จีนขึ้นทะเบียนคนตกสำรวจกว่า “14 ล้านคน” ผลจากนโยบายลูกคนเดียว ทำคนไม่กล้าแจ้งเกิด

ภาพประกอบเนื้อหา - นักแสดงแต่งกายด้วยชุดพื้นเมืองชนเผ่าอี๋ (Yi) ในงานเทศกาลคบไฟ ณ เมืองซีชาง (Xichang) มณฑลเสฉวน เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2016 (AFP PHOTO / FRED DUFOUR)

จีนเป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลกมาอย่างยาวนาน และเพื่อแก้ปัญหาประชากรล้นเกิน รัฐบาลในอดีตจึงได้บังคับใช้มาตรการบีบให้ประชาชนมีลูกได้เพียงครอบครัวละหนึ่งคน ทำให้จีนชะลออัตราการเกิดลงได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่นั่นก็นำไปสู่ปัญหาอื่นๆ ตามมา

หนึ่งในนั้นก็คือ การที่ประชาชนจำนวนมากโดยเฉพาะในชนบทที่หลายครอบครัวซึ่งมีลูกหลายคนเลือกที่จะแจ้งเกิดลูกเพียงแค่คนเดียว เนื่องจากเมื่อก่อนการแจ้งเกิดลูกคนที่สองมีค่าธรรมเนียมที่สูงมาก เด็กหลายคนจึงเป็นบุคคลตกสำรวจ ขาดการรับรองสถานะทางกฎหาย และไม่ได้รับสิทธิอย่างที่พลเมืองทั่วไปพึงมี โดยรายงานของ Quartz อ้างว่า มีงานวิจัยชิ้นหนึ่งประเมินว่าพลเมืองตกสำรวจของจีนอาจมีมากถึง 25 ล้านคน

แต่เมื่อจีนเริ่มผ่อนคลายมาตรการบังคับการวางแผนครอบครัวลง และทำให้ระบบการลงทะเบียนการแจ้งเกิดง่ายขึ้น ก็ทำให้มีประชาชนจำนวนมากมีตัวตนทางกฎหมายเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2560 กระทรวงความมั่นคงสาธารณะของจีนเผยว่า พวกเขาเพิ่งช่วยประชาชนกว่า “14 ล้านคน” ในการลงทะเบียนเข้าระบบที่เรียกว่า “Hukou” ซึ่งรวมทั้งข้อมูลส่วนตัวของบุคคลนั้นและสมาชิกครอบครัวเข้าไว้ด้วยกัน และเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการเข้าถึงบริการต่างๆ ตั้งแต่การศึกษา สาธารณสุข และระบบบำนาญ

ทั้งนี้ นโยบายลูกคนเดียวของจีนยังเป็นผลโดยตรงที่ทำให้จีนกำลังเข้าสู่ภาวะขาดแคลนแรงงานรุ่นใหม่ และยังสร้างปัญหาที่คนรุ่นใหม่จำนวนน้อยจะต้องเลี้ยงดูคนรุ่นเก่าจำนวนมาก (เด็กคนเดียวเมื่อโตขึ้นอาจต้องเลี้ยงดูพ่อแม่ตัวเอง ไปจนถึงปู่ย่า ตายาย) ทำให้สุดท้ายจีนต้องผ่อนคลายมาตรการดังกล่าวลง และสนับสนุนให้ประชาชนมีลูกคนที่สอง

อ่านเพิ่มเติม :


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 29 มีนาคม 2560