ที่มา | ศิลปวัฒนธรรม ฉบับธันวาคม 2555 |
---|---|
ผู้เขียน | กำธร เลี้ยงสัจธรรม |
เผยแพร่ |
คดีนี้เกิดขึ้นเมื่อ จ.ศ. 1227 (พ.ศ. 2408)… อำแดงเหมือน เป็นบุตรนายเกดกับอำแดงนุ่ม มีอายุได้ 21 ปี ตั้งบ้านเรือนอยู่ที่บางม่วง แขวงเมืองนนทบุรี ได้รักใคร่เป็นชู้กับนายริด โดยที่บิดามารดาของอำแดงเหมือนไม่รู้ ต่อมานายภูส่งเถ้าแก่มาสู่ขออำแดงเหมือนจากบิดามารดาของอำแดงเหมือน บิดามารดาก็ยินยอมยกอำแดงเหมือนให้เป็นภรรยานายภู เมื่ออำแดงเหมือนรู้ความว่าบิดามารดาจะยกตนให้เป็นภรรยานายภูก็ไม่ยอม จนบิดามารดาโกรธด่าว่าทุบตีตน
ต่อมาบิดามารดาของอำแดงเหมือนให้นายภูมาฉุดเอาตัวอำแดงเหมือนไปยังบ้านเรือนนายภู และนายภูให้อำแดงเหมือนเข้าไปในห้องเรือน อำแดงเหมือนก็ไม่ยอมเข้าไป คงนั่งอยู่ที่ชานเรือนจนรุ่งเช้า มีชาวบ้านรู้เห็นเป็นจำนวนมาก แล้วอำแดงเหมือนก็กลับมายังบ้านเรือนบิดามารดาของตน
บิดามารดาของอำแดงเหมือนก็ด่าว่าทุบตีอำแดงเหมือนอีก แล้วให้นายภูมาฉุดเอาตัวอำแดงเหมือนไปที่บ้านเรือนนายภู แต่อำแดงเหมือนไม่ยอมขึ้นเรือนนายภู หากกลับมายังบ้านเรือนบิดามารดาของตน บิดามารดาของอำแดงเหมือนโกรธด่าว่าทุบตีอำแดงเหมือนอีก แล้วว่าถ้าอำแดงเหมือนไม่ยอมเป็นภรรยานายภูจะเอาปืนยิงอำแดงเหมือนให้ตาย
อำแดงเหมือนกลัวจึงหนีไปหานายริดได้ 2-3 วัน บิดามารดาของอำแดงเหมือนให้คนมาบอกนายริดว่า ให้เอาดอกไม้ธูปเทียนมาขอขมาตน
นายริดก็ให้เถ้าแก่ 2 คนเอาดอกไม้ธูปเทียนมาขอขมาบิดามารดาของอำแดงเหมือน บิดามารดาของอำแดงเหมือนจึงพาเถ้าแก่พร้อมด้วยดอกไม้ธูปเทียนไปที่บ้านกำนัน ซึ่งนายภูได้ไปคอยอยู่ก่อนแล้ว นายภูจึงขออายัดตัวเถ้าแก่ไว้แก่กำนัน
ต่อมามีหมายจากปลัดเมืองนนทบุรีไปจับกุมอำแดงเหมือน นายริด และบิดามารดาของนายริด มายังศาลากลางเมืองนนทบุรี เพื่อสู้ความกับนายภูที่ฟ้องร้องให้เปรียบเทียบตัดสินว่าอำแดงเหมือนเป็นภรรยาของตน
อำแดงเหมือนให้การต่อหลวงสยามนนทเขตรขยัน ปลัดเมืองนนทบุรี และกรมการเมืองนนทบุรีว่าตนหาได้รักใคร่ยอมเป็นภรรยานายภูไม่
พระนนทบุรีเจ้าเมืองนนทบุรีและกรมการเมืองนนทบุรีได้เปรียบเทียบตัดสินว่า ถ้านายภูสาบานได้ว่าอำแดงเหมือนได้ยอมเป็นภรรยานายภู ก็ให้นายริดแพ้ความนายภู แต่นายภูไม่ยอมสาบาน
ครั้นจะเปรียบเทียบตัดสินว่า ถ้าอำแดงเหมือนสาบานได้ว่าไม่ได้ยอมเป็นภรรยานายภู ก็ให้นายภูยอมเลิกเป็นความแก่กัน นายภูไม่ยอมให้อำแดงเหมือนสาบาน จึงไม่อาจเปรียบเทียบตัดสินได้
ภายหลังนายภูกลับมาฟ้องร้องกล่าวโทษนายริด บิดามารดาของนายริด และเถ้าแก่ฝ่ายนายริด 2 คนต่อ กรมการเมืองนนทบุรีอีกว่า คนเหล่านี้ได้ลักพาอำแดงเหมือนภรรยาตนไป ขอให้ส่งตัวอำแดงเหมือนคืนแก่ตน
พระนนทบุรีเจ้าเมืองนนทบุรีและกรมการเมืองนนทบุรีจึงไปจับตัวนายริด บิดามารดาของนายริด และเถ้าแก่ฝ่ายนายริด 2 คนมาไว้ แล้วบังคับให้นายริดส่งตัวอำแดงเหมือนให้แก่ตระลาการ ส่วนนายริด บิดามารดาของนายริด และเถ้าแก่ฝ่ายนายริด 2 คน ก็เข้าสู้ความกับนายภู
อำแดงเหมือนได้ให้การต่อตระลาการว่าตนหาได้เป็นภรรยานายภูไม่ ตระลาการให้นายเปี่ยมพธำมรงคุมตัวอำแดงเหมือนไปกักขังไว้ในตะราง ระหว่างนั้นมารดาของอำแดงเหมือนมาขู่เข็ญให้อำแดงเหมือนยอมเป็นภรรยานายภู อำแดงเหมือนก็ไม่ยอม อำแดงเหมือนได้เตือนให้ตระลาการชำระความต่อไป ตระลาการก็ไม่ชำระความให้ และนายเปี่ยมพธำมรงก็คุมตัวอำแดงเหมือนไว้โดยแกล้งใช้ให้ทำการงานต่าง ๆ จนอำแดงเหมือนเหลือทนเพราะได้รับความทุกข์ร้อนมาก
ในที่สุดอำแดงเหมือนจึงได้หนีมาทำฎีกาทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ว่าตนไม่ยอมเป็นภรรยานายภู ตนสมัครใจเป็นภรรยานายริดต่อไป ขอพระบารมีปกเกล้าฯ เป็นที่พึ่งของตน
พระราชวินิจฉัยในรัชกาลที่ 4
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชวินิจฉัยฎีการ้องทุกข์รายนี้ โดยมีพระราชหัตถเลขาสลักหลังฎีกาว่า ถ้าเรื่องที่กล่าวในฎีกานี้ไม่ผิดไปจากความเป็นจริงมากนัก ก็ให้จมื่นราชามาตย์กับนายรอดมอญมหาดเล็ก ขึ้นไปจัดการตัดสินให้อำแดงเหมือนเป็นภรรยานายริดตามความสมัครใจ เพราะอำแดงเหมือนอายุมากถึง 20 ปีเศษแล้ว ควรจะหาสามีตามใจชอบได้ แต่ให้นายริดเสียเงินค่าละเมิดให้แก่บิดามารดาของอำแดงเหมือน 1 ชั่ง และให้แก่นายภู 10 ตําลึง ส่วนค่าฤชาธรรมเนียมนั้นให้นายริดเสียแทนบิดามารดาของอำแดงเหมือนและนายภูด้วย แล้วให้คดีความเป็นอันเลิกแล้วแก่กันทั้งเรื่อง
นอกจากนี้ ยังมีพระราชหัตถเลขาสลักหลังฎีกาต่อไปซึ่งมีผลเป็นการแก้ไขหรือกลับหลักกฎหมายที่มีอยู่เดิม ว่าถ้าความเป็นจริงแตกต่างไปจากเรื่องที่กล่าวในฎีกานี้ ก็ให้ตัดสินตามหลักเกณฑ์ที่พระราชทานไว้ 2 ประการดังนี้
ประการแรก คงจะเป็นเพราะบิดามารดาของอำแดงเหมือนยอมยกอำแดงเหมือนให้แก่นายภูโดยมีค่าตอบแทน จึงต้องยอมให้นายภูมาฉุดอำแดงเหมือนไป (คือกรณีมิใช่เป็นการยกบุตรหญิงให้เป็นภรรยาชายตามปกติธรรมดา แต่เป็นการขายบุตรหญิงให้แก่ชาย ซึ่งบิดามารดามีอำนาจกระทำได้ตามกฎหมายลักษณะกู้หนี้ข้อ 21 ที่ว่า “ถ้าผัวแลบิดามานดาแลนายเงินทำสารกรมทันเอาชื่อลูกเมียทาษไทใส่ในสารกรมทันกู้นั้นด้วย ท่านว่าเปนสิท แม้นแลเจ้าสีนบอกก็ดี มิได้บอกก็ดี แก่ผู้ซึ่งมีชื่อในสารกรมทันนั้น ท่านให้เสียโดยกระบิลคนซึ่งถือนั้น” [1] – ผู้เขียน)
ถ้าเป็นเช่นนี้ ก็ให้ตัดสินว่าบิดามารดาไม่ได้เป็นเจ้าของบุตรชายบุตรหญิงเหมือนกับคนเป็นเจ้าของโคกระบือช้างม้าจะตั้งราคาขายตามใจชอบได้ หรือเหมือนกับนายเงินเป็นเจ้าของทาสที่มีค่าตัวเกิดยากจนจะขายทาสนั้นตามค่าตัวเดิมได้ เมื่อบิดามารดาเกิดยากจนจะขายบุตร ต่อเมื่อบุตรยอมให้ขายจึงขายได้ ถ้าไม่ยอมให้ขายก็ขายไม่ได้ หรือยอมให้ขายถ้าบุตรยอมรับหนี้ค่าตัวเพียงเท่าไรก็ขายได้แต่เพียงเท่านั้น กฎหมายเก่าว่าไว้อย่างไรผิดไปจากนี้ มิให้นำมาใช้
ดังนั้น ถ้าบิดามารดาของอำแดงเหมือนเอาชื่ออำแดงเหมือนไปขายให้แก่นายภูเป็นเงินเท่าไร ก็ให้บิดามารดาของอำแดงเหมือนใช้เงินนั้นให้แก่นายภูเอง อย่าให้นายริดและอำแดงเหมือนต้องใช้ เพราะเห็นชัดว่าอำแดงเหมือนไม่ยอมให้บิดามารดาเอาชื่อตนไปขาย
การที่อำแดงเหมือนหนีบิดามารดาตามนายริดไปนั้น ถ้าอำแดงเหมือนเอาเงินทองสิ่งของของบิดามารดาติดตัวไปด้วยโดยบิดามารดาไม่ยอมให้เอาไป ก็ให้อำแดงเหมือนรีบคืนให้แก่บิดามารดา เว้นแต่ผ้านุ่งห่มและเงินหรือสิ่งของราคาสัก 3 ตำลึงให้บิดามารดาลดให้อำแดงเหมือน เพื่อจะได้เป็นเสบียงเลี้ยงตัวอยู่ราว 1-2 เดือนจนกว่าจะมีที่ทำมาหากินกับนายริด ส่วนความวิวาทอายัดและฟ้องเถ้าแก่ฝ่ายนายริดนั้นให้เลิกเสียทั้งหมด
ประการที่สอง ตามลัทธิธรรมเนียมของผู้ชายในบ้านเมืองทุกวันนี้ พอใจว่าหญิงคนใดชายได้พาเข้าไปในที่ลับจับต้องถึงตัวแล้ว ถือว่าชายนั้นเป็นผัว คู่ความก็ฟ้องร้องกันมาอย่างนั้น ผู้ตัดสินก็ว่าอย่างนั้น แล้วตัดสินให้ผัวเป็นเจ้าของและให้เมียเป็นเหมือนสัตว์เดรัจฉาน (ลัทธิธรรมเนียมนี้สันนิษฐานว่าน่าจะมาจากสุภาษิตกฎหมายที่ปรากฏในกฎหมายลักษณะผัวเมียข้อ 82ว่า “เป็นสัตรีภาพ อย่าให้มีชายสัมผัดถูกต้องตัวถึงสอง” [2] – ผู้เขียน)
เพราะลัทธิธรรมเนียมอย่างนั้นจึงได้มีการตัดสินในสมัยหนึ่งให้เลิกกฎหมายเก่าว่าหญิงหย่าชายหย่าได้นั้นให้ยกเสีย ความจริงที่ว่าอย่างนั้นไม่ยุติธรรม การให้หญิงหย่าชายหย่าได้ตามกฎหมายเก่านั้นชอบด้วยยุติธรรมอยู่ให้เอาเป็นเกณฑ์ ความเรื่องนี้ที่กรมการเมืองนนทบุรีเปรียบเทียบตัดสินว่าเป็นเมียหรือมิได้เป็นเมียโดยการให้ชายหรือหญิงสาบานนั้นให้ยกเสีย ให้ถือเอาความสมัครใจของหญิงเป็นเกณฑ์ว่าจะยอมเป็นเมียชายหรือไม่
หญิงใดมีชายมาขอ บิดามารดายกหญิงนั้นให้ชายและหญิงนั้นยินยอมไปอยู่กับชาย มีผู้รู้เห็นเป็นจำนวนมากว่า 2 คน นั้นเป็นผัวเมียกัน หญิงและชายได้ร่วมสุขร่วมทุกข์มีทุนรอนเดียวกันอยู่เป็นเวลานานหลายวันหลายเดือนเป็นที่ประจักษ์แจ้งแก่คนรอบบ้านรอบเมือง ไม่มีใครโต้แย้ง จึงควรตัดสินว่าหญิงและชายนั้นเป็นผัวเมียกัน แต่ในความเรื่องนี้หาได้เป็นเช่นนั้นไม่ จึงต้องให้เป็นไปตามความสมัครใจของหญิง…
คดีอำแดงเหมือนในรัชกาลที่ 4 ปรากฎในประกาศพระราชบัญญัติลักภา ว่า
“มีพระบรมราชโองการมารพระบัณฑูรสุรสิงหนาท ให้ประกาศแก่ลูกขุนตระลาการโรงศาลแสราษฎรในกรุงแลหัวเมืองให้ทราบทั่วกันว่า เมื่อวันอาทิตย์ เดือนอ้าย แรมเจ็ดค่ำ ปีฉลู สัปตศก 15 เสด็จออกณพระที่นั่งสุทไธยสวริย์ มีหญิงสาวคนหนึ่งทำเรื่องราวมาทูลเกล้าฯ ถวายความในฎีกาดังนี้
ข้าพระพุทธเจ้า อำแดงเหมือน เปนบุตรนายเกดอำแดงนุ่ม อายุข้าพระพุทธเจ้าได้ 21 ปี ตั้งบ้านเรือนอยู่บางม่วง แขวงเมืองนนทบุรี มีความทุกข์ร้อน ขอพระราชทานพระบรมราชวโรกาศถวายเรื่องราวให้ทราบฝ่าลอองธุลีพระบาท พระราชอาญาเป็นล้นเกล้าฯ เดิมข้าพระพุทธเจ้ากับนายริดรักใคร่เปนชู้กัน บิดามารดาข้าพระพุทธเจ้าหารู้ไม่ ครั้นอยู่มาณเดือน 4 ปีชวดฉศก 14 นายภูให้เถ้าแก่มาขอข้าพระพุทธเจ้าแต่บิดามารดาข้าพระพุทธเจ้า บิดามารดาก็ยอมจะให้ข้าพระพุทธเจ้าเปนภรรยานายภู ข้าพระพุทธเจ้ารู้ความว่าบิดามารดาจะยกข้าพระพุทธเจ้าให้เปนภรรยานายภู ข้าพระพุทธเจ้าไม่ยอม บิดามารดาโกรธด่าว่าทุบตีข้าพระพุทธเจ้า
ครั้นณเดือน 4 แรม 11 ค่ำ ปีชวดฉศก 14 เวลาพลบค่ำ บิดามารดาข้าพระพุทธเจ้าให้นายภูฉุดตัวข้าพระพุทธเจ้าไปที่บ้านเรือนนายภู ๆ ให้ข้าพระพุทธเจ้าเข้าไปในห้องเรือน ข้าพระพุทธเจ้าไม่ไป ข้าพระพุทธเจ้าก็นั่งอยู่ที่ชานเรือนนายภูจนรุ่งขึ้นเวลาเช้า ชายหญิงชาวบ้านได้รู้เห็นเปนอันมาก แล้วข้าพระพุทธเจ้าก็กลับมาบ้านเรือนบิดามารดาข้าพระพุทธเจ้า บิดามารดาก็ด่าว่าทุบตีข้าพระพุทธเจ้าอีก จะให้ข้าพระพุทธเจ้ายอมเปนภรรยานายภูให้จงได้ แล้วบิดามารดาข้าพระพุทธเจ้าให้นายภูฉุดตัวข้าพระพุทธเจ้าไปที่บ้านเรือนนายภูอีกครั้งหนึ่ง ข้าพระพุทธเจ้าก็หาได้ขึ้นไปบนเรือนนายภูไม่ แล้วข้าพระพุทธเจ้าก็กลับมาบ้านเรือนบิดามารดาข้าพระพุทธเจ้า
บิดามารดาโกรธด่าว่าทุบตีข้าพระพุทธเจ้า แล้วว่าถ้าข้าพระพุทธเจ้าไม่ยอมเป็นภรรยานายภู จะเอาปืนยิงข้าพระพุทธเจ้าให้ตาย ข้าพระพุทธเจ้ากลัวก็หนีไปหานายริดชู้เดิมข้าพระพุทธเจ้าได้สองสามวัน บิดามารดาข้าพระพุทธเจ้าสั่งผู้มีชื่อให้บอกนายริด ให้เอาดอกไม้ธูปเทียนมาษะมาบิดามารดาข้าพระพุทธเจ้า นายริดก็ให้ผู้มีชื่อเถ้าแก่เอาดอกไม้ธูปเทียนมาษะมาบิดามารดาข้าพระพุทธเจ้า บิดามารดาข้าพระพุทธเจ้าจึ่งภาเถ้าแก่เอาดอกไม้ธูปเทียนไปที่บ้านกำนัน ในเวลานั้นนายภูไปคอยอยู่ที่บ้านกำนัน นายภูจึ่งอายัดตัวเถ้าแก่ไว้แก่กำนัน
ครั้นณเดือน 7 ปีฉลู สัปตศก 15 มีหมายหลวงสยามนนทเขตรขยันปลัดไปเกาะ ข้าพระพุทธเจ้ากับนายริดกับบิดามารดานายริดมาที่ศาลากลางเมืองนนทบุรี หลวงปลัดแลกรมการถามข้าพระพุทธเจ้า ๆ ให้การว่า ข้าพระพุทธเจ้าหาได้รักใคร่ยอมเปนภรรยานายภูไม่ พระนนทบุรีแลกรมการเปรียบเทียบตัดสินว่า ถ้านายภูสาบานตัวได้ว่าข้าพระพุทธเจ้าได้ยอมเปนภรรยานายภู ให้นายริดแพ้ความนายภู ๆ ไม่ยอมสาบาน แล้วกรมการเปรียบเทียบว่า ถ้าข้าพระพุทธเจ้าสาบานตัวได้ว่าไม่ได้ยอมเปนภรรยานาย ให้นายภูยอมแล้วความแก่กัน นายภูก็หายอมให้ข้าพระพุทธเจ้าสาบานไม่
ครั้นเดือน 8 ขึ้น 2 ค่ำ ปีฉลูสัปตศก 15 นายกูกลับฟ้องกล่าวโทษนายริดกับบิดามารดานายริดกับผู้มีชื่อเถ้าแก่ 2 คน ความมีแจ้งอยู่ในฟ้องนายภูนั้นแล้ว พระนนทบุรีแลกรมการเกาะได้ตัวนายริดกับบิดามารดานายริดกับผู้มีชื่อเถ้าแก่ 2 คนมาแล้ว บังคับให้นายริดส่งตัวข้าพระพุทธเจ้า นายริดก็ส่งตัวข้าพระพุทธเจ้าให้ตระลาการ นายริดกับบิดามารดานายริดและผู้มีชื่อเถ้าแก่ 2 คนก็เปนคู่สู้ความกับนายภู แต่ตัวข้าพระพุทธเจ้าได้ให้การไว้ต่อตระลาการเป็นความสัตย์ความจริง ข้าพระพุทธเจ้าหาได้เปนภรรยานายภูไม่ แจ้งอยู่ในคำให้การนั้นแล้ว
นายเปี่ยมพธำมรงคุมตัวข้าพระพุทธเจ้ากักขังไว้ที่ตราง แล้วมารดาข้าพระพุทธเจ้าก็มาด่าขู่เขนจะให้ข้าพระพุทธเจ้ายอมเปนภรรยานายภูให้จงได้ ข้าพระพุทธเจ้าไม่ยอม ข้าพระพุทธเจ้าเตือนให้ตระลาการชำระความต่อไป ก็ไม่ชำระให้ นายเปี่ยมพธำมรงก็คุมตัวข้าพระพุทธเจ้ากักขังไว้แกล้งใช้การงานต่าง ๆ เหลือทนได้ความทุกข์ร้อนนัก ข้าพระพุทธเจ้าจึ่งได้หนีมาทำฎีกาทูลเกล้าฯ ถวาย พระราชอาญาเปนล้นเกล้าฯ ข้าพระพุทธเจ้าไม่ยอมเป็นภรรยานายภู ข้าพระพุทธเจ้าสมัคเปนภรรยานายริด ชู้เดิมของข้าพระพุทธเจ้าต่อไป ขอพระบารมีปกเกล้าฯ เปนที่พึ่ง ควรมิควรแล้วแต่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ขอเดชะ…”
อ่านเพิ่มเติม :
- แปลกแต่จริง หญิงไทยสมัยก่อน “ทำชู้” แล้วยังมีสิทธิบอกเลิก “ผัว” ได้อีก
- ย้อนคดีผัวเมีย ปมเริ่มต้นสู่กำเนิดกฎหมายตราสามดวง ประมวลกฎหมายแรกแห่งรัตนโกสินทร์
เชิงอรรถ :
[1] สถาบันปรีดี พนมยงค์. กฎหมายตรา 3 ดวง ฉบับพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง แก้ไขปรับปรุงใหม่. เล่ม 2. น. 160.
[2] เรื่องเดียวกัน น. 40.
หมายเหตุ : คัดเนื้อหาส่วนหนึ่งจากบทความ “ฎีกาของอำแดงเหมือนในรัชกาลที่ 4 กับการพลิกคดีอำแดงป้อมในรัชกาลที่ 1” เขียนโดย กำธร เลี้ยงสัจธรรม ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับธันวาคม 2555
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 13 กรกฎาคม 2564