แปลกแต่จริง หญิงไทยสมัยก่อน “ทำชู้” แล้วยังมีสิทธิบอกเลิก “ผัว” ได้อีก

ภาพหญิงไทยสมัยต้นศตวรรษที่ 20 จากสมุดภาพของ Karl Döhring

ขออภัยกับภาษาที่อ่านแล้วคนไทยสมัยใหม่เห็นแล้วอาจรู้สึกขัดเคือง เพราะเรื่องที่ผู้เขียนจะเล่าเป็นเรื่องสามี-ภรรยา ในสมัยเมื่อครั้งที่คำว่า “ผัว-เมีย” ไม่ใช่คำหยาบ แต่เป็นภาษาทางการที่ใช้ในตำรับตำราที่ศักดิ์สิทธิ์ นั่นคือกฎหมายตราสามดวง (คัมภีร์กฎหมายสมัยก่อนเป็นของสูง)

ผัว-เมีย เป็นความสัมพันธ์ที่พัฒนาขึ้นมาจนมีแบบพิธีที่แตกต่างกันไปตามแต่สังคม เป็นข้อผูกมัดที่มีกฎหมายรองรับมาแต่ครั้งโบราณ แต่ถ้าคนคิดจะนอกใจกัน กฎหมายที่ไหนก็ยากจะห้ามได้ แม้แต่การแต่งงานในวัฒนธรรมที่มีศาสนาเข้ามาควบคุมสถาบันการแต่งงานอย่างใกล้ชิดก็ยังไม่อาจห้ามใจคน

Advertisement

เมื่ออิทธิพลของศาสนจักรอ่อนแรงลง การออกแบบกฎหมายสมัยใหม่จึงยึดหยุ่นมากขึ้น การแต่งงานไม่ใช่สิ่งที่จะคงอยู่นิรันดร์ถือเป็นข้อตกลงอันศักดิ์สิทธิ์ต่อหน้าพระเจ้า (แนวคิดแบบตะวันตก) อย่างเคร่งครัดดังเก่าก่อน ฝ่ายอาณาจักรได้เปิดเงื่อนไขให้คู่สมรสสามารถบอกเลิกอีกฝ่ายได้บนเงื่อนไขที่เหมาะสม โดยเฉพาะในกรณีที่อีกฝ่ายไม่เคารพสถาบันการแต่งงาน

ตัวอย่างเช่น ฝ่ายหนึ่งไปมีชู้ หรือยกย่องผู้อื่นเยี่ยงสามีหรือภรรยา อีกฝ่ายย่อมมีสิทธิที่ฟ้องหย่าได้ หรือกรณีที่ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดประพฤติชั่วเป็นเหตุให้อีกฝ่ายเสียหายทั้งชื่อเสียง หรือเป็นที่เกลียดชัง หรือเดือดร้อนเกินควร ฝ่ายที่ได้รับความเสียหายย่อมมีสิทธิที่จะฟ้องหย่าฝ่ายที่ประพฤติชั่วได้

ในทางกลับกัน ฝ่ายที่นอกใจไปชู้ย่อมไม่มีสิทธิฟ้องหย่าอีกฝ่าย เพื่อไปอยู่กับชู้ได้อย่างที่ปรารถนาง่ายๆ

แต่สังคมไทยในอดีตเห็นต่างออกไป เพราะในกฎหมายเก่าแก่ของราชอาณาจักรก่อนหน้าที่จะมาเป็นรัฐไทยได้บัญญัติไว้ว่า “ชายหาผิดมิได้ หญิงขอหย่า ท่านว่าเปนหญิงหย่าชายหย่าได้” หมายความว่า หากฝ่ายหญิงเป็นฝ่ายขอหย่าแล้ว ต่อให้ฝ่ายชายอยู่ดีๆ ไม่ได้ทำอะไรผิดก็มีสิทธิถูกบอกเลิกเอาได้

ใครได้ฟังแล้วก็คงจะถามว่า กฎหมายแบบนี้มันยุติธรรมตรงไหน? ใช่แล้วตั้งแต่กว่า 200 ปีก่อน กระทั่งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1 ก็ทรงเห็นว่าหลักการนี้ไม่มีความยุติธรรม หลักฐานปรากฏอยู่ในประกาศพระราชปรารภตอนต้นของกฎหมายตราสามดวงที่กล่าวถึงคดีของ อำแดงป้อมที่ไปทำชู้กับกับนายราชาอรรถแล้วกลับมาฟ้องหย่านายบุญศรีผู้เป็นผัว ความว่า

อำแดงป้อมภรรยานายบุญศรีฟ้องหย่านายบุญศรีๆ ให้การแก่พระเกษมว่า อำแดงป้อมนอกใจทำชู้ด้วยนายราชาอรรถแล้วมาฟ้องหย่านายบุญศรีๆ ไม่ยอมหย่า พระเกษมหาพิจารณาตามคำให้การนายบุญศรีไม่ พระเกษมพูดจาแพละโลมอำแดงป้อม แลพิจารณาไม่เปนสัจธรรม  เข้าด้วยอำแดงป้อม แล้วคัดข้อความมาให้ลูกขุนสานหลวงปฤกษาๆ ว่าเปนหญิงหย่าชาย ให้อำแดงป้อมกับนายบุญศรีขาดจากผัวเมียกันตามกฎหมาย จึ่งทรงพระกรรุณาตรัสว่า หญิงนอกใจชายแล้วมาฟ้องหย่าชาย ลูกขุนปฤกษาให้หย่ากันนั้นหาเปนยุติธรรมไม่

แต่การตัดสินของพระเกษมก็ใช่ว่าจะเป็นการตัดสินตามอำเภอใจ เพราะเมื่อ รัชกาลที่ 1 ทรงเห็นว่า คำตัดสินดังกล่าวไม่เป็นธรรมก็ได้รับสั่งให้มีการตรวจสอบที่มาของกฎหมายดังกล่าวว่าถูกต้องหรือไม่เพียงใด ปรากฏว่า หลักดังกล่าวถูกต้องตรงกับกฎหมายทั้ง 3 ฉบับที่นำมาตรวจเทียบ ดังความว่า

จึ่งมีพระราชโองการตรัสสั่งให้เจ้าพญาพระคลังเอากฎหมายณสานหลวงมาสอบกับฉบับหอหลวง, [ฉบับ] ข้างที่ ได้ความว่า ชายหาผิดมิได้ หญิงขอหย่า ท่านว่าเปนหญิงหย่าชายหย่าได้ ถูกต้องกันทังสามฉบับ

ความอันฟังไม่เป็นยุติธรรมดังกล่าวจึงเป็นเหตุให้รัชกาลที่ 1 ทรงมีพระราชดำริให้ชำระกฎหมายดังประกาศพระราชปรารภตอนเดียวกันความว่า

กระษัตรผู้จดำรงแผ่นดินนั้นอาไศรยซึ่งโบราณราชนิติกฎหมายพระอายการอันกระษัตรแต่ก่อนบัญหญัติไว้ได้เปนบันทัดถาน จึ่งพิภากษาตราสีนเนื้อความราษฎรทังปวงได้โดยยุติธรรม แลพระราชกำหนดบทพระอายการนั้นก็ฟั่นเฟือนวิปริตผิดซ้ำต่างกันไปเปนอันมาก ด้วยคนอันโลภหลง หาความลอายแก่บาปมิได้ ดัดแปลงแต่งตามชอบใจไว้พิภากษาภาให้เสียยุติธรรมสำหรับแผ่นดินไปก็มีบ้าง จึ่งทรงพระกรรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมจัดข้าทูลลอองทุลีพระบาทที่มีสะติปัญญาได้…ชำระพระราชกำหนดบทพระอายการอันมีอยู่ในหอหลวง ตั้งแต่พระธรรมสาตรไป ให้ถูกถ้วนตามบาฬีแลเนื้อความมิให้ผิดเพี้ยนซ้ำกันได้ จัดเปนหมวดเปนเหล่าเข้าไว้ แล้วทรงพระอุสาหทรงชำระดัดแปลงซึ่งบทอันวิปลาดนั้นให้ชอบโดยยุติธรรมไว้ ด้วยพระไทยทรงพระมหากรรุณาคุณจให้เปนประโยชน์แก่กระษัตรอันจดำรงแผ่นดินไปในภายหน้า

ด้วยเหตุนี้หลักการดังกล่าวจึงได้ถูกเลิกล้มไป เพราะถือว่า “ไม่ยุติธรรม” แต่น่าเสียดายที่ไม่มีรายละเอียดให้สืบสาวราวเรื่องต่อไปได้ว่าสรุปสุดท้ายแล้วคดีรักสามเส้าของอำแดงป้อม นายบุญศรีและนายราชาอรรถจะจบลงอย่างใด

และที่น่าสนใจก็คือ เมื่อชายไม่ผิด หญิงจะหย่า หย่าได้ ถือว่าไม่เป็นธรรมแล้ว หากมองในมุมกลับ ถ้าหญิงไม่ผิด ชายจะหย่า หากยอมให้หย่าได้ก็ย่อมไม่เป็นธรรมเช่นกัน แต่พระไอยการลักษณะผัวเมีย กลับยอมให้ชายหย่าได้ แม้จะบอกว่าฝ่ายชายเป็น “อาธรรม” ก็ตาม ดังความในมาตรา 70 ที่ระบุว่า

มาตราหนึ่ง ผัวเมียอยู่ด้วยกัน ผัวไปค้าได้เมียใหม่มาด้วย ชายทำเคียดแก่เมียก่อนแลจะหย่ากันไซ้ ให้แบ่งสีนนั้นกึ่ง เพราะเมียก่อนนั้นหาโทษมิได้ ผู้ชายนั้นอาธรรม

ดังนั้น มุมมองความเป็นธรรมระหว่างผัวเมียระหว่างคนเมื่อสองร้อยกว่าปีก่อน กับคนสมัยนี้ก็ไม่ต่างกันมากนัก เพียงแต่กฎหมายสมัยก่อนยอมรับความความได้เปรียบของเพศชายเอาไว้แบบจะแจ้งมากกว่า

แต่เรื่องนี้ยังไม่จบ ไว้ผู้เขียนจะมาบอกเล่าต่อว่า เหตุใด “ชายหาผิดมิได้ หญิงขอหย่า ท่านว่าเปนหญิงหย่าชายหย่าได้” อาจถือเป็นหลักการที่เหมาะสมในยุคหนึ่งสมัยหนึ่ง

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

“ฎีกาของอำแดงเหมือนในรัชกาลที่ 4 กับการพลิกคดีอำแดงป้อมในรัชกาลที่ 1”. กำธร เลี้ยงสัจธรรม. ศิลปวัฒนธรรม ฉบับธันวาคม 2555


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 4 มกราคม 2560