กำเนิดนโยบายลูกคนเดียวของจีนยุค “เติ้งเสี่ยวผิง” ถึงยุคมีลูกได้ 3 คน ก่อนดราม่าโอลิมปิก

ประชาชน ชาวจีน ประตูเทียนอัน
ประชาชนชาวจีนและครอบครัว ขณะเที่ยวชมในบริเวณประตูเทียนอันเหมิน เมื่อเดือนพฤษภาคม 2021 ที่ทางการกำลังจะผ่อนปรนให้คู่สมรสมีบุตรได้ 3 คน (AP Photo/Ng Han Guan, File)

กำเนิด “นโยบายลูกคนเดียว” ของจีนยุค “เติ้งเสี่ยวผิง” ถึงยุคมีลูกได้ 3 คน ก่อนดราม่าโอลิมปิก

กลางศตวรรษที่ 20 ประเทศจีนที่อยู่ในช่วงฟื้นฟูบ้านเมือง กำลังเผชิญกับปัญหาการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรอย่างรวดเร็ว ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1962-1972 เป็นช่วงที่จำนวนประชากรสูงมาก อัตราเฉลี่ยเด็กเกิดใหม่ของจีนอยู่ที่ประมาณ 26.6 ล้านคน/ปี เมื่อรวมยอดแล้วมีการเกิดใหม่สูงถึง 300 ล้านคน ถึงปี ค.ศ. 1969 จำนวนประชากรของจีนมีมากกว่า 800 ล้านคน

ปี ค.ศ. 1979 รัฐบาลจีนโดยการนำของเติ้งเสี่ยวผิงริเริ่ม “นโยบายลูกคนเดียว” เพื่อควบคุมจำนวนประชากรไม่ให้เพิ่มขึ้นมากเกินไป เพราะจีนยังอยู่ในช่วงฟื้นฟูประเทศ และเพิ่งผ่านสงครามภายในและภายนอกประเทศ ทรัพยากรจำนวนมากถูกทำลาย ประชาชนเผชิญกับความอดอยากอย่างรุนแรง

นโยบายลูกคนเดียว อนุญาตให้แต่ละครอบครัวมีลูกได้เพียง 1 คน ยกเว้นครอบครัวในชนบทที่ได้รับอนุญาตให้มีลูก 2 คนได้ในกรณีที่ลูกคนแรกเป็นผู้หญิง และครอบครัวที่เป็นชนกลุ่มน้อยก็สามารถมีลูกมากกว่าหนึ่งคนได้ แม้จะขัดกับความคิดดั้งเดิมของชาวจีนที่นิยมมีลูกมาก แต่ครอบครัวใดฝ่าฝืนก็จะถูกลงโทษตามกฎหมาย ด้วยการปรับเป็นเงินในรูปแบบของค่าบำรุงสังคม, หากเป็นข้าราชการหรือสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ โทษที่รุนแรงอาจถึงไล่ออกจากงาน ฯลฯ

นับตั้งแต่เริ่มนโยบายลูกคนเดียวในปี ค.ศ. 1979 อัตราการเกิดของจีนก็ลดน้อยอย่างต่อเนื่อง การควบคุมจำนวนประชากรดังกล่าวยังช่วยลดปัญหาการขาดแคลนปัจจัยการดำรงชีวิตพื้นฐาน สร้างสังคมที่มีมาตรฐานพออยู่พอกิน

แม้นโยบายลูกคนเดียวจะช่วยลดจำนวนประชากรได้สำเร็จ แต่ก็ได้สร้างปัญหาหลายประการ ยกตัวอย่างเช่น การทำแท้งในเมื่อทราบว่าทารกในครรภ์เป็นเพศหญิง เนื่องจากค่านิยมของชาวจีนตั้งแต่อดีตให้ความสำคัญกับการมีลูกชายมากกว่า เพราะเป็นผู้สืบสกุล นั่นคือผลในระยะสั้นที่เห็นผลแทบทันที

หากยังมีผลในระยะยาวตามมาอีก เช่น ภาวะขาดแคลนแรงงาน เนื่องจากอัตราการเกิดที่ลดลง ในปี ค.ศ. 2012 มีประชากรวัยทำงานลดลงมากกว่า 3.45 ล้านคน ทั้งมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องและมีความรุนแรงมากขึ้น, การก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ เนื่องจากสัดส่วนที่ต่างกันมากระหว่างเด็กเกิดใหม่กับผู้สูงอายุ, สัดส่วนประชากรเพศชายมีมากกว่าเพศหญิง ล่าสุดในปี ค.ศ. 2020 ประชากรชายมีมากกว่าประชากรหญิงไปมากถึง 34.9 ล้านคน ฯลฯ

ถึงปี ค.ศ. 2011 รัฐบาลผ่อนผันให้คู่สามีภรรยาที่ต่างเป็นลูกคนเดียวของครอบครัวมีลูก 2 คนได้ในบางพื้นที่ ในปี ค.ศ. 2013 อนุญาตให้คู่สามีหรือภรรยาคนใดคนหนึ่งที่เป็นลูกคนเดียวมีลูก 2 คนได้ และในวันที่ 1 มกราคม ค.ศ. 2016 นโยบายลูกคนเดียวก็ยกเลิกการบังคับใช้ทั้งประเทศ

ทางการหวังว่าจากนี้จำนวนประชากรจะค่อย ๆ เพิ่มขึ้น เพื่อแก้วิกฤตขาดแคลนแรงงานและวิกฤติผู้สูงอายุที่สะสมมาหลายสิบปี หากในความเป็นจริงอัตราเด็กเกิดใหม่ยังไม่เพิ่มขึ้นเท่าที่ควร คู่สามีภรรยาจำนวนมากเห็นว่า หากมีลูกอีกคนจะเลี้ยงให้ดีไม่ไหวในสภาวะที่เศรษฐกิจและค่าครองชีพสูงเช่นนี้

จากนโยบายลูกคนที่ 2 ปัจจุบันรัฐบาลได้เริ่ม “นโยบายลูก 3 คน”

วันที่ 31 พฤษภาคม ปี ค.ศ. 2021 รัฐบาลจีนประกาศนโยบาย “ลูก 3 คน” จากเดิมที่อนุญาตคู่สามี-ภรรยาชาวจีนสามารถมีลูกได้เพียง 2 โดยการอนุมัติของประธานาธิบดีสีจิ้นผิง

เนื่องจากผลสำรวจจำนวนประชากรที่จะทำขึ้นทุก ๆ 10 ปี ซึ่งพบว่าการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรจีนนั้นอยู่ในระดับที่ช้ามากที่สุดในรอบ 10 ปีเลยทีเดียว ทั่วประเทศมีเด็กเกิดใหม่ในปี ค.ศ. 2020 เพียง 12 ล้านคนเท่านั้น นับเป็นการลดจำนวนลงอย่างมากนับจากปี ค.ศ. 2016 ที่มีเด็กเกิดใหม่ทั่วประเทศจำนวน 18 ล้านคน ที่จะทำให้จีนกลายเป็นสังคมที่มีผู้สูงอายุที่ใช้งบประมาณด้านสุขภาพและบริการสังคมให้สูงขึ้นเป็นเงาตามตัว แต่ขาดแคลนคนหนุ่มสาวอายุที่เป็นแรงงานหลักขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ

และในปี ค.ศ. 2021 ผลกระทบจากมาตรการนโยบายลูกคนเดียวถูกหยิบยกกลับมาพูดถึงอีกครั้ง เมื่อแม็กกี้ แม็กนีล นักว่ายน้ำทีมชาติแคนาดาคว้าเหรียญทองโอลิมปิก เมื่อมาดูภูมิหลังของเธอแล้วก็พบว่าเดิมทีแล้วเธอมีเชื้อสายจีนโดยกำเนิด เธอเกิดในจีนเมื่อปี ค.ศ. 2000 แต่บิดามารดาของเธอเลือกไม่เลี้ยงเธอและนำเธอและน้องสาวไปสถานรับเลี้ยงเด็กกำพร้า สืบเนื่องมาจากนโยบายลูกคนเดียวของทางการจีน

ภายหลังนักว่ายน้ำสาวเชื้อสายจีนและน้องสาวได้รับอุปการะจากครอบครัวแม็กนีล และย้ายถิ่นฐานไปที่แคนาดา ซึ่งเธอก็ถือสัญชาติแคนาดานับตั้งแต่นั้นมา กระทั่งมาประสบความสำเร็จคว้าเหรียญทองในโอลิมปิกให้แคนาดา

เรื่องนี้กลายเป็นข้อถกเถียงในโลกออนไลน์ถึงสาเหตุต้นทางที่ทำให้จีนพลาดเหรียญและมีข้อถกเถียงว่าแท้จริงแล้วเหรียญทองของแม็กนีล ควรยกให้เป็นความสำเร็จจากจีนต้นทางตามที่สื่อท้องถิ่นยกมาเอ่ยถึงหรือไม่

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


ข้อมูลจาก :

สิรีธร โกวิทวีรธรรม แปลและเรียบเรียง. “ผลกระทบจากนโยบายลูกคนเดียวกับการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ” ใน, ข่าวจีนศึกษา ปีที่ 17 ฉบับที่ 2 เม.ย. – มิ.ย. พ.ศ. 2559, ศูนย์จีนศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

คอลัมน์ต่างประเทศ “จากนโยบาย ‘ลูกคนเดียว’ สู่นโยบาย ‘ลูก 3 คน’ ของจีน” ใน, มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 4 – 10 มิถุนายน 2564

Ziyu Zhang. “Tokyo Olympics: Adopted from China, Canada’s Maggie MacNeil wins gold and Chinese social media laments its one-child policy”. South China Morning Post. Online. Published 27 JUL 2021. Access 29 JUL 2021. <https://www.scmp.com/sport/china/article/3142642/tokyo-olympics-adopted-china-canadas-maggie-macneil-wins-gold-and?module=perpetual_scroll&pgtype=article&campaign=3142642>


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 29 กรกฎาคม 2564