ย่อมไม่มีใครทราบอายุขัยว่าท่านจากโลกนี้ไปตอนอายุเท่าใด
หลักธรรมของเล่าจื๊อจากคัมภีร์เหลาจื่อ หรือ“เต๋าเต๋อจิง” (เต๋าเต็กเก็ง) อาจารย์เสถียร โพธินันทะ ปราชญ์พุทธศาสนา ผู้บุกเบิกการศึกษาพระพุทธศาสนามหายานในไทย ยังให้การยกย่องคัมภีร์เหลาจื่อว่ามีความสำคัญต่อคนจีน เหมือนกับที่ “คัมภีร์ภควัทคีตา” มีอิทธิพลต่อชาวฮินดู
อันที่จริง คัมภีร์เต๋าได้รับการถ่ายทอดด้วยการแปลเป็นภาษาต่าง ๆ มากมาย และอาจเป็นรองแค่คัมภีร์ไบเบิลของคริสต์ศาสนาเท่านั้น เพราะมีการแปลเป็นภาษาอื่นอย่างน้อย 250 สำนวน หลัก ๆ เป็นภาษาอังกฤษ เยอรมัน และฝรั่งเศส รวมถึงภาษาไทยอีกร่วมสิบสำนวน
คัมภีร์เหลาจื่อ น่าจะสร้างความปวดเศียรเวียนเกล้าแก่ผู้แปลและผู้อ่านไม่น้อย เพราะมีลักษณะขาดตอน ไม่มีหลักไวยากรณ์ที่แน่ชัด กำกวม ทำให้ตีความได้หลากหลาย แถมเนื้อหาแทบไม่ได้เล่าถึงผู้กระทำ ผู้ถูกกระทำ ไม่มีเอกพจน์ พหูพจน์ ไม่มีกรณีตัวอย่างใด ๆ ไม่เอ่ยถึงชื่อบุคคล เวลา คำบ่งบอกอารมณ์ ไม่มีแม้แต่จุดจบประโยค ชาวตะวันตกที่คุ้นเคยกับเครื่องหมายจบประโยค (.) คงมึนงงกันสุด ๆ
มีการตั้งคำถามว่า เล่าจื๊อเขียนคัมภีร์นี้เองหรือไม่? เรื่องนี้ยังคงถกเถียงกันอยู่ เพราะสำนวนในคัมภีร์มีความเป็นสุภาษิต และไม่ได้ร้อยเรียงเป็นเรื่องราว เต็มไปด้วยการอุปมาอุปไมย กินใจ แต่ความหมายลึกซึ้ง จึงมีความเป็นไปได้ว่าคัมภีร์อาจถูกรจนาเพิ่มเติมเสริมแต่งโดยปราชญ์หลายท่านหลายคณะ รวบรวม เรียบเรียงต่อเนื่องกันมา
แนวคิดของเล่าจื๊อสะท้อนความเป็นนัก “เสรีนิยม” ไม่ยึดติดอยู่กับกรอบของขนบธรรมเนียมทางโลก เรียกร้องให้ผู้คนเอาตัวเองออกจากโลกีย์วิสัย ข้ามสู่โลกุตรวิสัย (เหนือเรื่องทางโลก) วัตรปฏิบัติของผู้ถือลัทธิเต๋าอย่างเคร่งครัดจึงแทบไม่ต่างจากฤๅษีในอินเดีย
“เต๋า” มีความคล้ายคลึงกับ “ธรรม” หรือความจริงในพุทธศาสนาอยู่ไม่น้อย อาจกล่าวได้ว่า การบรรลุเต๋า ก็คือภาวะ “นิพพาน”
ลักษณะเด่นของความเชื่อแบบเต๋าคือ สรรพสิ่งในจักรวาลไม่มีสิ่งใดให้ยึดถือ ไม่มีอะไรดีหรือเลวที่สุด ทุกอย่างมีวิถีทางของตนเอง ไม่มีความจำเป็นต้องแทรกแซงเรื่องใดหรือสิ่งใด ๆ ควรปล่อยให้เป็นไปเอง จะเติบโตหรืองอกงามก็เป็นไปตามวิถีของสิ่งนั้น นี่คือหัวใจสำคัญของ “เต๋า”
ทั้งนี้ เต๋าไม่อาจอธิบายด้วยถ้อยคำ ต้องเข้าใจโดยมโนสำนึกของตนเอง (แน่ล่ะ คัมภีร์เข้าใจยากเสียขนาดนั้น) การบรรลุเต๋าจึงคล้ายกับหลักการบรรลุธรรมตามแบบฉบับของศาสนาเซน แต่หากว่าด้วย “พิธีกรรม” เต๋าจะมีความคล้ายพราหมณ์-ฮินดู ในแง่วัตรปฏิบัติแนวอภินิหารต่าง ๆ
อีกลักษณะเด่นของเต๋าคือการดึงแนวคิดจักรวาลวิทยาของจีนที่เรียกว่า อี้จิง (I Ching) มาผนวกไว้ด้วย โดย “อี้” หมายถึง ความเปลี่ยนแปลง ไม่หยุดนิ่ง หรือ “อนิจลักษณ์”
จักรวาลในแนวคิดอี้จิงเคยเป็นหนึ่งเดียวกัน ก่อนแยกออกเป็นทวิภาวะ (สองสภาวะ) แตกต่างแต่ส่งเสริมกันและกัน คือ หยิน (ดิน) และหยาง (ฟ้า) เป็นพื้นฐานของฤดูกาล รวมถึงสภาวะต่าง ๆ ของธรรมชาติ 6 ประการ ได้แก่ น้ำ ลม ไฟ ฟ้าร้อง-ฟ้าผ่า ภูเขา และห้วงน้ำทั้งหลาย เมื่อรวมกับหยิน-หยาง จะกลายเป็นธรรมชาติพื้นฐาน 8 ประการ ยันต์แปดเหลี่ยม หรือ “ปากว้า” จึงเป็นสัญลักษณ์สำคัญของลัทธิเต๋านั่นเอง
อ่านเพิ่มเติม :
- “รัฐบาลที่เลวร้ายยิ่งกว่าเสือ…” สุภาษิตขงจื๊อ
- ขงจื่อ ปราญ์ผู้ยิ่งในปวศ.จีน กับท่าทีอีหลักอีเหลื่อของพรรคคอมมิวนิสต์
- พัฒนาการ เทพและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของจีน จากเทพฟ้าดิน สู่การแปรเปลี่ยนตามสมัย-ความเชื่อ
อ้างอิง :
นำชัย ชีววิวรรธน์. (2566). 543 BC ปวงเมธีแห่งอารยกาล. กรุงเทพฯ : SUNDOGS.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 14 กันยายน 2566