ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
ไม่เพียงแต่ผู้ศึกษากฎหมายไทยที่ต้องรู้จักความสำคัญของ กฎหมายตราสามดวง คนทั่วไปน่าจะคุ้นเคยกับชื่อกฎหมายนี้ในฐานะประมวลกฎหมายฉบับแรกแห่งสมัยรัตนโกสินทร์ หรืออีกชื่อว่า “ประมวลกฎหมาย รัชกาลที่ 1″
ที่เรียกกันแบบนี้ เพราะเป็นการนำบทกฎหมายลักษณะต่างๆ ที่ยังใช้กันในช่วงนั้นซึ่งเป็นกฎอันมีมาตั้งแต่สมัยอยุธยารวบรวมเป็นหมวดและชำระบางส่วน ไม่เพียงแต่เป็นการระบุรูปแบบความสัมพันธ์ในสังคมแล้ว การศึกษากฎหมายตราสามดวงย่อมทำให้เห็นสภาพสังคม การเมือง การปกครองในสมัยโบราณด้วย โดยกฎหมายตราสามดวงบังคับใช้มาถึงแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กระทั่งเกิดปฏิรูประบบกฎหมายและการศาลตามแบบมหาอำนาจในยุโรป กฎหมายตราสามดวงจึงเลิกใช้ไป
ความเป็นมาของกฎหมายในสมัยโบราณนั้น จากการสืบค้นของนายกฤษฎา บุณยสมิต อัยการพิเศษ รองประธานกรรมการชำระและศึกษากฎหมายไทยโบราณ อธิบายกำกับไว้ในเอกสารกฎหมายตราสามดวงว่า หากย้อนกลับไปในสมัยอยุธยา กฎหมายสมัยนั้นได้รับอิทธิพลจากอินเดียผ่านมาทางมอญ คือ “คัมภีร์พระธรรมศาสตร์” (มอญเรียกว่า คัมภีร์ธัมสัตถัม) นำมาใช้เป็นหลักปกครองและพิจารณาคดีต่างๆ เป็นคัมภีร์ตามความเชื่อว่าพระผู้เป็นเจ้าประทานมาให้พระมหากษัตริย์ใช้เป็นหลักในการอำนวยความยุติธรรม
เมื่อมาถึงสมัยสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช กฎหมายที่ใช้ในช่วงต้นรัตนโกสินทร์ ส่วนใหญ่ยังเป็นกฎหมายที่ใช้มาตั้งแต่สมัยอยุธยา แต่มีปรับปรุงออกกฎหมายใหม่บ้างทั้งในสมัยกรุงธนบุรีและรัตนโกสินทร์ตอนต้น
ในพ.ศ. 2347 สมัยรัชกาลที่ 1 ครองราชสมบัติเกิดคดีผู้พิพากษาตัดสินคดีหย่าร้างคดีหนึ่งโดยไม่เป็นธรรม คดีว่าด้วยอำแดงป้อมภรรยาของนายบุญศรี ช่างเหล็กหลวง ฟ้องหย่านายบุญศรี สามีโดยที่นายบุญศรีไม่มีความผิด แต่อำแดงป้อมเป็นชู้กับนายราชาอรรถ
พระองค์ทรงมีพระราชดำริว่าเช่นนี้ไม่ยุติธรรม ดังประกาศพระราชปรารภตอนต้นของกฎหมายตราสามดวงที่กล่าวถึงคดีของ อำแดงป้อมที่ไปทำชู้กับกับนายราชาอรรถแล้วกลับมาฟ้องหย่านายบุญศรีผู้เป็นผัว ความว่า
“อำแดงป้อมภรรยานายบุญศรีฟ้องหย่านายบุญศรีๆ ให้การแก่พระเกษมว่า อำแดงป้อมนอกใจทำชู้ด้วยนายราชาอรรถแล้วมาฟ้องหย่านายบุญศรีๆ ไม่ยอมหย่า
พระเกษมหาพิจารณาตามคำให้การนายบุญศรีไม่ พระเกษมพูดจาแพละโลมอำแดงป้อม แลพิจารณาไม่เปนสัจธรรม เข้าด้วยอำแดงป้อม แล้วคัดข้อความมาให้ลูกขุนสานหลวงปฤกษาๆ ว่าเปนหญิงหย่าชาย ให้อำแดงป้อมกับนายบุญศรีขาดจากผัวเมียกันตามกฎหมาย จึ่งทรงพระกรรุณาตรัสว่า หญิงนอกใจชายแล้วมาฟ้องหย่าชาย ลูกขุนปฤกษาให้หย่ากันนั้นหาเปนยุติธรรมไม่”
เมื่อนายบุญศรี ทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาต่อรัชกาลที่ 1 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชจึงโปรดเกล้าฯ ให้นำตัวบทกฎหมาย 3 ฉบับที่เก็บไว้ที่ศาลหลวง ที่ข้างพระที่ในพระบรมมหาราชวัง และที่หอหลวงมาตรวจสอบ พบว่าข้อความทุกฉบับตรงกัน เนื้อหาว่า “ชายหาผิดมิได้ หญิงขอหย่า ท่านว่าเป็นหญิงหย่าชาย หย่าได้”
จึงโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งผู้ชำระกฎหมาย 11 ราย สะสางกฎหมายครั้งใหญ่ นำบทกฎหมายที่มีอยู่จัดเป็นหมวดหมู่ ชำระเนื้อความที่วิปริตผิดความยุติธรรมออก
ประกาศพระราชปรารภตอนต้นของกฎหมายตราสามดวงตอนหนึ่งมีใจความว่า
“กระษัตรผู้จดำรงแผ่นดินนั้นอาไศรยซึ่งโบราณราชนิติกฎหมายพระอายการอันกระษัตรแต่ก่อนบัญหญัติไว้ได้เปนบันทัดถาน จึ่งพิภากษาตราสีนเนื้อความราษฎรทังปวงได้โดยยุติธรรม แลพระราชกำหนดบทพระอายการนั้นก็ฟั่นเฟือนวิปริตผิดซ้ำต่างกันไปเปนอันมาก ด้วยคนอันโลภหลง หาความลอายแก่บาปมิได้ ดัดแปลงแต่งตามชอบใจไว้พิภากษาภาให้เสียยุติธรรมสำหรับแผ่นดินไปก็มีบ้าง
จึ่งทรงพระกรรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมจัดข้าทูลลอองทุลีพระบาทที่มีสะติปัญญาได้…ชำระพระราชกำหนดบทพระอายการอันมีอยู่ในหอหลวง ตั้งแต่พระธรรมสาตรไป ให้ถูกถ้วนตามบาฬีแลเนื้อความมิให้ผิดเพี้ยนซ้ำกันได้ จัดเปนหมวดเปนเหล่าเข้าไว้ แล้วทรงพระอุสาหทรงชำระดัดแปลงซึ่งบทอันวิปลาดนั้นให้ชอบโดยยุติธรรมไว้…”
การชำระกฎหมายดำเนินการ 11 เดือนจึงแล้วเสร็จ ในหลักฐานตามประกาศพระราชปรารภตอนหนึ่งอธิบายว่า พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงตรวจสอบชำระขั้นสุดท้ายด้วยพระองค์เอง
หลังจากนั้น โปรดเกล้าฯ ให้พนักงานอาลักษณ์จารึกเขียนเป็น 3 ฉบับ หรือ 3 ชุด ชุดละ 41 เล่ม เขียนด้วยหมึกบนสมุดข่อยสีขาว 3 ชุดแรกจึงเรียกว่าฉบับหลวง ทรงให้ปิดดวงตราพระราชสีห์ พระคชสีห์ และบัวแก้ว ไว้บนปกทุกเล่ม ถือเป็นตราสำคัญ มีนัยถึงการบังคับใช้ทั่วราชอาณาจักร
อ่านเพิ่มเติม :
- บทลงโทษสุดโหด ในกฎหมายตราสามดวง ที่ความตายเรียก “พี่”
- วินาทีค้นพบ “หลักไชย” ตำรากฎหมายยุคกรุงศรีอยุธยา สาบสูญนับ 100 ปี แล้วเจอโดยบังเอิญ
อ้างอิง :
กฎหมายตราสามดวง ฉบับราชบัณฑิตยสถาน จัดพิมพ์ตามต้นฉบับหลวง เล่ม 1. ราชบัณฑิตยสถาน, 2550
พล อิฏฐารมณ์. “แปลกแต่จริง หญิงไทยสมัยก่อน “ทำชู้” แล้วยังมีสิทธิบอกเลิก “ผัว” ได้อีก”. ศิลปวัฒนธรรม. ออนไลน์. เข้าถึง 4 กันยายน พ.ศ. 2562. <https://www.silpa-mag.com/culture/article_5327>
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 4 กันยายน 2562